ไม่มีเรา ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น : สนทนาธรรม ณ พระวิหารเชตวัน ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
โดย วันชัย๒๕๐๔  7 พ.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34190

อ.สุจินต์  : เพราะฉะนั้น ทุกอย่างละเอียดมาก เกินวิสัยที่ใครจะคิดได้ นอกจาก "ศึกษาทีละคำ" แล้ว "รู้ประมาณ" ว่า เราสามารถที่จะเข้าใจได้แค่ไหน ไม่อย่างนั้น เราจะไปเสียเวลา อย่างคนที่ศึกษาพระวินัยผิด เข้าใจผิด ล่วงศีล คนที่ศึกษาพระสูตรผิด พออ่านนี่ เราทั้งนั้นเลย ให้ละชั่ว ให้ทำดี อย่างนั้น อย่างนี้ ก็เข้าใจว่าเป็นเรา พอศึกษาพระอภิธรรม ก็คิดต่างๆ นาๆ โดยที่ว่า ไม่ได้ประมาณว่า ปัญญาของเรา สามารถรู้ได้แค่ไหน และปัญญาที่รู้จริงๆ ต้องค่อยๆ รู้ ไม่ใช่ว่าไปรู้หมดเลยได้ 

แต่ละคำ ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องเริ่มทีละคำ อย่างคำว่า "ธรรมะ" สิ่งที่มีจริง ทั้งหมด ภาษาบาลีเรียกว่า "ธรรมะ" แต่ภาษาไทยก็คือ มีจริงๆ ยังไม่พอ ทุกอย่างที่มีเป็นธรรมะ แต่หลากหลายมาก ไม่เห็นเหมือนกันสักอย่างหนึ่ง เสียงกับเห็น ก็แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง ต้องเป็นเพียง "หนึ่ง" และต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี เริ่มเข้าใจคำว่า "อนัตตา" เพราะเราไม่ได้ไปทำให้เกิดเลย ไม่อยากโกรธ โกรธเกิด ใช่ไหม? อนัตตา 

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ทั้งวัน อนัตตาทั้งหมด แต่ปัญญาไม่พอ ไม่พอสักหน่อยหนึ่ง สักหน่อยหนึ่งที่จะรู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่ได้ฟังธรรมะ ก็เป็นเรื่องอื่นไปหมดเลย ฟังแล้ว จากตรงนี้ไป ประเดี๋ยวก็เรื่องอื่นหมดเลย ยากมาก

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง เพื่อให้ไม่หลงผิด แสดงไว้หมดเลย มิจฉามรรค สัมมามรรค ผิดตั้งแต่หนทางปฏิบัติ จนกระทั่ง มิจฉาญาณ สัมมาญาณ เข้าใจว่าเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมะ ก็ผิด เพราะว่ามาจาก "เหตุที่ผิด" คือ ไม่ได้มีปัญญาในการที่จะเข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้น เข้าใจผิด แล้วก็ยัง มิจฉาวิมุติ หลงคิดว่าบรรลุ แต่ว่าผิด ไม่ได้บรรลุเลย พระองค์ทรงแสดงไว้หมดทุกอย่าง แล้วก็ต้องประกอบกันทั้งหมดด้วย ถ้าปัญญาขั้นฟังไม่มี จะไปเข้าใจได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น สำนักปฏิบัติ เขาสามารถจะให้เข้าใจอะไรได้? ไม่มีเลย ไม่มีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจาก "ชื่อ" แต่ว่าไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องฟังด้วยความเคารพ คือ ไตร่ตรอง คิด จนกระทั่งถูกต้อง เดี๋ยวนี้ เป็นธรรมะ แน่นอน ไม่มีใครไปทำ แสดงความเป็นอนัตตา แต่ละคนชอบอาหารแต่ละอย่าง ใช่ไหม ทำไมไม่เหมือนกัน บังคับให้เหมือนกันสิ เห็นไหม? ทุกอย่างหมดเลย ละเอียดยิบ อนัตตาทั้งนั้น แต่ปัญญาไม่พอ จนกว่าจะค่อยๆ ฟัง แล้วก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่มี เป็น "ปฏิปัตติ" กว่าจะถึง "ปฏิเวธ" สภาพธรรมะปรากฏอย่างนั้น เพราะอะไร? ขณะนี้เรายังไม่คิดเลย ว่า "เห็น" กับ "ได้ยิน" ไกลกัน เหมือนพร้อมกัน ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เข้าใจขั้นปริยัติ จะค่อยๆ มั่นคง ที่จะรู้ว่า จิตมีตั้งมากมาย แต่ว่าเกิด-ดับ เร็ว ส่วนที่ปรากฏนี้ ไม่ทั้งหมด ก่อนเห็นก็มีจิต เราคิดถึงหรือเปล่า? จิตเห็นดับไปแล้วก็มีจิตอื่น ซึ่งยังไม่ใช่ได้ยินด้วยซ้ำไป ไม่ปรากฏเลย ความรวดเร็วของจิต เราฟังเพื่อว่า อนัตตา ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย ทรงแสดงวาระ แต่ละวาระ ละเอียดยิบ เห็นปุ๊บ เป็นคนตั้งหลายคน แต่ละหนึ่งเล็กๆ กว่าจะมารวมกันเป็นนิมิตฺต ใช้คำว่า นิมิตฺต หมายความว่า รูปร่างสัณฐาน ถ้าแยกออกไปแล้ว ไม่มี แต่พอมารวมกันก็มี แต่พอแยกออกไปแล้ว เป็นนิมิตไหม? ไม่เป็น

ร่างกายเรา มีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ แยกออกไปหมด ไหนล่ะคน? ไม่มี ทุกอย่างแยกออกได้หมด ไหนล่ะสิ่งนั้น? แต่พอมารวมกัน เป็นนิมิต ให้จำ ให้สัญญาเจตสิกจำ เป็นแต่ละคน เป็นเสื้อแต่ละตัว เป็นที่ต่างๆ

เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของสภาพธรรมะที่เกิดดับเร็ว สุดที่จะประมาณได้ จึงลวง ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า ไม่มีเรา หรือไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะฉะนั้น อริยบุคคล อริยสัจจะ ถ้าไม่ได้เข้าใจความจริงแท้อย่างละเอียดที่เป็น ไม่มีทาง ที่ไปทำมา ๒๐ ปี ใช่ไหม? 

เพราะฉะนั้น ต้องมีปริยัติก่อน ถึงจะสามารถเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา ให้สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อสติสัมปชัญญะเป็นอนัตตา ใครจะไปให้สติรู้ตรงนั้นตรงนี้ได้ ใช่ไหม? ก็สติเป็นอนัตตา เกิดแล้วรู้ทันที จะมาบอกให้ไปรู้ตรงนั้นตรงนี้ ก็ผิดแล้ว ไปบอกสติได้อย่างไร

ผู้ฟัง  : น้องเขาถามว่า สติคืออะไร?

อ.สุจินต์  : อีกนาน(หัวเราะ) สติมีจริงก่อน สติมีจริง แล้วคนก็เอาไปพูดว่า มีสติ ทำสติ แต่ไม่รู้ว่าสติคืออะไร แต่ต้องเข้าใจได้จริงๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย ว่าสติมีแน่นอน และสติต้องเป็นธรรมะฝ่ายดี ขณะใดก็ตามที่จิตดีเกิดขึ้น เพราะเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย 

เจตสิกที่ดี อย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท สติเป็น ๑ ใน ๑๙  ที่ต้องเกิดกับจิตที่ดีทุกขณะ แต่สติและปัญญา ก็มีหลายระดับขั้น ขั้นฟังก็เป็นปัญญา แต่ยังไม่ถึงปัญญาขั้น ระดับที่เป็นปฏิปัตติ ปัญญาขั้นปฏิปัตติก็เป็นปัญญา แต่ยังไม่ถึงขั้นปฏิเวธ เพราะฉะนั้น แต่ละหนึ่ง ก็ค่อยๆ เข้าใจ แต่ว่า สามารถจะรู้ได้ เพราะเหตุว่า เป็นความจริง

ติดตามบันทึกการสนทนาฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ด้านล่าง : 



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 7 พ.ค. 2564

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 7 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ