วัฑฒิสูตร และ สัมปทาสูตร - ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๑
โดย บ้านธัมมะ  27 พ.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 8730

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๔. วัฑฒิสูตร

ว่าด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 234

และสัมปทาสูตร
ว่าด้วยความเสื่อม ๕ และสมบัติ ๕

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 271

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 234

๔. วัฑฒิสูตร ว่าด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ

[๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่ประเสริฐ (แห่งกาย ความเจริญ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

อริยสาวก ... ย่อมเจริญด้วยนาและสวน ๑ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ๑ ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา ๑ ย่อมเจริญด้วยทาส กรรมกรและคนใช้ ๑ ย่อมเจริญด้วยสัตว์ ๔ เท้า ๑ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑ ย่อมเจริญด้วยศีล ๑ ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ก็เมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย. บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก บุตรภรรยา และสัตว์ ๔ เท้า บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีโชค มียศ เป็นผู้อันญาติมิตรแลพระราชาบูชาแล้ว บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญา บุคคลเช่นนั้น เป็นสัปบุรุษ ปัญญาเครื่องพิจารณา ย่อมเจริญด้วยความเจริญทั้งสองประการในปัจจุบัน.

จบวัฑฒิสูตรที่ ๔


อรรถกถาวัฑฒิสูตรที่ ๔

วัฑฒิสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อริยาย ได้แก่ มิใช่ของปุถุชน. คำนี้ตรัสไว้ ก็เพราะคละกับด้วยธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้น.

บทว่า สาราทายี จ โหติ วราทายี ความว่า ย่อมเป็นผู้ยึดไว้ได้ซึ่งสาระและส่วนประเสริฐ. อธิบายว่า ย่อมยึดไว้ซึ่งสาระของกาย และส่วนประเสริฐของกายนั้น.

จบอรรถกถาวัฑฒิสูตรที่ ๔


[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 271

๑๐. สัมปทาสูตร * ว่าด้วยความเสื่อม ๕ และสมบัติ ๕

[๑๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ...

ความเสื่อมญาติ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคะ ๑ ความเสื่อมเพราะโรค ๑ ความเสื่อมศีล ๑ ความเสื่อมทิฏฐิ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วย่อมไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเพราะเหตุแห่งความเสื่อมญาติ เพราะเหตุแห่งความเสื่อมโภคะหรือ เพราะเหตุแห่งความเสื่อมเพราะโรค (แต่ว่า) สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมศีล หรือเพราะเหตุแห่งความเสื่อมทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อม ๕ ประการนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ...

สมบัติคือญาติ ๑ สมบัติคือโภคะ ๑ สมบัติคือความไม่มีโรค ๑ สมบัติคือศีล ๑ สมบัติคือทิฏฐิ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วย่อมไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติคือญาติเพราะเหตุแห่งสมบัติคือโภคะ หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติคือความไม่มีโรค (แต่ว่า) สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสมบัติคือศีล หรือเพราะเหตุแห่งสมบัติคือทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติ ๕ ประการนี้แล.

จบสัมปทาสูตรที่ ๑๐

จบคิลานวรรคที่ ๓

* อรรถกถาว่า มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 30 พ.ค. 2551
สาธุ

ความคิดเห็น 2    โดย นันทภพ  วันที่ 7 ม.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ, คำตรัสสอน ใน พระสูตร นี้ * อรรถกถา ว่า มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล

ผมก็ว่าง่ายนะครับ เข้าใจง่าย, และมี และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ,

ขอขอบคุณ ที่ได้นำมาแสดงให้ผมได้อ่านครับ.

ขอสรรพสัตว์ทั่วจักรวาล เป็นสุขๆ เถิด อย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, สวัสดีครับ.