ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๒ บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
สำหรับเรื่องของสักกายทิฏฐิ ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นกุลปิตาสูตร
มีข้อความว่าพระผู้มีพระภาคประทับที่ เภสกฬาวัน ใกล้เมืองสุงสุรมารติระในภัคคชนบท คฤหบดีชื่อนกุลบิดา ได้เข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่าท่านเป็นผู้ที่แก่เฒ่า ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดสั่งสอน พร่ำสอน ด้วยธรรมะที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพระผู้มีพระภาค ก็ตรัสว่า "กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังว่าฟองไข่อันผิวหนังห่อหุ้มไว้"
ที่นั่งๆ ยืนๆ นอนๆ เดินๆ กันอยู่นี่ ดูเหมือนกับมีความมั่นคงมากแต่ความจริงแล้วทรงอุปมา ว่า เป็นดังฟองไข่ อันผิวหนังห่อหุ้มไว้คือ พร้อมที่จะแตกกระจัดกระจายออกไปเมื่อไรก็ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า "เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย" ซึ่งเมื่อนกุลบิดาคฤหบดีได้ฟังแล้ว ก็มีจิตชื่นชมแล้วได้ไปหาท่านพระสารีบุตร แล้วได้เล่าถึงข้อความที่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคและพระดำรัสของพระองค์ ที่ทรงประทานโอวาทแล้ว
ท่านพระสารีบุตร ก็ได้ถามคฤหบดีต่อไปว่า "ด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายและเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย แล้วด้วยเหตุเท่าไร บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่"
มีบุคคลต่างกันเป็น ๒ จำพวก เมื่อมีกายแล้วที่จะไม่กระสับกระส่ายไปด้วยความทุกข์ของธาตุที่มีอยู่ในกายคือ ดิน น้ำ ลม ไฟนั้น เป็นไปไม่ได้แต่ถึงแม้ว่ากายจะกระสับกระส่ายบุคคลจำพวกแรกกระสับกระส่ายทั้งกายและทั้งจิต บุคคลอีกจำพวกถึงแม้ว่ากายจะกระสับกระส่ายแต่จิตก็หาได้กระสับกระส่ายไม่
เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถามคฤหบดี ต่อไปว่า "ด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายและเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายแล้วด้วยเหตุเท่าไร บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่"
ซึ่งนกุลบิดาคฤหบดีก็ไม่ได้ตอบ เพียงแต่ขอให้ท่านพระสารีบุตร แสดงธรรมให้ท่านฟัง เพื่อความชัดเจนแจ่มแจ้งซึ่งท่านพระสารีบุตร ก็ได้แสดงธรรมกับนกุลบิดาคฤหบดี มีข้อความว่า "ที่กายกระสับกระส่ายและจิตกระสับกระส่ายด้วยนั้น ก็เพราะสักกายทิฏฐิยังมีอยู่ แต่ที่ถึงแม้ว่ากายกระสับกระส่าย แต่จิตก็ไม่กระสับกระส่ายก็เพราะหมดสักกายทิฏฐิแล้ว"
ท่านพระสารีบุตร กล่าวกะนกุลบิดาคฤหบดี ว่า "ดูกรคหบดี ก็อย่างไรเล่า บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายด้วย เป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายด้วย
ดูกรคฤหบดี คือปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ในโลกนี้มิได้เห็นพระอริยทั้งหลายไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรมมิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษมิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตัวตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ในความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา เป็นต้น" เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้รู้แจ้งในสภาพของนามและรูป ตามความเป็นจริงแล้ว ที่จะเห็นผิด ย่อมจะเป็นสิ่งที่ไปไม่ได้
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส"ภัทเทกรัตตคาถา" โดยย่อไว้ว่า "ผู้มีปัญญา" ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละไปแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึงเล่า สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้มาถึงบุคคลใด มาเห็นแจ้งซึ่งธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ในที่นั้นๆ บุคคลนั้น ได้รู้ธรรมนั้นแล้ว ควรเจริญไว้เนืองๆ อย่าให้ง่อนแง่น คลอนแคลนความเพียรเผากิเลส ควรทำวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้เพราะความผัดเพี้ยนต่อมัจราช ผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลายมุนี ผู้สงบ ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้มี ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ ผู้มี ความเพียรเผากิเลสไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวัน กลางคืน นั้นแล ว่า "ผู้มีราตรีเดียวเจริญ"
จากหนังสือ เนตติปกรณ์ แปลโดย อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
สาธุ
...ขออนุโมทนาครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
อิ่มใจ ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ