พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู [วัมมิกสูตร]
โดย wittawat  11 ต.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48683

ขอนอบน้อมแด่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู
สุเมธะเป็นใคร?
ศาสตราคืออะไร?
จงขุดคืออะไร?

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

๓. วัมมิกสูตร

[๒๘๙] ... ดูก่อนภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู. สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไปได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลักขอรับ . ...

[๒๙๑] ... คําว่าสุเมธะนั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ. คําว่าศาสตรานั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ. คําว่าจงขุดนั้นเป็นชื่อของการปรารภความเพียร.


[อรรถกถาวัมมิกสูตร]
... บทว่า สุเมโธ แปลว่า ผู้มีปัญญาดี. ในบทว่า เสกฺขสฺส นี้ชื่อว่า เสกขะ เพราะยังต้องศึกษา. เหมือนที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ ภิกษุยังต้องศึกษาๆ อยู่เพราะเหตุฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเสกขะ ศึกษาอะไรเล่า ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิศีลจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง. บทว่า ปฺาเยตํ คือ คํานี้เป็นชื่อของปัญญา ที่เป็นโลกิยะและ โลกุตตระไม่ใช่เป็นชื่อของอาวุธ และศาสตรา. บทว่า วิริยารมฺภสฺส ได้แก่ ความเพียรทางกายและทางใจ. ความเพียรนั้น ย่อมเป็นคติแห่งปัญญาทีเดียว ความเพียรที่เป็นคติแห่งโลกิยปัญญา จัดเป็นโลกิยะ เป็นคติแห่งโลกุตตรปัญญาจัดเป็นโลกุตตระ. ในข้อนี้ ขอชี้แจงความดังนี้.
เล่ากันมาว่า พราหมณ์ชาวชนบทคนหนึ่ง ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ พร้อมด้วยเหล่ามาณพ ตอนกลางวันสอนมนต์ในป่า ตอนเย็นก็กลับบ้าน. ระหว่างทางมีจอมปลวกจอมหนึ่ง จอมปลวกนั้น กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ พราหมณ์จึงพูดกะสุเมธมาณพศิษย์ว่า พ่อเอย จอมปลวกนี้ กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เราจักเห็นความผิดปกติของจอมปลวกนั้น เจ้าจงทําลายมันแบ่งเป็น ๔ ส่วน ทิ้งไป. ศิษย์นั้นก็รับคํา จับจอบใช้ ๒ เท้าเหยียบเสมอกัน ยืนหยัดที่พื้นดินแล้วได้กระทําอย่างนั้น. ใน ๒ อาจารย์และศิษย์นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนพราหมณ์ผู้อาจารย์ เสกขภิกษุเปรียบเหมือนสุเมธมาณพศิษย์ กายเปรียบเหมือนจอมปลวก เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงแบ่งกายที่เกิดแต่มหาภูตรูปทั้ง ๔ ส่วน กําหนดถือเอาเป็นอารมณ์ ก็เปรียบเหมือนเวลาที่พราหมณ์ผู้อาจารย์กล่าวว่า พ่อเอ๋ย จอมปลวกนี้กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เราจักเห็นความผิดปกติของจอมปลวกนั้น เจ้าจงทําลายมันแบ่งเป็น ๔ ส่วน แล้วทิ้งไป. พึงทราบกําหนดกายสําหรับเสกขภิกษุ โดยกําหนดธาตุ ๔ เป็นอารมณ์ อย่างนี้ คือ ความที่กายเป็นของแข้น ๒๐ ส่วนจัดเป็นปฐวีธาตุ ความที่กายเอิบอาบ ๑๒ ส่วน จัดเป็นอาโปธาตุ ความที่กายอบอุ่น ๔ ส่วน จัดเป็นเตโชธาตุ ความที่กายเคลื่อนไหว ๖ ส่วน จัดเป็นวาโยธาตุ เปรียบเหมือนสุเมธมาณพศิษย์ รับคําแล้วจับจอบแล้วกระทําอย่างนั้น.


[สรุป]
สุเมธะ (นัยแห่งพระสูตรนี้) หมายถึง ผู้ที่ยังต้องศึกษา ในสิกขาทั้ง ๓ หมายถึงผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
ศาสตรา (นัยแห่งพระสูตรนี้) หมายถึง ปัญญาที่เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงนั่นเอง ที่ว่าร่างกายไม่มี แท้จริงมีมหาภูตรูป ๔ เป็นต้น ทั้งปัญญาเกิดร่วมกับโลกียจิต จนกระทั่งสูงสุดถึงการดับกิเลส เป็นปัญญาที่เกิดร่วมกับโลกุตตรจิต
ขุด (นัยแห่งพระสูตรนี้) หมายถึง วิริยเจตสิก ที่เป็นฝ่ายดี ที่เกื้อหนุนปัญญา ทั้งที่เป็นฝ่ายโลกียจิต และโลกุตตรจิตนั่นเอง
กราบอนุโมทนา