ทรงแสดงสฬายตนวิภังค์แก่ภิกษุ
โดย สารธรรม  25 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44177

ข้อความใน สฬายตนวิภังคสูตร มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหาร เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสฬายตนวิภังค์แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสฬายตนวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

พวกเธอพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ความนึกหน่วงของใจ ๑๘ ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ ใน ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ อันเราเรียกว่าสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุเทศแห่งสฬายตนวิภังค์

สำหรับอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ก็คงจะได้ทราบกันมาบ้างแล้ว จะขอกล่าวถึงเฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องกับเวทนานุปัสสนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ใจย่อมนึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา

ทางตาก็เกิดได้ทั้ง ๓ ความรู้สึก คือ ทั้งโสมนัส ทั้งโทมนัส ทั้งอุเบกขา

บางทีท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมจะสงสัยว่า ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ทำไมจึงกล่าวว่า มีทั้งโสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา อันนี้เป็นเพราะขณะที่เห็น ไม่ใช่มีเพียงแค่เห็น โสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง อุเบกขาบ้าง

เพราะฉะนั้น ทางตาเวลาที่เห็นรูปแล้ว มีการนึกหน่วงของใจอาศัยรูปนั้นเป็นโสมนัสบ้าง เป็นโทมนัสบ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณจริงๆ นั้นเป็นอุเบกขา เพราะเหตุว่าทางตาไม่ใช่มีแต่เห็น ยังมีโสมนัส โทมนัสที่อาศัยการเห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีเวทนาทั้ง ๓ จะเป็นโสมนัส จะเป็นโทมนัส จะเป็นอุเบกขาก็ตาม สติระลึกรู้ได้ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

เพราะฟังเสียงด้วยโสตะ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้ธัมมารมณ์ด้วยมโน ใจย่อมนึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงธัมมา-รมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฉะนี้ เป็นความนึกหน่วงฝ่ายโสมนัส ๖ ฝ่ายโทมนัส ๖ ฝ่ายอุเบกขา ๖

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยความนึกหน่วงดังนี้กล่าวแล้ว

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ โสมนัสอาศัยเรือน ๖ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสอาศัยเรือน ๖ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖

ถ้าเทียบเคียงกับในมหาสติปัฏฐาน ข้อความก็ตรงกัน ผิดกันที่พยัญชนะ ข้อความในมหาสติปัฏฐาน มีว่า

เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนามีอามิส


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 113

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 114