ขอเรียนถามเพื่อเป็นความรู้ค่ะว่า คำเหล่านี้ ต่างกันอย่างไร เข้าใจว่าจะเป็นหน่วย
ย่อยๆ ในพระไตรปิฎก เช่น คำว่า พระสูตร นิกาย (เช่น ขุททกนิกาย) คาถา (เช่น เถร-
คาถา) และคำว่า วรรค เป็นต้น
ขอบพระคุณค่ะ
พระธรรมคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เวไนยสัตว์ตลอด ๔๕
พรรษานั้น ในภายหลังพระสาวกได้จัดพระธรรมเป็นหมวดหมู่ เรียกว่านิกาย มี ๕ ได้แก่
ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายและ ขุททกนิกาย ตามประเภทของ
พระธรรม และในแต่ละนิกายยังจำแนกเป็นปัณณาสก์ เป็นวรรค เป็นสูตร และสูตรที่ยาว
แบ่งเป็นภาณวาร เป็นต้น และยังมีการนับโดยนัยอื่น คือ องค์เก้า โดยธรรมขันธ์ เป็นต้น
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่..
พระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พัน [มหาปรินิพพานสูตร]
เรียนความเห็นที่หนึ่ง
ยังมีคำว่า ชาดก อีกค่ะ เข้าใจว่า น่าจะเป็นเรื่องราวคล้ายๆ เรื่องเล่า เข้าใจถูกหรือไม่คะและ พระสูตร คืออะไร หมายถึงว่ามีข้อความลักษณะใดที่บรรจุอยู่ในพระสูตร
ขอบพระคุณค่ะ
นโม ติปิฏกสฺส - ขอน้อมแด่ไตรปิฎก ศัพท์เรียกการจัดหมวดหมู่ เท่าที่พอจะนึกออก มีคำอธิบายดังนี้ :-
คาถา แปลว่า คำพูด หรืออาจแปลความว่า กลอนอินเดียโบราณ, ร้อยกรอง ก็ได้. ลักษณะของคาถาบางคาถา จะคล้ายกับกาพย์ กลอน โคลง ฉัน ของไทย แต่จะมีหลากหลายกว่า และสัมผัสอาจไม่
เหมือนกันกับกลอนในภาษาไทย. ปกติในพระไตรปิฎก - อรรถกถา จะใช้วิธีย่อหน้าและหลังเข้าไปให้เป็นช่องว่างมากกว่าปกติ และเว้นคำระหว่างตอน เพื่อแสดงให้เห็นว่า บรรทัดนั้นเป็นคาถา และเพื่อให้อ่านคล้องจองง่ายด้วย ถ้าเป็นคาถาภาษาบาลี. เช่น
"ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมีติ สพฺพถา ในอภิธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น โดยแก่นแท้แล้ว มี 4 อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน" ดังนี้.
จุณณิยะ แปลว่า ทำให้เป็นจุณ กล่าวคือ ข้อความทั่วไปที่ไม่ลงตัวในแบบคาถา. จุณณิยะก็คือคำกล่าวทั่วไป ไม่คล้องจองกันแบบคาถา ซึ่งในหนังสือพระไตรปิฎกให้สังเกตจากย่อหน้าที่ย่อปกตินั่นเอง. ภาษาไทยเรียกจุณณิยะว่า ร้อยแก้ว. เช่น "ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ 'สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่...'"
มาติกา แปลว่า ตัวแม่, แม่บท ได้แก่ หัวข้อที่ใช้ท่องก่อนเรียน. เช่น ติก-ทุกมาติกาของอภิธรรม คือ "กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากตา ธมฺมา"เป็นต้น ต้องท่องเพื่อนำไปเรียนส่วนที่เหลือของอภิธรรมทั้ง 7 คัมภีร์ ไม่เช่นนั้น จะเรียนไม่รู้เรื่อง.
อุทเทส แปลว่า ยกขึ้นแสดง โดยความก็คล้ายกับมาติกา. เช่น ปาติโมกขุทเทส, สติปัฏฐานุทเทส, ปัฏฐานุทเทส.
นิทเทส แปลว่า แสดงแจกแจง ได้แก่ ข้อความอธิบาย มาติกา, อุทเทส เป็นต้น อีกครั้ง. เช่น สติปัฏฐานนิทเทส, ปัฏฐานนิทเทส.
ปฏินิทเทส แปลว่า แสดงแจกแจงเจาะจง ได้แก่ ข้อความ ขยายเฉพาะเจาะจงลงรายละเอียดยิ่งกว่านิทเทสลงไปอีก. เช่น เนตติปกรณ์ปฏินิทเทส.
อุททานคาถา คือ คาถารวมหัวข้อเรื่อง ที่พบบ่อยในตอนท้ายของวินัยแต่ละตอน, ท้ายของแต่ละวรรคในสังยุตตนิกาย เป็นต้น. อุทานคาถา คือ คาถาที่กล่าวออกมาด้วยญาณที่มีโสมมนัส.
วรรค แปลว่า 10 แสดงว่า หมวดนั้น มีประมาณ 10 สูตร. เช่น มูลปริยายวรรค หมายถึง หมวดที่มี 10 สูตร มีมูลปริยายสูตร เป็นสูตรแรก.
ปัณณาสก์ แปลว่า 50 แสดงว่า หมวดนั้น มีประมาณ 50 สูตร. เช่น มูลปัณณาสก์ หมายถึง 50 สูตรที่เป็นฐาน (มูล) ของวิปัสสนา.
ภาณวาร แปลว่า วาระสวด แสดงว่า หมวดนั้น ครบช่วงหยุดสวดของแต่ละรอบ ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์สัททนีติ (มหาสติปัฏฐานสูตรแปลก็ตกเลขไว้) ว่า มี 250 คาถา หรือ ราว 8,000 พยางค์. กล่าวคือ คาถาปกติมี 4 ตอน, 1 ตอน มี 8 พยางค์, 8 * 4 = 32 พยางค์, 32 * 250 = 8,000 พยางค์ โดยประมาณ. เช่น สวดสังคายนาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ซึ่งมี 2 ภาณวาร จะแบ่งสวดเป็น 3 ช่วง พัก 2 ช่วง ซึ่งถ้าไหว อาจสวดที่เหลือให้จบเลยก็ได้ เช่นนี้จะแบ่งสวดแค่ 2 ช่วง พัก 1 ช่วงเท่านั้น.
ขันธกะ แปลว่า หมวดแห่งบัญญัติ, หมวดแห่งวินัยบัญญัติ ได้แก่ หมวดที่รวมวินัยบัญญัติเรื่องเดียวกัน ไว้ด้วยกัน. เช่น จีวรักขันธกะ - หมวดของวินัยบัญญัติเรื่องจีวร, เภสัชชขันธกะ - หมวดของสิกขาบทบัญญัติเรื่องยา.
นิบาต แปลว่า รวมกัน, รวมไว้ด้วยกัน, หมวดหมู่. คำนี้พบบ่อยในการแบ่งหมวดของ อังคุตตรนิกาย. เช่น เอกกนิบาต - รวมธรรมะกลุ่มละข้อเดียว, ทุกนิบาต -รวมธรรมะกลุ่มละ 2 ข้อ , ติกนิบาต - รวมธรรมะกลุ่มละ 3 ข้อ, สุตตนิบาต - รวมสุตตะ.
นิกาย แปลว่า กลุ่ม, ส่วน, แผนก. คำนี้พบบ่อย ในการแบ่งหมวดพระไตรปิฎก ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ทีฆนิกาย - หมวดสูตรยาว. มัชฌิมนิกาย - หมวดสูตรไม่สั้นไม่ยาว. สังยุตตนิกาย - หมวดสูตรเรื่องเดียวกัน ปฏิสังยุตกันได้. อังคุตตรนิกาย - หมวดสูตรองค์เท่ากัน นับเพิ่มยิ่งขึ้นไปเรื่อย. ขุททกนิกาย - หมวดเรื่องปลีกย่อย ที่ไม่จัดเข้าใน 4 นิกาย.
วินัย แปลว่า นำออก ได้แก่กลุ่มของพระพุทธพจน์ว่าด้วยบทบัญญัติเรื่องศีลและข้อวัตรของพระภิกษุ รวมถึงสาเหตุของการบัญญัติสิกขาบทนั้นๆ ด้วย, พระโบราณจารย์ กล่าวว่า ศีลในพระวินัยนั้น มีจำนวนข้อดังนี้ :
นวโกฏิ สหสฺสานิ อสีติสตโกฏิโย ปญฺญาสสตสหสฺสานิ ฉ ตึสา จ ปุนาปเร ปาติโมกข์มี 91,805,036,000 ข้อ (เก้าหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยห้าล้าน เศษอีกสามหมื่นหกพันข้อ)
สูตร แปลว่า ได้ฟังและจำมาแล้ว. เช่น สุตมยญาณ - การทรงจำได้ แล้วเข้าใจในสิ่งที่ทรงจำนั้นได้ด้วย.
อภิธรรม แปลว่า ธรรมะอันยิ่ง ได้แก่ ธรรมะที่ประเสริฐสุด หรือ ธรรมะที่กล่าวครอบคลุมเจาะลึกที่สุด.
อนึ่ง บางคำที่อธิบายในที่นี้ อาจมีความหมายอื่นได้อีก แต่เนื่องจากไม่เกี่ยวกับหมวดหมู่พระไตรปิฎก จึงได้งดไม่กล่าวถึง ครับ.
ขออนุโมทนาครับ
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาความเห็นที่สามค่ะ อ่านคร่าวๆ ดูแล้วราวกับว่า ผู้ที่จะเข้า
ใจได้ทั้งหมดจริงๆ น่าจะเป็น ภิกษุสงฆ์ แต่อย่างไรก็ขอขอบพระคุณที่ได้กรุณาให้ราย
ละเอียดค่ะ
เพิ่งทราบความหมายของหลายคำ ขออนุโมทนาความเห็นที่สาม
ขอเรียนถามว่า
อุทเทส ที่เข้าคู่กับ นิทเทส นั้น มีความหมายเดียวกับ อุเทศ
ที่ใช้เข้าคู่กับ วิภังค์ (เช่นในโลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร) หรือไม่
ถ้าใช่ วิภังค์ กับ นิทเทส มีความหมายต่างกันหรือไม่ อย่างไร
ขอบพระคุณครับ
ชาดก หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องจริง ที่เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
และสาวกทั้งหลาย เป็นต้นค่ะ
ขอบคุณและอนุโมทนาต่อความเห็นที่ 8 ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนา
สวัสดีครับ คุณ BudCoP ยินดีที่ได้ร่วมสนทนาเช่นกันครับ
หน้าฝนปีนี้ เน็ทที่บ้านผม เสียหลายครั้ง ครั้งละหลายวัน ตอนนี้ก็ยังเสียอยู่
แต่ผมเห็นว่าเวลาผ่านไปหลายวัน เลยเข้าเวบ บธม จากที่อื่น
ตามที่ตอบมา อุเทศ ก็คือ อุทเทส และผมเข้าใจว่า
นิทเทส กับ วิภังค์ แม้จะต่างกันโดยศัพท์ แต่ก็มีความหมายใกล้กันมาก
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ