อยากสร้างเมตตาบารมี
โดย นิ้ง  12 ก.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 23578

ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างเมตตาบารมี



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 12 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บารมี โดยความหมายคือ ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง แสดงว่ามีสองฝั่ง ฝั่งนี้ที่เราอยู่คือ ฝั่งของกิเลสหรือฝั่งของสภาพธรรมที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ฝั่งของสังสารวัฏฏ์ที่มีการเวียนว่ายตายเกิด แต่มีอีกฝั่งหนึ่งคือ ฝั่งที่ไม่มีกิเลส ฝั่งที่ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่ทำให้ทุกข์ ฝั่งที่ไม่การเวียนว่ายตายเกิด และไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมเลย อันเป็นฝั่งที่เกษมคือ พระนิพพาน เป็นอีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้น บารมีคือ ธรรมที่เป็นคุณธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งคือ พระนิพพาน บารมีจึงเปรียบเหมือนเรือที่พาไปถึงฝั่งได้ แต่ฝั่งตรงข้ามนั้นมหาสมุทร ทะเลกว้างใหญ่และภัยในมหาสมุทรก็มีมากมาย ทั้งน้ำวน สัตว์ร้าย ลมทะเล พายุ นั่นก็คือ หมู่กิเลสต่างๆ ที่เป็นภัยของการข้ามฝั่ง นั่นเองครับ

ซึ่งบารมี มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานบารมี (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น)

๒. ศีลบารมี (การสำรวมกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่กระทำทุจริตกรรม)

๓. เนกขัมมะบารมี (การออกจากกาม ออกจากอกุศล)

๔. ปัญญาบารมี (ความเข้าใจถูก เห็นถูก)

๕. วิริยะบารมี (ความเพียรในทางที่เป็นกุศล)

๖. ขันติ (ความอดทนต่อสภาพธรรมที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา)

๗. สัจจะ (ความจริงใจในการเจริญกุศล)

๘. อธิษฐานะ (ความตั้งใจมั่น ความมั่นคงในการเจริญกุศล)

๙. เมตตาบารมี (ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อผู้อื่น)

๑๐. อุเบกขาบารมี (ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล)

บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีปัญญาความเห็นถูกเป็นสำคัญ การจะเป็นบารมีได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่มีความเห็นถูก ที่เห็นโทษ

ของกิเลส เห็นโทษของสังสารวัฏฏ์ จึงมีปัญญาความเห็นถูก ที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อละกิเลส และถึงการไม่เกิดอีก กุศลที่เจริญนั้น จึงจะเป็นบารมี ถ้าไม่มีปัญญา ความเห็นถูก กุศลที่เจริญ จะเป็นบารมีไม่ได้เลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อถึงฝั่งคือการดับกิเลสครับ ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่แสดงถึงความเป็นบารมี ครับ ซึ่งเมตตาบารมีนั้น ก็มีความละเอียดลึกซึ้ง เมตตาคือ ขณะจิต หรือกาย วาจาที่เป็นความหวังดีกับผู้อื่น ที่ละเอียดลงไปอีกครับว่า เมตตานั้น จะเป็นเมตตาบารมี ก็ด้วยมีปัญญา ความเห็นถูกเป็นสำคัญ ดังนั้น ขณะที่หวังดี มีเมตตา อันอาศัยปัญญาที่คิดถูก ด้วยเพื่อที่จะละกิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ขณะนั้น ก็เป็นไปเพื่อละกิเลส ก็เป็นบารมี เป็นเมตตาบารมี เพราะเป็นคุณธรรมที่จะทำให้ถึงฝั่งคือ การดับกิเลส ดังนั้น บารมีแต่ละบารมี แม้เมตตาบารมี ขาดปัญญาไม่ได้เลย ครับ จึงกลับมาที่คำถามที่ว่า อยากเป็นคนมีเมตตา ไม่ผูกโกรธใคร ให้อภัยได้อย่างง่ายดาย ต้องฝึกอะไรบ้างคะ

ปุถุชนเป็นผู้หนาด้วยกิเลส สะสมสิ่งที่ไม่ดีมามาก จึงเป็นธรรมดาที่ยังเป็นผู้ที่มักโกรธ โกรธง่ายด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่จะมาก หรือน้อย เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมธรรมที่จะทำให้ไม่โกรธคือ โกรธน้อยลงนั่นคือ อบรมคุณธรรมที่เป็นเมตตาและขันติ

เมตตา หมายถึง ความหวังดี ทางกาย วาจา และใจ คิดที่จะนำประโยชน์เกื้อกูลไปให้ผู้อื่น ซึ่งความมีเมตตาเหมือนกับน้ำ ที่สะอาด เมื่อใครจะลงไปอาบ จะเป็นคนดี คนชั่ว ยากดีมีจนย่อมได้รับความชุ่มชื่นเหมือนกันหมด เมตตาจึงเป็นสภาพธรรมที่ดีงามไม่แบ่งใครเลย ทำดีกับทุกคน ซึ่ง เมื่อพูดถึงเหตุให้เกิดเมตตาคือ ความพอใจ ใคร่ที่จะอบรมคือ เห็นประโยชน์ คุณของเมตตา และเห็นโทษของโทสะ ความโกรธ ซึ่งการจะเห็นคุณของเมตตา และเห็นโทษของความโกรธ ก็ต้องด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ จึงจะเกิดปัญญา และเห็นคุณของเมตตาและเห็นโทษของกิเลส มีความโกรธ จึงอบรมเมตตา คิดถูกด้วยความหวังดีต่อคนอื่นได้ครับ ซึ่งเหตุให้เกิดเมตตาอีกประการหนึ่งคือ เหตุใกล้ให้เกิดเมตตาบารมี คือความเห็นสัตว์เป็นที่น่าพอใจคือ ไม่ใช่โลภะนะครับ แต่เห็นสัตว์ด้วยความเป็นมิตร เป็นเพื่อน นี้เป็นเหตุให้เกิดเมตตาบารมี เพราะเมื่อเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นมิตรเป็นเพื่อน จึงนำประโยชน์เข้าไปให้นั่นเองครับ แต่ขาดปัญญาไม่ได้ เพราะมีปัญญา จึงมุ่งที่จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายด้วยครับ

ดังนั้น จะให้มีเมตตาตลอด ไม่ผูกโกรธ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีกิเลสมาก ผู้ที่ไม่โกรธเลยคือ พระอนาคามีที่ดับโทสะหมดสิ้น แม้พระโสดาบันก็ยังโกรธ หากแต่ว่า เหตุให้เกิดความดี เมตตาเจริญขึ้น ตามที่กล่าวแล้ว ปัญญาบารมี เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นแกนหลัก ที่จะทำให้กุศลประการต่างๆ เจริญแม้แต่ความมีเมตตา และโกรธน้อยลง ดังนั้น เหตุที่ถูกต้องคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในส่วนต่างๆ ไม่ขาดการฟัง ปัญญาก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจถูก เมื่อเข้าใจถูก การคิดก็ถูก ก็คิดด้วยกุศล คิดด้วยความหวังดี คิดด้วยเมตตา เพราะ ได้ฟังสิ่งที่ให้คิดถูก ครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนจิตใจ ให้คิด เข้าใจไปในทางที่ดี คิดก็คิดกับคนอื่นด้วยความหวังดี ให้อภัยกับคนอื่น แต่การจะถึงการโกรธน้อยลง มีเมตตามากๆ จะต้องอาศัยเวลาในการอบรมนะครับ เพราะสะสมกิเลสมามากมาย ดังนั้น หนทางนี้ จึงจะต้องอดทนที่จะฟังพระธรรมต่อไป และที่สำคัญที่สุด กิเลสทุกประการไม่ดี ไม่ใช่เฉพาะความโกรธ ส่วนใหญ่เราเห็นโทษของความโกรธ เพราะทำให้เราไม่สบายใจ ขุ่นใจ แต่แท้ที่จริงเราไม่ได้เห็นโทษความโกรธจริงๆ เพราะเราไม่รู้จักตัวความโกรธ และไม่รู้จักเหตุของความโกรธแท้ที่จริง กิเลสที่เป็นต้นเหตุของความโกรธคือ อวิชชา ความไม่รู้ และโลภะ ความยินดีพอใจ เพราะไม่รู้ (อวิชชา) จึงโกรธ เพราะชอบ (โลภะ) ในสิ่งใด ไม่ได้ก็โกรธ แต่เราไม่ได้เห็นโทษของความไม่รู้ และความติดข้องเลย กลับชอบเวลาที่สนุกเพลิดเพลิน เป็นต้น ที่เป็นโลภะ แทัที่จริงกิเลสเหล่านี้ต่างหากที่เป็นต้นเรื่อง ต้นเหตุครับ จึงควรที่จะเห็นโทษของกิเลสอื่นด้วยปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางการดับกิเลสที่ถูกต้อง ที่ไม่ใช่การไปละความโกรธก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แต่ต้องอาศัยการละกิเลสเป็นไปตามลำดับอย่างถูกต้องนั่นคือ กิเลสที่จะต้องละอันดับแรกคือ ความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เพราะ ยึดถือว่าเป็นเราเป็นเขา คนนี้ทำไม่ดีกับเรา อย่างนี้ก็ทำให้เกิดความโกรธ ผูกโกรธได้ แต่หนทางการอบรมปัญญาคือ รู้ความจริงในขณะที่อกุศล ความโกรธเกิดแล้ว ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา การค่อยๆ อบรมและค่อยๆ รู้ความจริงเช่นนี้ โดยไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้น เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังละไม่ได้ ต้องเกิดแน่ แต่ก็อบรมปัญญาด้วย การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป จนเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใชเราที่โกรธ ไม่มีใครทำให้โกรธ ก็จะถึงการละกิเลส ดับกิเลสทุกอย่างได้ในที่สุด โดยไม่มีวิธีอื่นละกิเลสได้จริงๆ เพราะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ครับ โรคร้ายแรงที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ทานยาไม่กี่ครั้ง หรือบอกให้ทำ แล้วจะหายทันที ต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน และอดทนที่จะทานยาต่อเนื่อง การจะละกิเลส แม้ความโกรธ ที่เป็นโรคกิเลสที่ร้ายแรง ก็ต้องทานยาคือ พระธรรมต่อเนื่อง ยาวนานไม่ใช่เพียงชาตินี้ อีกนานแสนนาน แต่เมื่ออบรมหนทางที่ถูกก็ดับกิเลสได้ในอนาคตครับ หนทางเดียวคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป ย่อมทำให้คิดถูกและมีเมตตาเพิ่มขึ้น โกรธน้อยลง แต่ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา มีแต่ธรรม ครับ

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง แม้แต่โลภะเป็นข้าศึกใกล้ก็เพื่อประโยชน์คือ ให้ปฏิบัติ ให้สังเกต ให้พิจารณา เพื่อที่จะละคลายเหตุแห่งทุกข์ให้ลดน้อยลง เพราะว่าถ้าไม่รู้ ทุกคนก็เข้าใจว่า เมตตา แต่ความจริงเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งก็ต้องเป็นทุกข์เพราะ โลภะ แต่ถ้ารู้ว่า โลภะ กับเมตตา มีลักษณะที่ต่างกัน กุศลจิตก็ย่อมจะเจริญขึ้น โดยคลายความติด ความสเน่หา หรือโลภะจนกระทั่งแม้สี่งนั้นจะมีอันเป็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นได้นั่นคือ ลักษณะของเมตตาจริงๆ ข้อความในอรรถกถามีว่า การเจริญขึ้นของเมตตานั้นเริ่มด้วย "กัตตุกัมมะยะตา ฉันทะ" คือความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา

นี่เป็นขั้นต้นค่ะ เพราะว่าทุกคนทราบว่า อโทส ก็เป็นโสภณธรรม เมตตาต่อสัตว์ บุคคลทั้งหลาย ก็เป็นธรรมฝ่ายดี แต่ว่าทำอย่างไรจึงจะมีเมตตาเพิ่มขึ้นมากๆ เพราะว่า ถ้ายังโกรธใครอยู่ ก็แสดงว่า ขณะนั้นขาดเมตตา เพราะว่าถ้ายังโกรธ ชื่อว่า เมตตาเกิดไม่ได้ เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นการที่เมตตาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มด้วย "กัตตุกัมมะยะตา ฉันทะ" ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา เมื่อได้ฟังพระธรรมมามากแล้ว ก็เป็นผู้ที่น้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะในเรื่องของเมตตา ถ้าอบรมเจริญแล้วก็ไม่ยากเลย ที่จะมีความเป็นมิตรกับทุกคนแล้วก็อภัยให้ ในสิ่งซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องของบุคคลอื่น แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีฉันทะ มีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา ก็อาจจะขัดหู ขัดตา หรือว่า ขุ่นเคือง ไม่พอใจในสัตว์ บุคคลทั้งหลายได้

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

คำสั้นๆ ...ให้อภัย

ภัยที่น่ากลัว คือ ความชั่วที่เราทำ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 12 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมตตา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดี มีความปรารถนาดี ไม่มีความหวังร้ายหรือมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การที่เมตตาจะมีหรือจะเกิดขึ้นจนมีกำลังยิ่งขึ้นในจิตใจของแต่ละบุคคลได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาและอบรม ในเบื้องต้นต้องเห็นโทษของความโกรธ และเห็นคุณของความไม่โกรธ ประการที่สำคัญ คือ การได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงที่เป็นปัจจัยแก่เมตตา ย่อมจะทำให้ความโกรธลดลงและทำให้เมตตาเกิดในชีวิตประจำวันได้

การที่จะเป็นผู้มีเมตตาได้ตลอดไปคือไม่มีความโกรธเกิดอีกเลยนั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล พระอนาคามีเป็นบุคคลผู้ละความโกรธได้อย่างเด็ดขาด และการที่ผู้ใดจะมีเมตตาเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้นั้น ก็เป็นเพราะผู้นั้นอบรมเจริญปัญญารู้ว่า สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและ รูปธรรม ซึ่งสมมติบัญญัติเรียกชื่อไปตามอาการที่ปรากฏต่างๆ กันเท่านั้น แต่โดยลักษณะที่แท้จริงแล้วเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ

การกระทำในสิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, เมตตา จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน การที่จะมีเมตตา มี ได้ทุกขณะเลยในขณะที่ไม่รู้สึกโกรธ หรือว่าไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่าตัวเองมีเมตตาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็จะสังเกตได้ว่า ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นไม่มี เมตตา ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว ถ้ารู้ตัว อย่างนี้ ความโกรธก็จะลดลง เมตตาก็จะเพิ่มขึ้นแทนความโกรธได้ การที่จิตใจแต่ละบุคคล มีความรู้สึกเป็นเพื่อน เป็นมิตรกับผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับ หลัง นี่คือ ความเป็นผู้มีเมตตา ใครก็ตามที่คิดจะเจริญเมตตาจริงๆ นั้น ไม่ยากเลยคือ ไม่ต้องท่องเมตตา เพราะเมตตา ไม่ใช่เรื่องท่อง แต่เป็นธรรมที่ควรอบรมให้มีขึ้น โดยการช่วยเหลือคนอื่น มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนกับคนอื่น แล้วก็สังเกตจิตใจของตนเองเวลาที่เกิดความขุ่นเคืองใจในบุคคลใด ก็แสดงว่าขาดเมตตาต่อบุคคลนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมคือ การน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความจริงใจ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ

ที่สำคัญที่น่าพิจารณา คือ ใครก้นแน่ ที่เป็นทุกข์ เดือดร้อนใจ ในขณะที่โกรธคนอื่น ก็คือ ตนเองเท่านั้น โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย กิเลสของตนเองแท้ๆ เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 12 ก.ย. 2556

ทานมี 3 อย่าง วัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน อภัยทาน ให้อภัย คือ คนที่ทำไม่ดี กับเรา เราก็สามารถยกโทษให้อภัยได้ ไม่ผูกโกรธ ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Jans  วันที่ 14 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย papon  วันที่ 15 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย j.jim  วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 16 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 16 ก.ค. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

สุวรรณสามชาดก ว่าด้วยสุวรรณสามบําเพ็ญเมตตาบารมี