อ.สุจินต์ : พูดอย่างนี้ ผิดหรือถูก? พูดว่า ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะ จะเป็นชาวพุทธหรือเปล่า?
หมอกันย์ : ไม่เป็น
อ.สุจินต์ : พูดอย่างนี้ ถูกหรือผิด? ที่ว่าไม่เป็น(ชาวพุทธ)
หมอกันย์ : ถูก
อ.สุจินต์ : ถูกก็ต้องถูก ใช่ไหม ใครจะว่าผิด ไม่สนใจ ก็ไม่ผิด จะว่าผิดก็ว่าไป จะเดือดร้อนอะไรกับความเห็นผิดของคนอื่น ในเมื่อเป็นคำที่ประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริง ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงประจักษ์แล้ว ต้องเป็นผู้ที่ตรง "สัจจบารมี" ไม่ใช่ไปตรงกับความไม่จริงตามความคิดของตัวเอง นั่นเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?
หมอกันย์ : ทำลาย
อ.สุจินต์ : พูดอย่างนี้ได้ไหม?
หมอกันย์ : ........
อ.สุจินต์ : ไม่ตอบ หรือว่ากำลังไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร หรือว่า คิดว่าไม่สมควรจะตอบ หรืออย่างไร?
หมอกันย์ : ไม่อยากพูดว่าอะไรอะไรผิด หรือไม่อยากพูดว่าใครผิด หรือไม่อยากพูดว่าใครทำลายอะไร แต่ถ้าความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น ก็รับรู้ แต่ไม่อยากบอกว่าใครทำอะไรผิด
อ.สุจินต์ : เราไม่ได้บอกใครใช่ไหม ว่าใครผิด แต่ผู้ที่เข้าใจอย่างนั้น ทำอย่างนั้นน่ะ ผิดหรือถูก?
หมอกันย์ : ผิด
อ.สุจินต์ : ใครก็ตาม ชื่ออะไรก็ตาม ตำแหน่ง ยศ อะไรก็ตาม เข้าใจผิด แล้วเราจะบอกว่าเข้าใจถูกได้ไหม?
หมอกันย์ : ไม่ได้
อ.สุจินต์ : ไม่ได้ ผิดก็ต้องคือผิด ถูกก็ต้องคือถูก และถ้าเราพูดอย่างนี้ ควรพูดไหม? หรือไม่ควรพูด?
หมอกันย์ : ไม่ควรพูด
อ.สุจินต์ : คะ? ไม่ควรพูดสิ่งที่ถูกต้องหรือ?
หมอกันย์ : ต้องดูบริบท เรารู้ว่ามันถูก เรารู้ว่ามันผิด แต่ในบางบริบท เราก็พูดไม่ได้ว่าสิ่งนี้ผิด
อ.สุจินต์ : ทำไม? ทำไมพูดไม่ได้?
หมอกันย์ : มันอาจจะเป็นเรื่องของวัย หรือว่าตำแหน่ง หรืออะไรอย่างนี้
อ.สุจินต์ : ทำไมล่ะคะ คนที่ตำหน่งอะไรก็ตามพูดถูก ก็ต้องเป็นถูกสิ คนที่อยู่ในตำแหน่งอะไรพูดถูก แล้วบอกว่าผิด ได้หรือ? ยิ่งตำแหน่งสูง ยิ่งต้องพูดถูก ใช่ไหม?
หมอกันย์ : ใช่
อ.สุจินต์ : อ้าว แล้วถ้าเราพูดถูก กลัวอะไร? แล้วทำไมไม่ควรพูด ถามคำเดียว ว่าทำไมไม่ควรพูด?
หมอกันย์ : ก็อย่างเช่น เมื่อกี้นี้ ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าเราไม่ได้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่รู้ แล้วเราไปสำนักปฏิบัติธรรม หรือว่า เปิดสำนักปฏิบัติธรรม เราก็ทำผิดตามที่พระพุทธเจ้าสอน
อ.สุจินต์ : นี่พูดว่า "ทำผิด" แล้วนะ นี่พูดว่า "ทำผิด" แล้วใช่ไหม?
หมอกันย์ : แต่ถามว่า เราจะพูดไหมว่าเขาผิด เราคงไม่พูด
อ.สุจินต์ : เราไม่ได้ว่าเขานี่ ใครทั้งหมดน่ะ ไม่ได้ใครสักคน คนที่ทำนั่นแหละ เป็นใครก็ได้ คนนั้นแหละ ที่ทำอย่างนั้นน่ะ ถูกหรือผิด? พูดได้ไหม? ใครก็ไม่รู้ ชื่ออะไร ตำแหน่งอะไรก็ไม่รู้ ถ้าทำผิดอย่างนั้น จะบอกว่าถูก ได้ไหม?
หมอกันย์ : ถ้าทำผิด บอกว่าถูกไม่ได้
อ.สุจินต์ : เพราะฉะนั้น เมื่อทำผิดแล้วบอกว่าผิด มีประโยชน์ไหม?
หมอกันย์ : มีประโยชน์
อ.สุจินต์ : ควรพูดไหม?
หมอกันย์ : ควร
อ.สุจินต์ : เพราะฉะนั้น จะพูดไหม?
หมอกันย์ : พูด
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๕๑๓
๕. โลกสูตร
ว่าด้วยบุคคล ๓ จำพวกอุบัติขึ้นในโลก
[๒๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกเป็นไฉน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ ๑ นี้ เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมากเพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
อีกประการหนึ่ง พระสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้นแหละ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สาวกนั้นแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้บุคคลที่ ๒ นี้ เมื่ออุบัติขึ้นในโลกย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
อีกประการหนึ่ง พระสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้นแหละ ยังเป็นผู้ศึกษาปฏิบัติอยู่ มีพระปริยัติธรรมสดับมามาก ประกอบด้วยศีลและวัตร แม้พระสาวกนั้นก็แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ ๓ นี้ เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย..."
ติดตามชมบันทึกการสนทนาฉบับเต็ม ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :
ขออนุโมทนาครับ
กราบท่านอาจารย์ฯ ผู้เป็นแบบอย่างของความแกล้วกล้า กล้าหาญ องอาจในธรรม