ความจริงแห่งชีวิต [163] ให้อาจหาญ คือ ให้เกิดความอุตสาหะ ในการสมาทาน
โดย พุทธรักษา  23 ก.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 13668

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความในสา​รัตถปกา​สินี อรรถกถา​สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มา​รสังยุตต์ ทุติยวรรค ปัตตสูตรที่ ๖ ทำให้เข้าใจพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้พระภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงดังนี้

พึงทราบวินิจฉัยในปัตตสูตรที่ ๖ ก็สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา​เกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่า​นั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมา​ด้วยความเต็มใจเงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่

คำว่า "ให้​สมาทาน" คือ ให้ถือเอา ให้เข้าใจ ให้พิจารณา​ให้ถูกต้อง นี้คือการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเพื่อประโยชน์จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ เมื่อฟังแล้วก็ให้สมาทาน ให้เข้าใจ ให้พิจารณา​ให้ถูกต้องว่า กุศลธรรมเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ซึ่งถ้า​พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด หลายท่านอาจจะยึดถืออกุศลธรรมเป็นกุศลธรรมก็ได้ แต่เพราะว่า​สภาวลักษณะของกุศลธรรมไม่ใช่อกุศลธรรม สภาวลักษณะของอกุศลธรรมไม่ใช่กุศลธรรม ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียดโดยตลอดเกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งแยกเป็นรูปขันธ์ เวทนา​ขันธ์ สัญญา​ขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งไม่ว่า​จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็จะไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ เลย จึงควรที่จะศึกษา​เรื่องของขันธ์ ๕ และพิจารณา​เรื่องของขันธ์ ๕ ด้วยความแยบคาย เพื่อที่จะได้ถือเอา​ด้วยความถูกต้องและไม่เข้าใจผิด

คำว่า "ให้​อาจหาญ" คือ ให้เกิดความอุตสาหะในการสมาทาน

การที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ไม่ใช่จะเป็นไปได้ง่ายๆ และรวดเร็ว แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้เกิดความเพียรที่จะพิจารณา​จนกว่า​จะเข้าใจ จนกว่า​สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่า​จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปรกติตามความเป็นจริง เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงเรื่องอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือที่ไม่ได้กำลังปรากฏเฉพาะหน้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องจักขุวิญญาณ เรื่องการเห็น เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงเรื่องโสตวิญญาณ เรื่องสภาพธรรมที่รู้เสียง เรื่องเสียงที่ปรากฏทางหู ทรงแสดงธรรมที่กำลังมีอยู่ปรากฏให้พิสูจน์ ฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็อาจหาญ คือ อุตสาหะในการที่จะศึกษา พิจารณา​รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่า​จะประจักษ์สภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

คำว่า "ร่าเริง" คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว

ไม่ทราบว่า​ท่านสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง บ้างหรือยัง แต่ให้ทราบว่า ท่านสามารถที่จะร่าเริงได้ในขณะที่กุศลจิตเกิด บางท่านเป็นทุกข์เพราะเป็นห่วงเป็นกังวลว่า​อายุมากแล้ว สติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน ขณะนั้นเป็นอกุศล พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลใดมีอกุศลมากๆ หรือเป็นห่วงมากๆ แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง อกุศลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยยับยั้งไม่ได้ เมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น อกุศลนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ร่าเริงได้ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่ปรากฏ และศึกษา​พิจารณา​ลักษณะของอกุศลธรรมที่ปรากฏ เพื่อจะได้รู้ว่า​ แม้อกุศลธรรมนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ ย่อมจะเห็นได้ชัดจริงๆ ว่า​ขณะที่สติกำลังระลึกนั้นไม่เศร้า​หมองเลย เพราะเมื่อไม่ยึดถืออกุศลธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้นเป็นตัวตนเป็นเรา​ ก็ไม่กังวลเดือดร้อน

หนทางเดียวที่จะบรรเทา​ละคลายอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ให้เพิ่มความเป็นห่วงกังวลขึ้นนั้นก็โดยสติระลึก และสังเกตพิจารณา​รู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นอกุศลต่างๆ นั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใดๆ เลย

ฉะนั้น เมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ให้ร่าเริง คือให้ผ่องใส และให้รุ่งเรืองด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว คือ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า​ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

คำว่า "ทำให้​สำเร็จ​ประโยชน์" คือ พิจารณา​รู้อย่างนี้ว่า​ ประโยชน์นี้เรา​ทั้งหลายควรบรรลุได้ ดังนี้แล้วก็ชื่อว่า​มีประโยชน์แต่เทศนา​นั้น

การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องให้ท้อถอยเลย สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่สามารถจะแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลได้ ในขณะที่พิจารณา​รู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เรา​ทั้งหลายควรบรรลุได้ก็ย่อมไม่หมดหวัง เมื่อรู้ว่า​เป็นสิ่งที่ควรบรรลุได้วันหนึ่งแม้ยังไม่ใช่วันนี้ อย่า​เป็นห่วงว่า​จะไม่สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมได้ในวันนี้ เพราะสติสามารถจะเริ่มระลึกได้ในวันนี้ ส่วนการที่จะประจักษ์แจ้งและแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมย่อมจะต้องเป็นวันหนึ่ง ในเมื่อวันนี้สติสามารถจะเกิดระลึกรู้ได้

เมื่อเห็นแล้วว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า​นี้ประโยชน์ คือให้รู้ว่า "เรา​ควร​บรรลุ​ได้" ก็จะไม่ท้อถอยและจะฟัง ศึกษา​เรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดต่อๆ ไป เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมสติ


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรตรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย สุภาพร  วันที่ 23 ก.ย. 2552

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย เซจาน้อย  วันที่ 19 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 10 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 10 ก.ย. 2558

สาธุ อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Jarunee.A  วันที่ 7 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ