[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 435
๕. อนุสาสิกชาดก
ว่าด้วยดีแต่สอนผู้อื่น
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 56]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 435
๕. อนุสาสิกชาดก
ว่าด้วยดีแต่สอนผู้อื่น
[๑๑๕] "นางนกสาลิกาตัวใด สั่งสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองๆ ตัวเองมีปกติเที่ยวไปด้วยความละโมบ นางนกสาลิกาตัวนั้นถูกล้อบดแล้ว มีปีกหักนอนอยู่".
จบ อนุสาสิกชาดกที่ ๕
อรรถกถาอนุสาสิกชาดกที่ ๕
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุณีผู้ชอบพร่ำสอนรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยายญฺมนุสาสติ" ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุณีนั้นเป็นกุลธิดานางหนึ่ง ชาวพระนครสาวัตถีบวชแล้ว ตั้งแต่กาลที่ตนบวชแล้ว ก็มิได้ใส่ใจในสมณธรรม ติดใจในอามิส เที่ยวไปบิณฑบาตในเอกเทศแห่งพระนครที่ภิกษุณีอื่นๆ ไม่พากันไป ครั้งนั้น พวกมนุษย์พากันถวายบิณฑบาตอันประณีตแก่เธอ เธอถูกความอยากในรสผูกพันไว้ คิดว่า ถ้าภิกษุณีอื่นๆ จักเที่ยวบิณฑบาตในประเทศนี้ ลาภของเราจักเสื่อมถอย เราควรกระทำให้ภิกษุณีอื่นๆ ไม่มาถึง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 436
ประเทศนี้ ดังนี้แล้ว ไปสู่สำนักของนางภิกษุณีทั้งหลาย พร่ำสั่งสอนนางภิกษุณีทั้งหลายว่า ดูก่อนแม่เจ้าทั้งหลาย ในที่ตรงโน้น มีช้างดุ มีม้าดุ มีสุนัขดุท่องเที่ยวอยู่ เป็นสถานที่มีอันตรายรอบด้าน แม้คุณทั้งหลายอย่าไปเที่ยวบิณฑบาตในที่นั้นเลย ฟังคำของเธอแล้ว แมัภิกษุณีสักรูปหนึ่ง ก็ไม่เหลียวคอมองดูประเทศนั้น ครั้นวันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังเที่ยวบิณฑบาต เข้าไปสู่เรือนหลังหนึ่งโดยเร็ว แพะดุชนเอากระดูกขาหัก พวกมนุษย์รีบเข้าไปตรวจดู ประสานกระดูกขาที่หักสองท่อนให้ติดกัน แล้วหามเธอด้วยเตียง นำไปสู่สำนักภิกษุณี พวกภิกษุณีพากันหัวเราะเยาะว่า ภิกษุณีรูปนี้ชอบพร่ำสอนภิกษุณีรูปอื่นๆ ตนเองกลับเที่ยวไปในประเทศนั้น จนขาหักกลับมา ด้วยเหตุที่เธอกระทำแม้นั้น ก็ปรากฏในหมู่ภิกษุไม่ช้านัก ครั้นวันหนึ่ง พวกภิกษุพากันกล่าวโทษของเธอในธรรมสภาว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ชอบสอน พร่ำสอนภิกษุณีอื่นๆ ตนเองเที่ยวไปในประเทศนั้น ถูกแพะดุชนเอากระดูกหัก พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุณีนั้นก็เอาแต่สั่งสอนคนอื่นๆ แต่ตนเองไม่ประพฤติ ต้องเสวยทุกข์ตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 437
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกป่า เจริญวัยแล้ว ได้เป็นจ่าฝูงนก มีนกหลายร้อยเป็นบริวาร เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ ในกาลที่พระโพธิสัตว์อยู่ในป่าหิมพานต์นั้น นางนกจัณฑาลตัวหนึ่งไปสู่หนทางในดงดึก (๑) หาอาหารกิน นางได้เมล็ดข้าวเปลือกและถั่วเป็นต้น ที่หล่นตกจากเกวียนในที่นั้นแล้ว คิดว่า บัดนี้เราต้องหาวิธีทำให้พวกนกเหล่าอื่นไม่ไปสู่ประเทศนี้ ดังนี้แล้ว ให้โอวาทแก่ฝูงนกว่า ขึ้นชื่อว่าทางใหญ่ในดงดึก เป็นทางมีภัยเฉพาะหน้า ฝูงสัตว์เป็นต้นว่า ช้าง ม้า และยวดยานที่เทียมด้วยโคดุๆ ย่อมผ่านไปมา ถ้าไม่สามารถจะโผบินขึ้นได้รวดเร็ว ก็ไม่ควรไปในที่นั้น ฝูงนกตั้งชื่อให้นางว่า แม่อนุสาสิกา วันหนึ่งนางกำลังเที่ยวไปในทางใหญ่ในดงดึก ได้ยินเสียงยานแล่นมาด้วยความเร็วอย่างยิ่ง ก็เหลียวมองดู โดยคิดว่ายังอยู่ไกลคงเที่ยวเรื่อยไป ครั้งนั้นยานก็พลันถึงตัวนางด้วยความเร็วปานลมพัด นางไม่อาจโผบินขึ้นได้ทัน ล้อทับร่างผ่านไป นกผู้เป็นจ่าฝูงเรียกประชุมฝูงนก ไม่เห็นนางก็กล่าวว่า นางอนุสาสิกาไม่ปรากฏ พวกเจ้าจงค้นหานาง ฝูงนกพากันค้นหา เห็นนางแยกออกเป็นสองเสี่ยงที่ทางใหญ่ ก็พากันแจ้งแก่จ่าฝูง จ่าฝูงกล่าวว่า นางห้ามนกอื่นๆ แต่ตนเองเที่ยวไปในที่นั้น จึงแยกออกเป็นสองเสี่ยง แล้วกล่าวคาถานี้ความว่า.
"นางนกสาลิกาตัวใด สั่งสอนนกตัวอื่น
(๑) ดงดึก = ป่าลึกเข้าไปไกล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 438
อยู่เนืองๆ ตัวเองมีปกติเที่ยวได้ด้วยความละโมบ นางนกสาลิกาตัวนั้นถูกล้อบดแล้ว มีปีกหักนอนอยู่" ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น ย อักษรในบทว่า ยายญฺมนุสาสติ ทำการเชื่อมบท ความก็ว่า นางนกสาลิกาใดเล่าสั่งสอนผู้อื่น.
บทว่า สยํ โลลุปฺปจารินี ความว่า เป็นผู้มีปกติเที่ยวคะนองไปด้วยตน.
บทว่า สายํ วิปกฺขิกา เสติ ความว่า นกตัวนั้น คือนางสาลิกาตัวนี้ มีขนปีกกระจัดกระจาย นอนอยู่ที่ทางใหญ่.
บทว่า หตา จกฺเกน สาลิกา ความว่า นางนกสาลิกาถูกล้อยานทับตาย.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า นางนกสาลิกาในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุณีอนุสาสิกาในครั้งนี้ ส่วนนกจ่าฝูง ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาอนุสาสิกชาดกที่ ๕