อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรค
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ อยู่ ณ โฆษิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านเรียกพระภิกษุทั้งหลาย แล้วกล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตต์ ในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มรรค ๔ ประการเป็นไฉน ประการที่ ๑ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถเป็นเบื้องหน้า เมื่อเจริญวิปัสสนามีสมถเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๒ ภิกษุย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อม สิ้นสุด
อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๓ ภิกษุย่อมเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๔ ใจของภิกษุปราศจาก อุทธัจจะในธรรม สมัยนั้นจิตนั้นย่อมตั้งมั่น สงบในภายใน (คือเป็นสมาธิ) เมื่อใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม จิตตั้งมั่นแล้ว มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตามย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตต์ ในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวงหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาประการที่ ๑ คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถเป็นเบื้องหน้า โดยมากมักจะเข้าใจกันว่า สมถนั้นจะต้องถึงขั้นฌานจิต แต่ความหมายของสมถธรรมดาตามปกตินั้น ก็คือ ความสงบ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติความสงบก็มีได้ ฉะนั้น ผู้ที่เจริญวิปัสสนารู้ลักษณะของนามรูป ก็จะรู้ได้ว่าในขณะนั้นมีความสงบ ฉะนั้น ท่านผู้นั้นมีสมถเป็นเบื้องหน้า ถึงแม้ว่าท่านเจริญวิปัสสนามีสติรู้ลักษณะของนามและรูป แต่ในขณะที่มีสติบ่อยๆ เนืองๆ นั้น ความสงบอาจจะเกิดขึ้นมากก็ได้ โดยสภาพของความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพราะความจงใจ หรือความต้องการที่จะให้มีความสงบ นี่ก็เป็น ประการที่ ๑
อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๒ ย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า บางท่านกำลังโกรธสติไม่เกิดเลย เพราะว่าเป็นปกติ กิเลสมีกำลังในขณะนั้น ถ้ามีกำลังมาก ก็อาจจะทำให้กายวาจาไหวไปในทางที่ไม่สมควรเพราะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ในขณะนั้นสติไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปได้ ท่านอาจจะเจริญกุศลวิธีอื่น อ่านพระธรรมจิตสงบ หรือระลึกถึงความเมตตา ท่านทำเองไม่ได้มีใครสั่ง ถึงบอกยังไงก็ทำไม่ได้ ถ้าในขณะนั้นสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น แต่การที่ท่านได้เคยฟังธรรม ก็มีอุบายมีวิธีที่จะทำให้ความรู้สึกหรือว่าลักษณะสภาพธรรมนั้นเบาบางหรือว่าระงับไป ทำให้จิตใจสงบขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตใจของท่านสงบ ท่านก็พิจารณาลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น สำหรับท่านเหล่านั้นย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า
ท่านที่ไม่สามารถที่จะมีสติรู้ลักษณะของอกุศลธรรมที่กำลังปรากฏ แล้ว ท่านก็มีวิธีระงับยับยั้ง ทำให้เกิดความสงบขึ้น เมื่อจิตใจของท่านสงบแล้ว สติก็พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ท่านเหล่านั้นก็อยู่ในข้อที่ว่า ภิกษุย่อมเจริญสมถมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า หมายความว่าจิตใจสงบ เสียก่อนแล้วจึงจะรู้ลักษณะของนามและรูป แต่อย่าไปบังคับหรืออย่าไปตั้งเป็นกฏเกณฑ์ ถ้าขณะนั้นมีอะไรที่ทำให้ท่านไม่เกิดสติ มีอะไรที่ทำให้ท่านหันไปหาการกุศล เป็นการศึกษาเป็นการอ่านพระธรรมที่จะทำให้จิตใจสงบ แล้วก็เมื่อสงบแล้วท่านก็มีสติเกิดขึ้นพิจารณานามและรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเรื่องของธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้ในขณะที่ท่านกระทำเช่นนั้น ก็เป็นนามเป็นรูปเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ให้ทราบว่าอบรมมาอย่างนั้น
ประการที่ ๓ ที่ว่า ภิกษุเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป อันนี้ก็หมายความถึงท่านที่เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านเจริญสมถกัมมัฏฐานแล้ว ท่านก็ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะฉะนั้น อุปนิสัยของความเคยชินของการที่จะทำให้จิตสงบด้วยการเจริญสมถ ก็เป็นปกติในชีวิตของท่าน แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมขณะที่ท่านกำลังเจริญความสงบอยู่ จะเป็นสมถชนิดหนึ่งชนิดใดใน ๔๐ กัมมัฏฐานนั้นก็ตาม สติปัฏฐานคือการรู้ลักษณะของจิต การรู้ลักษณะของนาม การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏในขณะนั้นก็มีได้ เพราะเหตุว่าท่านเคยฟัง นี่ก็เป็นการเจริญสมถและวิปัสสนาควบคู่กันไป
อีกประการหนึ่ง คือ ประการที่ ๔ ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม คือปราศความฟุ้งซ่าน สมัยนั้นจิตย่อมตั้งมั่นสงบภายใน พิจารณาฌานจิต หรือว่าพิจารณาจิตใจที่สงบถึงขั้นนั้นแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นข้อที่ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้นจิตย่อมตั้งมั่น เมื่อใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
แต่จะเห็นได้ว่าผู้เจริญฌานนั้น ไม่ใช่ทุกคนบรรลุมรรคผล ได้ฌานจริงจิตตั้งมั่นจริง แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐานไม่พอ ปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปไม่พอที่จะคลายความยึดถือสภาพนามรูปเหล่านั้นว่าเป็นตัวตนแล้ว ถึงแม้ว่าได้ฌานก็ไม่บรรลุมรรคผล นี่จะเห็นความสอดคล้องในพระวินัยปิฏกที่ว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงวางกฏเกณฑ์ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ทรงบัญญัติวินัย แต่ทรงแสดงธรรมอุปการะให้สติเกิดบ่อยขึ้น เพื่อให้รู้ธรรมทั่วขึ้น ทรงแสดงเรื่องของสมาธิจริง เพราะว่ามีเวลาว่างจิตใจย่อมเป็นไปในเรื่องของความสงบสำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว แต่ก็แสดงเรื่องของสติปัฏฐานว่า แม้ขณะที่จิตสงบนั้นก็เป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โคนไม้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรือนว่างตลอดเวลา ต้องทำกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันด้วย เพื่อให้เห็นว่าแม้ขณะที่กำลังกระทำกิจอื่น ตามพระวินัยบัญญัตินั้น ก็เป็นเพียงแต่นามรูปเท่านั้น ยังมีในพระสูตรอีกที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 22