๙. ยัญญสูตร
โดย บ้านธัมมะ  29 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36282

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 438

๙. ยัญญสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 438

๙. ยัญญสูตร

[๓๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ชนบางคนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เป็นทาส คนใช้หรือกรรมกรที่มีอยู่ แม้ชนเหล่านั้นก็ถูกอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้พลาง กระทำบริกรรมไปพลาง.

[๓๕๐] ครั้งนั้นแล พวกภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้วในเวลาเช้า ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต ในเวลาหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ชนบางคนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เป็นทาส คนใช้ หรือกรรมกรที่มีอยู่ ชนแม้เหล่านั้นก็ถูกอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้พลาง กระทำบริกรรมไปพลาง.

[๓๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 439

มหายัญที่มีการตระเตรียมมาก มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ คือ อัศวเมธ (๑) ปุริสเมธ (๒) สัมมาปาสะ (๓) วาชเปยยะ (๔) นิรัคคฬะ (๕) มหายัญเหล่านั้นเป็นยัญไม่มีผลมาก (เพราะ) พระพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมไม่แนะนำยัญนั้น.


(๑) อัศวเมธ ได้แก่ การฆ่าม้าบูชายัญ แต่ชื่อนี้หมายความกว้างกว่านั้น คือ หมายถึง ยัญที่บูชาด้วยสมบัติทุกอย่าง เว้นที่ดินแลคน ซึ่งเขาตั้งเสายัญ ๒๑ เสา สำหรับผูกปศุสัตว์ที่จะต้องฆ่าประมาณ ๕๙๗ ชนิด เพื่อบูชายัญ แล้วทำการบูชาอยู่หลายวันกว่าจะเสร็จพิธี แต่ฉบับพม่าเพี้ยนไปเป็น สสฺสเมธํ แปลว่า สัสสเมธ เป็นยัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้ามหาวิชิตราชในกูฏทันตสูตร หมายความว่าการเก็บค่านาตามธัญญาหารที่สำเร็จผลสิบส่วน เก็บไว้เป็นส่วนหลวงส่วนหนึ่ง นี่เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่งของพระเจ้าจักรพรรดิไม่ตรงกับเรื่องในพระสูตรนี้.

(๒) ปุริสเมธ ได้แก่ การฆ่าคนบูชายัญ แต่ความจริงหมายเฉพาะยัญที่บูชาด้วยสมบัติต่างๆ อย่างอัศวเมธนั้น แต่รวมที่ดินเข้าด้วย แต่ในพระพุทธศาสนา หมายถึง การพระราชทานทรัพย์เป็นเบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จบำนาญแก่ทวยหาญทุก ๖ เดือน เป็นสังคหวัตถุของพระเจ้าจักรพรรดิประการหนึ่ง.

(๓) สัมมาปาสะ ได้แก่ การผูกสัตว์บูชายัญ โดยเขาทำพิธีเหวี่ยงท่อนไม้สำหรับต้อนสัตว์เข้าไปที่หลักบูชาเพลิงทั้งคู่ แล้วร่ายเวทตรงที่ท่อนไม้นั้นตก ทำการบูชา ตามพิธีผู้บูชาต้องเป็นคนได้เดินทางย้อนไปตามแม่น้ำสรัสดีแล้วด้วย จึงจะเข้าพิธีได้ แต่ที่ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นสังคหวัตถุของพระเจ้าจักรพรรดิ หมายถึง การเรียกหนังสือสารกรรมธรรม์กู้แต่ชาวเมืองที่ขัดสนแล้วพระราชทานทรัพย์ให้กู้ โดยไม่เรียกดอกเบี้ยเป็นเวลา ๓ ปี.

(๔) วาชเปยยะ ได้แก่ ยัญอีกชนิดหนึ่งซึ่งเขาผูกปศุสัตว์ ๑๗ ชนิดบูชา แต่ที่เป็นสังคหวัตถุของพระเจ้าจักรพรรดิ หมายถึง การตรัสพระวาจาอันอ่อนหวาน เป็นที่ดูดดื่มน้ำใจของประชาชน

(๕) นิรัคคฬะ ได้แก่ ยัญที่ไม่ต้องมีหลักยัญสำหรับบูชา หมายถึง พิธีชนิดเดียวกับอัศวเมธ แต่บูชาด้วยสมบัติทุกอย่าง ไม่มียกเว้นอะไร ฉะนั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สรรพเมธ แต่ที่ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นสังคหวัตถุของพระเจ้าจักรพรรดิ หมายถึง ผลที่พระมหากษัตริย์สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ข้างต้นนั้น ที่เป็นเหตุให้รัฐมั่งคั่งสมบูรณ์ ไม่มีโจรผู้ร้ายและประชาราษฎร์บันเทิงใจเป็นอยู่ อย่างที่กล่าวว่า ประตูเรือนไม่ต้องลงลิ่มกลอนระวังก็ได้ฉะนั้น.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 440

ส่วนยัญใด มีการตระเตรียมน้อย ไม่มีการฆ่า แพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งบุคคลบูชาสืบตระกูลทุกเมื่อ พระพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมแนะนำยัญนั้น.

ผู้มีปัญญาควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญมีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์ และเทวดาย่อมเลื่อมใส.

อรรถกถายัญญสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในยัญญสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า ถุนุปนีตานิ ได้แก่ นำเข้าไปยังหลัก ผูกไว้กับหลัก.

บทว่า ปริกมฺมานิ กโรนฺติ ได้แก่ ยัญที่พระราชาทรงเริ่ม ถูกภิกษุเหล่านั้น กราบทูลแด่พระตถาคต ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

ก็เพราะเหตุไร พระราชาจึงทรงเริ่มยัญนี้.

ก็เพราะจะทรงกำจัดฝันร้าย.

เล่ากันว่า วันหนึ่ง พระราชาประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง ประทับบนคอช้างต้นตัวดี เลียบพระนคร ทอดพระเนตรเห็นสตรีผู้หนึ่งเปิดหน้าต่างมองดู (กระบวน) มีพระทัยปฏิพัทธ์ต่อนาง เสด็จกลับจากที่นั้นทันทีเข้าสู่พระราชวังตรัสบอกความนั้นแก่ราชบุรุษคนหนึ่ง


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 441

แล้วทรงส่งเขาไป สั่งให้สืบว่า สตรีผู้นั้น มีสามีหรือยังไม่มีสามี ราชบุรุษนั้นก็ไปถามสตรีผู้นั้น. สตรีผู้นั้นก็แสดงว่า นั่นสามีของดิฉันนั่งที่ตลาด ราชบุรุษก็กลับมาทูลความนั้นแด่พระราชา พระราชาโปรดให้เรียกบุรุษผู้ [สามี] นั้นมา สั่งว่า เจ้าจงปรนนิบัติเรา [เป็นองครักษ์] ถูกบุรุษนั้นทูล ทัดทานว่าขอเดชะ ข้าพระองค์ไม่รู้ที่จะปรนนิบัติ พระเจ้าข้า รับสั่งว่า ธรรมดาว่าการปรนนิบัติ ไม่จำต้องเล่าเรียนในสำนักอาจารย์ดอกแล้วทรงให้เขาถืออาวุธและโล่โดยพลการ ตั้งเขาให้ทำหน้าที่คนปรนนิบัติ บุรุษนั้นพอปรนนิบัติแล้วก็กลับบ้านเลย โปรดให้เรียกเขามาอีก รับสั่งว่า ธรรมดาว่าผู้ปรนนิบัติ จะต้องทำตามคำสั่งของพระราชา. เจ้าจงไปสระโบกขรณีสำหรับชำระศีรษะของเรา ที่หนทางโยชน์หนึ่งจากที่นี้มีอยู่ จงเอาดินสีแดงเรื่อและดอกอุบลสีแดงจากสระนั้นมา ถ้าเจ้ามาไม่ทันวันนี้ เราจักลงราชอาชญาเจ้าแล้วทรงส่งเขาไป บุรุษนั้นก็ออกไป เพราะกลัวราชภัย.

เมื่อบุรุษนั้นไปแล้ว แม้พระราชา ก็ให้เรียกนายประตูเมืองมาสั่งว่าวันนี้ พอตกเย็นก็ปิดประตูเมืองเลย แม้จะมีคนบอกว่า เราเป็นราชทูต หรืออุปทูตก็อย่าเปิด บุรุษนั้น ได้ดินและดอกอุบลแล้วก็มาถึง เมื่อประตูเมืองปิดพอดี แม้จะพูดมากมายอย่างไรก็เข้าไม่ได้ จึงเลยไปยังวัดพระเชตวัน เพราะกลัวอันตราย. ถึงพระราชาเองก็ถูกความรุ่มร้อนอย่างแรงครอบงำ เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวยืน เดี๋ยวบรรทม. เมื่อตกลงพระทัยไม่ได้ ก็ประทับนั่ง ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หลับแบบลิงหลับ [ทรงเคลิ้มไป].

แม้ยุคก่อน บุตรเศรษฐี ๔ คนในพระนครนั้นนั่นแหละทำปรทาริกกรรม บังเกิดในนรกโลหกุมภี ชื่อนันโทปนันทา. สัตว์นรกเหล่านั้นถูกเคี่ยวร่างเป็นฟอง ๓๐,๐๐๐ ปี จึงลงไปถึงก้นหม้ออีก ๓๐,๐๐๐ ปี จึงขึ้นถึงปากหม้อ. วันหนึ่ง พวกเขาเห็นแสงสว่าง ประสงค์จะกล่าวคาถาตนละคาถา


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 442

เพราะกลัวกรรมที่ทำชั่ว แต่ก็ไม่อาจจะกล่าวได้ กล่าวได้เพียงตนละอักษรเท่านั้น ตนหนึ่งกล่าว (๑) อักษร ตนหนึ่งกล่าว โส อักษร ตนหนึ่งกล่าว อักษร ตนหนึ่งกล่าว ทุ อักษร พระราชา จำเดิมแต่ได้ยินเสียงของสัตว์นรกเหล่านั้น ก็ไม่ได้ความสุข ปล่อยเวลาที่เหลือของราตรีนั้นให้ล่วงไป. เมื่อรุ่งอรุณ ปุโรหิตมาทูลถามถึงความบรรทมเป็นสุข. ท้าวเธอก็รับสั่งว่า เราจะเป็นสุขได้แต่ที่ไหนเล่า อาจารย์ จึงตรัสเล่าว่า เราฝันว่าได้ยินเสียงอย่างนี้. พราหมณ์คิดว่า เพราะพระสุบินนี้ของพระราชาพระองค์นี้ ความเจริญหรือความเสื่อมคงไม่มี ก็แต่ว่า สิ่งใดมีในเรือนหลวงนี้ สิ่งนั้นก็จะตกแก่พระสมณโคดม ตกแก่สาวกของพระสมณโคดม แม้พวกพราหมณ์ก็จะไม่ได้อะไรๆ เลย จำเราจะทำอาหารให้เกิดขึ้นแก่พวกพราหมณ์ ดังนี้แล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระสุบินร้ายนักในความเสื่อม ๓ อย่าง จักปรากฏความเสื่อมอย่างหนึ่งคือ จักมีอันตรายแก่ราชสมบัติ จักมีอันตรายแก่พระชนม์ชีพ หรือใต้ฝ่าพระบาทจักประทับอยู่ไม่ได้ พระเจ้าข้า. รับสั่งถามว่า ความสวัสดีจะพึงมีได้อย่างไรเล่าอาจารย์ กราบทูลว่า ต้องปรึกษากันจะรู้ได้ พระเจ้าข้า รับสั่งว่า ไปปรึกษากับพวกอาจารย์แล้ว มาทำความสวัสดีแก่เรา.

พราหมณ์ปุโรหิตนั้น ประชุมพวกพราหมณ์ที่โรงเก็บวอ [ยานพาหนะ] บอกความนั้นแล้ว ทำให้เป็น ๓ พวกด้วยตกลงกันว่า ต่างคนต่างไปกราบทูลอย่างนี้. พราหมณ์ทั้งหลายก็ไปเข้าเฝ้า ทูลถามพระราชาถึงการบรรทมเป็นสุข พระราชาก็ตรัสโดยทำนองที่ตรัสแก่พราหมณ์ปุโรหิตนั้นแล้วรับสั่งถามว่า ความสวัสดีจะพึงมีได้อย่างไรเล่า อาจารย์ พวกพราหมณ์ผู้ใหญ่พากันกราบทูลว่าเพราะทรงบูชายัญอย่างละ ๕๐๐ ทุกอย่าง พระองค์ก็จะพึงมีความสวัสดี อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ พระเจ้าข้า. พระราชาทรงฟังพราหมณ์เหล่านั้นแล้วไม่ทรงรับ ไม่ทรงปฏิเสธ นิ่งเสีย ลำดับนั้น แม้พราหมณ์พวกที่ ๒ ก็มากราบทูลอย่างนั้นเหมือนกัน. แม้พราหมณ์พวกที่ ๓ ก็อย่างนั้น ครั้งนั้นพระราชา


(๑) คาถาสัตว์นรก ๔ ตน ในที่อื่นกล่าวว่า ทุ. ส. น. โส. ก็มี...


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 443

มีพระราชโองการสั่งว่า พวกเจ้าหน้าที่จงจัดทำยัญทั้งหลาย. นับแต่นั้น พวกพราหมณ์ก็ให้นำสัตว์มีชีวิตเช่นโคเป็นต้นมา. ในพระนครก็เกิดเสียงอื้ออึงขนานใหญ่ พระนางมัลลิกาทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ก็ทรงชักนำพระราชาไปยังสำนักของพระตถาคต ท้าวเธอเสด็จไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท้าวเธอว่า ถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จไปไหนมาแต่วัน. พระราชาทูลว่าพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝันไป ได้ยินเสียง ๔ เสียง จึงถามพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์บอกว่า ฝันร้าย พวกเขาจะทำการบูชายัญ อย่างละ ๕๐๐ ทุกอย่างจึงจะแก้ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มยัญ. ตรัสถามว่า มหาบพิตรได้ยินเสียงว่ากระไร. ท้าวเธอก็ทูลตามที่ทรงได้ยิน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท้าวเธอว่า ถวายพระพร แต่กาลก่อน ในพระนครที่นี้แหละ บุตรเศรษฐี ๔ คนกระทำความผิดในภรรยาผู้อื่น บังเกิดในโลหกุมภีนรก ขุมนันโทปนันทา จมลงสุด ๖๐,๐๐๐ ปี บรรดาสัตว์นรก ๔ ตนนั้น ตนหนึ่งต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า

สฏฺิวสฺสสหสฺสานิ ปริปุณฺณนิ สพฺพโส นิรเย ปจฺจมานานํ กทา อนฺโต ภวิสฺสติ

เราไหม้อยู่ในนรกตั้ง ๖๐,๐๐๐ ปีเต็ม ครบทุกอย่าง เมื่อไร จักสิ้นสุดกันเสียที.

ตนที่ ๒ ต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า

โสหํ นูน อิโต คนฺตฺวา โยนิํ ลทฺธาน มานุสิํ วทญฺญู สีลสมฺปนฺโน กาหามิ กุสลํ พหุํ

เรานั้นพ้นไปจากโลหกุมภีนี้แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ รู้ถ้อยคำของยาจก (ให้ทาน) มีศีลสมบูรณ์ จักต้องสร้างกุศลไว้ให้มาก เป็นแน่แท้.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 444

ตนที่ ๓ ต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า

นตฺถิ อนฺโต กุโต อนุโต น อนฺโต ปฏิทิสฺสติ ตทา หิ ปกตํ ปาปํ มม ตุมฺหญฺจ มาริสา

ไม่มีสิ้นสุด จะสิ้นสุดได้แต่ที่ไหน ความสิ้นสุดไม่ปรากฏเลย ดูราพวกเราเอ๋ย ก็เพราะข้ากับเจ้าทำบาปกรรมไว้มาก ในครั้งนั้น.

ตนที่ ๔ ต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า

ทุชฺชีวิตมชีวมฺหา เยสํ เตน ททามฺห เส วิชฺชมาเนสุ โภเคสุ ทีปนฺนากมฺห อตฺตโน

พวกเราเมื่อมีโภคสมบัติอยู่ ไม่ได้ให้ทานเลย ไม่ได้ทำที่พึ่งสำหรับตนเลย จัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วชาติ.

สัตว์นรกเหล่านั้น ไม่อาจกล่าวคาถาเหล่านี้ได้ กล่าวอักษรได้ตนละอักษรเท่านั้นเอง แล้วก็จมหายไปอย่างนั้นนั่นแหละ ถวายพระพร สัตว์นรกเหล่านั้น พากันร้องด้วยประการฉะนี้ เพราะทรงได้ยินเสียงนั้นเป็นเหตุความเสื่อมหรือความเจริญ มิได้มีแก่มหาบพิตรดอก แต่กรรมคือการเข่นฆ่าปศุสัตว์เห็นปานนี้สิ หนักนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขู่ด้วยภัยในนรกแล้วก็ตรัสธรรมกถา. พระราชาทรงเลื่อมใสในพระทศพล ทูลว่า ข้าพระองค์จะปล่อย จะให้ชีวิตแก่ปศุสัตว์เหล่านั้น คนทั้งหลายจงให้ของเขียวและหญ้าปศุสัตว์เหล่านั้น จงให้ดื่มน้ำที่เย็นสนิท ลมจงโชยแก่ปศุสัตว์เหล่านั้นแล้ว ทรงสั่งคนทั้งหลายให้ไปนำปศุสัตว์ออกไป คนเหล่านั้นไปไล่พวกพราหมณ์ให้หนีไปแล้ว ปลดฝูงสัตว์ออกจากเครื่องจองจำแล้วให้ตีธรรมเภรีกลองประกาศธรรมในพระนคร.


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 445

ขณะนั้น พระราชาประทับนั่งในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลว่าพระเจ้าข้า ธรรมดาว่าคืนหนึ่งมี ๓ ยาม แต่วันนี้ ๒ คืน ปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนติดต่อกันเป็นคืนเดียว. บุรุษ (สามีนางผู้นั้น) แม้นั้น นั่งอยู่ในที่นั้นด้วยก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาว่าโยชน์หนึ่ง ก็มี ๓ คาวุต แต่วันนี้ ๒ โยชน์ปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนติดต่อกันเป็นโยชน์เดียว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คืนหนึ่งปรากฏยาวนานสำหรับคนตื่นนอนไม่หลับก่อนอื่น โยชน์หนึ่งปรากฏยาวไกลสำหรับคนเดินล้า แก่สังสารวัฏฏ์ ที่มีเบื้องต้นตามไปไม่รู้แล้ว ยืดยาวส่วนเดียวเท่านั้น สำหรับปุถุชนผู้เขลา ซึ่งตกอยู่ในวัฏฏะ ทรงปรารภพระราชา บุรุษผู้นั้น และเหล่าสัตว์นรกแล้วได้ตรัสคาถานี้ในคัมภีร์พระธรรมบทว่า

ทีฆา ชาครโต รตฺติ ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ ทีโฆ พาลาน สํสาโร สทฺธมฺมํ อวิชานตํ

คืนหนึ่งยาวนานสำหรับคนนอนไม่หลับ โยชน์หนึ่งยาวไกล สำหรับคนเมื่อยล้า สังสารวัฏฏ์ยืดยาวสำหรับเหล่าคนเขลาผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ดังนี้.

เมื่อจบพระคาถา บุรุษผู้เป็นสามีของสตรีแม้นั้น ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา แปลว่า ทรงทราบเหตุนั้น.

บทว่า สสฺสเมธํ ความว่า ได้ยินว่า ในรัชสมัยของพระราชาแต่โบราณ ได้มีสังคหวัตถุ ๔ คือ สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะที่พระราชาทั้งหลายทรงสงเคราะห์โลก.

บรรดาสังคหวัตถุ ๔ นั้น การถือเอาส่วนที่ ๑๐ จากข้าวกล้าที่สำเร็จแล้ว ชื่อว่า สัสสเมธะ อธิบายว่า ความเป็นผู้ฉลาดในอุบายอันจะทำข้าวกล้าให้สมบูรณ์.

การมอบให้ค่าจ้างบำเหน็จประจำ


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 446

๖ เดือน แก่เหล่านักรบใหญ่ ชื่อว่า ปุริสเมธะ อธิบายว่า ความเป็นผู้ฉลาดโดยการสงเคราะห์บุรุษ.

การรับหนังสือ (เอกสารการกู้ยืม) จากมือของเหล่าผู้คนที่ยากจน แล้วมอบให้ทรัพย์หนึ่งพันสองพัน ปลอดดอกเบี้ย ๓ ปี ชื่อว่าสัมมาปาสะ.

จริงอยู่ กิจอันนั้น ย่อมคล้องเหล่าผู้คนไว้โดยชอบ เหมือนผูกใจไว้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัมมาปาสะ.

ส่วนการพูดวาจาไพเราะ โดยนัยว่าพ่อ ลุง เป็นต้น ชื่อว่า วาชเปยยะ อธิบายว่า วาจาน่ารัก (ควรดื่มไว้ในใจ) รัฐคือแว่นแคว้น ที่สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ อย่างนี้ ย่อมมั่นคง แผ่ขยายมีข้าวน้ำมาก มีความเกษม ไร้ภยันตราย ผู้คนทั้งหลาย ก็ร่าเริงบันเทิงใจ ให้ลูกร่ายรำอยู่บนอก ไม่ต้องปิดประตูบ้านเรือนอยู่กัน. ข้อที่เรียกว่า นิรัคคฬะ เพราะไม่มีลูกกลอนใส่ประตูบ้านเรือน. นี้เป็นประเพณีโบราณ.

แต่ต่อมาครั้งพระเจ้าโอกกากราช พวกพราหมณ์เปลี่ยนสังคหวัตถุ ๔ เหล่านี้ และสมบัติของรัฐเสีย แล้วขนานชื่อยัญ ๕ มี อัสสเมธะ ปุริสเมธะ เป็นต้น ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น.

บรรดายัญ ๕ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า อัสสเมธะ (อัศวเมธ) เพราะฆ่าม้าในยัญนั้น คำนี้เป็นชื่อยัญที่ทำทักษิณาสมบัติทุกอย่างที่เหลือ เว้นที่ดินและบุรุษ มีเสา ๒๑ เสา ที่พึงบูชาด้วยปริยัญทั้ง ๒ มีการฆ่าปศุสัตว์ ๕๙๗ ตัวที่น่าสะพึงกลัว ในวันกลางวันหนึ่งเท่านั้น.

ที่ชื่อว่าปุริสเมธะเพราะฆ่าบุรุษในยัญนั้น คำนี้เป็นชื่อยัญ ที่ทำทักษิณาสมบัติดังกล่าวแล้วในอัสสเมธะ พร้อมทั้งที่ดิน ที่พึงบูชาด้วยปริยัญทั้ง ๔.

ที่ชื่อว่า สัมมาปาสะ เพราะคล้องท่อนไม้ในยัญนั้น. คำนี้เป็นชื่อสัตตยาคะ (ของที่บูชา ๗ อย่าง) ที่คนเหวี่ยงท่อนไม้ กล่าวคือไม้สอดเข้าไปในช่องแอกทุกๆ วันแล้ว ร่ายเวทในโอกาสที่ท่อนไม้นั้นตก เดินย้อนกลับตั้งแต่โอกาสที่ดำลงในแม่น้ำสรัสวดี พึงบูชาด้วยเสาเป็นต้น ที่เคลื่อนที่ได้ (ยกเอาไปได้).

ที่ชื่อว่า วาชเปยยะ เพราะดื่มวาชะ (กำลังหรือสงคราม) ในยัญนั้น คำนี้เป็นชื่อยัญ ที่ทำของ


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 447

ทักษิณา มีรส ๗ อย่าง ใช้เสาไม้มะตูม ที่พึงบูชาด้วยเหล่าปศุสัตว์ มีรส ๗ ชนิด ด้วยปริยัญอย่างหนึ่ง.

ที่ชื่อว่า นิรัคคฬะ เพราะไม่มีลิ่มกลอนในยัญนั้น คำนี้เป็นชื่อยัญที่กำหนดไว้ในอัสสเมธะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสรรพเมธะ ที่ทำทักษิณาสมบัติดังกล่าวไว้ในอัสสเมธะ พร้อมทั้งที่ดินและเหล่าบุรุษ ที่พึงบูชาด้วยปริยัญ ๙.

บทว่า มหารมฺภา ได้แก่ มีกิจมากมีกรณียะมาก.

บทว่า สมฺมคฺคตา ได้แก่ ผู้ดำเนินไปโดยชอบ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น.

บทว่า นิภรมฺภา ได้แก่ มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย.

บทว่า ยชนฺตานุกุลํ ได้แก่ บูชาตามตระกูล. อธิบายว่า พวกผู้คนไม่เข้าไปตัดทาน มีนิตยภัต เป็นต้น ที่บุรพบุรุษตั้งไว้แล้วให้ทานสืบๆ ต่อไป.

จบอรรถกถายัญญสูตรที่ ๙