วัฏฏะ และวิวัฏฏะ ของศีล สมาธิและปัญญา
โดย Jumzper  23 ก.พ. 2559
หัวข้อหมายเลข 27484

เคยฟังในรายการ ธรรมะก่อนนอน ปกิณกะธรรม เสาร์ อาทิตย์ สามทุ่มถึงสี่ทุ่ม สถานีวิทยุรัฐสภา เมื่อไม่นาน ตอนที่ประมาณ 310 - 320 - 325 (ไม่แน่ใจว่าตอนที่เท่าไหร่) เคยได้ยิน อาจารย์สุจินต์ บรรยายว่า แม้ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเป็นไปเพื่อวิวัฏฏะ แต่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ ก็มี (ถ้าจำไม่ผิด) อยากทราบว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ ในที่นี้ คือ อย่างไร หมายถึงอะไร (ที่อาจารย์สุจินต์บรรยาย) สำหรับผมพอรู้อยู่ว่าคือ วิชชาธรรมกาย ผม มีความคิดเห็นถูกผิดหรือไม่อย่างไรครับ

กราบขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะหนทางการดับกิเลส ดังนั้น ในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา ก็ต้องเข้าใจว่า คืออะไร

ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้ง ศีลที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญา

สมาธิ โดยทั่วไป ก็เข้าใจกันว่า คือ การนั่งสมาธิให้สงบ แต่ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้คำว่า อธิจิตสิกขา หรือ บางครั้งใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ที่มุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนา และ สมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาในปัญญาขั้นวิปัสสนา

ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ก็มีหลายระดับ แต่ คือ ความเห็นถูกเช่น เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาขั้นการฟังการศึกษา ปัญญาขั้นสมถภาวนา และปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา

ดังนั้น ศีล สมาธิและปัญญา ที่ไม่เป็นไปในความเข้าใจถูกในหนทางการดับกิเลส ที่ไม่ใช่ไตรสิกขา ก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็น วัฏฏะ มีการเจริญสมถภาวนา เป็นต้น

ส่วน ศีล สมาธิและปัญญา ที่เป็น วิวัฏฏะ คือ เป็นไปในการดับกิเลส คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หนทางใดก็ตาม ถ้าไม่ได้เป็นไป เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น นั่นไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปเพื่อออกจากทุกข์ ก็ยังอยู่ในฝั่งนี้คือ ฝั่งของสังสารวัฏฏ์ ฝั่งของกิเลส ไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลส แต่ถ้าดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ (ประมวลแล้ว ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ซึ่งเริ่มด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ก็สามารถดำเนินไปถึงฝั่งโน้น ซึ่งเป็นฝั่งของการดับกิเลสจนหมดสิ้นไป จึงต้องเริ่มที่การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ต่อไป ครับ

สำหรับประเด็น ธรรมกาย ควรจะได้เข้าใจให้ถูกต้อง ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ธรรมกาย

ธรรมกาย เป็นชื่อของพระตถาคต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย Jumzper  วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย สิริพรรณ  วันที่ 21 ส.ค. 2565

กราบอนุโมทนายินดีในกุศลด้วยความเคารพค่ะ