ความเป็นไปแห่งปฏิจจสมุปบาทในจิตดวงเดียว ในคัมภีร์ธัมมสังคณี
โดย SOAMUSA  9 ก.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21380

ขอความกรุณานำเรื่องความเป็นไปแห่งปฏิจจสมุปปาทในจิตดวงเดียว ในคัมภีร์ธัมมสังคณี มาอธิบายด้วยค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 588

ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์

พระศาสดาผู้มีพระญาณอันไม่มีอะไรขัดขวางในธรรมทั้งปวง ครั้นทรงแสดงปัจจยาการอันปราศจากขอดปม และไม่ยุ่งยากในสุตตันตภาชนีย์ ด้วยอำนาจจิตต่างๆ ปานดังทรงคลี่ผืนมหาปฐพี และ ปานดังทรงขยายนภากาศด้วยประการฉะนี้แล้ว

บัดนี้ เพราะปัจจยาการนี้จะมีในจิตต่างๆ กัน อย่างเดียว เท่านั้นก็หาไม่ ย่อมมีแม้ในจิตดวงเดียวทีเดียว ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงปัจจยาการซึ่งเกิดในขณะจิตดวงเดียวกัน โดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจอภิธรรมภาชนีย์ จึงทรงตั้งมาติกาไว้ก่อนโดยนัยมีอาทิว่า

อวิชฺชาปจฺจยา สขาโร (สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย)


พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้ง และ หลากหลายนัย ตามเทศนาของพระองค์ ซึ่ง ปฏิจจสมุปปาท ก็คือ ความเป็นไปของสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นนั้น ก็ต้องอาศัยปัจจัย ประการต่างๆ จึงเกิดขึ้น สำหรับ ในส่วนของพระสูตรนั้น จะแสดงโดยรวม คือ ไม่ได้ละเอียดเท่าพระอภิธรรม เพราะฉะนั้น โดยนัยพระสูตร ก็แสดงความเป็นปัจจัย ของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ทำให้เกิดขึ้นโดยกว้างๆ รวมจิตอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย ทำให้เกิดสังขาร ซึ่งโดยนัยพระสูตรแล้ว ก็แสดงไว้โดยไม่ได้เจาะจง เพียงแต่ละขณะจิต เพียงจิตเดียว แต่กล่าวรวมว่า เพราะอาศัย กิเลส คือ อวิชชา ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขารทั้งหลาย ซึ่ง สังขารทั้งหลายในที่นี้ ก็หมายถึง จิตหลายๆ ประเภท ไม่ใช่เพียงจิตเดียว รวมทั้ง รูปธรรม ก็รวมลงในสังขารทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น โดยนัยพระสูตร จึงกล่าวรวมว่า เพราะอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขารทั้งหลาย ก็เป็นสังขารที่เป็นจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นหลายๆ ดวง ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 10 ก.ค. 2555

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่กระผมยกมาข้างต้นที่ว่า

ครั้นทรงแสดงปัจจยาการอันปราศจากขอดปม และไม่ยุ่งยากในสุตตันตภาชนีย์ (พระสูตร) ด้วยอำนาจจิตต่างๆ ปานดังทรงคลี่ผืนมหาปฐพี และปานดังทรงขยายนภากาศด้วยประการฉะนี้แล้ว


จากข้อความนี้ ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้า ทรงแสดง ความเป็นปัจจัยของสภาพธรรม โดยกว้างขวางต่างๆ ในจิตประเภทต่างๆ และจากคำในพระไตรปิฎกที่ว่า

บัดนี้ เพราะปัจจยาการนี้ จะมีในจิตต่างๆ กัน อย่างเดียว เท่านั้นก็หาไม่ ย่อมมีแม้ในจิตดวงเดียวทีเดียว ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงปัจจยาการซึ่งเกิดในขณะจิตดวงเดียวกัน โดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจอภิธรรมภาชนีย์ จึงทรงตั้งมาติกาไว้ก่อนโดยนัยมี

อาทิว่า อวิชฺชาปจฺจยา สขาโร (สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย)

ข้อความนี้ แสดงว่า เมื่อแสดงโดยนัยอภิธรรมแล้ว ซึ่ง อภิธรรม คือ สภาพธรรมที่ละเอียดยิ่ง ก็แสดงความละเอียดแต่ละขณะจิต เพราะฉะนั้น แม้ในจิตขณะเดียว จิตเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้น ของปุถุชน ผู้ยังมีกิเลส ก็เพราะอาศัยอวิชชา เป็นปัจจัย มีปัจจัย คือ ความไม่รู้ทำให้เกิดขึ้น เพราะจิตที่เกิดในขณะนั้น มีสังขาร คือ เจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่เป็นจิตขณะเดียวเท่านั้น ที่เป็นกุศล หรือ อกุศลจิตในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อว่าโดยละเอียด ในนัยอภิธรรม ที่แสดงปฏิจจสมุปบาท แม้จิตดวงเดียวที่เกิดขึ้น มีกุศลจิต อกุศลจิต เป็นต้น ขณะนั้น ก็มีปัจจัยแล้ว โดย ที่อวิชชา เป็นปัจจัย ทำให้เกิด สังขารที่เป็นกุศลจิต ปุญญาภิสังขาร และ อกุศลจิตที่เป็น อปุญญาภิสังขาร ครับ

สรุปได้ว่า โดยนัยอภิธรรม แสดงความละเอียดของ จิตเพียงขณะเดียวที่เกิดขึ้น ก็มีปัจจัยประการต่างๆ ทำให้เกิดขึ้นได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย SOAMUSA  วันที่ 10 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะอาจารย์ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

มีพระสูตรอื่นหรือไม่คะ ที่กล่าวไว้ละเอียดค่ะ ขอความกรุณาอาจารย์นำมาอธิบายเพิ่มอีกค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 10 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ข้อความที่ยกมาที่อธิบาย เพียงจิตขณะเดียวว่าจะต้องมีปัจจัย เป็นบทเกริ่นนำ ครับ ซึ่ง คำอธิบาย ในจิตแต่ละขณะมีปัจจัยอะไรบ้าง ก็สามารถอ่านต่อในแต่ละปัจจัย มี อวิชชา เป็นปัจจัย กับ สังขาร ในบทต่อ ใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 588 อ่านไล่ไปเรื่อยๆ ครับ ก็จะแสดง ความละเอียดของจิตแต่ละขณะ ว่า มีปัจจัยอะไร สัมพันธ์กันอย่างไร โดยนัย ปฏิจจสมุปปาทครับ แต่ถ้าโดยนัย พระสูตร จะไม่ละเอียดเท่า ครับ และ โดยคัมภีร์ปัจจัย ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรม ก็แสดงความละเอียด ของปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อจิตแต่ละขณะ ว่ามีปัจจัยอะไร บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก ละเอียดลึกซึ้งมากๆ ๆ ครับ เพราะ เป็น คัมภร์ที่ลึกซึ้งสุดประมาณ

ก็ขอให้ศึกษาไปตามลำดับ ดีกว่า ครับ ค่อยๆ เข้าใจในเรื่องสภาพธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ให้เข้าใจเบื้องต้นโดยละเอียดเสียก่อน เพราะ อาจจะงง เมื่อไปศึกษาส่วนละเอียด และ อาจทำให้ลืม สนใจสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 5    โดย SOAMUSA  วันที่ 10 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ดิฉันสนใจศึกษาหาอ่านเพิ่มเติมค่ะ ในพระสูตรจะว่าเป็นเรื่องของจิตข้ามภพข้ามชาติ ดิฉันทราบมาแค่นี้ จึงคิดว่าจะมีพระสูตรไหนหรือไม่ที่กล่าวได้ทำนองจิตดวงเดียวบ้างคะ

กราบขอบพระคุณที่แนะนำค่ะ เพราะแค่ใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 588 อ่านไล่ไปเรื่อยๆ ก็คงยากอยู่แล้วค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิจจสมุปปาท ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน แม้แต่จิต ก็มีจริงในขณะนี้ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย และที่สำคัญ จิตไม่ได้มีเพียงดวงเดียวที่ยั่งยืน และไม่มีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ ต้องเกิดทีละขณะ

ตั้งแต่เกิดจนมาถึงขณะนี้ ก็มีจิตเกิดดับสืบต่อกันนับประมาณไม่ได้ จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไป ตราบใดก็ตามที่ยังไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ก็ยังไม่สามารถพ้นไปจากทุกข์ ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปในภพภูมิต่างๆ เป็นเหตุให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป แต่เมื่อใดที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับขันธปรินิพพานแล้ว เมื่อนั้น ย่อมไม่มีการเกิดขึ้นในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย SOAMUSA  วันที่ 10 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะอาจารย์ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

จิตดวงเดียว มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อนุมานไม่ต่างไปจากจิตข้ามภพข้ามชาติ เพราะ พิจารณาไปที่จิตดวงเดียวทำให้เห็นถึงธรรมได้มากมายที่เป็นปัจจุบัน เป็นปัญญาในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน ในจิตดวงเดียวชื่อว่า เอกจิตตักขณิกปฏิจจสมุปปาท

ถ้าอาจารย์มีอะไรอธิบายในเรื่องนี้ เรียนเชิญอาจารย์อธิบายเป็นธรรมทานด้วยค่ะ เพราะฟังมาบ้างแต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจได้มากมาย ถ้ามีใครอธิบายเพิ่มให้อ่านอีกคงจะดีไม่น้อยค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 10 ก.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

เอกจิตตักขณิกปฏิจจสมุปบาท เป็นการแสดงความเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ละขณะจิต โดยนัยปฏิจจสมุปบาท ซึ่ง การจะรู้ความเป็นไปของสภาพธรรมที่แต่ละขณะจิต โดยนัยปฏิจจสมุปบาท นั้น จะต้องเป็นปัญญาที่ไม่ใช่นึกคิดเป็นเรื่องราว แต่ประจักษ์ตัวธรรม และ ความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมในขณะนั้น ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาระดับสูงมากๆ เพราะ ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้ง ที่ไม่ใช่การรู้โดยการนึกคิด ตรึกตาม แต่ เป็นความเป็นไปของสภาพธรรมตามปัจจัยต่างๆ ในจิตแต่ละขณะ จะต้องมีปัญญาคมกล้าอย่างมาก จึงจะรู้ได้

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องไกล ของผู้ที่สะสมปัญญามาน้อย แม้แต่ สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นแต่เพียงะรรมไม่ใช่เรา ประจักษ์ตัวลักษณะของเห็น เป็นต้น ว่าเป็นธรรม ก็ยังไม่รู้ ไม่ต้องกล่าวถึง การรู้ จิตแต่ละขณะ ที่เป็นขณะเดียวที่เกิดขึ้น ที่แสดงถึงความเป็นไปของเหตุปัจจัย โดยนัยปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องยาก และ ไกลมาก ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย SOAMUSA  วันที่ 10 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ ถึงปฏิบัติไม่ได้ก็ขอเป็นอาเสวนปัจจัยในปริยัติล่ะกันค่ะ เป็นเรื่องที่ไกล ยากแก่การปฏิบัติ แต่ก็เป็นบุญกุศลที่ได้ฟังได้อ่าน พิจารณาตามปริยัติ ถือเป็นกุศล ถือเป็นการสืบทอดพระศาสนา แม้ดิฉันจะปฏิบัติได้แค่ผู้มีปัญญาน้อย แต่ ไหนๆ เกิดมาแล้ว ก็ขอเข้าใจได้บ้างด้วยปริยัติ แม้จะปฏิบัติด้วยวิปัสสนาไม่ได้ ก็ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้เข้าใจบ้างก็ยังดีค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย เซจาน้อย  วันที่ 10 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"การพรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาท แม้โดยปกติก็เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยยาก เว้นแต่ท่านผู้สำเร็จปริยัติ และท่านผู้บรรลุมรรคผล"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 11    โดย เข้าใจ  วันที่ 13 ก.ค. 2555

กราบอนุโมทนากับอาจารย์ด้วยครับ