ความเคารพในธรรม ของพระผู้มีพระภาค
โดย chatchai.k  14 ต.ค. 2566
หัวข้อหมายเลข 46782

ความเคารพในธรรมนี้ ได้เกิดแก่พระผู้มีพระภาคตั้งแต่ประทับ ณ โคนไม้ไทร เพื่อทรงใคร่ครวญว่า จะเคารพผู้ใด แต่เมื่อไม่มีผู้ใดเลยที่ควรแก่การเคารพ สิ่งเดียวที่ควรแก่การเคารพ คือ ทรงเคารพธรรม พระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม จึงได้เสด็จต้อนรับพระมหากัสสปะ เป็นหนทางถึง ๓ คาวุต

โดยมากท่านผู้ฟังเวลาที่ศึกษาพระสูตรหรือพระธรรมวินัย อาจจะข้องใจสงสัยว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงกระทำเช่นนั้นเช่นนี้กับบุคคลนั้นบุคคลนี้ แต่เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เคารพธรรมเท่านั้น ทุกอย่างที่ทรงประพฤติปฏิบัตินั้นก็เพื่อธรรม เพราะพระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม จึงได้เสด็จต้อนรับท่านมหากัสสปะเป็นหนทางถึง ๓ คาวุต เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะต้องไปทรงต้อนรับใครบ้างไหม ธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีเกียรติยศยิ่งใหญ่ในทางโลก แต่ว่าเพราะทรงเคารพในธรรม

เพราะพระผู้มีพระภาคทรงเคารพในธรรม จึงได้เสด็จไปต้อนรับแสดงธรรมแก่ท่านพระมหากัปปินะ หลังเสวยพระกระยาหารครั้งหนึ่ง เสด็จไปไกลถึง ๔๕ โยชน์ ตรัสธรรมกถาตลอดคืนในนิเวศของนายช่างหม้อ ให้ปุกกุสาติกุลบุตรดำรงอยู่ในอนาคามิผล

พระผู้มีพระภาคเสด็จไปถึง ๑๒๐ โยชน์ เพื่อทรงอนุเคราะห์สามเณรผู้มีปกติอยู่ป่า

พระผู้มีพระภาคเสด็จไปไกลถึง ๖๐ โยชน์ ทรงแสดงธรรมแก่พระเถระที่อยู่ในป่าไม้ตะเคียน

พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท่านพระอนุรุทธเถระนั่งตรึกถึงมหาปุริสวิตก เสด็จไปปรากฏพระองค์ต่อหน้าพระเถระ ประทานสาธุการ

พระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม ทรงให้จัดเสนาสนะในพระคันธกุฎีหลังเดียวกันกับพระองค์ เพื่อท่านพระโสณกุฏฐิกัณณะ แล้วในเวลาใกล้รุ่งทรงเชื้อเชิญให้ท่านพระโสณกุฏฐิกัณณะให้แสดงธรรม แล้วประทานสาธุการเมื่อจบสรภัญญะ (คือ การสวดด้วยการใช้เสียง)

พระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม พระองค์จึงเสด็จไปสิ้น ๓ คาวุต ตรัสอานิสงส์แห่งความสามัคคีในโคสิงคสาลสูตร

ในวันใกล้เข้าพรรษา เสด็จจาริกออกจากพระวิหารเชตวัน แม้พระเจ้า ปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงสามารถให้เสด็จกลับได้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เสียใจที่ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับพระวิหารเชตวัน แต่ว่ามีทาสีผู้หนึ่ง คือ ปุณณาทาสี ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า โศกเศร้าเรื่องอะไร ซึ่งขณะนั้นท่านเศรษฐีกำลังเสียใจ ท่านก็เลยตวาดไปว่า ไม่สามารถทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับได้

ปุณณาทาสีก็กล่าวว่า ตนสามารถทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับพระวิหารเชตวันได้

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็กล่าวว่า ถ้าปุณณาทาสีสามารถที่จะทำให้ พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับพระวิหารเชตวันได้ ก็จะให้นางปุณณาทาสีนั้นได้กลับเป็นอิสระ เป็นไท

นางปุณณาทาสีก็ได้ไปแล้ว หมอบที่พระบาท กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ปุณณา เธอมีชีวิตเกี่ยวข้องกับคนอื่น จะทำอะไรแก่เราได้

คือ เมื่อเป็นทาสของเขา ไม่มีอิสระเลย แล้วจะทำประโยชน์อะไร หรือจะเกื้อกูลพระองค์ได้อย่างไร

นางปุณณาทาสีกราบทูลว่า

พระองค์ทรงทราบว่า หม่อมฉันยังไม่มีไทยธรรม แต่เพราะพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับ หม่อมฉันจะตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีล

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสประทานสาธุการ แล้วเสด็จกลับพระวิหารเชตวัน

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ปรากฏโด่งดังเรื่องหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งเมื่อเศรษฐีทราบเรื่อง ก็ได้ให้ปุณณาทาสีเป็นอิสระ และยกให้อยู่ในฐานะของบุตรสาว ภายหลังปุณณาทาสีก็ขอบวช ขณะที่กำลังเจริญปรารภวิปัสสนา พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ได้ตรัสโอภาสคาถาว่า

ปุณณา เธอให้พระสัทธรรมเต็มบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ เพราะปัญญาที่บริบูรณ์ จึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ในที่สุดแห่งคาถา ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นสาวิกาที่โด่งดังผู้หนึ่ง


ที่มา ฟัง และอ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 14 ต.ค. 2566

พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงหนักในธรรม เคารพในธรรมอย่างนี้

คือ ทรงมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหน หรือว่าทรงต้อนรับใครก็ตาม มีทางใดที่บุคคลใดสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จไปทรงอนุเคราะห์ด้วยพระธรรมเทศนา และพุทธบริษัทในครั้งนี้ก็มีโอกาสที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมที่ได้ทรงแสดงกับพุทธบริษัทในครั้งโน้นครบถ้วน ซึ่งท่านผู้ฟังในครั้งโน้นก็บรรลุธรรมมากมาย แต่สำหรับผู้ฟังในครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานมาก ถ้าเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถรู้แจ้ง ไม่สามารถละคลายได้


ที่มา ฟัง และอ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140