นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ
[คาถาสังเขป]
ในบทว่า นามรูปจฺจยา สฬายตนํ นามได้แก่ ขันธ์ ๓ รูปได้แก่ รูปมีภูตรูปและวัตถุ (ทวาร) รูปเป็นต้น นามรูป นั้นอันทําให้เป็นเอกเศษ เป็นปัจจัยแห่ง สฬายตนะนั้นอันทําให้เป็นเอกเศษเช่นนั้น เหมือนกัน
[ขยายความ]
ความว่า นามรูปอันเป็นปัจจัยแห่งสฬายตนะนั้นใด ในนามรูป นั้น พึงทราบว่าขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่านาม ส่วนรูปเป็น ของเนื่องด้วยสิ่งที่มีสันตติ โดยเฉพาะได้แก่ รูปมีภูตรูป และวัตถุ (ทวาร) รูป เป็นต้น อย่างนี้คือ ภูตรูป ๔ วัตถุ (ทวาร) รูป ๖ ชีวิตินทรียรูป (๑) ก็แลนามรูปนั้น อันทําให้เป็นเอกเศษว่า "นามด้วย รูปด้วย ทั้งนามและรูปด้วย ชื่อว่านามรูป" ดังนี้ พึง ทราบว่า ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสฬายตนะอันทําให้เป็นเอกเศษเหมือนกัน ดังนี้ว่า "ฉัฏฐายตนะ (อายตนะที่ ๖) ด้วย สฬายตนะ (อายตนะ ๖) ด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ๑ " ถามว่า เพราะเหตุไร (จึงทําเอกเศษอย่าง นั้น) ? ตอบว่า เพราะในอรูปภพ นามอย่างเดียวเป็นปัจจัย และ นามนั้นก็เป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ เท่านั้น หาเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ อื่นไม่ สมคําในวิภังค์ว่า "นามปจฺจยา ฉฏฺฐายตนํ – อายตนะที่ ๖ ย่อมมีเพราะปัจจัยคือนาม" ดังนี้
ในบท (นี้) นั้น หากมีคําถามว่า "ก็ข้อที่ว่า "นามรูปเป็น ปัจจัยแห่งสฬายตนะ" นั่น จึงพึงทราบได้ อย่างไร? " คําแก้พึงมีว่า "ทราบได้โดยที่มันมี ในเมื่อนามรูปมี" จริงอยู่ เพราะมีนามและ รูปนั้นๆ อายตนะนั้นๆ จึงมี มันหามีโดยประการอื่นไม่ ก็แล ความที่ อายตนะมีเพราะนามรูปนั้นมีนั้น จักมีแจ้งในปัจจยนัยทีเดียว (ต่อไปนี้) เพราะฉะนั้น
ในปฏิสนธิกาล หรือในปวัตตกาลก็ดี นามใดและรูปใด เป็นปัจจยแห่งอายตนะ ใด (ๆ) และเป็นปัจจัยโดยประการ ใด (ๆ) ปราชญ์พึงนําพา โดยประการ นั้น (ๆ) เทอญ
(ต่อไป) นี้เป็นคําขยายความในคาถา (ปัจจยนัย) นั้น
[นามเป็นปัจจัยในอรูปภพ]
ความว่า ในอรูปภพ นามอย่างเดียวเป็นปัจจัย ๗ อย่าง (และ) ๖ อย่าง ในปฏิสนธิกาล และปวัติกาล นั่น (ว่า) โดยอย่างต่ำ
เป็นอย่างไร? (ว่า) ในปฏิสนธิกาลก่อน โดยอย่างต่ำ นามย่อมเป็นปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ ๗ อย่าง โดยเป็นสหชาต----อัญญมัญญะ----นิสสย----สัมปยุต----วิปาก----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย อนึ่ง ในปฏิสนธิกาลนี้ นามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้ คือ นามบางอย่างเป็นโดย เหตุปัจจัย บางอย่างเป็นโดยอาหารปัจจัย ส่วนอย่างสูงและอย่างต่ำ พึงทราบโดยอํานาจเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น แม้ในปวัตตกาล นามที่เป็นวิบากก็เป็นปัจจัยโดยนัยที่ กล่าวแล้วเหมือนกัน แต่ในปัจจัยมี ประการดังกล่าวโดยอย่างต่ำ (นั้น) นามนอกนี้ (คือนามที่ไม่ใช่ วิบาก) ย่อมเป็นปัจจัยโดยปัจจัย ๖ ยกเว้นวิบากปัจจัย อนึ่ง ใน ปวัตตกาลนี้ อวิปากนามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้ คือ นาม บางอย่างเป็นโดยเหตุปัจจัย บางอย่างเป็นโดยอาหารปัจจัย ส่วน อย่างสูงและอย่างต่ำ พึงทราบโดยอํานาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น
[คาถาสังเขปนามเป็นปัจจัยในภพอื่นในปฏิสนธิ]
แม้ในภพอื่น นามก็เป็นปัจจัยแห่ง อายตนะที่ ๖ ในปฏิสนธิอย่างนั้น (คือ ๗ อย่าง) เหมือนกัน (แต่) มันเป็นปัจจัย แห่งอายตนะนอกนี้ โดยอาการ ๖
[ขยายความ]
ความว่า แม้ในภพอื่นจากอรูปภพ คือในปัญจโวการภพ วิบากนามนั้น เป็นสหาย (คือร่วมกับ) หทัยวัตถุ เป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ คือ มนายตนะ อย่างต่ำก็ ๗ อย่างเช่นที่กล่าวใน (ตอน) อรูปภพ เหมือนกัน แต่มันเป็นสหาย (คือร่วมกับ) มหาภูต ๔ เป็นปัจจัย แห่งอายตนะ ๕ นอกนี้มีจักขายตนะเป็นต้น โดยอาการ ๖ โดยเป็นสหชาต----นิสสย----วิปาก----วิปยุต----อัตถิ----และอวิคตปัจจัย อนึ่ง ใน ปฏิสนธิกาลนี้ วิปากนามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้คือ นาม บางอย่างเป็นโดยเหตุปัจจัย บางอย่างเป็นโดยอาหารปัจจัย ส่วน อย่างสูง อย่างต่ำ พึงทราบโดยอํานาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น
[คาถาสังเขปนามเป็นปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะในปวัตกาล]
แม้ในปวัตกาล วิปากนามก็เป็นปัจจัยแห่ง อายตนะที่ ๖ อันเป็นวิบากอย่างนั้น (คือ ๗ อย่าง) (ส่วน) อวิปากนาม เป็น ปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ ที่ไม่ใช่วิบาก ๖ อย่าง
[ขยายความ]
ความว่า แม้ในปวัตกาลในปัญจโวการภพ วิบากนามก็เป็นปัจจัย แห่งอายตนะที่ ๖ ที่เป็นวิบาก อย่างต่ำก็ ๗ อย่างดังในปฏิสนธิกาลเช่นกัน ส่วนอวิปากนามเป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่ ๖ ที่ไม่ใช่วิบาก อย่าง ต่ำ ๖ อย่างเท่านั้น โดยชักวิปากปัจจัยออกเสียจากปัจจัย ๗ นั้น ส่วน อย่างสูงอย่างต่ำในปัจจัยตอนนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่ กล่าวแล้วนั่นแล
[คาถาสังเขปนามเป็นปัจจัยแห่งอายตนะที่เหลือ]
ในปวัตกาลนั้นแหละ วิบากนาม เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๕ ที่เหลือ ๔ อย่าง แม้วิบากนาม ท่านก็ประกาศไว้เหมือนอย่างนั้น
[ขยายความ]
ความว่า ในปวัตกาลนั้นนั่นแหละ วิบากนามที่เป็นวัตถุแห่ง ประสาทมีจักขุประสาทเป็นต้นก็มี นอกนั้นก็ดี ย่อมเป็นปัจจัย ๔ อย่าง แห่งอายตนะที่ เหลือ ๕ มีจักขายตนะ เป็นอาทิ โดยเป็นปัจฉาชาต---- วิปยุต----อัตถิ---- และอวิคตปัจจัย ก็แลวิบากนามเป็นปัจจัยอย่างใด แม้ อวิบากนาม ท่านก็ประกาศไว้ (ว่าเป็นปัจจัย) อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า นามแม้ แตกต่างกันโดยเป็นกุศลเป็นต้น ก็ เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๕ นั้น ๔ อย่าง นามอย่างเดียวเป็นปัจจัยแห่งอายตนะใดๆ และเป็นปัจจัยด้วยประการใด (ๆ) ในปฏิสนธิกาลหรือในปวัตกาลก็ดี บัณฑิตพึงทราบ โดยประการนั้น (ๆ) ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก
[รูปเป็นปัจจัย]
[คาถาสังเขป]
ส่วนรูปไม่เป็นปัจจัยแห่งอายตนะ แม้ อย่างเดียวในอรูปภพนั้น แต่ในปัญจขันธภพ ในปฏิสนธิทางรูป วัตถุรูปเป็น ปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ ๖ อย่าง ภูตรูป ทั้งหลายเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๕ โดยไม่แปลกกัน ๔ อย่าง
[ขยายความ]
ความว่า ในปฏิสนธิทางรูป วัตถุรูปย่อมเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ที่ ๖ คือมนายตนะ ๖ อย่าง โดยเป็นสหชาต ---- อัญญมัญญ ---- นิสสย ---- วิปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย ส่วนภูตรูป ๔ เป็นปัจจัย ๔ อย่าง แห่งอายตนะทั้ง ๕ มีจักขายตนะ เป็นต้น สุดแต่อายตนะไหนจะเกิดขึ้น โดยเป็นสหชาต ---- นิสสย ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตกาลโดยไม่แปลกกัน
[คาถาสังเขปชีวิตรูปเป็นต้นเป็นปัจจัย]
ชีวิตรูป และอาหารรูป เป็นปัจจัยแห่ง อายตนะ ๕ นั้น (ฝ่ายละ) ๓ อย่าง ใน ปวัติกาล อายตนะ ๕ นั้นเล่าก็เป็นปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ ๖ อย่าง วัตถุรูปก็เป็นปัจจัย แห่งฉัฏฐายตนะนั้นเหมือนกัน ๕ อย่าง
[ขยายความ]
ส่วนรูปชีวิตเป็นปัจจัย ๓ อย่าง โดยเป็นอัตถิ ---- อวิคต ---- และอินทรียปัจจัย แห่งอายตนะ ๕ นั้น มีจักขายตนะเป็นต้น ในปฏิสนธิกาล และในปวัตกาลด้วย และอาหารก็เป็นปัจจัย ๓ อย่าง โดยเป็นอัตถิ ---- อวิคต ---- และอาหารปัจจัย ก็แต่อาหารนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแต่ในกาย ที่ซาบ (รส) อาหารได้ของสัตว์ เหล่าที่อาศัยอาหารเป็นอยู่ในปวัติกาล เท่านั้น หาเป็นปัจจัยในปฏิสนธิกาลไม่ ส่วนอายตนะ ๕ มีจักขายตนะ เป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยแห่งฉัฏฐายตนะ คือมนายตนะ อันได้แก่ จักขุ ---- โสต ---- ฆาน ---- ชิวหา ---- กายวิญญาณ ๖ อย่าง โดยเป็นนิสสย ---- ปุเรชาต ---- อินทรีย ---- วิปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย ในปวัตกาล ไม่เป็นใน ปฏิสนธิกาล อนึ่ง วัตถุรูปเป็นปัจจัยแห่งมนายตนะนั่นแหละเว้น วิญญาณ ๕ คือมนายตนะที่ เหลือ (ได้แก่ มโนวิญญาณ?) ๕ อย่าง โดยเป็นนิสสย ---- ปุเรชาต ---- วิปยุต --- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัย เฉพาะ ในปวัตกาล ไม่เป็นในปฏิสนธิกาล
รูปอย่างเดียวเป็นปัจจัยแห่งอายตนะใดๆ ในปฏิสนธิกาลหรือใน ปวัตกาลก็ดี และรูปนั้นเป็นปัจจัยโดยประการใด บัณฑิตพึงทราบโดย ประการนั้น ดังกล่าวมาฉะนี้
[คาถาสรูปนามรูปปัจจัย]
ก็นามและรูปทั้งสองใด เป็นปัจจัยแห่ง อายตนะไร และเป็นโดยประการไร แม้นามและรูปนั้น ปราชญ์ก็พึงทราบในประการทั้งปวงเถิด
ข้อนี้เช่นอย่างไร? เช่นว่า " (ชั้นแรกว่า) ในปฏิสนธิก่อน นาม และรูปกล่าวคือขันธตรัยและวัตถุรูป ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาต ---- อัญญมัญญ ---- นิสสย ---- วิปาก ----สัมปยุต ---- วิปยุต ---- อัตถิ ---- และอวิคตปัจจัยเป็นต้น แห่งฉัฏฐายตนะในปัญจโวการภพ" ดังนี้เป็นต้น นี่เป็น เพียงมุข (หนึ่ง) ในข้อนี้ แต่ปราชญ์อาจประกอบความได้ทุกอย่าง ตามทํานองนัยที่ กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่แสดงความ พิสดารในข้อนี้ แล
นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ
[สรุปความ]
>>ปัจจัยธรรม
- นามรูป แยกเป็น ๒ คำ คือ นาม คือ สภาพธรรมที่รู้อารมณ์ และรูป คือสภาพธรรมที่ไม่มีอารมณ์ ในที่นี้ นามรูป หมายถึง เจตสิก และรูป โดยนามนั้น ท่านกล่าวว่าเป็นขันธ์ ๓ (เวทนา สัญญา สังขาร) ส่วนรูปนั้น ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัตถุรูป ๖ (จักขุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย หทย) ชีวิตินรียรูป ๑ เป็นต้น
>>ปัจจยุบันธรรม
-อายตนะ หมายถึง ธรรมที่เป็นที่ต่อ ที่เป็นที่ประชุมกันของธรรมท้้งหลาย ในที่นี้ ได้แก่ อายตนะภายในทั้ง ๖ ที่เป็นปัจจยุบันธรรม คือ ปสาทรูป ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) และ มนายตนะ (ใจ ซึ่ง ณ ที่นี้ ท่านกล่าวเฉพาะวิบากจิต ๓๒ เว้น ผลจิต ๔)
- ในการจำแนกนามรูปที่เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะนั้น ท่านจำแนกโดยแบ่งเป็นส่วนๆ (เอกเศษ) เพื่อเป็นตัวแทนของส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่
1. นามรูป ถูกจำแนกเป็นส่วนๆ เช่น นาม รูป และนามรูป
2. สฬายตนะ ถูกจำแนกเป็นส่วนๆ เช่น ฉัฏฐายตนะ (อายตนะที่ ๖) สฬายตนะ (อายตนะทั้ง ๖) เป็นต้น
เพราะในกรณีของรูปพรหมนั้น มีนามเท่านั้นเป็นปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ เท่านั้น
> สรุปจำแนกปัจจัยต่างๆ
>> นามเป็นปัจจัย
>>> อรูปพรหม
>>>> ปฏิสนธิกาล
- วิบากนาม (เจตสิกที่จำแนกเป็นขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ที่เป็นชาติวิบาก) ไม่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับรูปใดๆ เลย เป็นปัจจัยอย่างต่ำ ๗ ประเภท แก่ อายตนะที่ ๖ (คือมนายตนะ ได้แก่ อรูปปฏิสนธิจิต ๔ ดวงที่ทำให้เกิด) ได้แก่
1. สหชาตปัจจัย (เจตสิกเป็นปัจจัยแก่จิตโดยการเกิดพร้อมจิต)
2. อัญญมัญญปัจจัย (เจตสิกและจิตเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน)
3. นิสสยปัจจัย (จิตอาศัยเจตสิกเกิดโดยสหชาตนิสสยปัจจัย)
4. สัมปยุตปัจจัย (จิตและเจตสิกเกิดดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน)
5. วิปากปัจจัย (เจตสิกชาติวิบาก เป็นปัจจัยให้แก่จิตชาติวิบาก)
6. อัตถิปัจจัย (เพราะมีเจตสิกมีอยู่ เป็นสหชาตัตถิปัจจัย เป็นต้น จิตจึงเกิดได้)
7. อวิคตปัจจัย (เพราะเจตสิกนั้นยังไม่ดับไป เป็นสหชาตอวิคติปัจจัยแก่จิต จิตจึงเกิดได้)
- ในกรณีที่นับอย่างสูง อาจจะมีปัจจัยอื่นเกิดขึ้นด้วย ได้ ๙ ประเภท เป็นต้น ได้แก่
8. อาหารปัจจัย (ได้แก่ ผัสสะ เจตนา นั้นเป็นอาหารปัจจัยแก่จิตขณะนั้นๆ)
9. เหตุปัจจัย (ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่จิตขณะนั้นๆ เป็นต้น)
>>>> ปวัตติกาล
- วิบากนาม (เจตสิกที่เป็น ขันธ์ ๓ ชาติวิบาก) ก็เป็นปัจจัยข้างต้นอย่างต่ำ ๗ ประเภท แก่ อายตนะที่ ๖ (วิบากจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ได้แก่ ภวังคจิต) ได้
- อวิบากนาม (เจตสิกที่เป็น ขันธ์ ๓ ที่ไม่ได้เกิดเป็นชาติวิบาก หมายถึง เจตสิกชาติกริยา ชาติกุศล ชาติอกุศล) จะเป็นปัจจัยข้างต้นอย่างต่ำ ๖ ประเภท (ตัดวิบากปัจจัยทิ้ง) แก่อายตนะที่ ๖ (อวิบากจิต หมายถึง จิตชาติกริยา ชาติกุศล ชาติอกุศล)
>>> สัตว์ในปัญจโวการภพ
(หมายถึง ผู้ที่มีขันธ์ ๕ ครบ เช่น เทวดา มนุษย์ สัตว์ในอบาย เป็นต้น ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
>>>> ปฏิสนธิกาล
- วิบากนาม (ขันธ์ ๓ ชาติวิบาก หมายถึง เจตสิกไม่เกิน ๓๕ ดวง ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ปกิณกเจตสิก ๖ โสภณเจตสิก ๒๒ เว้นวิรตีเจตสิก ที่เกิดกับ ปัญจโวการปฏิสนธิวิญญาณ) จะเกิดร่วมกับหทยวัตถุ แล้วเป็นปัจจัยดังแสดงข้างต้นอย่างต่ำ ๗ ประเภท (เหมือนกรณีปฏิสนธิกาลของรูปพรหม) แก่ อายตนะที่ ๖ (ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวงที่ทำให้เกิดในกามภพ รูปภพ เป็นต้น)
- วิบากนาม (ขันธ์ ๓ ชาติวิบาก ไม่เกิน ๓๕ ดวง) จะเกิดร่วมกับมหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยอย่างต่ำ ๖ ประเภท แก่ อายตนะที่เหลือ ๕ (ปสาทรูป ๕ ที่เป็นที่ประชุมภายใน ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย อย่างสูงก็ครบ ๕ อย่างต่ำในครรภ์ มีแต่กายก่อน) ได้แก่
1. สหชาตปัจจัย (เจตสิกเป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมปสาทรูปนั้นๆ)
2. นิสสยปัจจัย (ปสาทรูปนั้นๆ อาศัยเจตสิกเกิด โดยสหชาตนิสสยปัจจัย)
3. วิปยุตปัจจัย (รูปเกิดเพราะจิตโดยสหชาตวิปยุตปัจจัย)
4. วิปากปัจจัย (เจตสิกชาติวิบาก เป็นปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิกัมชรูป)
5. อัตถิปัจจัย (เพราะมีเจตสิกมีอยู่ เป็นสหชาตัตถิปัจจัย เป็นต้น ปฏิสนธิกัมชรูปจึงเกิดได้)
6. อวิคตปัจจัย (เพราะเจตสิกนั้นยังไม่ดับไป เป็นสหชาตอวิคตปัจจัย เป็นต้น ปฏิสนธิกัมชรูปจึงเกิดได้)
- ในกรณีที่นับอย่างสูง อาจจะมีปัจจัยอื่นเกิดขึ้นด้วย ได้ ๘ ประเภท เป็นต้น ได้แก่
7. อาหารปัจจัย (ได้แก่ ผัสสะ เจตนา นั้นเป็นอาหารปัจจัยแก่กัมชรูปขณะที่ปฏิสนธิ)
8. เหตุปัจจัย (ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กัมชรูปขณะที่ปฏิสนธิ เป็นต้น)
>>>> ปวัตติกาล
- วิบากนาม (ขันธ์ ๓ ชาติวิบาก) เป็นปัจจัยข้างต้นอย่างต่ำ ๗ ประเภท (แรกสุด เหมือนกรณีปฏิสนธิกาล) แก่ อายตนะที่ ๖ (วิบากจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ได้แก่ ภวังคจิต ทวิปัญจวิญญาณจิต เป็นต้น)
- อวิบากนาม (ขันธ์ ๓ ที่ไม่ได้เกิดเป็นชาติวิบาก) เป็นปัจจัยข้างต้นอย่างต่ำ ๖ ประเภท (ตัววิบากปัจจัยทิ้ง) แก่ อายตนะที่ ๖ (อวิบากจิต)
- วิบากนาม (ขันธ์ ๓ ชาติวิบาก) เป็นปัจจัย ๔ ประเภท แก่ อายตนะที่เหลือ ๕ (ปสาทรูป ๕) ได้แก่
1. ปัจฉาชาตปัจจัย (เจตสิกที่เกิดกับภวังคจิต และวิบากจิตแต่ละทวารที่เกิดดับอุปการะให้ปสาทรูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับ เป็นต้น)
2. วิปยุตปัจจัย (เจตสิกที่เกิดดับต่อมาจากปฏิสนธิจิตนั้น เป็นปัจฉาชาตวิปยุตตปัจจัย แก่ปสาทรูป ๕)
3. อัตถิปัจจัย (เจตสิกเป็นปัจฉาชาตัตถิปัจจัย)
4. อวิคตปัจจัย (เจตสิกเป็นปัจฉาชาตอวิคตปัจจัย)
- อวิบากนาม (ขันธ์ ๓ ที่ไม่ได้เกิดเป็นชาติวิบาก โดยเป็นกุศลเจตสิก อกุศลเจตสิก เป็นต้น) เป็นปัจจัยข้างต้น ๔ ประเภท แก่ อายตนะที่เหลือ ๕ (ปสาทรูป ๕)
>> รูปเป็นปัจจัย
>>> สัตว์ในปัญจโวการภพ
>>>> ปฏิสนธิกาล
- วัตถุรูป (หทัย) เป็นปัจจัย ๖ ประเภท แก่ อายตนะที่ ๖ (ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวง) ได้แก่
1. สหชาตปัจจัย (หทยรูปเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตโดยการเกิดพร้อมกัน)
2. อัญญมัญญปัจจัย (หทยรูปและปฏิสนธิจิตอาศัยกันและกันเกิด)
3. นิสสยปัจจัย (หทยรูปเป็นที่อาศัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด)
4. วิปยุตปัจจัย (หทยรูปเป็นรูปไม่ใช่นามธรรมจึงเป็นสหชาตวิปยุตปัจจัย อุดหนุดให้ปฏิสนธิจิตเกิด)
5. อัตถิปัจจัย (หทยรูปเป็นสหชาตัตถิปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด)
6. อวิคตปัจจัย (หทยรูปเป็นสหชาตาวิคตปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด)
- มหาภูตรูป (ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม) เป็นปัจจัย ๔ ประเภท แก่ อายตนะ ๕ (ปสาทรูป ๕) ได้แก่
1. สหชาตปัจจัย (มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกับจักขุปสาทรูป เป็นต้น)
2. นิสสยปัจจัย (มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตนิสสยปัจจัยแก่จักขุปสาทรูป เป็นต้น)
3. อัตถิปัจจัย (มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่จักขุปสาทรูป เป็นต้น)
4. อวิคตปัจจัย (มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตอวิคตปัจจัยแก่จักขุปสาทรูป เป็นต้น)
- ชีวิตรูป เป็นปัจจัย ๓ ประเภท แก่ อายตนะ ๕ (ปสาทรูป ๕) ได้แก่
1. อัตถิปัจจัย (ชีวิตรูป เป็นอินทรียัตถิปัจจัยแก่ จักขุปสาทรูป เป็นต้น)
2. อวิคตปัจจัย (ชีวิตรูป เป็นอินทรียวิคตปัจจัยแก่ จักขุปสาทรูป เป็นต้น เมื่อชีวิตรูปยังมีอยู่)
3. อินทรียปัจจัย (ชีวิตรูป เป็นอินทรียปัจจัยแก่ จักขุปสาทรูป เป็นต้น เมื่อชีวิตรูปยังไม่ดับไป)
>>>> ปวัตติกาล
- มหาภูตรูป (ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม) ก็เป็นปัจจัยข้างต้น ๔ ประเภท แก่ อายตนะ ๕ (ปสาทรูป ๕)
- ชีวิตรูป ก็เป็นปัจจัยข้างต้น ๓ ประเภท แก่ อายตนะ ๕ (ปสาทรูป ๕)
- อาหารรูป เป็นปัจจัย ๓ ประเภท แก่ อายตนะ ๕ (ปสาทรูป ๕) ได้แก่
1. อัตถิปัจจัย (อาหารรูปเป็นอาหารัตถิปัจจัยแก่จักขุปสาทรูป เป็นต้น เมื่ออาหารรูปมี)
2. อวิคตปัจจัย (อาหารรูปเป็นอาหาอวิคตปัจจัยแก่จักขุปสาทรูป เป็นต้น เมื่ออาหารรูปยังไม่ดับไป)
3. อาหารปัจจัย (อาหารรูปเป็นอาหารปัจจัยแก่จักขุปสาทรูป เป็นต้น)
- อายตนะ ๕ (จักขุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย) เป็นปัจจัย ๖ ประเภท แก่ อายตนะที่ ๖ (ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ทั้งฝ่ายกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก) ได้แก่
1. นิสสยปัจจัย (เว้นอุปาทขณะ และภังคขณะของรูป ซึ่งรูปอ่อนกำลัง จักขุรูปขณะที่ตั้งอยู่ หรือฐิติปัตตะ ซึ่งมีอายุ ๔๙ อนุขณะจิตนั้นเป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยแก่จักขุวิญญาณจิต เกิดได้ เป็นต้น)
2. ปุเรชาตปัจจัย (เมื่อจักขุรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่จักขุวิญญาณจิต เป็นต้น)
3. อินทรียปัจจัย (เมื่อจักขุรูปที่เป็นฐิติปัตตะ เป็นปุเรชาตินทรียปัจจัยแก่จักขุวิญญาณจิต เป็นต้น)
4. วิปยุตปัจจัย (เมื่อจักขุรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตวิปยุตปัจจัยแก่จักขุวิญญาณจิต เป็นต้น)
5. อัตถิปัจจัย (เมื่อจักขุรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัยแก่จักขุวิญญาณจิต เป็นต้น)
6. อวิคตปัจจัย (เมื่อจักขุรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัยแก่จักขุวิญญาณจิต เป็นต้น)
- วัตถุรูป (หทยรูป) เป็นปัจจัย ๕ ประเภท แก่ อายตนะที่ ๖ ที่เหลือ (เจตสิก ๗๕ ดวง ได้แก่ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ เว้น ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และ อรูปวิบากจิต ๔ ดวง) ได้แก่
1. นิสสยปัจจัย (หทยรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัยแก่จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต โดยหทยรูปเกิดก่อนจิตนั้น)
2. ปุเรชาตปัจจัย (หทยรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยแก่จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต)
3. วิปยุตปัจจัย (หทยรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตวิปยุตปัจจัยแก่จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต)
4. อัตถิปัจจัย (หทยรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตัตถิปัจจัยแก่จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต)
5. อวิคตปัจจัย (หทยรูปที่เป็นฐิติปัตตะเป็นวัตถุปุเรชาตอวิคตปัจจัยแก่จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต)
>> นามรูปเป็นปัจจัย
>>> สัตว์ในปัญจโวการภพ
>>>> ปฏิสนธิกาล
- วิบากนาม (ขันธ์ ๓ ชาติวิบาก ไม่เกิน ๓๕ ดวง) และ วัตถุรูป (หทยรูป) เป็นปัจจัย หลาย ประเภท แก่ อายตนะที่ ๖ (ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวง) ได้แก่
1. สหชาตปัจจัย (ทั้งวิบากนามและหทยรูปเป็นสหชาตปัจจัยคือเกิดพร้อมแก่ปฏิสนธิจิต)
2. อัญญมัญญปัจจัย (ทั้งวิบากนาม หทยรูป และปฏิสนธิจิตนั้นอาศัยกันและกันเกิดขึ้น)
3. นิสสยปัจจัย (ทั้งวิบากนามและหทยรูปเป็นสหชาตนิสสยปัจจัยคือเกิดพร้อมแก่ปฏิสนธิจิต)
4. วิปากปัจจัย (วิบากนามเป็นวิปากปัจจัยวิบากปฏิสนธิจิตที่เกิดร่วมกัน)
5. สัมปยุตปัจจัย (นามขันธ์ ๓ เกิดพร้อม ดับพร้อม รู้อารมณ์เดียวกันกับ ปฏิสนธิจิต)
6. วิปยุตปัจจัย (หทยรูปเป็นสหชาตวิปปยุตตปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต)
7. อัตถิปัจจัย (ทั้งวิบากนามและหทยรูปเป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต เมื่อปัจจัยนั้นยังมี)
8. อวิคตปัจจัย (ทั้งวิบากนามและหทยรูปเป็นสหชาตอวิคตปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต เมื่อปัจจัยนั้นยังไม่ดับไป)
- ท่านกล่าวยกตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นในหัวข้อนี้ อื่นๆ ไม่ได้ยกมาแสดงต่อไป
ขออนุโมทนาครับ