ชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาว่าควรเป็นอย่างไร
โดย สารธรรม  7 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43732

ในเรื่องอาวาสปลิโพธ ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง จาก บ้านเลขที่ ๖๔/๓ ตำบล ๔๐๐ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

ท่านผู้ฟังท่านนี้เป็นนักศึกษา ต้องการจะบวชชี เขียนมาว่า ใจเต็มไปด้วย ศรัทธา ต้องการบวชเหลือเกิน ต้องการที่จะบวชมาตั้งแต่ที่กำลังศึกษาอยู่ และในตอนนี้ก็สำเร็จการศึกษาในทางโลกมาพอสมควรแล้ว คือ จบ ม.ศ. ๓ คุณแม่ซึ่งเป็นผู้ปกครอง ก็อยากจะให้เรียนต่อ ๗-๘ แต่ท่านผู้ฟังท่านนี้ก็ค้านทันทีว่า อยากจะบวช เมื่อคุณแม่เห็นว่า ไม่ชอบทางโลกแน่ จึงให้โอกาสบวช แล้วคุณแม่ก็ว่าการบวชต้องมีเงินติดตัวเป็นประจำ และถามว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้ามีศรัทธาแต่ขาดปัจจัย จะบวชฝากตัวในพระพุทธศาสนาได้ไหม

สำหรับคำตอบเรื่องในการบวชและปัจจัยที่ต้องใช้ คิดว่าคงจะต้องปรึกษาหารืออุบาสิกาหลายๆ ท่าน ซึ่งได้ผ่านชีวิตอย่างนี้และก็เป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดว่า ชีวิตของการเป็นอุบาสิกานั้น จำเป็นที่จะต้องมีเงินติดตัวหรือไม่

ก็ใคร่ที่จะตอบจดหมายท่านผู้ฟังท่านนี้ ด้วยการย้อนกล่าวถึงชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาในครั้งพุทธกาล เพราะเหตุว่าอุบาสิกาก็มีหลายแบบ แต่ข้อสำคัญของการเป็นอุบาสิกานั้นคืออะไร เพราะว่าทุกคนก็มีหลักพระธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ต้องมีหน้าที่ หรือว่ามีกิจที่จะต้องกระทำ ในฐานะของการเป็นอุบาสิกาด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าทราบถึงเรื่องชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาว่าควรเป็นอย่างไร ก็อาจจะช่วยทำให้ท่านตัดสินใจได้ในเรื่องของการบวช เพราะเหตุว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตามที่จะเจริญในทางฝ่ายกุศล ย่อมจะเป็นที่อนุโมทนา แต่การที่ผู้ปกครองยังไม่อยากจะให้บวชนั้น ก็คงเป็นเพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยมามากกว่า ก็อาจจะเป็นห่วงถึงเรื่องจิตใจที่อาจจะยังไม่มั่นคงของผู้ที่ต้องการจะบวช แต่ถ้าได้เรียนจนกระทั่งจบแล้ว คงจะไม่มีอุปสรรคอะไร คุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ต้องห่วงในเรื่องของการดำเนินชีวิต กรณีที่บวชแล้วอาจมีศรัทธาที่ไม่มั่นคงในภายหลัง

เพราะฉะนั้น ปัญหานี้เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงเรื่องการศึกษาว่า ท่านผู้ใหญ่อยากจะให้ศึกษาสำเร็จเสียก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าได้ทราบชีวิตของอุบาสก อุบาสิกาในครั้งพุทธกาลก็ย่อมจะทำให้ทุกท่านพิจารณาตัวเองแล้วตัดสินใจได้ว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร เพราะเหตุว่าเรื่องของความสงบ เรื่องของความเจริญในธรรม เรื่องของการสมบูรณ์ด้วยศีลยิ่งๆ ขึ้นนั้น เป็นที่น่าอนุโมทนา ไม่ว่าจะมีศีลในขั้นของบรรพชิตที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี หรือว่าอุบาสิกาที่ไม่ครองเรือน ที่รักษาศีลอุโบสถมากกว่านิจศีลซึ่งเป็นศีล ๕

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ธรรมิกสูตรที่ ๑๔

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ธรรมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ ไปเฝ้า กราบทูลถามถึงอุบาสกผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตก็ดี อุบาสกผู้ยังครองเรือนอีกก็ดี บรรดาสาวกทั้งสองพวกนี้ สาวกกระทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงปฏิปทาของบรรพชิตก่อน แล้วก็ได้ทรงแสดงวัตรแห่งคฤหัสถ์ คือ ศีล ๕ และศีล ๘

สำหรับเรื่องของศีล ๕ ก็ได้แก่ ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงดื่มน้ำเมา

สำหรับศีล ๘ เปลี่ยนจากศีลข้อที่ ๓ คือ แทนที่จะเป็นไม่ประพฤติผิดในกาม ก็เป็น พึงเว้นอพรหมจรรย์ อันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ นอกจากศีล ๕ ข้อนั้นแล้ว ก็ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี เป็นข้อไม่พึงฟ้อนรำ ขับร้องประโคมดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลไม่พึงทัดทรงประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้ ของหอมและอีกข้อหนึ่ง ไม่พึงนอนบนเตียง หรือบนพื้นดินที่เขาลาดแล้ว เป็นสิกขาบทที่ ๘

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ว่า อันพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทรงประกาศไว้แล้ว แต่นั้นสาวกผู้มีใจเลื่อมใสพึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ให้บริบูรณ์ดี ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริกปักษ์

แต่นั้นสาวกผู้รู้แจ้งเข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชื่นชมอยู่เนืองๆ พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ ด้วยข้าวและน้ำตามควร พึงเลี้ยงมารดาและบิดา ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดา ชื่อว่า สยัมปภา ผู้มีรัศมีในตน

คงจะทราบถึงกิจของอุบาสกว่า แม้อุบาสก อุบาสิกาจะไม่ใช่บรรพชิต แต่ย่อมขัดเกลามากขึ้นได้ คือ นอกจากจะมีศีล ๕ แล้ว ในวันอุโบสถก็ยังมีการรักษาศีลอุโบสถ ด้วยจิตที่เลื่อมใสได้ แต่การรักษาศีลอุโบสถของอุบาสก อุบาสิกานั้น ก็ไม่ใช่ว่ามีชีวิตที่ผิดปกติ แต่ว่ากิจวัตรอย่างใดที่เป็นกุศล ก็พึงกระทำ เช่น เข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตใจเลื่อมใส ชื่นชมเนืองๆ พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ ด้วยข้าวและน้ำตามควร พึงเลี้ยงมารดาและบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่

เมื่ออุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้นไม่สามารถละอาคารบ้านเรือน แต่ต้องการขัดเกลากิเลส และเจริญธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น นอกจากจะรักษาศีล ๕ ก็ยังรักษาศีล ๘ แล้วก็ประพฤติวัตรของคฤหัสถ์ที่เป็นกุศล มีการเลี้ยงดูมารดาบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบ หรือว่าแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามควร เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

แต่ถ้าอุบาสก อุบาสิกา ที่รักษาศีลอุโบสถ และสามารถละกิจทางโลก มีการฟังธรรม ใคร่ครวญธรรม เจริญสติพิจารณาธรรม นั่นก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคนไม่ได้จำกัดการเจริญกุศล ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลใด มีกิจที่จะต้องกระทำ แต่ให้เป็นไปในกุศลได้ ถ้าท่านยังมีมารดาบิดาที่จะต้องอุปการะ ท่านก็เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ขัดเกลาจิตใจของท่านด้วย แล้วก็เจริญกุศลด้วยการอุปการะตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาด้วย แต่ต้องทราบด้วยว่า เมื่อท่านเป็นอุบาสก อุบาสิกาแล้ว มีศีลแล้ว หรือรักษาศีลอุโบสถแล้ว ท่านควรทำอย่างไร เพราะเหตุว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปเรื่อยๆ แล้วแต่ใครจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากเวลาที่ผ่านไป

เพราะฉะนั้น ถึงแม้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่มีจิตศรัทธารักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถ ก็ควรทราบข้อประพฤติที่จะขัดเกลาให้ยิ่งขึ้นว่า เมื่อรักษาศีลอุโบสถนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รับอุโบสถ แล้วจิตใจเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ แต่ควรทราบว่า ควรรักษาศีลอุโบสถอย่างไร


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 37