นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
อาชีวกสูตร
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๔๑๐
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๑๐
๒. อาชีวกสูตร
ว่าด้วยความดี ๓ อย่าง
[๕๑๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ อยู่ที่วัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพีครั้งนั้น คฤหบดีสาวกของอาชีวกผู้หนึ่ง เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นเข้าไปถึงแล้วอภิวาทท่านพระอานนท์แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง คฤหบดีนั้นแล นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว ถามท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ เราสองพวก ธรรมของพวกใคร เป็นสวากขาตะ (ธรรมที่กล่าวดีแล้ว) พวกใครเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก พวกใครเป็นผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก
พระอานนท์ กล่าวว่า ท่านคฤหบดี ถ้าเช่นนั้น อาตมาจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพอใจอย่างใด พึงตอบอย่างนั้น ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาตะหรือไม่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้?
คฤหบดี ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาตะ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้.
อา. ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร ท่านคฤหบดี บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลกหรือไม่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้?
คฤหบดี ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะบุคคลเหล่านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้.
อา. ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร ท่านคฤหบดี ราคะ โทสะ โมหะบุคคลเหล่าใดละได้แล้ว มีมูลอันตัดขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลกหรือไม่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้?
คฤหบดี ท่านผู้เจริญ ราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่าใดละได้แล้ว มีมูลอันตัดขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้
อา. นี่แหละ ท่านคฤหบดี ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ท่านผู้เจริญบุคคลเหล่าใด แสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของของบุคคลเหล่านั้น เป็นสวากขาตะ ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่าใดละได้แล้ว... บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก.
คฤหบดี น่าอัศจรรย์จริงๆ ท่านผู้เจริญ (การแสดงธรรมอย่างนี้) ไม่ชื่อว่า เป็นการยกธรรมฝ่ายตนและไม่เป็นการรุกรานธรรมฝ่ายอื่นเลย เป็นการแสดงอยู่ในเขตแดนแท้ กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไป (ปะปน) ด้วย ท่านอานนท์ผู้เจริญ ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของท่านทั้งหลายเป็นสวากขาตะ ท่านทั้งหลาย ปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะโมหะ ท่านทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ราคะ โทสะ โมหะท่านทั้งหลายละได้แล้วมีมูลอันตัดขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินดีแล้วในโลก ดีจริงๆ ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าอานนท์บอกพระธรรมโดยเอนกปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปกปิด บอกทางแกคนหลง ส่องประทีปในที่มืดเพื่อให้คนตาดีเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับ พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นอุบาสกถึงสรณะแล้วตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ไป.
จบ อาชีวกสูตรที่ ๒
อรรถกถาอาชีวกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอาชีวกสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เตนหิ คหปติ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า อาชีวกนี้ เมื่อมาในที่นี้ ก็มิได้ประสงค์จะมาเพื่ออยากจะรู้ แต่มาเพื่อจะพิสูจน์ เราจะตอบปัญหาที่พราหมณ์นี้ถามแล้ว ด้วยการย้อนถามนี้แหละ
พระเถระประสงค์จะให้พราหมณ์นั้นตอบปัญหานั้นเสียเอง ด้วยอุบายนี้จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เตนหิ ดังนี้. ในคำว่า เตนหิ เป็นต้นนั้น ศัพท์ว่า เตนหิ เป็นการอ้างถึงเหตุ อธิบายว่า เพราะเหตุที่ท่านถามอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงขอย้อนถามท่านในข้อนี้
บทว่า เกสํ โน ความว่า แก่ใครหนอแล
บทว่า สธมฺมุกฺกํสนา ความว่า ยกลัทธิของตนขึ้นตั้งไว้
บทว่า ปรธมฺมาปสาทนา ความว่า ไม่กระทบกระเทียบ ข่มขู่ เสียดสี ลัทธิของผู้อื่น
บทว่า อายตเนว ธมฺมเทสนา ความว่า แสดงธรรมมีเหตุ
บทว่า อตฺโถ จ วุตฺโต ความว่า และชี้แจง เนื้อความแห่งปัญหาที่เราถามแล้ว
บทว่า อตฺตา จ อนุปนีโต ความว่า และไม่อวดอ้างตนอย่างนี้ว่า พวกเราเป็นอย่างนี้
บาลีว่า นุปนีโต ดังนี้ก็มี
จบ อรรถกถาอาชีวกสูตรที่ ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อาชีวกสูตร
ว่าด้วยความดี ๓ อย่าง
ท่านพระอานนท์เถระ ได้ตอบปัญหาที่คฤหบดีผู้เป็นสาวกของอาชีวก ได้ถามว่า ธรรมของพวกไหน ที่เป็นสวากขาตธรรม (ธรรมที่กล่าวดีแล้ว) พวกไหน ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว และพวกไหน ชื่อว่า ดำเนินไปดีแล้ว โดยได้กล่าวย้อนถามเพื่อให้คฤหบดีได้คิด ซึ่งจะทำให้ได้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง ว่า ธรรม ของพวกชนที่กล่าวเพื่อละราคะ โทสะ และโมหะ ชื่อว่าเป็นสวากขาตธรรม ชนพวกไหนเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ชนพวกนั้นชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว, และชนพวกไหน ละราคะ โทสะ โมหะ ได้หมดสิ้น ชนพวกนั้นชื่อว่า ดำเนินไปดีแล้ว
คฤหบดีพอได้ฟังแล้ว ก็ได้กล่าวชื่นชมในภาษิตของท่านพระอานนท์และได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
การปฏิบัติธรรม คือการละอกุศล ละโลภะ โทสะ โมหะ
โลภะ โทสะ โมหะ
ธรรมวาทีและอธรรมวาที
กิเลสตัณหา
ที่ไม่พอ สำหรับเก็บ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ