การศึกษาธรรมะให้เข้าใจความเป็นอนัตตามีประโยชน์อย่างไร
โดย audience  14 เม.ย. 2549
หัวข้อหมายเลข 1070

กรุณาอธิบายความหมายของคำว่า "อนัตตา" การศึกษาธรรมะให้เข้าใจความเป็นอนัตตามีประโยชน์อย่างไร นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร และจะเกื้อกูลในการปฏิบัติธรรมอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 16 เม.ย. 2549

"อนัตตา" เพราะอรรถว่า สูญจากสัตว์บุคคล ไม่มีเจ้าของ บังคับไม่ได้ ปฏิเสธกับอัตตา การศึกษาธรรมะทำให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าธรรมะทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อเข้าใจความจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น การศึกษาธรรมะของพระสัมมา-สัมพุทธเจ้ามีประโยชน์อย่างนี้ คือ การหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ในระดับเบื้องต้นถึงแม้ว่าจะไม่ถึงการรู้แจ้งแทงตลอดก็จริง แต่จะทำให้ผู้ศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจตรงตามพระธรรมและเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดจากหลักธรรม


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 16 เม.ย. 2549

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูญ ไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้น จึงชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะเหตุ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.


ความคิดเห็น 3    โดย namarupa  วันที่ 17 เม.ย. 2549

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นค่ะ

การศึกษาธรรมะให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตามีประโยชน์คือ ทำให้เราได้รู้จักตัวเราเองดีขึ้น ว่าจริงๆ แล้วมีแต่สภาพธรรมเท่านั้น ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมที่เกิดและก็ดับอย่างรวดเร็วอย่างไม่ขาดสายเท่านั้น และสภาพธรรมที่เกิดและก็ดับอย่างรวดเร็วนี้ เราจะมายึดว่า…….เป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน…ได้อย่างไร? นั่นคือความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ..ความหมายของคำว่า "อนัตตา" คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? คงนำไปใช้ไม่ได้ แต่..หากศึกษาธรรมขั้นพื้นฐานคือ ตั้งแต่เรื่องของ จิตเจตสิก รูป ก็จะค่อยๆ มีความเข้าใจขึ้น ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมอย่างไร?

แล้วอะไรคือธรรม? และจะเกื้อกูลในการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเกื้อกูลในการปฏิบัติธรรม คือ เมื่อมีความเห็นถูก และความเข้าใจถูก ก็จะค่อยๆ ละความเห็นผิดค่อยๆ ละในความเป็นตัวตน ค่อยๆ ละในอวิชชาคือความไม่รู้ และเริ่มสะสม…ความเห็นถูก และความเข้าใจถูก ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีการศึกษาอยู่ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย namarupa  วันที่ 17 เม.ย. 2549

รีบแสวงหาหนทางที่ถูกต้องเพื่อที่จะได้ค่อยๆ รู้ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงของชีวิตเสียที เราคงจะต้องศึกษาธรรมไปตลอดชั่วชีวิตนี้และอีกหลายๆ ชาติก่อนที่จะไปสะสมและเพิ่ม "ความไม่รู้" อีกในชาติต่อๆ ไปค่ะ