ชวนพี่ชายที่ทุกข์ใจมาฟังธรรม
โดย Pinyapachaya  17 ม.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 15143

สวัสดีค่ะ ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ให้อ่านกันนะคะ

ได้ให้หนังสือของ มศพ. หลายๆ เล่ม และแผ่นเทปวิทยุกับดีวีดีรวมชุดต่างๆ เพราะเขากำลังมีเรื่องทุกข์ใจอย่างมากเรื่องการงาน ดิฉันจึงคิดว่าโอกาสนี้น่าจะเหมาะ ที่จะชวนเขาให้ลองศึกษาดู สักนิดก็ยังดีกว่านั่งเหม่อไปวันๆ พอเขาอ่านได้สักสองเดือน อ่านทั้งวัน ฟังทั้งวัน แล้วเขาก็มาบอกว่าปลง จนไม่อยากทำอะไร รู้สึกว่าฟังธรรมะมากๆ แล้วเบื่อการงานทางโลก อยากจะศึกษาธรรมะอย่างเดียว (กลายเป็นว่า จะทิ้งงานไปอีก) และยังมาบอกว่า ให้ดิฉันเลี้ยงข้าวเขาทุกมื้อทั้งชีวิตเลยได้ไหม เพราะไม่อยากประกอบการงานแล้ว (ดิฉันเคยออกตัวไว้เองว่า ถ้าเขาไปต่อไม่ไหวจะเลี้ยงข้าวไปตลอด จะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องทำมาหากิน)

จึงฝากเป็นคำถาม มาถามสหายธรรม ว่าเวลาที่คนเรามีทุกข์แล้วเข้าหาหลักธรรมคำสอนอย่างไร จึงจะถูกต้อง ศึกษาอย่างไรจึงจะไม่เกิดความเบื่อหน่าย หรือเป็นเรื่องปกติที่ศึกษาธรรมแล้วจะเบื่อหน่ายการงานไปโดยปริยาย

ขอความคิดเห็นทุกท่าน มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ในสมัยครั้งพุทธกาลผู้ที่มีปัญหาและมีความทุกข์ เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์พระพุทธองค์ทรงทราบถึงอุปนิสสัย การสะสมมาของผู้นั้น จึงทรงแสดงพระธรรมที่ตรงกับอัธยาศัย ทำให้ผู้มีทุกข์หมดทุกข์ได้ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ที่มีความรู้เช่นนั้น ก็ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมหลายๆ ส่วน ที่จะค่อยๆ ช่วยทำให้เขาเข้าใจความจริง เมื่อเข้าใจความจริงมากขึ้น ย่อมจะค่อยๆ คลายจากทุกข์ได้ แต่มิได้หมายความว่า ผู้ศึกษาพระธรรมจะเบื่อหน่ายการงานที่ทำอยู่ เพราะอัธยาศัยของคนเราต่างกัน บางท่านเมื่อศึกษาเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ก็มีความสุขไปกับการงานที่ทำอยู่ เพราะรู้ว่าเป็นกิจหน้าที่ ที่จะต้องทำ และทำด้วยความขยันและซื่อสัตย์ เป็นลูกจ้างหรือผู้บริหารที่ดี ชีวิตก็มีความสุข และอบรมสะสมปัญญาต่อไปครับ


ความคิดเห็น 2    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ประเชิญว่า เมื่อศึกษามากขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น การงานและภาระรับผิดชอบที่ทำอยู่ ไม่น่าจะทำให้มีความสุขแล้วนะครับ มันจะกลายเป็น สักแต่ว่าทำไปเสียแล้วที่ทำเพราะต้องทำ เป็นหน้าที่ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ให้เดือนร้อนผู้อื่น แต่เมื่อไหร่หน้าที่การงาน ความรับผิดชอบมาเบียดบัง เวลาศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม กลายเป็นทำให้เบื่องาน เบื่อภาระ ตรงกับอาการพี่ชายท่านเจ้าของกระทู้ซึ่งก็เป็นอกุศลไปเลยครับ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจอย่างไรจึงจะถูกต้องครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย prachern.s  วันที่ 18 ม.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 2

เข้าใจว่าผู้ที่เข้าใจอะไรดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร ก็มีความสุขได้ส่วนผู้ที่มีความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ท้อถอย แสดงว่ายังไม่เข้าใจความจริง ว่า ทุกอย่างเป็นธัมมะ เป็นเพียงธาตุอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ความจริงในชีวิตประจำวัน ผู้ใดเข้าใจจริงๆ ย่อมมีความสุขครับ


ความคิดเห็น 5    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย bsomsuda  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 18 ม.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระธรรมของพระพุทธเจ้าเมื่อมีความเข้าใจ ปัญญาเกิดย่อมเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา ย่อมอาจหาญร่าเริงด้วยกุศลธรรม ไม่เบื่อหน่ายด้วยโทสะ แต่เบื่อหน่ายด้วยปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม เมื่อมีความเข้าใจถูก การดำเนินชีวิตในส่วนต่างๆ ในชีวิตประจำวันและในการทำงานก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้องผู้ที่เบื่อหน่ายเห็นโทษในการครองเรือนจริงๆ ด้วยปัญญาก็บวชเป็นเพศบรรพชิต แต่เราก็ต้องเป็นผู้ตรงว่าเราเห็นโทษที่จะไม่อยากอยู่ในเพศคฤหัสถ์พร้อมที่จะสละทุกอย่างแล้วจริงหรือ หรือเป็นเพียงเห็นความวุ่นวายในการทำงานจึงไม่อยากทำงาน เพราะเราไม่ชอบความวุ่นวายอยากจะศึกษาธรรมเท่านั้น แต่ลืมไปว่าหากมีความเข้าใจถูกแล้ว เราก็สามารถทำงาน พร้อมๆ กับความเข้าใจพระธรรมที่ได้สะสมมาได้ด้วยครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 8    โดย bsomsuda  วันที่ 19 ม.ค. 2553

"หากมีความเข้าใจถูกแล้ว เราก็สามารถทำงานพร้อมๆ กับความเข้าใจพระธรรมที่ได้สะสมมาได้"

ขอบพระุคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย oom  วันที่ 19 ม.ค. 2553

ตอนที่ฟังธรรมใหม่ๆ ก็มีความคิดแบบนั้นเหมือนกัน คือไม่อยากทำงาน อยากลาออกจากงาน เบื่อความวุ่นวายทางโลก แต่พอฟังธรรมไปนานๆ จึงเริ่มเข้าใจมากขึ้น ตอนนี้ความคิดเรื่องการลาออกจากงานนั้น ไม่มีแล้ว เพราะทุกอย่างเป็นธรรมะ ไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงาน ธรรมะก็มีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จะเข้าใจหรือไม่ว่าเป็นธรรมะ ก็ขอให้ฟังธรรมตลอดไป อย่าทิ้งการฟัง ฟังจนกว่าจะมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรม ๘


ความคิดเห็น 10    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 19 ม.ค. 2553

การศึกษาธรรมะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทำให้จิตใจสงบเพราะสามารถเข้าใจได้ระดับหนึ่งว่าทุกอย่างเป็นธัมมะ ขั้นการศึกษาพระธรรมเป็นเพียงขั้นปริยัติ เข้าใจเรื่องกุศลหรืออกุศลหรือแยกแยะว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ไม่ได้ดับกิเลส จะเริ่มเข้าใจสภาพธรรมะตามความเป็นจริงเป็นขั้นปฏิบัติ ความเบื่อเป็นกิเลสของเราเอง ดังนั้นทำงานหรือไม่ทำงานแม้นศึกษาพระธรรมก็เบื่อได้หมือนกันทำไมถึงเบื่องาน เบื่อเพราะคนอื่นทำให้เบื่อหรือเบื่อเพราะตนเอง หากพิจารณาดีๆ เป็นกิเลสของเราเอง หากทิ้งงานเพราะคิดว่าเป็นกิเลสคนอื่นคงต้องทิ้งงานไปตลอดชีวิต เพราะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และหากเป็นกิเลสตนเองใครจะละได้ อะไรละกิเลส ปัญญาเท่านั้นที่จะละกิเลส แปลกแต่จริงคนที่ศึกษาธรรมะแรกๆ จะมีความคิดเหมือนพี่ชายคุณ Pinyapachaya พอศึกษานานเข้าจะคิดเหมือนคุณ oom คะ ไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงาน ธรรมะก็มีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จะเข้าใจหรือไม่ว่าเป็นธรรมะ และขอนำคำที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า จะเป็นใคร ตำแหน่งอะไร ไม่เป็น "เครื่องกั้นปัญญา" เลยค่ะถ้า "มีความเข้าจพระธรรม" จริงๆ

เชิญคลิกอ่าน...

รับตำแหน่งผู้นำฯ หรือ ปลีกตัวไปศึกษาธรรม ควรเลือกอะไร


ความคิดเห็น 11    โดย Pinyapachaya  วันที่ 19 ม.ค. 2553

สาธุ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย Pinyapachaya  วันที่ 19 ม.ค. 2553

ได้ค้นหาไฟล์ฟังธรรมที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เจอตอนนี้ค่ะ

กามตัณหา-ภวตัณหา-วิภวตัณหา

ละตัณหาที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก่อน

ตัณหา-โลภะ-ความติดข้อง

ในหน้าฟังธรรม หมวด สนทนาเรื่องการปฏิบัติธรรม ฟังดีมากๆ ค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย wannee.s  วันที่ 19 ม.ค. 2553

ความทุกข์เปรียบเหมือนเทวฑูตที่คอยเตือนให้เราไม่ประมาทในการเจริญกุศล และการสะสมปัญญาไว้ภพหน้า คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นนาทีทองของชีวิตนี้ค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย เมตตา  วันที่ 19 ม.ค. 2553

"หากมีความเข้าใจถูกแล้ว เราก็สามารถทำงานพร้อมๆ กับความเข้าใจพระธรรมที่ได้สะสมมาได้"

ขออนุโมทนาน้องนุ่นด้วยค่ะค่ะ

ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า อกุศลเกิดขึ้นแล้วรู้ มีประโยชน์ไหม เมื่อมีความเข้าใจ แม้อกุศลเกิดก็รู้ว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย รู้มีประโยชน์เมื่อเข้าใจ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 16    โดย คุณ  วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย chatchai.k  วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ