องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม ๕ โดยวิตกเจตสิกจรดที่อารมณ์ซึ่งทำให้จิตสงบได้ และวิจารเจตสิกตามประคองอารมณ์ที่วิตกเจตสิกจรดลง ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ปีติเจตสิกเป็นสภาพที่เอิบอิ่ม สุขเวทนาเพิ่มพูนยิ่งขึ้นตามความเอิบอิ่ม และเอกัคคตาที่องค์ฌาน ๔ อุปการะอุดหนุนแล้ว ตั้งมั่นคงในอารมณ์โดยอาการของปฐมฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๕
องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม ๕ ดังนี้
๑. วิตกเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธนิวรณ์ เพราะเมื่อวิตกเจตสิกตรึกถึงแต่อารมณ์ของสมถภาวนามากขึ้นเรื่อยๆ ความท้อถอย หดหู่ และความง่วงเหงาก็ย่อมเกิดไม่ได้
๒. วิจารเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉานิวรณ์ เมื่อวิจารเจตสิกประคองอารมณ์ตามวิตกเจตสิกที่จรดลงในอารมณ์ของสมถภาวนาไปเรื่อยๆ ความสงสัยความไม่แน่ใจในสภาพธรรม และในเหตุผลของสภาพธรรมก็เกิดไม่ได้
๓. ปีติเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทนิวรณ์ เมื่อความสงบในอารมณ์ของสมถภาวนาเพิ่มขึ้น ปีติก็เอิบอิ่มในความสงบนั้นยิ่งขึ้น ทำให้ความพยาบาทขุ่นเคืองใจเกิดไม่ได้ในระหว่างนั้น
๔. สุข (โสมนัสสเวทนา) เป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เมื่อกำลังเป็นสุขในอารมณ์ของ สมถภาวนาอยู่ ความเดือดร้อนใจ กังวลใจ และความฟุ้งซ่านในอารมณ์อื่นก็เกิดไม่ได้ เพราะกำลังเป็นสุขในสมถอารมณ์ในขณะนั้น
๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทนิวรณ์ เพราะเมื่อสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์ของสมถภาวนา แล้วก็ไม่ยินดีในกามอารมณ์ใดๆ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ