ผู้ที่ต้องปาราชิกแล้ว เมื่อลาสิกขาก็ยังสามารถกระทำให้แจ้งมรรคผลได้ไหม? เพราะเหตุไร?
โดย ธุลีปดล  16 มี.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24584

ขอสอบถามว่าสมมติสงฆ์ ผู้ที่ต้องปาราชิกแล้ว หากลาสิกขาออกมาแล้ว

-ยังสามารถเจริญตนให้ได้มรรคผลในชาตินั้นได้หรือไม่ครับ? และสามารถปฏิบัติให้เกิดโลกียฌาณได้หรือไม่ครับ?

มีพุทธพจน์กล่าวไว้บ้างหรือเปล่าครับ ทราบแต่ว่าถ้าไม่ลาสิกขา ก็ปฏิบัติยังไม่ได้ผล

- และหากไม่ได้ เพราะสาเหตุใดครับ? (ในประเด็นว่า มีสภาพธรรมใดมาขวางกั้นไม่ให้ปัญญาเจริญได้หรือไม่)

อนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 16 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปาราชิก คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุอาบัติ อาบัติหนักที่สุด ที่เรียกว่า อาบัติปาราชิก พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อความผิดสำเร็จ

ปาราชิก มี 4 ข้อ อยู่ใน ศีล 227 ได้แก่

1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)

2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)

3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์

4. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)

สำหรับพระที่ต้องอาบัติปาราชิก แต่หากสึกออกมาเป็นเพศคฤหัสถ์แล้ว สามารถอบรมปัญญา และบรรลุ มรรคผล เป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาบัติไม่ได้ติดตัวมา สำหรับผู้ที่กลับมาเป็นเพศคฤหัสถ์ ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 119

ข้อความบางตอนจาก

อรรถกถา อัจฉราสังฆาตวรรค

.......ไม่พึงอาจละฐานะได้ แต่นั้นบาปของภิกษุเหล่านั้นกำเริบขึ้น จะพึงทำเธอให้จมลงในอบายถ่ายเดียว แต่ฟังเทศนากัณฑ์นี้แล้ว เกิดความสังเวช ละฐานะ. ตั้งอยู่ในภูมิแห่งสามเณร บำเพ็ญศีล ๑๐ ประกอบขวนขวายในโยนิโสมนสิการ บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลก.

พระธรรมเทศนาได้มีผลแม้แก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกด้วยอาการอย่างนี้.

ฝ่ายภิกษุนอกนี้ ถ้าไม่พึงได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ไซร้ เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็จะพึงต้องอาบัติสังฆาฑิเสสบ้าง ปาราชิกบ้าง ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว คิดว่า พระพุทธศาสนา ช่างขัดเกลาจริงหนอ พวกเราไม่สามารถจะบำเพ็ญข้อปฏิบัตินี้ตลอดชีวิตได้ จำเราจักลาสิกขา บำเพ็ญอุบาสกธรรม จักพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้แล้ว จึงพากันสึกไปเป็นคฤหัสถ์

ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในสรณะ ๓ รักษาศีล ๕ บำเพ็ญอุบาสกธรรม บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลกแล ฯลฯ


พระวินัยบัญญัติแต่ละสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระภิกษุได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นๆ อันจะเป็นไปเพื่อฝึกหัดกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบท ก็ย่อมจะมีได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่หนักที่สุด เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ซึ่งต้องศึกษาพระวินัยแต่ละข้อๆ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ถ้าหากว่าตนเองได้กระทำผิดในข้อใดก็หนึ่งใน ๔ ข้อ ก็คือ ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เมื่อต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่สามารถเป็นบรรพชิตต่อไปได้อีก ต้องลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ หรือ บวชเป็นสามเณร ก็จะไม่เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรค ผล นิพพาน สามารถเป็นคนดีได้ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

การต้องอาบัติ ไม่ว่าจะหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผลนิพพาน และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ถ้าสึกออกมาแล้ว ก็ไม่มีอาบัติเป็นเครื่องกั้น ก็สามารถเป็นคนดีในเพศคฤหัสถ์ได้ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 16 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่สามารถเป็นบรรพชิตต่อไปได้อีก ต้องลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ หรือ บวชเป็นสามเณร ก็จะไม่เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรค ผล นิพพาน สามารถเป็นคนดีได้ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม

อาบัติแต่ละกองๆ มีโทษต่างกัน กล่าวคือ อาบัติปาราชิก ต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที อาบัติสังฆาทิเสสต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรที่เรียกว่า อยู่กรรม (วุฏฐานวิธี) ตามพระวินัย จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้ อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องเข้าแล้วต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก อาบัติที่เหลือ เมื่อต้องเข้าแล้ว สามารถออกจากอาบัติดังกล่าวนี้ได้ ด้วยแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน แสดงถึงความจริงใจที่จะสำรวมระวังต่อไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะมีอาบัติเป็นเครื่องกั้น (อาณาวีติกกมะ) และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการบวชว่า บวชเพื่ออะไร ก็จะทำให้ละเลยถึงกิจที่ตนเองควรทำให้สมกับเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ คือ ละเลยในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การประพฤติปฏิบัติก็ย่อมจะผิดไปด้วย ทำให้มีความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ต้องอาบัติด้วยความไม่ละอาย โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เป็นไปตามการสะสมของแต่ละคนแต่ละท่านจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นบรรพชิตเป็นเพศที่สูงยิ่ง ถ้ารักษาไม่ดี ก็ย่อมมีแต่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว คร่าไปสู่อบายภูมิได้เลยทีเดียว ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์สูงสุดของการบวช ก็จะเป็นผู้ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความจริงใจ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ

พระธรรมวินัย เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำทุกพยัญชนะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อละคลายกิเลส เพื่อกำจัด (วินัย แปลว่า กำจัด) กิเลส จนกว่าจะถึงกาละที่กิเลสจะดับหมดสิ้นไป ทั้งหมดนั้นควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ศึกษาเมื่อใด เข้าใจเมื่อใดก็เป็นประโยชน์เมื่อนั้น เพราะความเข้าใจพระธรรมวินัย ไม่มีความเสียหายใดๆ เลยมีแต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น ทำให้ถอยห่างจากอกุศลไปตามลำดับ จนกว่าจะสามารถละได้จนหมดสิ้น บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 16 มี.ค. 2557

ถ้าสึกแล้ว อบรมปัญญา บรรลุธรรมได้ แต่ถ้าไม่สึก ไม่บรรลุ และ ไปอบาย ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nopwong  วันที่ 17 มี.ค. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย Nipuno  วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอสอบถามเพิ่มเติ่มครับเนื่องด้วยตอนนี้ตัวผมนั้นเกิดความเศร้าหม่องในจิตใจเป็นอย่างมาก เกิดเป็นข้อกังวลในสมองตลอดเวลา เนื่องด้วยผมมีฤกษ์บวชได้ 7 วัน ได้ทำอาบัติสังฆทิเสสข้อที่ 1 แบบตั้งใจลงไป สำนึกได้เมื่อทำลงไปแล้ว เครียดมากครับ ตอนนี้ได้สึกมาแล้วเกือบอาทิตย์ ผมควรทำยังไงครับ ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นยังไง มีผลต่อการดำรงชีวิตไหม ญาติพี่น้องที่ร่วมทำบุญในการบวชของผมจะได้รับผลบุญไหมครับ (ตอนอยู่วัดผมปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างถูกต้อง ผิดขอสังฆทิเสสข้อเดียว) ช่วยตอบให้ผมสบายใจได้ไหมครับ


ความคิดเห็น 6    โดย j.jim  วันที่ 22 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 11 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)


ความคิดเห็น 10    โดย Suphaset  วันที่ 13 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ