นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.
ปฐมอาฆาตวินยสูตร
ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
จาก..
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
ทุติยอาฆาตสูตร
ว่าด้วยเหตุกำจัดความอาฆาต ๙ ประการ
จาก..
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 817
นำการสนทนาโดย..
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไปนะครับ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 337
อาฆาตวรรคที่ ๒
๑. ปฐมอาฆาตวินยสูตร
ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
[๑๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑
ภิกษุพึงระงับ ความอาฆาต ในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้
จบปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑
อาฆาตวรรควรรณนาที่ ๒
อรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
ชื่อว่า อาฆาตวินยะ เพราะอรรถว่า สงบระงับอาฆาต
บทว่า ยตฺถ ภิกฺขุโน อุปปนฺโน อาฆาโต สพฺพโส ปฏิเนตพฺโพ ความว่า ความอาฆาตเกิดขึ้นแก่ภิกษุในอารมณ์ใด พึงระงับความอาฆาตทั้งหมดนั้นในอารมณ์นั้นด้วยอาฆาตปฏิวินัย (ธรรมระงับอาฆาต) ๕ เหล่านี้
บทว่า เมตฺตา ตสฺมึ ปุคฺคเล ภาเวตพฺพา ความว่า พึงเจริญเมตตาด้วยติกฌาน (ฌานหมวด ๓) และจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) แม้ในกรุณาก็นัยนี้เหมือนกัน แต่อุเบกขาควรเจริญด้วยจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) และปัญจกฌาน (ฌานหมวด ๕) ก็เพราะจิต (อาฆาต) ของผู้ที่เห็นบุคคลใดยังไม่ดับ มุทิตาจึงไม่ปรากฏในบุคคลนั้น ฉะนั้นท่านจึงไม่กล่าวถึงมุทิตา
บทว่า อสติ อมนสิกาโร ได้แก่ พึงตัดความระลึกถึงในบุคคลนั้นโดยอาการที่บุคคลนั้นไม่ปรากฏเป็นเหมือนเอาฝาเป็นต้น กั้นไว้ ฉะนั้น
บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยกล่าวไว้แล้วในหนหลัง
จบ อรรถกถาปฐมอาฆาตวินยสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 817
๑๐. ทุติยอาฆาตสูตร
ว่าด้วยเหตุกำจัดความอาฆาต ๙ ประการ
[๒๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้ ๙ ประการเป็นไฉน คือ
บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตได้ด้วยคิดว่า คนโน้นได้ประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เราแล้วเพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์ในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นย่อมประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชนในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นจักประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์ในบุคคลนี้เล่า ๑
บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาต ด้วยคิดว่าคนโน้นได้ประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้ ๑
คนโน้นย่อมประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นจักประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น ไหนเราจะพึงได้การประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในกาลนี้เล่า ๑
บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยคิดว่า คนโน้นได้ประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว เพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นย่อมประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราเพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
คนโน้นจักประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราเพราะเหตุนั้น ที่ไหนเราจะพึงได้การประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้เล่า ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้แล
จบ ทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐
อรรถกถาทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐
ทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
บทว่า อาฆาตปฏิวินยา ได้แก่ เหตุแห่งการกำจัดความอาฆาต
บทว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา ความว่า เราจะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ไหน คือ เราสามารถจะได้ด้วยเหตุไรว่า การประพฤติไม่เป็นประโยชน์นั้น อย่าได้มีแล้วดังนี้ อธิบายว่า บุคคลคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาคนอื่นจะทำความฉิบหายแก่คนอื่นตามความชอบใจของตน ดังนี้แล้วกำจัดความอาฆาตเสียได้ อีกอย่างหนึ่ง หากเราพึงทำความโกรธตอบ การทำความโกรธนั้นเราจะพึงได้ในบุคคลนี้แต่ไหน อธิบายว่า เราสามารถจะได้ด้วยเหตุไร ปาฐะว่า ตํ กุโต ลาภา ดังนี้ก็มี ความว่า หากเราพึงทำความโกรธในบุคคลนี้ ในการทำความโกรธของเรานั้น จะพึงได้อะไรแต่ไหน อธิบายว่า ชื่อว่า จะพึงได้อะไรมา
บทว่า ตํ ในอรรถนี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น
จบ อรรถกถาทุติยอาฆาตสูตรที่ ๑๐
สาธุ สาธุ ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ