ผมฟังธรรมะอ.สุจินต์ อยากเรียนถามเรื่องขันติ เนื่องจาก ขันติ ไม่มีเจตสิกแสดง ไม่ทราบว่าขณะที่บำเพ็ญขันติ ขณะนั้นเจตสิกอะไรที่เป็นตัวบ่งชี้ว่านั่นคือ ขันติ ขณะที่มีขันติขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะบางครั้งเรารู้สึกว่า ขณะที่เราพยายามอดกลั้นอะไรบางอย่าง จิตเราก็กระสับกระส่าย หรือดิ้นรนต่อสู้ นั่นแสดงว่าขณะบำเพ็ญขันติจิตเราก็ต้องเป็นอกุศลอย่างนั้นหรือ???
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ซึ่ง เจตสิก คือ อโทสเจตสิก ซึ่ง ขณะที่มีขันติ ความอดทน ไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม คือ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ หรือ กุศลจิตก็ได้ ที่เกิดกับอโทสเจตสิก และ เจตสิกที่ดี ประการอื่นๆ มีศรัทธา เป็นต้น
ขันติธรรม คือ สภาพธรรมที่อดทน อดกลั้น ด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ไม่ใช่ความอดทน ด้วยอกุศลจิตครับ
ขันติธรรม เป็นสภาพธรรม คือ อโทสเจตสิก ขันติธรรม มีหลายระดับ ทั้งความอดทนอดกลั้นด้วยกุศลจิต อดทนต่อ ความหนาว ความร้อน อดทนต่อความประทุษร้ายของผู้อื่น หรืออดทนต่อสิ่งต่างๆ ด้วยกุศลจิต และขันติโดยนัยสูงสุด ยังหมายถึง ปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่เป็นขันติญาณ อันเป็นการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ที่เป็นแต่ละกลุ่มกลาปของสภาพธรรม ดังนั้น ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้งปัญญาย่อมเป็น ขันติธรรมทั้งสิ้น ขันติธรรมจึงมีหลายระดับตามที่กล่ามาครับ
ดังนั้น ขณะใดที่จิตกระสับกระส่าย ดิ้นรนต่อสู้ ขณะนั้น ไม่ชื่อว่าอดทน เพราะเป็นอกุศล จึงชื่อว่า กระสับกระส่าย มี โทสะ เป็นต้น แต่ เมื่อขันติเกิด มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องเบา เพราะ เบาด้วยเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย และ เป็นกุศลจิตขณะนั้นจะไม่กระสับกระส่ายเลย ครับ
ขันติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขันติ ความอดทนด้วยกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น และเมื่อปัญญาเจริญถึงระดับวิปัสสนาญาณก็ทำให้ถึงขันติธรรมที่เป็นปัญาระดับสูงที่เป็น ขันติญาณได้ครับ ดังนั้นเพราะปัญญาความเห็นถูกเจริญ เกิดขึ้น ก็ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ มีขันติ เป็นต้น เจริญ เกิดขึ้นตามไปด้วยครับ เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ขันติก็เจริญ เกิดขึ้นครับ เพราะปัญญา วิชชา เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลายครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขันติธรรม (ความอดทน) ต้องเป็นไปในทางฝ่ายที่ดีงามเท่านั้น ความเป็นจริงของสภาพธรรมนี้ แสดงไว้ว่า กุศลขันธ์ ที่มีอโทสะ เป็นประธาน
ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง และที่สำคัญ ธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม แต่ดูเหมือนจะไปหาว่า ขณะไหน เป็นความอดทน ขณะไหนมีความอดทน แต่ความอดทนมีแล้ว เกิดแล้ว เป็นไปแล้ว ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (เพราะรูปธรรมอดทนไม่ได้) เช่น อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องมีความอดทน ในการฟัง ในการศึกษาต่อไป เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือ ความอดทนในชีวิตประจำวัน ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ อดทนทั้งต่ออกุศล อดทนต่อผลของอกุศล นอกจากนั้นยังอดทนต่อผลของกุศลด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศล และ ได้รับสิ่งที่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโทสะ และ โลภะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความอดทน เป็นธรรมเครื่องเผาบาปธรรม พร้อมทั้งเป็นธรรมที่ทำให้ถึงซึ่งฝั่ง คือ การดับกิเลส (บารมี) ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันเพื่อเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นคุณประโยชน์ของความอดทนในชีวิตประจำวัน, พระธรรม ควรค่าแก่การศึกษา และน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง และพระธรรมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้นจริงๆ ครับ.
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
การฝึกขันติบารมี
ตามหลักอภิธรรมแล้ว ขันติความอดทนๆ ต่ออะไรครับ?
ยากเหลือเกินที่จะมีขันติ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ที่กล่าวว่าขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ตบะนี่แปลว่าร้อน หรือเผา ใช่มั้ยครับ คือความหมาย น่าจะหมายถึงการเผากิเลสให้หมดไป แต่ขณะที่เผา เป็นธรรมดาที่เราต้องต่อสู้ เหมือนกับว่า กุศลกำลังสู้กับอกุศล ขณะที่เราอดทนต่อโทสะนี่ พอเห็นได้นะครับ ว่าต้องอาศัยอโทสะ แต่ขณะที่เราอดทนต่อโลภะ นี่ เราคงต้องอาศัย อโลภะ ใช่มั้ย แสดงว่า ขันติ ต้องหมายถึง อโลภะด้วย ใช่หรือเปล่าครับ? และเนื่องจากขันติยังหมายถึงปัญญา แสดงว่า หมายถึง อโมหะ ด้วย อย่างนี้อาจกล่าวได้ว่า ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นมีขันติ อยู่แล้ว ขณะที่เป็นอกุศลขณะนั้นไม่มีขันติ อย่างนี้ถูกต้องมั้ยครับ หรือว่า ต้องมีวิริยเจตสิก เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นจึงจะชื่อว่าขันติ???
เรียนความเห็นที่ 3 ครับ
ขันติ เป็น ตบะอย่างยิ่ง ตบะ หมายถึง สภาพธรรมที่เผากิเลส ดังนั้น ขันติ จึงเป็นสภาพธรรมที่เผากิเลส ซึ่งมีหลายระดับ ตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งขณะที่เผา ไม่มีเราที่จะต้องสู้ ดั่งเช่น ความหมายที่จะต้องสู้กัน แต่ หมายถึง ขณะที่กิเลสเกิดขึ้น และเกิดกุศลจิต เกิดแทน ที่จะไม่เกิดกิเลส กุศลนั้นเองที่ไม่ใช่เรา เผากิเลสที่เกิดแล้วให้หมดไป ครับ ซึ่งความอดทน ก็มีทั้งอดทนในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และน่าพอใจด้วย คืออดทนด้วยกุศลจิตก็ได้ เกิดอโลภเจตสิกในขณะนั้นก็ได้ ที่อดทนที่จะไม่ติดข้องเผากิเลสที่เป็นความติดข้องที่เกิดขึ้นแล้ว และ อดทนที่ต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มีขันติที่เป็นอโทสเจตสิกที่จะไม่โกรธ และ อดทนที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เผากิเลส คือ ความไม่รู้ ด้วย ขันติ ที่เป็นปัญญา ครับ ซึ่ง ขณะที่เป็นอกุศลก็ชื่อไม่มีขันติ แต่ ขณะที่เป็นกุศล มีขันติ ก็ตามแต่ระดับของขันติ ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขออนุโมทนาคะ
" ความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้ง ปัญญา ย่อมเป็น ขันติธรรม ทั้งสิ้น..
...ขันติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขันติ ความอดทนด้วยกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น"
"...เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศล และ ได้รับสิ่งที่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโทสะ และ โลภะ "
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนากุศลจิตของ อ.ผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
เรียนอาจารย์ผเดิมครับ เพื่อขออนุญาตสอบถามและตรวจสอบความเข้าใจเรื่องขันติ เพิ่มเติมครับ
ที่ท่านกล่าวว่า ขันติธรรม คือ สภาพธรรมที่อดทน อดกลั้น ด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี การอดทนนี้จึงต้องอดทนต่อกิเลสอกุศลธรรมประเภทต่างๆ หากเป็น โทสะ ความขุ่นข้อง หม่นหมอง ไม่พอใจ ในสิ่งที่ไม่ดี ขันติ ทำหน้าที่อดทน โดยมี อโทสะ เป็นประธาน เผาโทสะมิให้เกิดขึ้น ไม่หลุดไปในความไม่พอใจ นั้นๆ หากเป็นโลภะ ความติดข้องในกามคุณทั้งหลาย ติดข้องในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา ขันติทำหน้าที่อดทน โดยมี อโลภะ เป็นประธาน เผาโลภะมิให้เกิดขึ้น มิให้ไหลไปตามความติดข้อง หากเป็น โมหะ ความไม่รู้ในความจริงทั้งหลาย ขันติ ทำหน้าที่อดทน โดยมี อโมหะ เป็นประธาน เผาโมหะมิให้เกิดขึ้น ไปประพฤติปฏิบัติในลักษณะอาการต่างๆ ด้วยความไม่รู้ การพิจารณาในรายละเอียดโดยแยกแยะเช่นนี้ จะถูกต้องหรือไม่ ครับ
เมื่อผมพิจารณาในรายละเอียดเช่นนี้ จึงทำให้เข้าใจได้มากขึ้นถึงคำที่ท่านกล่าวว่า "ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง"
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 8 ครับ
ถูกต้องแล้ว ครับ แม้สภาพธรรมเกิดร่วมกัน แต่ก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ในการละกิเลสในแต่ละประเภท ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ ได้เข้าใจขันติเพิ่มขึ้นค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด กราบความดีในกุศลวิริยะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ