นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
ทุกวันเสาร์...ขอเชิญร่วมรายการ
สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๙
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.
สุคตสูตร
ว่าด้วยแบบแผนคำสั่งสอนของพระสุคต
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 380
นำการสนทนาโดย..
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒- หน้าที่ 380
๑๐. สุคตสูตร
ว่าด้วยแบบแผนคำสั่งสอนของพระสุคต
[๑๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระสุคตก็ดี วินัยพระสุคตก็ดี ยังประดิษฐานอยู่ในโลก อันนั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เป็นความเจริญ เป็นผลดี เป็นความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็พระสุคตเป็นไฉน คือ ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ (อรหํ) เป็นพระอรหันต์ (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ (วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (สุคโต) เป็นผู้ไปดี (โลกวิทู) เป็นผู้รู้แจ้งโลก (อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ) เป็นสารถีฝึกคนไม่มีใครยิ่งกว่า (สตฺถา เทวมนุสฺสานํ) เป็นผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (พุทฺโธ) เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว (ภควา) เป็นผู้จำแนกธรรม นี้คือ พระสุคต
วินัยพระสุคตเป็นไฉน คือพระสุคตนั้นแสดงธรรมงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง (ธรรมที่พระสุคตแสดงพรหมจรรย์ที่พระสุคตประกาศ) นี้คือ วินัยพระสุคต ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระสุคตก็ดี วินัยพระสุคตก็ดี นี้ยังประดิษฐานอยู่ในโลก อันนั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เป็นความเจริญ เป็นผลดี เป็นความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุทั้งหลายในพระวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาผิดด้วยบทพยัญชนะที่ใช้ผิด เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ใช้ผิด ย่อมมีนัยอันผิดไปด้วย นี้ธรรมประการที่ ๑ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมอันทำความว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำสั่งสอนโดยเบื้องขวา นี้ธรรมประการที่ ๒ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุเหล่านั้นไม่เอาใจใส่บอกสอนแก่ผู้อื่น เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงไป สูตรก็ขาดผู้เป็นมูล (อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป นี้ธรรมประการที่ ๓ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ใหญ่ๆ เป็นผู้สะสมบริขาร ปฏิบัติย่อหย่อนมุ่งไปทางจะลาสิกขา ทอดธุระในปวิเวก ไม่ทำความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้งปัจฉิมชนตา (ประชุมชนผู้เกิดภายหลัง คือ สัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกเป็นต้น) ได้เยี่ยงอย่างภิกษุผู้ใหญ่เหล่านั้น ก็พลอยเป็นผู้สะสมบริขาร ปฏิบัติย่อหย่อนมุ่งไปทางจะลาสิกขา ทอดธุระในปวิเวก ไม่ทำความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้งไปตามกัน นี้ธรรมประการที่ ๔ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ธรรม ๔ ประการ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธาน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือน อันตรธานไป ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุทั้งหลายในพระวินัยนี้เล่าเรียนสูตร อันถือกันมาด้วยบทพยัญชนะที่ใช้ถูกต้อง เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ใช้ถูกต้อง ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นกันนี้ ธรรมประการที่ ๑ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมอันทำความว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำสั่งสอนโดยเบื้องขวา นี้ธรรมประการที่ ๒ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุเหล่านั้นเอาใจใส่ บอกสอนสูตรแก่ผู้อื่น เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงไป สูตรก็ไม่ขาดมูล (อาจารย์) มีที่อาศัยสืบกันไป นี้ธรรมประการที่ ๓ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ใหญ่ๆ ไม่เป็นผู้สะสมบริขาร ไม่ปฏิบัติย่อหย่อน เป็นผู้ทอดธุระในการลาสิกขา มุ่งหน้าไปทางปวิเวก ทำความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลัง ได้เยี่ยงอย่างภิกษุผู้ใหญ่เหล่านั้น ก็พากันเป็นผู้ไม่สะสมบริขาร ไม่ปฏิบัติย่อหย่อน เป็นผู้ทอดธุระในการลาสิกขา มุ่งหน้าไปทางปวิเวก ทำความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้งไปตามกัน นี้ธรรมประการที่ ๔ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลธรรม ๔ ประการ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือนอันตรธาน.
จบสุคตสูตรที่ ๑๐
จบอินทริยวรรคที่ ๑
อรรถกถาสุคตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสุคตสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทุคฺคหิตํ ได้แก่ ถือกันมานอกลำดับ
บทว่า ปริยาปุณนฺติ ได้แก่ ถ่ายทอดมาคือกล่าว
ก็ในบทว่า ปทพฺยญฺชเนหิ นี้ ท่านกล่าวว่าบทของความนั่นแหละเป็นพยัญชนะโดยพยัญชนะ.
บทว่า ทุนฺนิกฺขิตฺตสฺส ได้แก่ ใช้ผิด คือตั้งไว้นอกลำดับ.
บทว่า อตฺโถปิ ทุนฺนโย โหติ ได้แก่ ไม่อาจจะนำอรรถกถาออกมากล่าวได้
บทว่า ฉินฺนมูลโก ได้แก่ ชื่อว่าฉินฺนมูลก เพราะขาดภิกษุผู้เป็นมูล (อาจารย์)
บทว่า อปฺปฏิสรโณ คือ ไม่มีที่พึ่ง
บทว่า พาหุลฺลิกา ได้แก่ ปฏิบัติเพื่อสะสมปัจจัย.
บทว่า สาถลิกา ได้แก่ ถือไตรสิกขาย่อหย่อน
บทว่า โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ท่านเรียกว่า โอกกมนะ เพราะเดินลงต่ำ (เสื่อม) อธิบายว่ามุ่งไปในโอกกมนะนั้น (มุ่งไปในทางจะลาสิกขา)
บทว่า ปวิเวเก ได้แก่ วิเวก ๓
บทว่า นิกฺขิตฺตธุรา ได้แก่ ไม่มีความเพียร พึงทราบความในที่ทั้งปวงในสูตรนี้
จบอรรถกถาสุคตสูตรที่ ๑๐
หากบริษัท ๔ เข้มแข็ง เห็นถูก ดำรงพระพุทธศาสนาสืบไป
อนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น