Tag ควรฆ่ามารดา หมายความว่าอย่างไรครับ
โดย kornzaq  15 เม.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 31744

ตามหัวข้อเลยครับ

หมายถึงการดับกิเลสหรืออวิชชาหรือเปล่าครับ

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย kornzaq  วันที่ 15 เม.ย. 2563

อย่างเช่นกระทู้นี้ครับ

ต้นตอที่แท้จริง


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถูกต้องครับ ตามกระทู้ที่ได้ตอบไปแล้ว ซึ่งขอคัดลอกมาให้อ่านอีกครั้ง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่านครับ


หากพิจารณาความละเอียดของธรรมลงไปในเรื่องบิดามารดาที่แท้จริงแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะเป็นไปในการดับกิเลส เพราะในความเป็นจริงผู้ที่เป็นมารดาบิดา บิดาที่แท้จริงคือ กรรมที่บุคคลทําไว้ เป็นดังเช่น มารดาบิดา ที่ทำให้เกิดขึ้นมา เกิดปฏิสนธิจิตได้เพราะอาศัยกรรมเป็นปัจจัยและที่ละเอียดลงไปกว่านั้น มารดา บิดาที่แท้จริงคืออวิชชา ความไม่รู้ที่เป็นต้นเหตุให้สัตว์เกิด เพราะมีอวิชชาจึงทำกรรมต่างๆ และเป็นเหตุให้สัตว์เกิดและตาย ไม่มีที่สิ้นสุด นํามาซึ่งทุกข์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ควรฆ่ามารดา คือ กิเลส มีความไม่รู้และความเห็นผิด

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงเรื่องมารดา ที่เป็นสภาพธรรมคืออะไร

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖- หน้าที่ 642

ก็กำหนดนามรูป โดยนัยดังกล่าวแล้ว กำหนดอยู่ว่าอะไรหนอเป็นเหตุแห่งนามรูปนี้ ครั้นเห็นโทษในอเหตุวาทะ และเหตุวาทะ อันแตกต่างกัน จึงแสวงหาเหตุและปัจจัยของนามรูปนั้น ดุจแพทย์ครั้นเห็นโรคแล้วจึงตรวจดูสมุฏฐานของโรคนั้น จึงเห็นธรรม ๔ เหล่านี้ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ว่าเป็น เหตุ เพราะเป็นเหตุให้เกิดนามรูป และว่าเป็นปัจจัย เพราะมีอาหารเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ กำหนดปัจจัยแห่งรูปกายอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นต้น เป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่กายนี้ เหมือนมารดา เป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่ทารก มีกรรมทำให้เกิด เหมือนบิดาทำบุตรให้เกิด มีอาหารเลี้ยงดูเหมือนแม่นมเลี้ยงดูทารก แล้วกำหนดปัจจัยแห่งนามกายโดยนัยมีอาทิว่า อาศัยจักษุและรูป จักขุวิญญาณย่อมเกิด เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ ย่อมตกลงใจได้ว่า ธรรมแม้ที่เป็นอดีตและอนาคต ย่อมเป็นไปอย่างนี้เท่านั้นเหมือนกัน.


นามรูป ขณะเกิดนั้น มีมารดาคือ อวิชชา คือโมหะ-ความไม่รู้ มีตัณหา คือ โลภะ มี อุปาทาน คือ โลภะที่มีกำลัง และมี บิดาคือ เจตนาเจตสิกที่กระทำกรรม ธรรมะ ๔ อย่าง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นมารดา และ เจตนาคือกรรมเป็นบิดานั้น เป็นคำอุปมา ว่าเกิดมา จะมีแต่บิดาหรือมารดาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทั้งบิดาและมารดาจึงเกิดมาได้

ขณะนี้มีมารดาไหม ขณะนี้มีเห็น ก็ติดข้อง มีอวิชชา เปรียบเหมือนมารดา ก็ไม่รู้ก็ติดข้อง ยึดมั่น ก็ย่อมมีการกระทำกรรมซึ่งเปรียบเหมือนบิดา เพราะฉะนั้นทั้งบิดามารดาจึงเป็นเหตุให้เกิดนามรูป เกิดในภพภูมิต่างๆ และ กรรม ยังไม่ใช่ให้เกิดในปฏิสนธิกาลเท่านั้น ยังเป็นเหตุให้เกิดนาม-รูป ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีจักขุปสาท โสตปสาท มีจิตเห็น จิตได้ยิน

เมื่อฆ่าบิดาและมารดา คือ อวิชชาดับ สังขารจึงดับ เมื่อสังขารดับ นาม-รูป จึงดับ

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ -หน้าที่ ๑๖๕

มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา ราชาโน เทฺว จ ขตฺติเย รฏฐํ สานุจรํ หนฺตฺวา อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ.

"บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสอง และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่"

ก็ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยว่า ตัณหา ชื่อว่ามารดา เพราะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพ ๓ เพราะบาลีว่า "ตัณหายังบุรุษให้เกิด"

อัสมิมานะ ชื่อว่าบิดา เพราะอัสมิมานะอาศัยบิดาเกิดขึ้นว่า "เราเป็นราชโอรสของพระราชาชื่อโน้น หรือเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้น" เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างในพระอภิธรรม แสดงอวิชชาเป็นบิดาด้วย...

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 458

ว่าด้วยนิเทศอวิชชาเป็นปัจจัย (บาลีข้อ ๒๔๖)

บัดนี้ เป็นกถาว่าโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งนิเทศวาร จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนี้ ในพระบาลีนั้น เมื่อจะทรงแสดงสังขารทั้งหลาย อันมีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะบุคคลเมื่อจะพูดถึงบุตร ก็ย่อมกล่าวถึงบิดาก่อน ด้วยว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ บุตรก็เป็นคำพูดได้ดีว่าบุตรของนายมิต บุตรของนายทัตตะ ดังนี้ ฉะนั้น พระศาสดาทรงเป็นผู้ฉลาดในเทศนา เพื่อทรงแสดงอวิชชาเช่นเป็นบิดาด้วยอรรถว่า ยังสังขารทั้งหลายให้เกิดก่อน จึงตรัสคำว่า ตตฺถ กตมา อวิชฺชา ทุกฺเข อญฺญาณํ (ในปัจจยาการเหล่านั้น อวิชชาเป็นไฉน ความไม่รู้ทุกข์) เป็นต้น

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย kornzaq  วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

ตอนแรกที่อ่านเกือบเข้าใจผิด ว่า มีความหมายตรงตัวตามคำพูด

ที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการอุปมา ผมเข้าใจถูกใช่ไหมครับ


ความคิดเห็น 4    โดย เฉลิมพร  วันที่ 15 เม.ย. 2563

กราบเรียนถาม การอุทิศบุญกุศลให้บิดาที่ล่วงลับไปแล้วกระทำได้อย่างไรครับ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 15 เม.ย. 2563

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

ถูกต้องครับ อุปมาให้เข้าใจ ครับ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 15 เม.ย. 2563

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

การอุทิศส่วนกุศล เป็นบุญประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยเมื่อมีการทำบุญประเภทต่างๆ แล้วก็มีจิตคิดให้ผู้อื่นรับรู้บุญที่ได้ทำมา เพื่อให้สัตว์นั้นได้อนุโมทนา ดังนั้น การอุทิศส่วนกุศลจึงเป็นเรื่องของจิต ที่มีเจตนาให้ผู้อื่นรู้ในบุญที่ตนได้กระทำ ครับ

ซึ่งกุศลทุกๆ ประการที่ได้ทำสามารถอุทิศได้ ซึ่งกุศลของผู้ที่ได้ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรม เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก จึงไม่สามารถจะยกบุญของตนเองไปให้ผู้อื่น เพราะ บุญของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นปัญหา หากว่า ลืมอุทิศ หลังจากที่เพิ่งได้ทำบุญ ก็สามารถอุทิศภายหลังได้เมื่อนึกขึ้นได้ เพราะ การอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นการบอกบุญ ให้ญาติรับรู้ ที่เกิดเป็นเปรตหรือ เทวดา ได้รับรู้ และญาติเกิดจิตอนุโมทนา คือ เกิดกุศลจิตของตนเอง อนุโมทนาในกุศลที่เราได้ทำ

เพราะฉะนั้น การอนุโมทนาของญาติ ก็ต้องเป็นกุศลของญาติเอง ไม่ใช่ การนำบุญของตนไปให้ญาติ เพราะว่า บุญของเราเองก็เกิดดับไปแล้ว แม้เพิ่งอุทิศเดี๋ยวนั้นบุญที่เราได้ทำก็ดับไปแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่จะอุทิศภายหลัง ซึ่งหากมีการอุทิศภายหลังหลายวัน และญาติเกิดจิตอนุโมทนาก็ได้รับส่วนบุญ ส่วนบุญนี้ ไม่ใช่มาจากการยกบุญของเราไปให้ เหมือนสิ่งของที่มอบให้ แต่ส่วนบุญที่ได้รับ อาศัยบุญที่เราได้ทำ ทำให้ญาติเกิดกุศลจิตของตนเอง จึงได้รับส่วนบุญของจิตที่ตนเองทีเกิดกุศลจิต ครับ ซึ่ง ถ้าเกิดเป็น สัตว์นรก เป็น สัตว์เดรัจฉาน และ มนุษย์ เหล่านี้ ไม่สามารถรับอุทิศส่วนกุศลได้ หากถ้าเกิดเป็น เปรต เป็น โอปปาติกะ คือ ตายแล้วเกิดโตเป็นตัวโตทันทีไม่ได้ผ่านการเกิดในครรภ์ในท้องก่อน เพราะฉะนั้น สัตว์ที่เกิดโตทันทีจึงจำความได้ว่า ชาติก่อนเป็นอะไร ชื่ออะไร เพราะเพียงการสืบต่อของขณะจิตเดียว คือ จุติจิตไปปฏิสนธิจิต และ โต เป็นตัวใหญ่ทันทีรู้เรื่องเลย ต่างกับภพภูมิมนุษย์ที่ต้องเกิดในครรภ์ก่อน ค่อยๆ โต และ เป็นเด็กทารก โดยมาก จึงจำชื่อ เรื่องราวต่างๆ ในชาติก่อนไม่ได้เพราะฉะนั้น หากเกิดเป็นปรตโตทันทีก็จำชื่อของตนเองในชาติก่อนได้ และเมื่อมีญาตอุทิศส่วนกุศลให้ และ รับรู้ ก็เกิดจิตอนุโมทนา เพราะ กล่าวถึงชื่อของตนที่ญาติอุทิศก็ได้รับส่วนกุศลนั้น ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก ในการอุทิศที่เอ่ยชื่อ ครับ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า ๔๒๙

เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่าขอส่วนบุญจงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 15 เม.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อักขณสูตร

“คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สังสาระคือชาติและมรณะสิ้นกาลนาน ส่วนชนเหล่าใด ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้วเมื่อพระตถาคตเจ้าประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จักกระทำหรือกระทำอยู่ ตามพระดำรัสของพระศาสดา ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ประสบขณะ คือ การประพฤติพรหมจรรย์ (ประพฤติที่ประเสริฐ) อันยอดเยี่ยมในโลก

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อักขณสูตร)

อวิชชา เป็นอกุศลธรรมที่มีโทษมากและคลายก็ยากด้วย จะเห็นได้ว่า อกุศลจิตทุกขณะ ทุกประเภท เกิดเพราะอวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นผลที่มาจากเหตุ ไม่รู้ความจริงโดยประการทั้งปวง ความเป็นจริงของอวิชชา ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมไม่รู้ความจริง เมื่อนั้น สาเหตุหลักที่แต่ละบุคคลยังท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะยังมีอวิชชาอยู่นั่นเอง เป็นสภาพที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริงก็มืดมน ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้นแล้ว อวิชชา จึงเกิดกับขณะจิตมากมายอย่างนับไม่ถ้วน ซึ่งถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า มากไปด้วยอวิชชา เป็นอย่างมาก

ดังนั้น ที่พึ่งที่จะทำให้เข้าใจความจริง คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะในชีวิตที่เกิดมาไม่มีขณะไหนเลยที่จะมีค่าเท่ากับขณะที่เข้าใจพระธรรมซึ่งสามารถที่จะศึกษาได้ เข้าใจได้ และเป็นประโยชน์สูงสุดด้วย ครับ


กุศล ที่ได้ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล หรือแม้แต่การฟังพระธรรม ก็สามารถอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ การอุทิศส่วนกุศลให้ใคร จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้นั้นได้รู้ เพื่อผู้นั้นจะได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตน มีแต่สภาพธรรมเท่านั้น กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ
ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ต้องมีการเกิดอีก ถ้าเกิดในภพภูมิที่สามารถรับรู้ถึงการทำความดีของผู้อื่นได้ และสะสมมาที่จะเห็นคุณของความดี ผู้นั้นก็สามารถที่จะเกิดกุศลจิต อนุโมทนาในความดีของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 8    โดย Somporn.H  วันที่ 21 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ