เบื่อเป็นบาปไหม
โดย wittawat  20 ก.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 46580

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ไม่นานมานี้ ลูกชายได้ถามคำถามว่า "เบื่อเป็นบาปไหม"

ก็ได้ถามเค้ากลับไปว่าเบื่อเป็นสิ่งที่มีจริงไหม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง และเป็นสิ่งที่มีจริงประเภทไหน เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ซึ่งเค้าก็บอกว่าเป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ และก็ได้บอกว่าสภาพรู้มีทั้งสิ้น ๔ ชาติ ได้แก่ กุศล อกุศล วิบาก กริยา

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม

อกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม

วิบาก เป็นผลที่เกิดจาก กุศล และอกุศล เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น

กิริยา เป็นสภาพธรรมที่ไม่ให้ผล

ส่วน เบื่อ นั้น ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงามแน่ และไม่ใช่ วิบาก และกิริยา ด้วย ก็ต้องเป็นอกุศล เมื่อไม่ใช่บุญก็เป็นบาป แต่บาปนั้นจะมีกำลังมากพอที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าสะสมมากพอก็เป็นไปได้

และ เบื่อนั้น ก็เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง จาก ๓ กลุ่ม มีกลุ่มโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มของโลภะ และโมหะ เพราะมีความรู้สึกไม่สบายใจ

กราบเรียนอาจารย์ให้ความเข้าใจเพิ่มเติมด้วย ขอกราบอนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 20 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นการสนทนาที่น่ารักอย่างยิ่งของคุณพ่อและลูกชาย ซึ่งคำอธิบายของคุณวิทวัตที่ได้สนทนากับลูกชายนั้น ก็ชัดเจนแล้ว
เบื่อ เป็นอกุศลประเภทโทสะ เป็นสภาพที่ไม่พอใจ อกุศลจะเป็นสิ่งที่ดีไม่ได้ อกุศล ก็ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ก็เป็นบาปทั้งหมด เพราะมีข้อความแสดงไว้ชัดเจนว่า "บาป ได้แก่ อกุศลธรรมทุกชนิด" ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นอกุศลหรือเป็นบาปที่จะเป็นเหตุให้เกิดวิบากในภายหน้าหรือไม่ นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และที่สำคัญในขณะที่โทสะเกิดขึ้น ก็ไม่ปราศจากโมหะเลย
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่าง ติดข้อง กับ เบื่อ ก็จะพิจารณาได้ว่า ติดข้อง ก็จะมีแต่ความพอใจ ไม่สละไม่ปล่อยในสิ่งนั้น เวลาที่มีโลภะเกิดขึ้น เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน ยินดีพอใจ ขณะนั้นไม่เบื่อ เพราะขณะนั้นเป็นไปด้วยกำลังแห่งความติดข้องหรือโลภะ แต่ถ้าเกิดเบื่อ ก็คือ ไม่ชอบในสิ่งนั้น ไม่พอใจในสิ่งนั้น แล้ว ก็เป็นไปด้วยกำลังแห่งความไม่พอใจซึ่งก็คือโทสะ นั่นเอง นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม ครับ
... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ