นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
พระสูตรสนทนาออนไลน์
วันเสาร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
คือ
เทศนาสูตร
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔- หน้าที่ ๒๘๑
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๒๘๑
๒. เทศนาสูตร
(ว่าด้วยพระธรรมเทศนา ๒ ประการ)
[๒๑๗] จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนา ๒ ประการของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมมีโดยปริยาย ๒ ประการเป็นไฉน คือ ธรรมเทศนาประการที่ ๑ นี้ว่า เธอทั้งหลายจงเห็นบาปโดยความเป็นบาป ธรรมเทศนาประการที่ ๒ แม้นี้ว่า เธอทั้งหลายครั้นเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว จงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด จงปลดเปลื้องในบาปนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนา ๒ ประการนี้ ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมมีโดยปริยาย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอ จงเห็นการแสดงโดยปริยายของพระตถาคต พระพุทธเจ้าผู้อนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า ก็ ธรรม ๒ ประการ พระตถาคต พระพุทธเจ้า ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่าประกาศแล้ว เธอทั้งหลาย ผู้ฉลาด จงเห็นบาป จงคลายกำหนัดในบาปนั้น เธอทั้งหลาย ผู้มีจิตคลายกำหนัดจากบาปนั้นแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล
จบเทศนาสูตรที่ ๒
อรรถกถาเทศนาสูตร
ในเทศนาสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- ปริยายศัพท์ ในบทว่า ปริยาเยน นี้ มาในความหมายว่า เทศนา ในบทมีอาทิว่า มธุปิณฺฑิกปริยาโย เตฺวว นํ ธาเรหิ ท่านจงทรงจำเทศนานั้นไว้ว่า เป็นมธุปิณฑิกปริยายเทศนา ดังนี้ มา ในความหมายว่าเหตุ ในบทมีอาทิว่า อตฺถิ เขฺวส พฺราหฺมณ ปริยาโย เยน มํ ปริยาย สมฺมา วทมาโน วเทยฺย อกิริยวาโท สมโณ โคตโม ดูกร พราหมณ์ เหตุนี้ มีอยู่แล เมื่อจะกล่าวกะเราโดยชอบด้วยเหตุ พึงกล่าวว่า สมณโคดม เป็นอกิริยวาท (วาทะว่าไม่เป็นอันทำ) ดังนี้ มาในความหมายว่า วาระ ในบทมีอาทิว่า กสฺส นุ โข อานนฺท อชฺช ปริยาโย ภิกฺขุนิโย โอวทิตุ ดูกร อานนท์ วันนี้ถึงวาระของใครจะสอนภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้ ก็ในที่นี้ สมควรทั้งในวาระ ทั้งในเหตุ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ธรรมเทศนา ๒ อย่าง ของตถาคต ย่อมมีขึ้น โดยเหตุ และโดยวาระ ตามสมควร ดังนี้ นี้เป็นคำอธิบายในบทนี้
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า บางครั้งทรงจำแนกกุศลธรรมและอกุศลธรรม ตามสมควรแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ควรเสพ ธรรมเหล่านี้ไม่ควรเสพ ดังนี้ ทรงแสดงให้รู้โดยไม่ปนอกุศลธรรมเข้ากับกุศลธรรม ทรงแสดงธรรมว่า พวกเธอจงเห็นบาปโดยความเป็นบาป บางครั้งทรงประกาศโทษ โดยนัยมีอาทิว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตที่บุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ให้เป็นไปในนรก ให้เป็นไปในกำเนิดดิรัจฉาน ให้เป็นไปในเปรตวิสัย ปาณาติบาตที่เบากว่าบาปทั้งปวง ทำให้มีอายุสั้น ดังนี้ ทรงให้พรากจากบาปด้วยนิพพิทา เป็นต้น ทรงแสดงธรรมว่า พวกเธอจงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด ดังนี้
บทว่า ภวนฺติ ได้แก่ ย่อมมี คือ ย่อมเป็นไป
บทว่า ปาปํ ปาปกโต ปสฺสถ ความว่า พวกเธอจงเห็นธรรมอันลามกทั้งปวง โดยเป็นธรรมลามก เพราะนำสิ่งไม่เป็นประโยชน์และทุกข์มาให้ในปัจจุบันและอนาคต
ในบทเหล่านั้น บทว่า นิพฺพินฺทถ ความว่า พวกเธอเห็นโทษมีอย่างต่างๆ กัน โดยนัยมีอาทิว่า บาป ชื่อว่า เป็นบาป เพราะเป็นของลามก โดยความเป็นของเลวส่วนเดียว ชื่อว่า เป็นอกุศล เพราะเป็นความไม่ฉลาด ชื่อว่า เป็นความเศร้าหมอง เพราะทำจิตที่เคยประภัสสร ให้พินาศจากความประภัสสรเป็นต้น ชื่อว่าทำให้มีภพใหม่ เพราะทำให้เกิดทุกข์ในภพบ่อยๆ ชื่อว่า มีความกระวนกระวาย เพราะเป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย คือ ความเดือดร้อน ชื่อว่า มีทุกข์เป็นวิบาก เพราะให้ผลเป็นทุกข์อย่างเดียว ชื่อว่า เป็นเหตุให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไป เพราะทำให้มีชาติ ชรา และมรณะในอนาคตตลอดกาลนาน ไม่มีกำหนด สามารถกำจัดประโยชน์สุขทั้งหมดได้ และ เห็นอานิสงส์ในการละบาปนั้นด้วยปัญญาชอบ จงเบื่อหน่าย คือ ถึงความเบื่อหน่ายในธรรมอันลามก นั้น เมื่อเบื่อหน่ายพึงเจริญวิปัสสนาแล้วจงคลายกำหนัด และจงปลดเปลื้องจากบาปนั้น ด้วยบรรลุอริยมรรค หรือ จงคลายกำหนัด ด้วยการคลายอย่างเด็ดขาด ด้วยมรรค แต่นั้น จงปลดเปลื้องด้วยปฏิปัสสัทธิวิมุตติ โดยผล
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาปํ ได้แก่ ชื่อว่า บาป เพราะเป็นของลามก ถามว่า ท่านอธิบายไว้อย่างไร ตอบว่า ชื่อว่า บาป เพราะเป็นสิ่งน่ารังเกียจ คือ พระอริยะ เกลียด โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นต้น ยังสัตว์ให้ถึงทุกข์ในวัฏฏะ ถามว่า ก็บาปนั้น เป็นอย่างไร ตอบว่า เป็นธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ พวกเธอเห็นบาปโดยความเป็นบาป มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว เจริญวิปัสสนาโดยนัย มีอาทิว่า โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นโรค โดยความเป็นลูกศร โดยความเป็นของชั่ว โดยความเบียดเบียน ดังนี้ จงเบื่อหน่ายในบาปนั้น
บทว่า อยมฺปิ ทุติยา ได้แก่ ธรรมเทศนาประการที่ ๒ นี้ เป็นธรรมเทศนาต่อจากธรรมเทศนาที่ ๑ นั้น เพราะอาศัยธรรมเทศนาประการที่ ๑ อันแสดงถึงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และ ความพินาศโดยความแน่นอน พึงทราบอธิบายในคาถาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
บทว่า พุทฺธสฺส ได้แก่ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า
บทว่า สพฺพภูตานุกมฺปิโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหมด ด้วยพระมหากรุณา
บทว่า ปริยายวจนํ ได้แก่ การกล่าว คือ การแสดงโดยปริยาย
บทว่า ปสฺส คือ ทรงร้องเรียกบริษัท ท่านกล่าวหมายถึง บริษัทผู้เป็นหัวหน้า แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ปสฺส หมายถึง พระองค์เท่านั้น
บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในบาปนั้น
บทว่า วิรชฺชถ ความว่าพวกเธอจงละความกำหนัด
บทที่เหลือมีนัยดังได้กล่าวแล้วนั่นแล
จบอรรถกถาธรรมเทศนาสูตรที่ ๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
เทศนาสูตร
(ว่าด้วยพระธรรมเทศนา ๒ ประการ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ๒ ประการ ได้แก่ จงเห็นบาปโดยความเป็นบาป และ ครั้นเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว จงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด จงปลดเปลื้องในบาปนั้น (ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
บุญบาป
บุญคืออะไร บาปคืออะไร
กิเลสตัณหา
ปัญหาของสังคมเกิดขึ้น เพราะกิเลส ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ
กองทัพกิเลส
อกุศลที่เหนียวแน่น
โมหะ โมหเจตสิก ความเห็นผิด ความไม่รู้ อวิชชา
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น