เปรตรู้แจ้งธรรมได้หรือไม่? [ปุนัพพนุสูตร]
โดย wittawat  9 ส.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48265

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เปรตรู้แจ้งธรรมได้หรือไม่?

ปุนัพพนุสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 405
[๘๒๓] ครั้งนั้นแล นางยักษิณีผู้เป็นมารดาของปุนัพพสุปลอบบุตรน้อยอย่างนี้ว่า
นิ่งเสียเถิดลูกอุตรา นิ่งเสียเถิดลูกปุนัพพสุ จนกว่าแม่จะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระศาสดาจบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนิพพานอันเป็นเครื่องเปลื้องตนเสีย จากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เวลาที่ปรารถนาในธรรมนั้นจะล่วงเลยแม่ไปเสีย ของลูกตนเป็นที่รักในโลก ผัวของตนเป็นที่รักในโลก แต่ความปรารถนาในธรรมนั้น เป็นที่รักของแม่ยิ่งกว่าลูกและผัวนั้น เพราะลูกหรือผัวที่รัก พึงปลดเปลื้องจากทุกข์ไม่ได้ เหมือนการฟังธรรมย่อมปลดเปลื้องเหล่าสัตว์จากทุกข์ได้ ในเมื่อโลกอันทุกข์วงล้อมแล้ว ประกอบด้วยชราและมรณะ แม่ปรารถนาจะฟังธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เพื่อพ้นจากชราและมรณะ จงนิ่งเสียเถิดลูกปุนัพพสุ.
[๘๒๔] ปุนัพพสุพูดว่า
แม่จ๋า ฉันจักไม่พูด อุตราน้องสาวของฉันก็จักเป็นผู้นิ่ง เชิญแม่ฟังธรรมอย่างเดียว การฟังพระสัทธรรมนำความสุขมาให้ แม่จ๋า เราไม่รู้พระสัทธรรมจึงได้เที่ยวไปลำบาก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เป็นผู้ทำความสว่างไสวแก่เทวดาและมนุษย์ผู้ลุ่มหลง มีพระสรีระครั้งสุดท้าย มีพระจักษุ แสดงธรรมอยู่.
[๘๒๕] ยักษิณีพูดว่า
น่าชื่นชมนัก ลูกผู้นอนบนอกของแม่เป็นคนฉลาด ลูกของแม่ย่อมรักใคร่พระธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริญ ปุนัพพสุเจ้าจงมีความสุขเถิด วันนี้แม่เป็นผู้ย่างขึ้นไปในพระศาสนา แม่และเจ้าเห็นอริยสัจแล้ว แม้แม่อุตรก็จงฟังแม่.


ปิยังกรสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 403
[๘๒๐] ครั้งนั้นแล นางยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระปลอบบุตรน้อยอย่างนี้ว่า
ปิยังกระ อย่าอึกทึกไป ภิกษุกำลังกล่าวบทพระธรรมอยู่ อนึ่ง เรารู้แจ้งบทพระธรรมแล้วปฏิบัติ ข้อนั้นจะพึงมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา.
[๘๒๑] เราสำรวมในเหล่าสัตว์มีปราณ เราไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เราศึกษา ทำตนให้เป็นผู้มีศีลดีนั่นแหละ เราจะพ้นจากกำเนิดปีศาจ.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้า 324
วิญญาณฐิติ มีอะไรบ้าง? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่นมนุษย์ทั้งหลาย เทพบางพวก วินิปาติกะ เปรตบางหมู่ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑ ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนะว่า นตฺถิ กิญฺจิ ไม่มีอะไรๆ . นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๗ เหล่านี้แล ...
บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา - วินิปาติกะบางพวก ได้แก่ เวมานิกเปรต เหล่าอื่นอาทิอย่างนี้ คือ ยักษิณี ชื่อ ปุนัพพสุมาตา ปิยังกรมาตา ผุสสมิตตา ธรรมคุตตา พ้นจากอบาย ๔. เปรตเหล่านั้นมีกายต่างกัน โดยมีผิวขาว ดำ เหลือง และสีนิลเป็นต้น และโดยมีลักษณะผอม อ้วน เตี้ย สูง. แม้สัญญาก็ต่างกันด้วยอำนาจติเหตุกะ ทวิเหตุกะและอเหตุกะเหมือนสัญญาของมนุษย์ทั้งหลาย. แต่เวมานิกเปรตเหล่านั้นไม่มีศักดิ์ใหญ่เหมือนเทพทั้งหลาย. มีศักดิ์น้อย อาหารและเสื้อผ้าหาได้ยาก ถูกทุกข์บีบคั้นเหมือนมนุษย์ยากไร้. วินิปาติกะบางพวก ในวันข้างแรมได้รับทุกข์ ในวันข้างขึ้นได้รับสุข, เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วินิปาติกา เพราะตกไปจากการสะสมสุข. อนึ่ง ในบทนี้ แม้การรู้ธรรมของวินิปาติกะที่เป็นติเหตุกะก็มีได้ ดุจการรู้ธรรมของยักษิณี ชื่อว่า ปิยังกรมาตาเป็นต้น ... แม้ในเปตติวิสัย บางพวกก็ ๖๐ ศอก บางพวกก็ ๘๐ ศอก บางพวกผิวงาม บางพวกผิวทราม. เหมือนกาลกัญชิกาสูร. อนึ่ง บรรดาเปรต เหล่านี้ พวกทีฆปิฏฐิกาเปรตก็มีกายสูง ๖๐ โยชน์. สัญญาของเปรตทั้งหมดนั้นเป็นไปกับอเหตุกะมีอกุศลเป็นวิบาก. แม้สัตว์ในอบายทั้งหลายก็ถือได้ว่าเป็นผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน.


[สรุป]
เปรตรู้แจ้งธรรมได้หรือไม่?
เปรตจำแนกเป็น ๒ พวก ใหญ่ๆ พวกที่เป็นวินิบาต และเปตวิสัย เปรตพวกที่เป็น เปตวิสัย เกิดด้วยอกุศลวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเท่านั้น ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมได้เลย ส่วนเปรตพวกที่เป็นวินิบาต หรือกลุ่มเวมานิกเปรต มีศักดิ์ต่ำกว่าเทพ แต่ก็เกิดด้วยวิบากที่มี ๓ เหตุบ้าง ๒ เหตุบ้าง หรือไม่มีเหตุเลย เช่นเดียวกับมนุษย์ ข้อความในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์สารัตถปกาสินีอธิบายสังยุตตนิกาย แสดงว่า มีเวมานิกเปรต แสวงหาอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น หลังพระเชตวัน เมื่อฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็สามารถรู้แจ้งธรรมได้ เช่น ยักษิณี ชื่อว่า ปุนัพพสุมาตา ปิยังกรมาตา เป็นต้น

ขอกราบอนุโมทนา