๑. นิโครธเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระนิโครธเถระ
โดย บ้านธัมมะ  18 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40419

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 156

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๓

๑. นิโครธเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระนิโครธเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 156

เถรคาถา เอกนิบาตวรรคที่ ๓

๑. นิโครธเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระนิโครธเถระ

[๑๕๘] ได้ยินว่า พระนิโครธเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราไม่กลัวภัย พระศาสดาของเราทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในธรรมอันไม่ตาย ภัยย่อมไม่ตั้งอยู่ในหนทางใด ภิกษุทั้งหลายย่อมไป โดยหนทางนั้น.

วรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถานิโครธเถรคาถา

คาถาของท่านพระนิโครธเถระเริ่มต้นว่า นาหํ ภยสฺส ภายามิ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ในกัปที่ ๑๑๘ นับแต่ภัทรกัปนี้ ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เจริญวัยแล้ว เห็นโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกบวช ละสิ่งผูกพันในเรือน เข้าไปสู่ราวป่า กระทำบรรณศาลาในหมู่ไม้สาละในป่า บวชเป็นดาบส มีมูลผลาผลในป่าเป็นอาหารอยู่.

สมัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงยังความเร่าร้อน คือกิเลสของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ดับได้


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 157

ด้วยสามารถแห่งน้ำอมฤต คือ พระธรรม วันหนึ่งด้วยมีพุทธประสงค์จะทรงอนุเคราะห์ดาบส จึงเสด็จเข้าไปสู่หมู่ไม้สาละนั้น ประทับนั่งแล้ว เข้านิโรธสมาบัติ.

ดาบสเดินไปหามูลผลาผลในป่า เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจเลื่อมใส ถือเอากิ่งรังซึ่งมีดอกบานสะพรั่งทำเป็นปะรำกิ่งไม้คลุมปะรำนั้น ทั้งหมด ด้วยดอกรังล้วนๆ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไม่ออกไปหาอาหาร ยืนนมัสการอยู่แล้ว ด้วยอำนาจแห่งปีติและโสมนัสนั้นเอง พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธแล้ว เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ดาบสนั้น จึงทรงพระดำริว่า ขอภิกษุสงฆ์จงมา โดยมีพุทธประสงค์ว่าดาบสจักยังจิตให้เลื่อมใสแม้ในพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้. ภิกษุสงฆ์มาแล้วในทันใดนั้นเอง แม้ดาบสเห็นภิกษุสงฆ์แล้ว มีใจเลื่อมใส ไหว้แล้วประคองอัญชลียืนอยู่แล้ว.

พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศสมบัติอันเป็นส่วนของดาบสนั้น โดยทรงอ้างถึงการทำความแย้มให้ปรากฏ ทรงแสดงธรรมแล้วหลีกไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นอันมากแล้วบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีนามว่า นิโครธ. เขาเกิดความเลื่อมใสด้วยการเห็นพุทธานุภาพ ในวันที่ทรงรับพระวิหารเชตวัน บวชแล้วปรารภวิปัสสนา ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ โดยกาลไม่นานเลย. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราเข้าสู่ป่ารัง สร้างอาศรมอย่างงดงาม มุงบังด้วยดอกรัง ครั้งนั้น เราอยู่ในป่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสยัมภูเอกอัครบุคคล ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง พระนามว่าปิยทัสสี ทรงพระประสงค์ความสงัด


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 158

จึงได้เสด็จเข้าสู่ป่ารัง เราออกจากอาศรมในป่า เที่ยวแสวงหามูลผลาผลป่า ในเวลานั้น ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปิยทัสสี ผู้มีพระยศใหญ่ประทับนั่ง เข้าสมาบัติ รุ่งโรจน์อยู่ในป่าใหญ่ เราปักเสา ๔ เสาทำปะรำอย่างเรียบร้อย แล้วเอาดอกรังมุงเหนือพระพุทธเจ้า เราทรงปะรำซึ่งมุงด้วยดอกรังไว้ ๗ วัน ยังจิตให้เลื่อมใสในกรรมนั้น ได้ถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อุดมบุรุษ เสด็จออกจากสมาธิประทับนั่ง ทอดพระเนตรดูเพียงชั่วแอก สาวกของพระศาสดา พระนามว่า ปิยทัสสี ชื่อว่า วรุณ กับพระอรหันตขีณาสพแสนองค์ ได้เข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา ผู้เป็นนายกวิเศษสุด ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พิชิตมาร พระนามว่า ปิยทัสสี เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ทรงกระทำการแย้มพระสรวลให้ปรากฏ พระอนุรุทธเถระผู้อุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าปิยทัสสี ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระมหามุนีว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อะไรเล่าหนอเป็นเหตุให้ พระศาสดาทรงแย้มพระสรวลให้ปรากฏ เพราะเมื่อมีเหตุ พระศาสดาจึงจะทรงแย้มพระสรวลให้ปรากฏ พระศาสดาตรัสว่า มาณพใดทรงปะรำที่มุงด้วยดอกไม้ไว้ตลอด ๗ วัน เรานึกถึงกรรมของมาณพนั้น จึงได้


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 159

ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ เราไม่พิจารณาเห็นช่องทาง ที่ไม่ควรที่บุญจะไม่ให้ผล ช่องทางที่ควรในเทวโลก หรือในมนุษยโลก ย่อมไม่ระงับไปเลย เขาผู้เพรียบพร้อมด้วยบุญกรรมอยู่ ในเทวโลกมีบริษัทเท่าใด บริษัทเท่านั้นจักถูกบังด้วยดอกรัง เขาเป็นผู้ประกอบด้วยบุญกรรม จักรื่นเริงอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยการฟ้อน การขับ การประโคม อันเป็นทิพย์ในกาลนั้น ทุกเมื่อ บริษัทของเขาประมาณเท่าที่มี จักมีกลิ่น หอมฟุ้ง และฝนดอกรังจักตกลงทั่วไปในขณะนั้น มาณพนี้จุติจากเทวโลกแล้วจักมาสู่ความเป็นมนุษย์แม้ในมนุษยโลกนี้ หลังคาดอกรังก็จักทรงอยู่ตลอดกาลทั้งปวง ณ มนุษยโลกนี้ การฟ้อน และการขับที่ประกอบไปด้วยกังสดาล จักแวดล้อมมาณพนี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา และเมื่อพระอาทิตย์อุทัย ฝนดอกรังก็จัดตกลง ฝนดอกรังที่บุญกรรมปรุงแต่งแล้ว จักตกลงทุกเวลา ในกัปที่ ๑,๘๐๐ พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์ของพระเจ้าโอกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพนี้จักเป็นทายาทในธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วไม่มีอาสวะจักนิพพาน เมื่อเขาตรัสรู้ธรรมอยู่ จักมีหลังคาดอกรัง เมื่อลูกทำฌาปนกิจอยู่บนเชิงตะกอน ที่เชิงตะกอนนั้น ก็จักมีหลังคาดอกรัง พระมหามุนีทรง


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 160

พระนามว่าปิยทัสสี ทรงพยากรณ์วิบากแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทให้อิ่มหนำด้วยฝน คือ ธรรม เราได้เสวยราชสมบัติในเทวโลกในหมู่เทวดา ๓๐ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๗ ครั้ง เราออกจากเทวโลกมาในมนุษยโลกนี้ ได้ความสุขอันไพบูลย์ แม้ในมนุษยโลกนี้ก็มีหลังคาดอกรัง นี้เป็นผลแห่งปะรำ นี้เป็นความเกิดครั้งหลังของเรา ภพสุดท้ายกำลังเป็นไป แม้ในภพนี้หลังคาดอกรังก็จักมีตลอดกาลทั้งปวง เรายังพระมหามุนีทรงพระนามว่าโคดม ผู้ประเสริฐกว่าศากยราชให้ทรงยินดีได้ ละความมีชัย และความปราชัยเสียแล้ว บรรลุถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว ในกัปที่ ๑๑๘ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ด้วยพุทธบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่เราได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าของเรานี้เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำสำเร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ท่านเป็นผู้มีอภิญญา ๖ อย่างนี้ ยังคืนและวันให้ล่วงไปด้วยผลสุข เพื่อจะประกาศความที่พระศาสนาเป็นนิยยานิกธรรม โดยเป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผล จึงภาษิตคาถาว่า


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 161

เราไม่กลัวภัย พระศาสดาของพวกเราทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในธรรมอันไม่ตาย ภัยย่อมไม่ตั้งอยู่ในหนทางใด ภิกษุทั้งหลายย่อมไปโดยหนทางนั้น ดังนี้.

ในคาถานั้น ที่ชื่อว่า ภัย เพราะเป็นแดนแห่งความกลัว ได้แก่ ชาติและชรา เป็นต้น. บทว่า ภยสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งปัญจมีวิภัตติ อธิบายว่า เราไม่กลัวนิมิตอันพึงกลัวโดยเป็นภัย ด้วยเหตุมีชาติ ชราและมรณะ เป็นต้น พระเถระกล่าวถึงเหตุไว้ในคาถานั้นว่า สตฺถา โน อมตสฺส โกวิโท พระศาสดาของพวกเราทั้งหลายเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันไม่ตาย คือ พระศาสดาของพวกเราทั้งหลายเป็นผู้ฉลาดในอมตธรรม ได้แก่ ฉลาดในการให้ธรรมที่เป็นอมฤตแก่ไวเนยสัตว์ทั้งหลาย. บทว่า ยตฺถ ภยํ นาวติฏฐติ ความว่า ภัยตามที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ คือ ไม่ได้โอกาสในพระนิพพานใด.

บทว่า เตน ได้แก่ พระนิพพานนั้น. บทว่า วชนฺติ ความว่า ย่อมถึงที่ๆ เป็นภัยทีเดียว. อธิบายว่า พระนิพพาน ชื่อว่าที่ๆ ไม่มีภัย. ถามว่า ด้วยเหตุไร พระเถระจึงกล่าวว่า วชนฺติ ย่อมไป ตอบว่า เพราะว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมไปโดยทางนั้น อธิบายว่า ภิกษุทั้งหลาย คือผู้ที่เห็นภัยในสงสาร ผู้การทำตามโอวาทของพระบรมศาสดาย่อมไปโดยทางของพระอริยเจ้ามีองค์ ๘. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยตฺถ ความว่า ภัยแม้ทั้ง ๒๕ อย่าง มีการเข้าไปตำหนิตนเองเป็นต้น ย่อมไม่ตั้งลง คือ ไม่ได้ที่พำนัก เพราะการบรรลุอริยมรรคใด ภิกษุในพระศาสนา ย่อมไปสู่ที่ๆ ไม่มีภัย ด้วยอริยมรรคนั้น แม้เราเองก็ไปแล้วโดยทางนั้น. เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงพยากรณ์ พระอรหัตว่าเราไม่กลัวภัย ดังนี้.

จบอรรถกถานิโครธเถรคาถา