มรณะ หมายถึงอะไร? [วิภังค์]
โดย wittawat  14 พ.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47743

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 282

[๑๔๘] มรณะ เป็นไฉน?

ความเคลื่อน ภาวะที่เคลื่อน ความทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า มรณะ.


วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 330 โดยสรุป
นิเทศแห่งมรณะโดยสมมติ
- ความเคลื่อน (จุติ) หมายถึง การเคลื่อนจากภพ เป็นคำพูดถึงการจุติของขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕
- ภาวะที่เคลื่อน (จวนตา) หมายถึง ลักษณะหรือภาวะของการเคลื่อน
- ความทำลาย (เภโท) หมายถึง ความดับไป หรือการเกิดขึ้นของภังคะ (ความดับ) ของขันธ์ที่จุติ
- ความหายไป (อนฺตรธานํ) หมายถึง ความไม่มีที่ตั้งโดยปริยายใดๆ ของจุติขันธ์ที่แตกดับ ดุจหม้อที่แตกไป
- มฤตยู ความตาย (มจฺจุมรณํ) แปลว่า มฤตยูคือความตาย มัจจุผู้กระทำซึ่งที่สุด
- ความทำกาละ (กาลกิริยา) หมายถึง การกระทำซึ่งกาละ (สภาวะที่ทำที่สุด) นั้น
นิเทศแห่งมรณะโดยปรมัตถ์
- ความแตกแห่งขันธ์ (ขนฺธานํเภโท) อธิบายว่า เมื่อขันธ์กำลังแตก ย่อมมีโวหารว่า สัตว์กำลังตาย เมื่อขันธ์แตกแล้ว ย่อมมีโวหารว่า สัตว์ตายแล้ว ท่านแสดงด้วยอำนาจจตุโวการภพ (พวกอรูปพรหม) และปัญจโวการภพ (พวกเทพในสวรรค์ ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นต้น)
ความแตกแห่งขันธ์ หมายถึง การตายที่ไม่ทิ้งอะไรๆ ไว้ เพราะเมื่อเทพบนสวรรค์ตายย่อมไม่ทิ้งซากศพไว้ (ย่อมแตกไปนั่นเอง ไม่ทิ้งอะไรๆ ไว้) ด้วยอำนาจแห่งเทพ
- ความทอดทิ้งซากศพ (กเฬวรสฺส นิกฺเขโป) หมายถึง การตายโดยการทอดทิ้งร่างกายไว้ ด้วยอำนาจแห่งเอกโวการภพ (พวกอสัญญีสัตว์) และปัญจโวการภพ (พวกมนุษย์ เป็นต้น) เพราะพวกมนุษย์ เป็นต้น ตายย่อมทิ้งศพไว้
- ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินฺทฺริยสฺส อุปจฺเฉโท) ทรงแสดงว่า มีเฉพาะความตายของขันธ์ที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้น ไม่มีความตายของขันธ์ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์
แม้จะมีคำว่าต้นข้าวตายก็จริง เป็นแต่เพียงคำพูดเท่านั้น เพราะรูปในข้าวไม่มีชีวิตินทรีย์เกิดร่วมด้วย ซึ่งคำพูดนี้ย่อมแสดงว่าทุกสิ่งย่อมสิ้นไปเสื่อมไป
- มรณะ ๓ ประเภท คือ ขณิกมรณะ สมมติมรณะ สมุจเฉทมรณะ
-> ขณิกมรณะ หมายถึง ตายทุกขณะ ได้แก่ ความแตกแห่งรูปธรรมและอรูปธรรมในปวัตติกาล (ช่วงเวลาที่เป็นไปภายหลังจากปฏิสนธิจนกระทั่งถึงจุติ)
-> สมมติมรณะ หมายถึง ตายโดยสมมติ ได้แก่ ท่านติสสะตาย ท่านปุสสะตาย เป็นต้น
-> สมุจเฉทมรณะ หมายถึง ตายโดยตัดขาด ได้แก่ การทำกาละของพระขีณาสพไม่มีปฏิสนธิ


ความตายที่พระองค์แสดงในที่นี้ มุ่งหมายถึง สมมติมรณะ ซึ่งมีลักษณะดังนี้
จุติลกฺขณํ มีการเคลื่อนจากภพเป็นลักษณะ
วิโยครสํ มีการพรากไปเป็นกิจ
วิปฺปวาสปจฺจุปฏฺานํ มีการปราศจากภพเก่าเป็นปัจจุปัฏฐาน.

กราบอนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 17 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ