๑๑. จีวรสูตร ว่าด้วยภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ ๓๐ รูป ลาสิกขา
โดย บ้านธัมมะ  4 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36645

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 592

๑๑. จีวรสูตร

ว่าด้วยภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ ๓๐ รูป ลาสิกขา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 592

๑๑. จีวรสูตร

ว่าด้วยภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ ๓๐ รูป ลาสิกขา

[๕๑๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็โดยสมัยนี้แล ภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของท่านประมาณ ๓๐ รูป โดยมากยังเป็นเด็กหนุ่ม พากันลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นหีนเพศ .


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 593

[๕๑๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปตามชอบใจในทักขิณาคิรีชนบท แล้วกลับไปสู่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ไหว้พระมหากัสสปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวปราศรัยกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไรหนอ จึงทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้.

[๕๒๐] ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านกัสสปผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อ จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ คือเพื่อข่มคนหน้าด้าน เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นสุข และเพื่ออนุเคราะห์ตระกูลโดยเหตุที่พวกมีความปรารถนาลามก อาศัยสมัครพรรคพวกแล้วจะพึงทำสงฆ์ให้แตกกันไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อเหล่านี้แล จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้.

[๕๒๑] ก. อานนท์ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเที่ยวไปกับภิกษุเหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เพื่อประโยชน์อะไรเล่า เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อานนท์ผู้มีอายุ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ.

อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บนศีรษะของกระผม ผมหงอกแล้วมิใช่หรือ ถึงอย่างนั้น พวกกระผมก็ยังไม่พ้นจากท่านพระมหากัสสปว่าเป็นเด็ก.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 594

ก. ก็เป็นจริงอย่างนั้น อานนท์ผู้มีอายุ เธอยังไปเที่ยวกับภิกษุใหม่ๆ เหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อานนท์ผู้มีอายุ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ.

[๕๒๒] ภิกษุณีถุลลนันทาได้ยินแล้วคิดว่า ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ถูกพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็กไม่พอใจ จึงเปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจว่า อะไรเล่าพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสป ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ จึงสำคัญพระคุณเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ว่า ตนควรรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณีถุลลนันทากล่าววาจานี้แล้ว.

[๕๒๓] ครั้งนั้นแล ท่านมหากัสสปจึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ผู้มีอายุ ภิกษุณีถุลลนันทายังไม่ทันพิจารณา ก็กล่าววาจาพล่อยๆ เพราะเราเองปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่นึกเลยว่า เราบวชอุทิศศาสดาอื่น นอกจากพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ครั้งก่อน เมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์เคยคิดว่า ฆราวาสช่างคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวประดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ทางที่ดีเราควรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เราทำผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่า ปลงผมและหนวด


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 595

นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในโลก เมื่อบวชแล้วยังเดินไปสิ้นระยะทางไกล ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าระหว่างเมืองราชคฤห์กับบ้านนาลันทคาม กำลังประทับนั่งอยู่ ณ พหุปุตตเจดีย์ พอพบเข้าแล้วก็รำพึงอยู่ว่า เราพบพระศาสดา ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย เราพบพระสุคต ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย เราพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย ผู้มีอายุ เรานั้นจึงซบเศียรเกล้าลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้นเอง ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้.

[๕๒๔] เมื่อเรากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า ดูก่อนกัสสป ผู้ใดเล่ายังไม่ทราบชัดถึงสาวกผู้ประมวลมาด้วยจิตทั้งหมดอย่างนี้แล้ว จะพึงพูดว่ารู้ ยังไม่เห็นเลย จะพึงพูดว่าเห็นศีรษะของบุคคลนั้นพึงแตก ดูก่อนกัสสป แต่เรารู้อยู่ จึงพูดว่ารู้ เห็นอยู่ จึงพูดว่าเห็น เพราะเหตุนั้นแหละกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้นวกะ ผู้มัชฌิมะ... เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ใส่ใจถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด เงี่ยโสตสดับพระธรรม... เราจักไม่ละกายคตาสติที่สหรคตด้วยกุศลความสำราญ ดูก่อนกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ดูก่อนผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทเราด้วยพระโอวาท


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 596

นี้ เสด็จลุกจากอาสนะแล้วทรงหลีกไป ดูก่อนผู้มีอายุ เราเป็นหนี้บริโภคก้อนข้าวของราษฎรถึง ๑ สัปดาห์ วันที่ ๘ พระอรหัตตผลจึงปรากฏขึ้น คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกจากหนทางตรงไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เราจึงเอาผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าปูเป็น ๔ ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ดูก่อนอาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย ครั้นประทับนั่งแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราว่า กัสสป ผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของเธอผืนนี้อ่อนนุ่ม เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดอนุเคราะห์ทรงรับผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของพระองค์เถิด พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เธอจักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่หรือ เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.

[๕๒๕] ดูก่อนอาวุโส เราได้มอบถวายผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และได้รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดูก่อนอาวุโส ก็เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้ใดว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท จึงรับผ้าบังสกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ เขาเมื่อจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้นั้น คือเราว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้า


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 597

ป่านซึ่งยังใหม่.

[๕๒๖] ดูก่อนอาวุโส เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูก่อนอาวุโส เราหวัง ฯลฯ

[อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๕ มีเปยยาลอย่างนี้]

[๕๒๗] ดูก่อนอาวุโส เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้.

ก็แลภิกษุณีถุลลนันทาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว.

จบจีวรสูตรที่ ๑๑

อรรถกถาจีวรสูตรที่ ๑๑

พึงทราบวินิจฉัยในจีวรสูตรที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้.

บทว่า ทกฺขิณาคิริสฺมิํ ความว่า ชนบทภาคทักษิณของภูเขาเป็นเทือกล้อมกรุงราชคฤห์ชื่อว่า ทักขิณาคิริ.

อธิบายว่า เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบทนั้น. ชื่อว่าจาริกมี ๒ อย่าง คือ รีบไป ๑ ไม่รีบไป ๑.

ในบทเหล่านั้น ภิกษุบางรูปนุ่งผ้ากาสายะผืนหนึ่ง ห่มผื่นหนึ่งตลอดเวลา คล้องบาตรและจีวรที่บ่า ถือร่ม วันหนึ่งเดินไปได้ ๗ - ๘ โยชน์ มีเหงื่อไหลท่วมตัว. ก็หรือว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นสัตว์ พึงตรัสรู้ไรๆ ขณะเดียวเสด็จไปได้ร้อยโยชน์บ้าง พันโยชน์บ้าง. นี้ชื่อว่า รีบไป.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 598

ก็ทุกวันที่พระพุทธเจ้ารับนิมนต์เพื่อฉันในวันนี้. เสด็จไปทำการสงเคราะห์ชนมีประมาณเท่านี้ว่า คาวุตหนึ่ง กึ่งโยชน์ สามคาวุต หนึ่งโยชน์. นี้ชื่อว่า ไม่รีบไป ในที่นี้ประสงค์จาริกนี้.

พระเถระได้อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระทศพลตลอด ๒๕ ปี ดุจเงามิใช่หรือ. ท่านไม่ให้โอกาสแก่พระดำรัสเพื่อตรัสถามว่า อานนท์ ไปไหน. ท่านได้โอกาสเที่ยวจาริกไปกับภิกษุสงฆ์ ในกาลหนึ่ง. ในปีพระศาสดาปรินิพพาน. ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ผู้ประชุมพร้อมกันในการปรินิพพานของพระศาสดา เลือกภิกษุ ๕๐๐ รูปเพื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย กล่าวว่า ก็ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายจักอยู่จำพรรษาในกรุงราชคฤห์สังคายนาพระธรรมวินัย ท่านทั้งหลายก่อนเข้าพรรษา จงตัดปลิโพธส่วนตัวเสีย แล้วประชุมพร้อมกันในกรุงราชคฤห์เถิด ก็ไปยังกรุงราชคฤห์ด้วยตนเอง.

พระอานนทเถระถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าปลอบมหาชน ไปยังกรุงสาวัตถี ออกจากกรุงสาวัตถีนั้น ไปยังกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท. นี้ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น.

บทว่า เยภุยฺเยน กุมารภูตา ความว่า ภิกษุเหล่านั้นใด ชื่อว่าเวียนมาเพื่อความเป็นหีนเพศ. ภิกษุเหล่านั้นโดยมากเป็นเด็กหนุ่มยังอ่อน คือเป็นภิกษุพรรษาเดียว ๒ พรรษา และเป็นสามเณร.

ถามว่า ก็เพราะเหตุอะไร เด็กเหล่านั้นจึงบวช.

เพราะเหตุอะไร จึงเวียนมาเพื่อความเป็นหีนเพศ ดังนี้.

ตอบว่า ได้ยินว่า มารดาบิดาของเด็กนั้นคิดว่า พระอานนทเถระเป็นผู้คุ้นเคยกับพระศาสดา ทูลขอพร ๘ อย่างแล้วจึงอุปัฏฐาก


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 599

ทั้งสามารถเพื่อจะพาเอาพระศาสดาไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาและตนปรารถนาได้. เราทั้งหลายจึงให้พวกเด็กของพวกเราบวชในสำนักของพระอานนท์นั้น. พระอานนท์ก็จักพาพระศาสดามา. เมื่อพระศาสดามาแล้ว เราทั้งหลายจักได้ทำสักการะเป็นอันมาก ดังนี้. พวกญาติของเด็กเหล่านั้น จึงให้เด็กเหล่านั้นบวชด้วยเหตุนี้ก่อน. แต่เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน ความปรารถนาของคนเหล่านั้นก็หมดไป. เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงให้เด็กเหล่านั้นสึกแล้วโดยวันเดียวเท่านั้น.

บทว่า ยถาภิรนฺตํ ได้แก่ ตามชอบใจ คือตามอัธยาศัย.

บทนี้ว่า ติกโภชนํ ปญฺตฺตํ ท่านกล่าวถึงบทนี้ว่า เป็นปาจิตตีย์ในเพราะคณโภชน์ เว้นไว้แต่สมัยดังนี้.

ก็ภิกษุ ๓ รูปพอใจแม้รับนิมนต์เป็นอกัปปิยะร่วมกัน เป็นอนาบัติในเพราะคณโภชน์นั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ติกโภชนํ ดังนี้.

บทว่า ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย ได้แก่ เพื่อข่มคนทุศีล.

บทว่า เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย ความว่า อุโบสถและปวารณา ย่อมเป็นไปเพื่อภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ด้วยการข่มคนหน้าด้านนั้นเอง. การอยู่พร้อมเพรียงกันย่อมมี. นี้เป็นผาสุวิหารของเปสลภิกษุเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุขนี้.

บทว่า มา ปาปิจฺฉา ปกฺขํ นิสฺสาย สงฺฆํ ภินฺเทยฺยุํ ความว่า เทวทัตออกปากขอในตระกูลด้วยตนเอง บริโภคอยู่ อาศัยภิกษุปรารถนาลามก ทำลายสงฆ์ ฉันใด ผู้ปรารถนาลามกเหล่าอื่น ออกปากขอในตระกูล โดยเป็นคณบริโภคอยู่ ให้คณะเจริญแล้ว อาศัยพรรคพวกนั้น พึงทำลายสงฆ์ได้ ฉันนั้น ดังนี้ จึงทรงบัญญัติไว้ด้วยเหตุนี้แล.


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 600

บทว่า กุลานุทยตาย จ ความว่า เมื่อภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถและปวารณาอยู่พร้อมเพรียงกัน พวกมนุษย์ถวายสลากภัตเป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า. อธิบายว่า และทรงบัญญัติไว้เพื่ออนุเคราะห์ตระกูลนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า สสฺสฆาตํ มญฺเ จรสิ ได้แก่ เธอเที่ยวไปเหมือนเหยียบย่ำข้าวกล้า.

บทว่า กุลปฺปฆาตํ มญฺเ จรสิ ได้แก่ เธอเที่ยวไปเหมือนทำลายเบียดเบียนตระกูล.

บทว่า โอลุชฺชติ ได้แก่ หลุดหาย คือ กระจายไป.

บทว่า ปลุชฺชนฺติ โข เต อาวุโส นวปฺปายา ความว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุเหล่านั้น โดยมาก คือส่วนมากของท่านเป็นผู้ใหม่ เป็นหนุ่มมีพรรษาเดียว หรือ ๒ พรรษา และเป็นสามเณร หลุดหาย คือกระจายไป.

บทว่า น วายํ กุมารโก มตฺตมญฺาสิ พระเถระเมื่อกล่าวขู่พระเถระว่า เด็กนี้ไม่รู้จักประมาณตน.

บทว่า กุมารกวาทา น มุจฺจาม ความว่า พวกเรายังไม่พ้นวาทะว่าเป็นเด็ก.

บทว่า ตถา หิ ปน ตฺวํ นี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงเหตุ เพราะพระอานนท์นี้พึงถูกพระเถระกล่าวอย่างนี้.

ในข้อนี้ มีความประสงค์ดังนี้ว่า เพราะท่านเที่ยวไปกับพวกภิกษุใหม่เหล่านี้ ไม่สำรวมอินทรีย์. ฉะนั้น ท่านเที่ยวไปกับพวกเด็กจึงควรถูกเขากล่าวว่าเป็นเด็ก.

บทว่า อญฺติตฺถิยปุพฺโพ สมาโน นี้ เพราะอาจารย์ อุปัชฌาย์ของพระเถระไม่ปรากฏในศาสนานี้เลย. ตนถือเอาผ้ากาสายะแล้ว ออกบวช. ฉะนั้น ภิกษุณีถุลลนันทา กล่าวบอกถึงพระมหากัสสปเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เพราะความไม่พอใจ.

ในบทว่า สหสา นี้ แม้ผู้ประพฤติด้วยราคะและโมหะ คือ ไม่ทันตรึก. แต่บทนี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจความประพฤติด้วยโทสะ.

บทว่า อปฺปฏิสงฺขา คือ ยังไม่ทัน


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 601

พิจารณา.

บัดนี้ พระมหากัสสปเถระ เมื่อยังบรรพชาของตนให้บริสุทธิ์ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ยโตหํ อาวุโส ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อญฺํ สตฺถารํ อุทฺทิสิตุํ ความว่า เราไม่นึก เพื่ออุทิศอย่างนี้ว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้า คนอื่นเป็นครูของเรา.

ในบทเป็นต้นว่า สมฺพาโธ ฆราวาโส ความว่า แม้หากว่า ผัวและเมียทั้งสอง ย่อมอยู่ในเรือน กว้าง ๖๐ ศอก หรือแม้ภายในระหว่างร้อยโยชน์ การอยู่ครองเรือนผัวเมียเหล่านั้น ชื่อว่าคับแคบอยู่นั่นเอง เพราะอรรถว่า มีกิเลสเครื่องกังวล คือ ห่วงใย.

บทว่า รชาปโถ ท่านกล่าวในมหาอรรถกถาว่า เป็นสถานที่เกิดแห่งธุลี มีราคะเป็นต้น. จะกล่าวว่า เป็นทางแห่งการมา ดังนี้ก็ได้.

ชื่อว่าอัพโภกาส เพราะอรรถว่า ไม่ข้อง เหมือนปลอดโปร่ง เพราะบรรพชิตอยู่ในที่ปกปิด ในที่มีกูฏาคารรัตนปราสาทและเทพวิมานเป็นต้น ซึ่งมีประตูและหน้าต่างปิดแล้ว ย่อมไม่ขัด ไม่ข้อง ไม่ติด. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บรรพชาเป็นช่องว่าง.

อนึ่ง ฆราวาส ชื่อว่าคับแคบ เพราะไม่เป็นโอกาสแห่งกุศลกิริยา ชื่อว่าเป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่ประชุมแห่งกิเลสเพียงดังธุลี เหมือนกองหยากเยื่ออันเขาไม่ปิดไว้.

บรรพชา ชื่อว่าเป็นช่องว่าง เพราะเป็นโอกาสแห่งกุศลกิริยาความสบาย.

ในบทว่า นยิทํ สุกรํ ฯเปฯ ปพฺพเชยฺยํ นี้ มีสังเขปกถาดังนี้.

คนพึงกระทำสิกขา ๓ ประพฤติพรหมจรรย์ไม่ให้ขาดแม้วันเดียว แล้วชื่อว่าประพฤติให้สมบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะเหตุให้บรรลุจริมกจิต. กระทำไม่ให้มีมลทิน ด้วยมลทินคือกิเลส แม้วันเดียว ชื่อว่าบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เพราะเหตุให้บรรลุจริมกจิต.

บทว่า สงฺขลิขิตํ ได้แก่


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 602

เช่นสังข์ขัด คือ พึงประพฤติมีส่วนเปรียบด้วยสังข์ที่ชำระแล้ว.

บทว่า อิทํ น สุกรํ อคารํ อชฺฌาวสตา ความว่า ผู้อยู่ในท่ามกลางเรือน ประพฤติ ฯลฯ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว.

ไฉนหนอ เราปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ เพราะซึมซาบด้วยรสที่ย้อมด้วยน้ำฝาด คือผ้าที่สมควรแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ออกจากเรือนพึงบวชไม่มีเรือน. เพราะในข้อนี้ กรรมมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น อันเกื้อกูลเรือน เรียกว่า การมีเรือน. เรือนนั้นไม่มีในบรรพชา. ฉะนั้น บรรพชาพึงรู้ว่า การไม่มีเรือน. ซึ่งอนาคาริยะการไม่มีเรือนนั้น.

บทว่า ปพฺพเชยฺยํ คือ พึงปฏิบัติ.

บทว่า ปฏปิโลติกานํ คือ ผ้าเก่า.

ผ้าใหม่แม้ ๑๓ ศอก ท่านเรียกว่า ผ้าเก่า จำเดิมแต่เวลาตัดชาย. ท่านหมายถึงสังฆาฏิที่ท่านตัดผ้าที่มีราคามาก กล่าวว่า สังฆาฏิแห่งผ้าเก่า ดังนี้.

บทว่า อทฺธานมคฺคํ ปฏิปนฺโน ได้แก่ ก็ทางตั้งแต่กึ่งโยชน์ เรียกว่า ไกล. อธิบายว่า เดินทางไกลนั้น.

บัดนี้ พึงกล่าวอนุปุพพิกถาจำเดิมแต่อภินิหาร เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งเนื้อความนี้ เหมือนบรรพชิตนั้น และผู้เดินทางไกล ดังต่อไปนี้.

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลในที่สุดแสนกัป พระศาสดาพระนามว่าพระปทุมุตตระได้อุบัติขึ้น. เมื่อพระปทุมุตตระเสด็จเข้าไปอาศัยหังสวดีนคร ประทับอยู่ ณ เขมมฤคทายวัน กุฎุมพีชื่อว่า เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ บริโภคอาหารอย่างดี แต่เช้าตรู่ อธิษฐานองค์อุโบสถ ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังพระวิหาร บูชาพระศาสดา ถวายนมัสการแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

ขณะนั้น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกรูปที่ ๓ ชื่อ มหานิสภัตเถระ


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 603

ไว้ในฐานะเป็นเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา เป็นผู้กล่าวสอนธุดงค์ นิสภะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุเหล่านั้น. อุบาสกได้ฟังดังนั้นเลื่อมใส ในที่สุดธรรมกถา เมื่อมหาชนลุกขึ้นกลับไป จึงถวายนมัสการพระศาสดากราบทูลว่า วันพรุ่งนี้ ขอพระองค์ทรงรับภิกษาของข้าพระองค์เถิด. พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มีจำนวนมากนะ. อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า มี ๖ ล้าน ๘ แสนรูป. อุบาสกทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงให้ภิกษุไม่ให้เหลือไว้ในวิหารแม้สามเณรองค์เดียว รับนิมนต์เถิดพระเจ้าข้า. พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว.

อุบาสกทราบว่า พระศาสดารับนิมนต์แล้ว จึงไปเรือนเตรียมมหาทาน วันรุ่งขึ้นให้คนไปกราบทูลถึงเวลาแด่พระศาสดา. พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร แวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จไปเรือนของอุบาสก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้เสร็จแล้ว ในที่สุดแห่งทักษิโณทก ทรงรับข้าวยาคูเป็นต้น ทรงแจกจ่ายภัต. แม้อุบาสกก็นั่งใกล้พระศาสดา.

ในลำดับนั้น ท่านมหานิสภัตเถระเที่ยวไปบิณฑบาตถึงถนนนั้น. อุบาสกครั้นเห็นแล้ว จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้ว กล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงให้บาตรเถิด. พระเถระได้ให้บาตรแล้ว. อุบาสกกล่าวว่า นิมนต์พระคุณเจ้าเข้าไปในเรือนนี้เถิด. แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งในเรือน. พระเถระกล่าวว่า ไม่สมควรดอกอุบาสก. อุบาสกรับบาตรของพระเถระแล้วใส่บิณฑบาตจนเต็มนำไปถวาย. จากนั้นอุบาสกไปส่งพระเถระแล้ว กลับไปนั่งในสำนักของพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 604

พระองค์ผู้เจริญ ท่านมหานิสภัตเถระแม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับนั่งในเรือน ก็ไม่ปรารถนาจะเข้าไป. พระศาสดาตรัสว่า มหานิสภัตเถระนั้น มีคุณยิ่งกว่าคุณของพวกท่าน. ก็ความตระหนี่ คำสรรเสริญ ย่อมไม่มีแก่พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย. ครั้นแล้วพระศาสดาจึงตรัสอย่างนี้ว่า อุบาสก เรานั่งรอภิกษาในเรือน. ภิกษุนั้นนั่งอย่างนี้ไม่แลดูซึ่งภิกษา. เราอยู่ในเสนาสนะท้ายบ้าน. ภิกษุนั้นอยู่ในป่า. เราอยู่ในที่มุงบัง. ภิกษุนั้นอยู่ในที่แจ้ง. พระศาสดาตรัสดุจยังมหาสมุทรให้เต็มว่า นี้แหละ นี้แหละ คุณของภิกษุนั้น ด้วยประการฉะนี้.

อุบาสกเลื่อมใสยิ่งขึ้น เหมือนประทีปอันสว่างอยู่แม้ตามปกติราดน้ำมันเข้าไปฉะนั้น คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยสมบัติอื่นแก่เรา. เราจักกระทำความปรารถนาเพื่อความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนธุดงค์ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต. เขานิมนต์พระศาสดาอีกครั้ง ถวายทานตลอด ๗ วัน โดยทำนองนี้ ในวันที่ ๗ ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสนรูป แล้วหมอบลงแทบบาทมูลของพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ข้าพระองค์ถวายตลอด ๗ วัน เป็นทานที่ประกอบด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาเทพสมบัติ หรือสักกสมบัติ มารสมบัติ และพรหมสมบัติอย่างอื่น ด้วยทานนี้. แต่กรรมของข้าพระองค์นี้ ขอจงเป็นสัมฤทธิผลทุกประการแห่งความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เพื่อถึงฐานันดรที่ท่านมหานิสภัตเถระถึงแล้ว ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตเถิด.

พระศาสดาทรงตรวจดูว่า ฐานะอันใหญ่ที่อุบาสกนี้ปรารถนาจัก


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 605

สำเร็จหรือไม่หนอ ทรงเห็นความสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า ฐานะที่ท่านปรารถนาสมใจแล้ว. ในที่สุดแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะจักอุบัติขึ้น. ท่านจักเป็นสาวกรูปที่ ๓ ของพระโคดมพระองค์นั้น จักชื่อว่า มหากัสสปเถระ.

อุบาสกได้ฟังดังนั้น ดำริว่า ชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีพระดำรัสเป็นสอง ได้สำคัญสมบัตินั้นเหมือนถึงในวันรุ่งขึ้น. เขารักษาศีลตลอดอายุ ครั้นทำกาลกิริยา ณ ที่นั้น แล้วได้บังเกิดบนสวรรค์. จำเดิมแต่นั้น เขาเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุสสโลก เมื่อพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าอาศัยเมืองพันธุมดีประทับอยู่ ณ เขมมฤคทายวัน ในกัปที่ ๙๑ จากกัปนี้ (เขา) จุติจากเทวโลก บังเกิดในตระกูลพราหมณ์แก่ตระกูลหนึ่ง. ก็ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงแสดงธรรมทุกๆ ๗ ปี. ปรากฏความตื่นเต้นกันยกใหญ่ ทวยเทพในสกลชมพูทวีปต่างบอกข่าวกันต่อๆ ไปว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม.

พราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้ว. แต่เขามีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งอยู่ผืนเดียว. ของพราหมณีก็เหมือนกัน. ทั้งสองคนมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น. ปรากฏไปทั่วเมืองว่า พราหมณ์เอกสาฎก. เมื่อมีการประชุมกันด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่งของพวกพราหมณ์ เขาไปด้วยตนเอง ให้นางพราหมณีอยู่ที่เรือน. เมื่อมีการประชุมนางพราหมณี เขาอยู่เรือนเอง. นางพราหมณีห่มผ้าผืนนั้นไป. ก็ในวันนั้นพราหมณ์กล่าวกะนางพราหมณีว่า แม่มหาจำเริญ แม่จักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน. นางพราหมณีพูดว่า ฉันเป็นมาตุคาม ไม่อาจจะฟังธรรมในเวลากลางคืนได้. ฉันจักฟังธรรมในเวลากลางวัน จึงให้พราหมณ์อยู่ที่เรือน ห่มผ้าผืนนั้นไปกับพวกอุบาสิกา


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 606

ในเวลากลางวัน ถวายบังคมพระศาสดานั่งฟังธรรมอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกลับไปกับพวกอุบาสิกา. ครั้งนั้นพราหมณ์ให้นางพราหมณีอยู่เรือน ห่อผ้านั้นไปวิหาร.

ก็สมัยนั้น พระศาสดาประทับนั่ง ณ ธรรมาสน์ที่ตกแต่งแล้ว ในท่ามกลางบริษัท ทรงจับพัดวีชนีอันวิจิตรตรัสธรรมกถา ดุจยังผู้วิเศษให้หยั่งลงสู่อากาศคงคา ดุจทำยอดภูเขาสิเนรุให้ถล่มลงสู่สาคร. เมื่อพราหมณ์นั่งอยู่สุดแถว ฟังธรรมอยู่ในยามต้นนั้นเอง ปีติมีวรรณะ ๕ เกิดซ่านไปทั่วตัว. เขาพับผ้าห่ม คิดว่า เราจักถวายแด่พระทศพล. ลำดับนั้น เขาเกิดจิตตระหนี่ ชี้ถึงโทษพันดวง. ผ้าของนางพราหมณีและของท่านมีผืนเดียวเท่านั้น. ไม่มีผ้าห่มไรๆ อื่นอีก. ครั้นไม่ห่มแล้ว ก็จะไม่อาจออกไปข้างนอกได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ประสงค์จะถวายแม้ด้วยประการทั้งปวง. ครั้นปฐมยามล่วงไป แม้ในมัชฌิมยาม เขาก็เกิดปีติอย่างนั้นอีก. ก็ครั้นคิดเหมือนอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ประสงค์จะถวายเหมือนอย่างนั้นอีก. เมื่อมัชฌิมยามล่วงไป แม้ในปัจฉิมยาม เขาก็เกิดปีติอย่างนั้นอีก. เขาคิดว่า ตายหรือไม่ตายก็ช่างเถิด. เราจักรู้ในภายหลัง จึงพับผ้าห่มวางไว้ ณ บาทมูลของพระศาสดา แต่นั้น เขาคู้มือซ้าย ปรบด้วยมือขวา เปล่งเสียงว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้วถึง ๓ ครั้ง.

สมัยนั้น พระเจ้าพันธุมหาราช ประทับนั่งทรงสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์. ก็ธรรมดาพระราชาย่อมไม่พอพระทัยเสียงว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว ดังนี้. พระองค์ทรงส่งบุรุษไป มีพระดำรัสว่า เจ้าจงไปถามพราหมณ์ผู้นั้นว่า ท่านพูดอะไร. บุรุษนั้นไปถามว่า ท่านพูดอะไร. ครั้นบุรุษนั้นไปถามแล้ว พราหมณ์พูดว่า พวกชนที่เหลือขึ้น


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 607

ยานช้างเป็นต้น แล้วชนะข้าศึก ข้อนั้นไม่อัศจรรย์เลย. ก็เราสละจิตตระหนี่ได้ถวายผ้าห่มแด่พระทศพล ดุจเอาสากทุบหัวโคโกง ซึ่งเดินมาข้างหลัง แล้วให้มันหนีไปฉะนั้น. พราหมณ์กล่าวว่า เราชนะความตระหนี่นั้น. ราชบุรุษกลับมากราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา ตรัสว่า พนาย เราไม่รู้สิ่งสมควรของพระทศพล พราหมณ์เป็นผู้รู้ จึงทรงส่งผ้าไปคู่หนึ่ง. พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นจึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ไม่พระราชทานอะไรๆ แก่เราผู้นั่งนิ่งก่อน เมื่อเรากล่าวถึงคุณของพระศาสดาแล้ว จึงพระราชทาน. ประโยชน์อะไรของเราด้วยผ้าที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยคุณของพระศาสดา จึงได้ถวายผ้าคู่นั้น แด่พระทศพลอีก. พระราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอะไร สดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าคู่นั้นแด่พระตถาคตเช่นเคย จึงทรงส่งผ้า ๒ คู่อื่นไปให้. พราหมณ์ก็ได้ถวายผ้า ๒ คู่นั้นอีก. พระราชาทรงส่งผ้าไปอีก ๔ คู่ จนถึง ๓๒ คู่.

ครั้งนั้น พราหมณ์คิดว่า คู่ผ้านี้ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงถือเอาเพียง ๒ คู่ คือเพื่อตนคู่หนึ่ง เพื่อนางพราหมณ์คู่หนึ่ง ได้ถวายแด่พระตถาคต ๓๐ คู่ ตั้งแต่นั้นมา พราหมณ์นั้นได้คุ้นเคยกับพระศาสดา. วันหนึ่งในฤดูหนาว พระราชาทรงเห็นพราหมณ์นั้นฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา จึงพระราชทานผ้ารัตตกัมพลที่คลุมพระองค์มีค่าแสนหนึ่ง แล้วตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้าผืนนี้ ฟังธรรม. เขาคิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยผ้ากัมพลผืนนี้ที่จะนำเขาไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงกระทำให้เป็นเพดานเบื้องบนเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี แล้วจึงไป.

วันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในสำนัก


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 608

ของพระศาสดา ภายในพระคันธกุฎี. สมัยนั้น พระพุทธรัศมีมีสี ๖ ประการกระทบผ้ากัมพล. ผ้ากัมพลรุ่งเรืองยิ่งนัก. พระราชาทรงมองไปเบื้องบนทรงจำได้ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ให้แก่พราหมณ์เอกสาฎก. พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร พระองค์บูชาพราหมณ์แล้ว พราหมณ์บูชาอาตมาแล้ว. พระราชาดำริว่า พราหมณ์ได้รู้สิ่งที่ควร เราไม่รู้. ทรงเลื่อมใสแล้ว ทรงกระทำสิ่งที่เกื้อกูลมนุษย์ทั้งหมด ให้เป็นอย่างละ ๘ๆ พระราชทานอย่างละ ๘ ทั้งหมด แล้วทรงแต่งตั้งพราหมณ์ในตำแหน่งปุโรหิต. ชื่อว่าทานอย่างละ ๘ๆ รวมเป็น ๖๔. เขาน้อมนำสลากภัตร ๖๔ รักษาศีล จุติจากนั้นไปบังเกิดบนสวรรค์. ครั้นจุติจากนั้นอีก ได้บังเกิดในเรือนกุฎุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า โกนาคมนะ และพระทศพลพระนามว่า กัสสปะ ในกัปนี้. เขาอาศัยความเจริญอยู่ครองเรือน วันหนึ่งเที่ยวไปยังชังฆติกวิหาร ในป่า.

ก็สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า กระทำจีวรกรรมอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำ เมื่ออนุวาต (ขอบจีวร) ไม่พอ จึงปรารภเพื่อจะพับเก็บ. เขาเห็น จึงถามว่า เพราะเหตุไรพระคุณเจ้าจึงพับเก็บเจ้าข้า. พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า อนุวาต ไม่พอ. เขากล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงทำด้วยผ้าผืนนี้เถิด. แล้วถวายผ้าสาฎกตั้งความปรารถนาว่า ขอเราจงอย่ามีความเสื่อมไรๆ ในที่ที่เราไปเกิดเถิด. แม้ที่เรือนเมื่อน้องสาวของเขาทะเลาะกันอยู่กับภรรยา พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาต. ลำดับนั้น น้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่า เราพึงเว้น


ความคิดเห็น 18    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 609

คนพาลเห็นปานนี้ไป ๑๐๐ โยชน์ นางกล่าวอย่างนี้ หมายถึงภรรยาของพราหมณ์นั้น. ภรรยายืนอยู่ที่ประตูเรือน ครั้นได้ยินจึงคิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าอย่าฉันภัตรที่หญิงนี้ถวายเลย จึงรับบาตรมาแล้วทิ้งบิณฑบาตเสีย เอาเปือกตมใส่จนเต็มถวาย. น้องสาวเห็นจึงพูดว่า หญิงพาล เจ้าจงด่าหรือทุบตีเราก็พอ แต่เจ้าไม่ควรทิ้งภัตรจากบาตรของท่านผู้บำเพ็ญบารมีมาตลอด ๒ อสงไขย แล้วถวายเปือกตม.

ทีนั้น ภรรยาของเขาจึงได้เกิดความคิด. นางกล่าวว่า หยุดเถิดเจ้าข้า แล้วทิ้งเปือกตม ล้างบาตร ขัดด้วยผงหอม แล้วใส่อาหารมีรสอร่อย ๔ ชนิดจนเต็มบาตร วางบาตรซึ่งแพรวพราวด้วยสัปปิมีสีดุจกลีบบัวที่โปรยไว้เบื้องบน บนมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอร่างกายของเราจงมีแสงเหมือนบิณฑบาตนี้อันมีแสงเถิด. พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะไปสู่อากาศ. ภรรยาสามีบำเพ็ญกุศลตราบสิ้นอายุ ได้บังเกิดบนสวรรค์ ครั้นจุติจากสวรรค์ อุบาสกได้บังเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในกรุงพาราณสี. ส่วนภรรยาได้บังเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเช่นเดียวกัน. มารดาบิดาได้นำธิดาเศรษฐีนั้นแล มาให้แก่บุตรเศรษฐีผู้เจริญวัย. เพียงเมื่อเศรษฐีธิดาเข้าไปสู่ตระกูลสามีด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันเป็นผลที่นางไม่ถวายทานมาก่อน สกลกายก็เกิดกลิ่นเหม็นดุจส้วมที่เขาเปิดไว้ภายในธรณีประตู. เศรษฐีกุมารถามว่า นี้กลิ่นของใคร ครั้นได้ฟังแล้ว เป็นกลิ่นของเศรษฐีธิดา จึงตะโกนขึ้นว่า จงนำออกไป จงนำออกไป แล้วส่งกลับไปยังเรือนตระกูลโดยทำนองเดียวกับที่นำมา. เศรษฐีธิดาถูกส่งกลับไปในฐานะ ๗ โดยทำนองนี้แล คิดว่าเรากลับไปถึง ๗ ครั้งแล้ว เราจะอยู่ไปทำไม จึง


ความคิดเห็น 19    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 610

ยุบเครื่องอาภรณ์ของตนให้ทำอิฐทองคำ ยาว ๑ ศอก กว้าง ๑ คืบ สูง ๔ นิ้ว. จากนั้น นางถือก้อนหรดาลและมโนศิลาแล้ว ถือดอกบัว ๘ กำ ไปสู่ที่สร้างเจดีย์ของพระกัสสปทศพล.

ก็ในขณะนั้น เมื่อนางมาถึง ก้อนอิฐได้ตกลงมา. เศรษฐีธิดาจึงบอกกะช่างว่า ท่านจงวางอิฐก้อนนี้ไว้ตรงนี้. ช่างกล่าวว่า แม่มหาจำเริญ แม่มาในเวลา แม่วางเองเถิด. นางขึ้นไปเอาน้ำมันผสมหรดาลและมโนศิลา ก่ออิฐให้แน่นด้วยหรดาลและมโนศิลาที่ผสมน้ำมันนั้น ทำการบูชาด้วยดอกบัว ๘ กำเบื้องบน แล้วไหว้ทำความปรารถนาว่า ขอกลิ่นจันทน์จงฟุ้งออกจากปากในที่เกิดเถิด แล้วไหว้พระเจดีย์ กระทำประทักษิณกลับไป.

ในขณะนั้น เศรษฐีบุตรระลึกถึงเศรษฐีธิดาที่นำไปสู่เรือนครั้งแรก. แม้ในเมืองก็มีการป่าวร้องเล่นนักษัตร. เศรษฐีถามคนรับใช้ว่า เศรษฐีธิดาที่นำไปคราวนั้น นางอยู่ที่ไหน. คนรับใช้ตอบว่า อยู่ที่เรือนตระกูลจ้ะนาย. เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกเจ้าจงนำมา เราจักเล่นนักษัตรนั้น. พวกรับใช้พากันไปยืนไหว้เศรษฐีธิดา ครั้นเศรษฐีธิดาถามว่า พวกท่านมาทำไม จึงบอกเรื่องราวให้นางฟัง. เศรษฐีธิดากล่าวว่า พ่อคุณเราเอาเครื่องอาภรณ์บูชาเจดีย์หมดแล้ว เราไม่มีอาภรณ์. คนรับใช้พากันไปบอกแก่เศรษฐีบุตร เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกท่านจงนำนางมาเถิด. เราจักให้เครื่องประดับ. คนรับใช้นำนางมาแล้ว. พร้อมกับที่นางเข้าไปสู่เรือน กลิ่นจันทน์และกลิ่นดอกบัวขาบฟุ้งไปตลอดเรือน. เศรษฐีบุตรถามเศรษฐีธิดาว่า ครั้งแรกกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากร่างกายของเจ้า. แต่เดี๋ยวนี้กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากร่างกาย กลิ่นดอกบัวฟุ้งออกจากปากของ


ความคิดเห็น 20    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 611

เจ้า. มันเรื่องอะไรกัน. นางได้บอกกรรมที่นางทำตั้งแต่ต้น. เศรษฐีบุตรเลื่อมใสว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นคำสอนที่นำออกจากทุกข์หนอ จึงเอาเสื้อกัมพลคลุมเจดีย์ทอง ประกอบด้วยดอกประทุมทอง ประมาณเท่าล้อรถ ณ ที่นั้น ห้อยย้อยลงมาประมาณ ๑๒ - ๑๓ ศอก.

เศรษฐีบุตรนั้น ดำรงอยู่ ณ ที่นั้นตราบเท่าอายุแล้ว ไปบังเกิดบนสวรรค์ จุติจากนั้นไปบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ จากกรุงพาราณสี. เศรษฐีธิดาจุติจากเทวโลกไปบังเกิดเป็นราชธิดาในราชตระกูล. เมื่อทั้งสองเจริญวัย ใกล้บ้านที่กุมารอยู่ได้มีการป่าวร้องเล่นนักษัตร. กุมารพูดกะมารดาว่า แม่จ๋า แม่ให้ผ้าสาฎกแก่ฉันเถิด. ฉันจักเล่นนักษัตร. มารดานำผ้าที่ซักแล้วมาให้. กุมารได้ปฏิเสธผ้าผืนนั้น. มารดานำผ้าผืนอื่นมาให้อีก. กุมารปฏิเสธผ้าผืนนั้นอีก.

ลำดับนั้น มารดาพูดกะกุมารนั้นว่า ลูกเอ๋ย เราเกิดในเรือนเช่นใด เราไม่มีบุญเพื่อจะได้ผ้าเนื้อละเอียดกว่านั้น. กุมารกล่าวว่า แม่จ๋า ลูกจะไปที่ที่หาได้. มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย แม่ปรารถนาจะให้ลูกได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีในวันนี้ทีเดียว. กุมารนั้นไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า แม่จ๋า ลูกจะไปละ. มารดากล่าวว่า ไปเถิดลูก. นัยว่า มารดาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า กุมารจักไป ณ ที่ไหน จักนอนในที่นี่หรือในเรือนนี้. ก็กุมารนั้นออกไปโดยกำหนดของบุญไปถึงกรุงพาราณสี นอนคลุมศีรษะบนแผ่นมงคลศิลา ณ พระอุทยาน. อนึ่ง เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีสวรรคต วันนั้นเป็นวันที่ ๗. พวกอำมาตย์ ครั้นถวายพระเพลิงพระศพของพระราชาแล้ว จึงนั่งปรึกษากัน ณ พระลานหลวงว่า พระราชามีพระธิดาองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระโอรส ราชสมบัติที่ไม่มีพระราชาจะดำรงอยู่ไม่ได้ ใครจะเป็น


ความคิดเห็น 21    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 612

พระราชา เพราะฉะนั้น ขอท่านจงปรึกษากันดูเถิด. ปุโรหิตกล่าวว่า ไม่ควรดูให้มากไป. เราจะปล่อยบุษยราชรถ. พวกอำมาตย์เทียมม้าสินธพ ๔ ตัวมีสีขาว ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง และเศวตฉัตรไว้บนรถ แล้วปล่อยรถไปให้ประโคมดนตรีตามไปข้างหลัง. ราชรถออกทางประตูด้านปราจีนบ่ายหน้าไปพระราชอุทยาน. ราชรถบ่ายหน้าไปพระราชอุทยานด้วยบุญบารมี. พวกอำมาตย์บางคนบอกว่า พวกเรากลับเถิด. ปุโรหิตบอกว่า พวกท่านอย่ากลับ. ราชรถกระทำประทักษิณกุมารแล้วก็หยุด เป็นการเตรียมให้กุมารขึ้น. ปุโรหิตดึงชายผ้าห่มออก มองดูฝ่าเท้า กล่าวว่า ทวีปนี้ยกไว้ก่อน กุมารนี้ควรครองราชสมบัติในทวีปทั้ง ๔ มีทวีป ๒,๐๐๐ เป็นบริวารแล้วให้ประโคมดนตรี ๓ ครั้งว่า พวกท่านจงประโคมอีก พวกท่านจงประโคมอีก.

ลำดับนั้น กุมารเปิดหน้ามองดู แล้วถามว่า พ่อเจ้าพระคุณทั้งหลาย พวกท่านมาทำอะไรกัน. ตอบว่า ท่านผู้ประเสริฐ ราชสมบัติจะถึงแก่ท่าน. ถามว่า พระราชาไปไหนเสียเล่า. ตอบว่า สวรรคตเสียแล้วนาย. ถามว่า กี่วันแล้ว. ตอบว่า ๗ วันเข้าวันนี้. ถามว่า พระโอรสหรือพระธิดาไม่มีหรือ. ตอบว่า มีแต่พระธิดา ท่านผู้ประเสริฐ ไม่มีพระโอรส. รับว่า เราจักครองราชสมบัติ.

พวกอำมาตย์สร้างมณฑปสำหรับอภิเษกก่อน ประดับพระราชธิดาด้วยเครื่องประดับทุกชนิด แล้วนำมายังพระราชอุทยาน ได้กระทำอภิเษกพระกุมาร. ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้นำผ้าราคาแสนหนึ่งน้อมถวายแด่พระกุมารผู้ได้ทำอภิเษกแล้ว. พระกุมารตรัสถามว่า นี่อะไรพ่อคุณ. ทูลว่า ผ้านุ่ง พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า เป็นผ้าเนื้อหยาบมิใช่หรือ. ทูลว่า


ความคิดเห็น 22    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 613

บรรดาผ้าที่พวกมนุษย์ใช้สอยกันอยู่ ไม่มีผ้าที่มีเนื้อละเอียดกว่านี้ พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านนุ่งผ้าอย่างนี้หรือ. ทูลว่า ใช่แล้ว พระเจ้าข้า. ตรัสว่า พระราชาของท่านคงจะไม่มีบุญ. พวกอำมาตย์นำพระเต้าทองมาถวาย. พระกุมารเสด็จลุกขึ้นชำระพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้ว ทรงอมน้ำพ่นไปทางทิศตะวันออก. ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ทำลายแผ่นดินอันหนาผุดขึ้น. พระกุมารทรงอมน้ำพ่นไปทางทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนืออีก เพราะเหตุนั้น ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นแล้วทั้ง ๔ ทิศอย่างนี้. ในทุกทิศต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้น ทิศละ ๘ ต้น จึงรวมเป็น ๓๒ ต้น.

พระกุมารทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ตรัสว่า พวกท่านจงเที่ยวตีกลองประกาศในแคว้นของพระเจ้านันทะว่า พวกหญิงปั่นด้าย อย่าปั่นด้าย แล้วให้ยกฉัตร ทรงช้างตัวประเสริฐ ที่ประดับตกแต่งแล้ว เสด็จเข้าสู่พระนคร ทรงขึ้นสู่ปราสาทเสวยมหาสมบัติ.

เมื่อกาลผ่านไปด้วยประการฉะนี้ วันหนึ่ง พระเทวีทรงเห็นสมบัติของพระราชา ทรงแสดงอาการของความเป็นผู้กรุณาว่า โอ ผู้มีตปะ. ตรัสถามว่า อะไร พระเทวี. ทูลว่า สมบัติใหญ่ยิ่งนักเพคะ ในอดีต พระองค์เชื่อพระพุทธเจ้า ไปกระทำความดี บัดนี้ พระองค์ไม่กระทำกุศลอันเป็นปัจจัยแห่งอนาคต. ตรัสถามว่า เราจักให้แก่ใคร. ผู้มีศีลก็ไม่มี. ทูลว่า พระองค์ ชมพูทวีปไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์. ขอพระองค์จงทรงเตรียมทานไว้ หม่อมฉันจักได้ (นิมนต์) พระอรหันต์มา. ในวันรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้เตรียมทานทางทวารด้านปราจีน. พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถแต่เช้าตรู่ บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก


ความคิดเห็น 23    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 614

ณ เบื้องบนปราสาท หมอบลงกล่าวว่า หากพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้. ขอพระอรหันต์ทั้งหลายจงมารับภิกษาของพวกข้าพเจ้าในวันพรุ่งนี้เถิด. ในทิศนั้นไม่มีพระอรหันต์ ได้ให้สักการะนั้นแก่คนกำพร้าและยาจก. ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีได้เตรียมทาน ณ ประตูด้านทักษิณ แล้วกระทำเหมือนอย่างนั้น. ในวันรุ่งขึ้นได้เตรียมทานด้านประตูทิศปัจฉิม แล้วกระทำเหมือนอย่างนั้น.

ก็ในวันที่พระนางเตรียมทาน ณ ประตูด้านทิศอุดร พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อมหาปทุม ผู้เป็นใหญ่กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ บุตรของนางปทุมวดี ซึ่งอยู่ในหิมวันต์ อันพระเทวีนิมนต์แล้วเหมือนอย่างนั้น ได้เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นน้องมากล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระราชานันทะทรงนิมนต์พวกท่าน ขอพวกท่านจงรับนิมนต์พระองค์เถิด. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับนิมนต์แล้ว วันรุ่งขึ้นล้างหน้าที่สระอโนดาต เหาะมาลง ณ ประตูด้านทิศอุดร. พวกมนุษย์พากันไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ มาแล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาพร้อมกับพระเทวีเสด็จไปทรงไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้ขึ้นบนปราสาท แล้วทรงถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายบนปราสาทนั้น ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว พระราชาทรงหมอบ ณ บาทมูลของพระสังฆเถระ พระเทวีทรงหมอบ ณ บาทมูลของพระสังฆนวกะ ทรงให้ทำปฏิญญาว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย จักไม่ลำบากด้วยปัจจัย ข้าพเจ้าทั้งหลายจักไม่เสื่อมจากบุญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ปฏิญญาเพื่ออยู่ ณ ที่นี้ตลอดชีวิตของพวกข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด แล้วทรงสร้างที่อยู่ โดยอาการทั้งปวง คือ บรรณศาลา ๕๐๐ ที่


ความคิดเห็น 24    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 615

จงกรม ๕๐๐ ที่ ในพระอุทยาน. แล้วอาราธนาให้พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่นั้น. เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ชายแดนของพระราชากำเริบ. พระราชารับสั่งกะพระเทวีว่า ฉันจะไปทำชายแดนให้สงบ เธออย่าประมาทในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเสด็จไป. เมื่อพระราชายังไม่เสด็จมา อายุสังขารของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายสิ้นแล้ว.

พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อมหาปทุม เข้าฌานตลอด ๓ ยามในราตรี เมื่ออรุณขึ้น ยืนพิงกระดานปรินิพพานด้วยปรินิพพานธาตุ อันเป็นอนุปาทิเสส. แม้ที่เหลือทั้งหมดก็ปรินิพพานด้วยอุบายนี้. ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีรับสั่งให้ทำที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉาบด้วยของเขียว เกลี่ยดอกไม้ ทำการบูชา นั่งแลดูพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา เมื่อไม่เห็นมา จึงทรงส่งราชบุรุษไปว่า เธอจงไป จงทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่สบายหรืออย่างไร. ราชบุรุษไปเปิดประตูบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้ามหาปทุม เมื่อไม่เห็น ณ ที่นั้น จึงไปยังที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงกระดาน ไหว้แล้วกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วพระคุณเจ้า. ร่างกายดับแล้ว จักพูดได้อย่างไร. ราชบุรุษคิดว่า เห็นจะหลับ จึงไปลูบคลำที่หลังเท้า รู้ว่าท่านปรินิพพานเสียแล้ว เพราะเท้าเย็นและกระด้าง จึงไปหาท่านที่ ๒ ท่านที่ ๓ ก็อย่างนั้น รู้ว่าท่านทั้งหมดปรินิพพานแล้ว จึงไปราชตระกูล เมื่อรับสั่งถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปไหน กราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว. พระเทวีทรงคร่ำครวญกันแสง เสด็จออกพร้อมกับชาวเมือง ไปถึงที่นั้นให้เล่นสาธุกีฬา กระทำฌาปนกิจพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วถือเอาธาตุก่อเจดีย์บรรจุ.


ความคิดเห็น 25    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 616

พระราชาครั้นทำให้ชายแดนสงบ เสด็จกลับ ตรัสถามพระเทวีซึ่งเสด็จมาต้อนรับว่า น้องหญิง เธอไม่ประมาทในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายหรือ. พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายสบายดีหรือ. ทูลว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้วเพคะ. พระราชาทรงดำริว่า ความตายยังเกิดแก่บัณฑิตเห็นปานนี้ได้ พวกเราจะพ้นความตายได้แต่ไหน. พระราชาไม่เสด็จกลับพระนคร เสด็จเข้าไปยังพระอุทยานนั้นแล รับสั่งให้เรียกเชษฐโอรสมา ทรงมอบราชสมบัติแก่โอรสนั้น พระองค์เองเสด็จผนวชเป็นสมณเพศ. แม้พระเทวีเมื่อพระสวามีผนวชทรงดำริว่า เราจักทำอะไรได้ จึงทรงผนวชในพระอุทยานนั้นเอง.

แม้ทั้งสองพระองค์ ยังฌานให้เกิด จุติจากที่นั้น แล้วก็บังเกิดในพรหมโลก. เมื่อทั้งสองอยู่ในพรหมโลกนั้นเอง พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลก ทรงธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ.

ปิปผลิมาณพนี้เกิดในท้องของอัครมเหสีของกบิลพราหมณ์ในบ้านพราหมณ์มหาดิตถ์ แคว้นมคธ. นางภัททกาปิลานีเกิดในท้องของอัครมเหสีของพราหมณ์โกสิยโคตร ในสาคลนคร แคว้นมคธ. เมื่อเขาเจริญวัยโดยลำดับ ปิปผลิมาณพอายุ ๒๐ นางภัททาอายุ ๑๖ มารดาบิดาแลดูบุตร คาดคั้นเหลือเกินว่า ลูกเอ๋ย ลูกเติบโตแล้ว ควรดำรงวงศ์ตระกูล. มาณพกล่าวว่า คุณพ่อ คุณแม่ อย่าพูดถ้อยคำเช่นนี้ให้เข้าหูลูกเลย. ลูกจะปรนนิบัติตราบเท่าที่คุณพ่อคุณแม่ดำรงอยู่. ลูกจักออกบวชภายหลังคุณพ่อคุณแม่. ล่วงไปอีกเล็กน้อย มารดาบิดาก็พูดอีก. แม้มาณพก็ปฏิเสธเหมือนอย่างเดิม. ตั้งแต่นั้นมามารดาก็ยังพูดอยู่ไม่ขาดเลย.


ความคิดเห็น 26    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 617

มาณพคิดว่า เราจักให้มารดายินยอมเรา. จึงให้ทองสีแดงพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อรูปหญิงคนหนึ่ง เมื่อเสร็จทำการขัดสีรูปหญิงนั้น จึงให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้ สมบูรณ์ด้วยสี และด้วยเครื่องประดับต่างๆ แล้วเรียกมารดามาบอกว่า แม่จ๋า ลูกเมื่อได้อารมณ์เห็นปานนี้ จักดำรงอยู่ในเรือน เมื่อไม่ได้จักไม่ดำรงอยู่. พราหมณีเป็นหญิงฉลาด คิดว่าบุตรของเรามีบุญ ให้ทาน สร้างสมความดี เมื่อทำบุญมิได้ทำเพียงผู้เดียวเท่านั้น. จักมีหญิงที่ทำบุญไว้มาก มีรูปเปรียบรูปทองเช่นรูปหญิงนี้แน่นอน. จึงเรียกพราหมณ์ ๘ คนมาสั่งว่า พวกท่านจงให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยความใคร่ทุกชนิดยกรูปทองขึ้นสู่รถไปเถิด. พวกท่านจงค้นหาทาริกาเห็นปานนี้ ในตระกูลที่เสมอด้วยชาติ โคตร และโภคะของเรา. พวกท่านจงประทับตราไว้ แล้วให้รูปทองนี้. พราหมณ์เหล่านั้นออกไปด้วยคิดว่า นี้เป็นกรรมของพวกเรา แล้วคิดต่อไปว่า เราจักไปที่ไหน รู้ว่าแหล่งของหญิง มีอยู่ในมัททรัฐ เราจักไปมัททรัฐ จึงพากันไปสาคลนครในมัททรัฐ. พวกพราหมณ์ตั้งรูปทองนั้นไว้ที่ท่าน้ำ แล้วพากันไปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้งนั้น พี่เลี้ยงของนางภัททา ให้นางภัททาอาบน้ำแต่งตัวแล้วให้นั่งในห้องอันเป็นสิริแล้วมาอาบน้ำ ครั้นเห็นรูปนั้น จึงคุกคามด้วยสำคัญว่า ลูกสาวนายเรามาอยู่ในที่นี้ กล่าวว่า คนหัวดื้อ เจ้ามาที่นี้ทำไม เงื้อหอกคือฝ่ามือตบนางภัททาที่สีข้าง กล่าวว่า จงรีบไปเสีย. มือสั่นเหมือนกระทบที่หิน. พี่เลี้ยงหลีกไป เกิดความรู้สึกว่า ลูกสาวนายของเราแต่งตัว กระด้างถึงอย่างนี้. พี่เลี้ยงกล่าวว่า จริงอยู่ แม้ผู้ถือเอาผ้านุ่งนี้ ไม่สมควรแก่ลูกสาวนายของเรา.


ความคิดเห็น 27    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 618

ลำดับนั้น พวกคนแวดล้อมพี่เลี้ยงนั้น พากันถามว่า ลูกสาวนายของท่านมีรูปอย่างนี้หรือ. นางกล่าวว่าอะไรกัน นายของเรามีรูปงามกว่าหญิงนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่า. เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก ไม่ต้องตามประทีป. เพราะแสงสว่างของร่างกายเท่านั้นกำจัดความมืดได้. พวกมนุษย์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมา พาหญิงค่อมนั้นไป ให้ยกรูปทองไว้ในรถ ตั้งไว้ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร ประกาศให้รู้ว่ามา. พราหมณ์ทำปฏิสันถารแล้วถามว่า พวกท่านมาแต่ไหน. พวกมนุษย์กล่าวว่า พวกเรามาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ ณ บ้านมหาดิตถ์ ในแคว้นมคธ ด้วยเหตุชื่อนี้. พราหมณ์กล่าวว่า ดีแล้ว พ่อคุณ. พราหมณ์ของพวกเรา มีชาติโคตรและสมบัติเสมอกัน เราจักให้นางทาริกา. แล้วรับบรรณาการไว้. พราหมณ์เหล่านั้น ส่งข่าวให้กบิลพราหมณ์ทราบว่าได้นางทาริกาแล้ว โปรดทำสิ่งที่ควรทำเถิด. มารดาบิดาฟังข่าวนั้นแล้ว จึงบอกแก้ปิปผลิมาณพว่า ข่าวว่า ได้นางทาริกาแล้ว. มาณพคิดว่า เราคิดว่า เราจักไม่ได้ ก็มารดาบิดากล่าวว่า ได้แล้ว เราไม่ต้องการ จักส่งหนังสือไป จึงไปในที่ลับ เขียนหนังสือว่า แม่ภัททา จงครองเรือนตามสมควรแก่ชาติ โคตร และโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช. ท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังเลย. แม้นางภัททาก็สดับว่า นัยว่า มารดาบิดาประสงค์จะยกเราให้แก่ผู้โน้น จึงไปในที่ลับ เขียนหนังสือว่า บุตรผู้เจริญ จงครองเรือนตามสมควรแก่ชาติ โคตร และโภคะของตนเถิด เราจักบวช ท่านอย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย. หนังสือแม้ทั้งสอง ได้มาถึงพร้อมกันในระหว่างทาง. ถามว่า นี้หนังสือของใคร. ตอบว่า ปิปผลิมาณพส่งให้นางภัททา. ถามว่า นี้ของใคร. ตอบว่า นางภัททาส่งให้


ความคิดเห็น 28    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 619

ปิปผลิมาณพ. คนทั้งสองก็ได้พูดขึ้นว่า พวกท่านจงดูการกระทำของพวกทารกเถิด จึงฉีกทิ้งในป่า เขียนหนังสือมีความเหมือนกันส่งไปทั้งข้างนี้และข้างโน้น เมื่อคนทั้งสองไม่ปรารถนาเหมือนกันนั่นแหละ ก็ได้มีการอยู่ร่วมกัน.

ก็ในวันนั้นเองมาณพก็ให้ร้อยพวงดอกไม้พวงหนึ่ง. แม้นางภัททาก็ให้ร้อยพวงหนึ่ง. แม้คนทั้งสองบริโภคอาหารในเวลาเย็นแล้ว จึงวางพวงดอกไม้เหล่านั้นไว้กลางที่นอน คิดว่าเราทั้งสองจักเข้านอน มาณพนอนข้างขวา นางภัททานอนข้างซ้าย. คนทั้งสองนั้น เพราะกลัวการถูกต้องร่างกายกันและกัน จึงนอนไม่หลับจนล่วงไปตลอด ๓ ยาม. ก็เพียงหัวเราะกันในเวลากลางวันก็ไม่มี. คนทั้งสองมิได้ร่วมกันด้วยโลกามิส. เขาทั้งสองมิได้สนใจสมบัติตลอดเวลาที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้วจึงสนใจ. มาณพมีสมบัติมาก. ในวันหนึ่ง ควรได้ผงทองคำที่ขัดสีร่างกายแล้วทิ้งไว้ประมาณ ๑๒ ทะนาน โดยทะนานของชาวมคธ. มีสระใหญ่ ๖๐ แห่งติดเครื่องยนต์. มีพื้นที่ทำการงาน ๑๒ โยชน์. มีบ้านทาส ๑๔ แห่งเท่าอนุราธบุรี. มีช้างศึก ๑๔ เชือก รถ ๑๔ คัน. วันหนึ่ง มาณพขี่ม้าตกแต่งแล้ว มีมหาชนแวดล้อมไปยังพื้นที่การงาน ยืนในที่สุดเขต เห็นนกมีกาเป็นต้น จิกสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้นกิน จากที่ถูกไถทำลาย จึงถามว่า นกเหล่านี้กินอะไร. ตอบว่า กินไส้เดือนจ้ะนาย. ถามว่า บาปที่นกเหล่านี้ทำจะมีแก่ใคร. ตอบว่า แก่พวกท่านจ้ะนาย. มาณพคิดว่า บาปที่นกเหล่านี้ทำจะมีแก่เรา. ทรัพย์ ๘๖ โกฏิจักทำอะไรเราได้. พื้นที่การงานประมาณ ๑๒ โยชน์ จักทำอะไรได้. สระ ๖๐ สระติดเครื่องยนต์ หมู่บ้าน ๑๔ หมู่ จักทำอะไรได้ เราจักมอบสมบัติ


ความคิดเห็น 29    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 620

ทั้งหมดนั้นแก่นางภัททา ออกบวช. ในขณะนั้น แม้นางภัททกาปิลานีก็ให้เทหม้องา ๓ หม้อลงในระหว่างพื้นที่ พวกพี่เลี้ยงนั่งล้อม เห็นกากินสัตว์ที่กินงา จึงถามว่า กาเหล่านี้กินอะไรแม่. ตอบว่า กินสัตว์จ้ะแม่นาย. ถามว่า อกุศลจะมีแก่ใคร. ตอบว่า จะมีแก่ท่านจ้ะแม่นาย. นางคิดว่า เราควรได้ผ้าประมาณ ๔ ศอก และข้าวสุกประมาณทะนานหนึ่ง. ก็ผิว่า อกุศลที่ชนประมาณเท่านี้ทำจะมีแก่เรา ด้วยว่า เราไม่สามารถจะยกศีรษะขึ้นได้จากวัฏฏะตั้งพันภพ. พอเมื่ออัยยบุตร (มาณพ) มาถึง เราจักมอบสมบัติทั้งหมดแก่เขาแล้วออกบวช.

มาณพมาอาบน้ำแล้ว ขึ้นสู่ปราสาทนั่ง ณ บัลลังก์มีค่ามาก. สำดับนั้น ชนทั้งหลายจัดโภชนะอันสมควรแก่จักรพรรดิให้แก่เขา. ทั้งสองบริโภคแล้ว เมื่อบริวารชนออกไปแล้ว จึงพูดกันในที่ลับ นั่งในที่สบาย. แต่นั้นมาณพกล่าวกะนางภัททาว่า ดูก่อนแม่ภัททา ท่านมาสู่เรือนนี้นำทรัพย์มาเท่าไร. นางตอบว่า ๕๕,๐๐๐ เกวียนจ้ะนาย. มาณพกล่าวว่า ทรัพย์ ๘๗ โกฏิ และสมบัติมีสระ ๖๐ ติดเครื่องยนต์ มีอยู่ในเรือนนี้ ทั้งหมดนั้นเรามอบให้แก่ท่านผู้เดียว. นางถามว่า ก็ท่านเล่านาย. ตอบว่า เราจักบวช. นางกล่าวว่า แม้ฉันนั่งมองดูการมาของท่าน. ฉันก็จักบวชจ้ะนาย.

ทั้งสองคนกล่าวว่า ภพทั้งสามเหมือนบรรณกุฎีที่ถูกไฟไหม้. เราจักบวชละ จึงให้นำผ้าเหลืองย้อมด้วยน้ำฝาด และบาตรดินเหนียวมาจากภายในตลาด ยังกันและกันให้ปลงผม บวชด้วยตั้งใจว่า บรรพชาของพวกเราอุทิศพระอรหันต์ในโลก เอาบาตรใส่ถลกคล้องบ่า ลงจากปราสาท. บรรดาทาสและกรรมกรในเรือนไม่มีใครรู้เลย. ครั้งนั้นชาว


ความคิดเห็น 30    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 621

บ้านทาสจำเขาซึ่งออกบ้านพราหมณ์ไปทางประตูบ้านทาสได้ ด้วยสามารถอากัปกิริยา. ชาวบ้านทาสต่างร้องไห้ หมอบลงแทบเท้ากล่าวว่า นายจ๋า นายจะทำให้พวกข้าพเจ้าไร้ที่พึ่งหรือ. ทั้งสองกล่าวว่า เราทั้งสองบวชด้วยคิดว่า ภพทั้งสามเป็นเหมือนบรรณศาลาที่ถูกไฟไหม้เผาผลาญ. หากเราทั้งสองจะทำในพวกท่านคนหนึ่งๆ ให้เป็นไท. แม้ร้อยปีก็ยังไม่หมด. พวกท่านจงชำระศีรษะของพวกท่านแล้วจงเป็นไทเถิด. เมื่อชนเหล่านั้นร้องไห้ เขาพากันหลีกไป.

พระเถระเดินไปข้างหน้าเหลียวมองดูคิดว่า หญิงผู้มีค่าในสกลชมพูทวีปชื่อ ภัททกาปิลานีนี้ เดินมาข้างหลังเรา. ข้อที่ใครๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งสองนี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจจะพรากจากกันได้ ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. อีกอย่างหนึ่งใครๆ พึงมีใจประทุษร้ายแล้วจะไปตกคลักในอบาย. พระเถระจึงเกิดคิดขึ้นว่า เราควรละหญิงนี้ไป. พระเถระไปข้างหน้าเห็นทางสองแพร่งจึงได้ยืนในที่สุดทางสองแพร่งนั้น. แม้นางภัททาก็ได้มายืนไหว้. พระเถระกล่าวกะนางว่า แม่มหาจำเริญ มหาชนเห็นหญิงเช่นท่านเดินมาข้างหลังเรา แล้วคิดว่า ท่านทั้งสองนี้ แม้บวชแล้วก็ไม่อาจจะพรากจากกันได้ จะพึงมีจิตร้ายในเรา จะไปตกคลักอยู่ในอบาย. เธอจงถือเอาทางหนึ่งในทางสองแพร่งนี้. ฉันจักไปผู้เดียว. นางภัททากล่าวว่า ถูกแล้วจ้ะ พระผู้เป็นเจ้า ชื่อว่ามาตุคามเป็นมลทินของพวกบรรพชิต. ชนทั้งหลายจะชี้โทษของเราว่า ท่านทั้งสองแม้บวชแล้ว ก็ยังไม่พรากกัน. ขอเชิญท่านถือเอาทางหนึ่ง. เราทั้งสองจักแยกกัน. นางกระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในฐานะ ๔ ประคองอัญชลีรุ่งเรืองด้วยทสนขสโมธาน มิตร


ความคิดเห็น 31    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 622

สันถวะที่ทำมานานประมาณแสนกัป ทำลายลงในวันนี้. พระผู้เป็นเจ้าชื่อว่าเป็นทักษิณา ทางเบื้องขวาย่อมควรแก่พระผู้เป็นเจ้า. ดิฉันชื่อว่าเป็นมาตุคามเป็นฝ่ายซ้าย ทางเบื้องซ้ายย่อมควรแก่ดิฉัน ดังนี้ ไหว้แล้ว เดินไปสู่ทาง. ในเวลาที่คนทั้งสองแยกจากกัน มหาปฐพีนี้ครืนครั่นสั่นสะเทือนดุจกล่าวว่า เราแม้สามารถจะทรงเขาในจักรวาลและเขาสิเนรุไว้ได้ ก็ไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้งสองไว้ได้. ย่อมเป็นไปดุจเสียงสายฟ้าบนอากาศ. ภูเขาจักรวาลบันลือลั่น.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ พระคันธกุฎีใกล้มหาวิหารเวฬุวัน ทรงสดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงพระรำพึงว่า แผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงทราบว่า ปิปผลิมาณพและนางภัททกาปิลานี สละสมบัติมากมายอุทิศเรา. การไหวของแผ่นดินนี้ เกิดด้วยกำลังคุณของคนทั้งสองในที่ที่เขาจากกัน แม้เราก็ควรทำการสงเคราะห์แก่เขาทั้งสอง จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงปรึกษาใครๆ ในบรรดามหาเถระ ๘๐ ทรงกระทำการต้อนรับประมาณ ๓ คาวุต ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และกรุงนาลันทา. ก็เมื่อประทับนั่ง มิได้ประทับนั่งเหมือนภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรรูปใดรูปหนึ่ง ทรงถือเพศแห่งพระพุทธเจ้า ประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีเป็นลำสู่ที่ประมาณ ๘๐ ศอก. ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีประมาณเท่าใบไม้ ร่ม ล้อเกวียน และเรือนยอดเป็นต้น แผ่ซ่านส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ ปรากฏการณ์ดุจเวลาพระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นพันดวง ได้กระทำบริเวณป่าใหญ่ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้.


ความคิดเห็น 32    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 623

บริเวณป่ารุ่งเรืองด้วยสิริแห่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ดุจท้องฟ้ารุ่งโรจน์ด้วยหมู่ดาว ดุจน้ำมีกลุ่มดอกบัวบานสะพรั่ง. ลำต้นนิโครธมีสีขาว. ใบสีเขียว ใบแก่สีแดง. แต่ในวันนั้นต้นนิโครธพร้อมลำต้นและกิ่งมีสีเหมือนทอง.

พึงทราบอนุปุพพิกถาที่ท่านกล่าวความแห่งบทว่า อทฺธานมคฺคํ ปฏิปนฺโน แล้วกล่าวว่า บัดนี้ ผู้นี้บวชแล้วด้วยประการใด และเดินทางไกลด้วยประการใด เพื่อให้เนื้อความนี้แจ่มแจ้งพึงกล่าวอนุปุพพิกถานี้ตั้งแต่อภินิหารอย่างนี้.

บทว่า อนฺตรา จ ราชคหํ อนฺตรา จ นาฬนฺทํ ความว่า ในระหว่างกรุงราชคฤห์และกรุงนาลันทา.

บทว่า สตฺถารญฺจ วตาหํ ปสฺเสยฺยํ ภควนฺตเมว ปสฺเสยยํ ความว่า หากว่า เราพึงเห็นพระศาสดาไซร้. เราพึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะนี้แล. เพราะศาสดาอื่นจากนี้ไม่สามารถจะเป็นของเราได้เลย.

บทว่า สุคตญฺจ วตาหํ ปสฺเสยฺยํ ภควนฺตเมว ปสฺเสยฺยํ ความว่า หากเราพึงเห็นท่านผู้ชื่อว่าสุคต เพราะความที่แห่งสัมมาปฏิบัติอันท่านถึงแล้วด้วยดีไซร้ เราพึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะนี้แล. เพราะพระสุคตอื่นจากนี้ไม่สามารถจะเป็นของเราได้.

บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธญฺจ วตาหํ ปสฺเสยฺยํ ภควนฺตเมว ปสฺเสยฺยํ ความว่า หากเราพึงเห็นท่านผู้ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบไซร้. เราพึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นี้แล. เพราะพระสัมมาสัมพุทธะอื่นจากนี้ไม่สามารถจะมีแก่เราได้ นี้เป็นความประสงค์ในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.

เกจิอาจารย์แสดงว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เรามิได้มีความสงสัยในพระผู้มีภาคพระเจ้าว่า นี้พระศาสดา นี้พระสุคต นี้พระสัมมา-


ความคิดเห็น 33    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 624

สัมพุทธเจ้า ด้วยการเห็นเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า สตฺถา เม ภนฺเต นี้ มาแล้ว ๒ ครั้งก็จริง แต่พึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้ว ๓ ครั้ง.

เกจิอาจารย์แสดงว่า ด้วยบทนี้ ดูก่อนผู้มีอายุ เราประกาศความเป็นสาวก ๓ ครั้งอย่างนี้.

บทว่า อชานญฺเว แปลว่า ไม่รู้อยู่.

แม้ในบทที่ ๒ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า มุทฺธาปิ ตสฺส วิปเตยฺย ความว่า สาวกผู้มีจิตเสื่อมใสทุ่มเทจิตใจทั้งหมดอย่างนี้ พึงทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ ต่อศาสดาภายนอกอื่นผู้ไม่รู้ปฏิญญาว่าเรารู้ ศีรษะของศาสดานั้นพึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น. อธิบายว่า ก็ศีรษะพึงแยกออก ๗ เสี่ยง. หรือด้วยเรื่องมีเปรียบเทียบไว้อย่างไร.

หากพระมหากัสสปเถระพึงทำความเคารพอย่างยิ่งนี้ ด้วยจิตเลื่อมใสต่อมหาสมุทร. มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน. หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาล. จักรวาลต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ. หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ. เขาสิเนรุต้องย่อยยับดุจก้อนแป้งที่ถูกกาจิก หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน. แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบมา.

ก็การทำความเคารพของพระเถระเห็นปานนี้ ไม่สามารถแม้เพียงทำขุมขน ณ เบื้องหลังพระบาทสีดุจทองของพระศาสดาให้กำเริบได้ อนึ่ง พระมหากสัสปยกไว้เถิด ภิกษุเช่นพระมหากัสสปตั้งพันตั้งแสน ก็ไม่สามารถแม้เพียงทำขุมขนเบื้องหลังพระบาทของพระทศพลให้กำเริบได้ หรือแม้เพียงผ้าบังสุกุลจีวรให้ไหวได้. ด้วยการแสดงความเคารพ จริงอยู่ พระศาสดามีอานุภาพมากด้วยประการฉะนี้.

ตสฺมาติห เต กสฺสป ความว่า เพราะเราเมื่อรู้ เราก็กล่าวว่า


ความคิดเห็น 34    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 625

เรารู้ และเมื่อเห็น เราก็กล่าวว่า เราเห็น ฉะนั้น ดูก่อนกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้.

บทว่า ติพฺพํ แปลว่า หนา คือใหญ่.

บทว่า หิโรตฺตปฺปํ ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ.

บทว่า ปจฺจุปฏฺิตํ ภวิสฺสติ ได้แก่ จักเข้าไปตั้งไว้ก่อน.

อธิบายว่า จริงอยู่ ผู้ใดยังหิริและโอตตัปปะให้เข้าไปตั้งไว้ในพระเถระเป็นต้นแล้วเข้าไปหา. แม้พระเถระเป็นต้นก็เป็นผู้มีหิริและโอตตัปปะเข้าไปหาผู้นั้น นี้เป็นอานิสงส์ในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า กุสลูปสญฺหิตํ คือ อาศัยธรรมเป็นกุศล.

บทว่า อฏฺิกตฺวา ความว่า ทำตนให้เป็นประโยชน์ด้วยธรรมนั้น หรือทำธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ว่า นี้ประโยชน์ของเรา ดังนี้.

บทว่า มนสิกตฺวา คือ ตั้งไว้ในใจ.

บทว่า สพฺพเจตโส สมนฺนาหริตฺวา ความว่า ไม่ให้จิตไปภายนอกได้แม้แต่น้อย รวบรวมไว้ด้วยประมวลมาทั้งหมด.

บทว่า โอหิตโสโต แปลว่า เงี่ยหู.

อธิบายว่า เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักตั้งญาณโสตและปสาทโสตแล้วฟังธรรมที่เราแสดงแล้วโดยเคารพ.

บทว่า สาตสหคตา จ เม กายคตาสติ ความว่า กายคตาสติสัมปยุตด้วยสุข ด้วยสามารถปฐมฌานในอสุภกรรมฐานและในอานาปานกรรมฐาน.

ก็โอวาทนี้มี ๓ อย่าง. บรรพชาและอุปสมบทนี้แลได้มีแก่พระเถระ.

บทว่า สาโณ ได้แก่ เป็นผู้มีกิเลส คือเป็นหนี้.

บทว่า รฏฺปิณฺฑํ ภุญฺชิํ ได้แก่ บริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธา.

จริงอยู่ การบริโภคมี ๔ อย่าง คือ ไถยบริโภค ๑ อิณบริโภค ๑ ทายัชชบริโภค ๑ สามิบริโภค ๑. ในบริโภคเหล่านั้น ภิกษุเป็นผู้ทุศีล แม้นั่งบริโภคในท่ามกลางสงฆ์ ก็ชื่อว่า ไถยบริโภค.

เพราะเหตุไร เพราะไม่เป็นอิสระในปัจจัย ๔.

ผู้มีศีล ไม่พิจารณาบริโภค ชื่อว่า


ความคิดเห็น 35    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 626

บริโภคอย่างเป็นหนี้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น พระเถระเมื่อทำการบริโภคซึ่งตนเป็นปุถุชนบริโภค ให้เป็นอิณบริโภค จึงกล่าวอย่างนี้.

บทว่า อฏฺมิยา อา อุทปาทิ ได้แก่ พระอรหัตตผลเกิดขึ้นแล้วในวันที่ ๘.

บทว่า อถโข ภควา มคฺคา โอกฺกมฺม ความว่า การหลีกจากหนทางไปก่อน ได้มีแล้วในวันนั้น ภายหลังจึงได้บรรลุพระอรหัต.

ก็ท่านแสดงการบรรลุพระอรหัตก่อน เพราะเทศนาวาระมาแล้วอย่างนี้.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงหลีกจากหนทาง.

ตอบว่า ได้ยินว่า พระองค์ได้ทรงดำริอย่างนี้ว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร เพราะฉะนั้น พระองค์จึงหลีกไป.

บทว่า มุทุกา โข ตยายํ ได้แก่ ผ้าสังฆาฏินี้แล ของท่านอ่อนนุ่ม.

ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อลูบคลำจีวรนั้นด้วยปลายพระหัตถ์ มีสีดังดอกปทุม จึงตรัสพระวาจานี้.

ถามว่า พระองค์ตรัสอย่างนี้ เพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ.

ถามว่า พระองค์ทรงประสงค์จะเปลี่ยนเพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งของพระองค์.

ก็เพราะเมื่อท่านกล่าวคุณของจีวรหรือบาตร พระเถระจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับจีวรนี้เพื่อพระองค์เถิด นี้เป็นจารีต ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับของข้าพระองค์เถิด. พระองค์จึงตรัสว่า ก็กัสสป เธอจักครองผ้าบังสุกุลทำด้วยผ้าป่านของเราได้ไหม เธอจักอาจเพื่อห่มได้ไหม ดังนี้.

ก็แล พระองค์ทรงหมายถึง


ความคิดเห็น 36    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 627

กำลังกาย จึงตรัสแล้วอย่างนี้ ก็หามิได้ แต่ทรงหมายถึงการปฏิบัติให้บริบูรณ์ จึงตรัสอย่างนี้.

ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ :-

จีวรนี้ที่เขาห่ม ทาสีชื่อปุณณะทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้นอันมีตัวสัตว์กระจายอยู่ ประมาณทะนานหนึ่ง กำจัดตัวสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา. ในวันที่เราถือเอาจีวรนี้ มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง ตฏะ ตฏะ เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตามธรรมชาติ นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตรตามธรรมชาติ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรตามธรรมชาติ ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้ ดังนี้. แม้พระเถระตนเองทรงไว้ซึ่งกำลังช้าง ๕ เชือก. ท่านจึงไม่ตรึกถึงข้อนั้น ใคร่จะทำให้สมควรแก่สุคตจีวร ด้วยความอุตสาหะว่า เราจักยังการปฏิบัตินั้นให้บริบูรณ์ ดังนี้ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครอง ดังนี้.

บทว่า ปฏิปชฺชิํ ได้แก่ เราได้ปฏิบัติแล้ว ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการเปลี่ยนจีวรกันอย่างนี้แล้ว ทรงครองจีวรที่พระเถระครอง พระเถระครองจีวรของพระศาสดา. สมัยนั้น มหาปฐพีสั่นสะเทือนจนถึงน้ำรองแผ่นดิน.

ในบทว่า ภควโต ปุตฺโต เป็นต้น ความว่า พระเถระอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดแล้วโดยอริยชาติ ดังนั้นบุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ เพราะอยู่ในอก ตั้งอยู่ในบรรพชาและอุปสมบทด้วยอำนาจพระโอวาทออกจากพระโอษฐ์ ชื่อว่าผู้เกิดแต่พระธรรมอันธรรมนิรมิตแล้ว เพราะเกิดแต่พระโอวาทธรรม และเพราะทรงนิรมิตด้วยพระโอวาทธรรม ชื่อว่าธรรมทายาท เพราะ


ความคิดเห็น 37    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 628

ควรซึ่งทายาทคือพระธรรมโอวาท หรือทายาทคือโลกุตรธรรม ๙.

บทว่า ปฏิคฺคหิตานิ สาณานิ ปํสุกูลานิ ความว่า รับผ้าบังสุกุลจีวรอันพระศาสดาทรงครองแล้ว เพื่อประโยชน์แก่การครอง.

บทว่า สมฺมา วทมาโน วเทยฺย ความว่า เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงบุคคลใดด้วยคุณเป็นต้นว่า บุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพูดถึงบุคคลนั้นให้ถูกพึงพูดถึงเราว่า เรามีรูปเห็นปานนี้ ดังนี้.

บรรพชาอันพระเถระให้บริสุทธิ์แล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

ในข้อนี้มีอธิบายว่า ท่านผู้มีอายุ อุปัชฌาย์อาจารย์ของผู้ใดไม่ปรากฏ ผู้นั้นอุปัชฌาย์ไม่มี อาจารย์ไม่มี โกนหัวโล้นถือเอาผ้ากาสายะเอง ถึงการนับว่าเขารีตเดียรถีย์หรือ ได้การต้อนรับตลอดหนทาง ๓ คาวุตอย่างนี้ ได้บรรพชาหรืออุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ได้เปลี่ยนจีวรด้วยกาย ท่านเห็นคำแม้ทุพภาษิตเพียงไรของถุลลนันทาภิกษุณีไหม.

พระเถระให้บรรพชาบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อบันลือสีหนาทด้วยอภิญญา ๖ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อหํ โข อาวุโส.

คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.

จบอรรถกถาจีวรสูตรที่ ๑๑