๗. เขมสุมนสูตร ว่าด้วยผู้หมดมานะ
โดย บ้านธัมมะ  31 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39396

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 679

ปฐมปัณณาสก์

ธรรมิกวรรคที่ ๕

๗. เขมสุมนสูตร

ว่าด้วยผู้หมดมานะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 679

๗. เขมสุมนสูตร

ว่าด้วยผู้หมดมานะ

[๓๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเขมะ และท่านพระสุมนะ ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระเขมะได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น ย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า คนที่ดีกว่าเรามีอยู่ คนที่เสมอเรามีอยู่ หรือคนที่เลวกว่าเรามีอยู่ ท่านพระเขมะได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้นแล ท่านพระเขมะทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงลุกจากอาสนะถวายบังคม ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป ครั้นเมื่อท่านเขมะหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระสุมนะได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้น ย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า คนที่ดีกว่าเราไม่มี คนที่เสมอเราไม่มี หรือคนที่เลวกว่าเราไม่มี ท่านพระสุมนะได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้นแล ท่านพระสุมนะทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคม ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้า


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 680

แล้วหลีกไป ครั้นเมื่อท่านเขมะ และท่านพระสุมนะหลีกไปแล้ว ไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรทั้งหลาย ย่อมพยากรณ์อรหัตตผล อย่างนี้แล กล่าวแต่เนื้อความ และไม่น้อมตนเข้าไป ส่วนว่าโมฆะบุรุษบางพวก ในธรรมวินัยนี้ เหมือนจะร่าเริงพยากรณ์อรหัตตผล เขาเหล่านั้นย่อมถึงความทุกข์ในภายหลัง.

พระขีณาสพทั้งหลาย ไม่น้อมตน เข้าไปเปรียบบุคคลที่ดีกว่า ไม่น้อมตน เข้าไปเปรียบบุคคลที่เลวกว่า ไม่น้อมตน เข้าไปเปรียบบุคคลที่เสมอกัน มีชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ประพฤติ เป็นผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์.

จบเขมสุมนสูตรที่ ๗

อรรถกถาเขมสุมนสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในเขมสุมนสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วุสิตวา ได้แก่ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว. บทว่า กตกรณีโย ได้แก่ ผู้ทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ แล้วอยู่. บทว่า โอหิตภาโร ได้แก่ ผู้ปลงขันธภาระ กิเลสภาระ และอภิสังขารภาระ ลงแล้วอยู่.

บทว่า อนุปฺปตฺตสทตฺโถ ความว่า พระอรหัตเรียกว่า ประโยชน์ของตน ผู้บรรลุประโยชน์ของตนนั้น. บทว่า ปริกฺขีณภวสํโยชโน ความว่า ผู้มีกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว. บทว่า สมฺมทญฺา วิมุตฺโต ความว่า หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยการณะ.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 681

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธมานะ ๓ มีมานะว่า เราดีกว่า เป็นต้น (อันเป็นของมีอยู่) ของปุถุชนผู้ดีกว่า (บุคคลอื่น) แม้ด้วยบทว่า ตสฺส น เอวํ โหติ อตฺถิ เม เสยฺโยติ วา เป็นต้น.

เพราะว่า พระขีณาสพไม่มีมานะว่า คนที่ดีกว่าเรายังมีอยู่ คนที่เสมอกับเรายังมีอยู่ คนที่เลวกว่าเรายังมีอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธมานะ ๓ เหล่านั้น นั่นแล แม้ด้วยบทว่า นตฺถิ เม เสยฺโย เป็นต้น. เพราะว่าพระขีณาสพ ไม่มีมานะ อย่างนี้ว่า เรานี่แหละดีกว่าเขา เราเสมอกับเขา เราเลวกว่าเขา ไม่มีบุคคลอื่นที่ดีกว่า เป็นต้น.

บทว่า อจิรปกฺกนฺเตสุ ความว่า เมื่อพระเขมะกับพระสุมนะพยากรณ์ อรหัตตผล แล้วหลีกไปได้ไม่นาน. บทว่า อญฺํ พฺยากโรนฺติ ได้แก่ กล่าวถึงอรหัตตผล. บทว่า หสมานกา มญฺเ อญฺํ พฺยากโรนฺติ ความว่า พูดเหมือนหัวเราะ. บทว่า วิฆาตํ อาปชฺชนฺติ ได้แก่ ประสบทุกข์.

ในบทว่า น อุสฺเสสุ นโอเมสุ สมตฺเต โนปนียฺยเร นี้ มีอธิบายว่า บทว่า อุสฺสา ได้แก่ บุคคลผู้ที่เขายกย่อง คือ บุคคลผู้ประเสริฐกว่าเขา.

บทว่า โอมา ได้แก่ บุคคลผู้เลวกว่าเขา. บทว่า สมตฺโต ได้แก่ บุคคลผู้เสมอกันกับเขา. บรรดาบุคคล ผู้ประเสริฐกว่าเขา เลวกว่าเขา และเสมอกับเขา ทั้ง ๓ จำพวกนี้ พระขีณาสพ อันมานะย่อมนำเข้าไปไม่ได้ คือ ไม่เข้าใกล้ อธิบายว่า ไม่เข้าถึงมานะ.

บทว่า ขีณา สญฺชาติ ได้แก่ ชาติของพระขีณาสพเหล่านั้น สิ้นแล้ว. บทว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์ อันพระขีณาสพอยู่จบแล้ว. บทว่า จรนฺติ สญฺโชนวิปฺปมุตฺตา ความว่า พระขีณาสพทั้งหลาย เป็นผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง เที่ยวไป. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถึงพระขีณาสพ ทั้งในพระสูตร ทั้งในคาถา.

จบอรรถกถา เขมสุมนสูตรที่ ๗