๑. นขสิขาสูตร ว่าด้วยเปรียบทุกข์ที่เหลือเท่าฝุ่นติดปลายเล็บ
โดย บ้านธัมมะ  3 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 36559

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 393

อภิสมยวรรคที่ ๑๐

๑. นขสิขาสูตร

ว่าด้วยเปรียบทุกข์ที่เหลือเท่าฝุ่นติดปลายเล็บ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 393

อภิสมยวรรคที่ ๑๐

๑. นขสิขาสูตร

ว่าด้วยเปรียบทุกข์ที่เหลือเท่าฝุ่นติดปลายเล็บ

[๓๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเอาปลายพระนขาช้อนฝุ่นขึ้นเล็กน้อย แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นประมาณน้อยนี้ที่เราเอาปลายเล็บช้อนขึ้น กับแผ่นดินใหญ่นี้ อย่างไหนจะมากกว่ากันหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แหละมากกว่า ฝุ่นประมาณเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นนี้มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐.

[๓๑๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปนี้แหละ ของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่า ส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย ความทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน ๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดสิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ดูก่อนภิกษุ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 394

ทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้.

จบนขสิขาสูตรที่ ๑

อภิสมยวรรคที่ ๑๐

อรรถกถานขสิขาสูตรที่ ๑

อภิสมยวรรค นขสิขาสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า นขสิขาย ความว่า ที่ปลายเล็บซึ่งพ้นจากที่มีเนื้อ.

จริงอยู่ ชื่อว่าปลายเล็บเป็นของใหญ่สำหรับโลกิยชน แต่สำหรับพระศาสดาเป็นของละเอียดเหมือนปลายดอกอุบลแดง.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝุ่นจะตั้งอยู่ที่ปลายเล็บนั้นได้อย่างไร.

ตอบว่า ตั้งอยู่ได้ด้วยแรงอธิษฐาน. ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะให้เขารู้เนื้อความ จึงทรงให้ฝุ่นนั้นตั้งอยู่ที่ปลายเล็บด้วยแรงอธิษฐาน.

บทว่า สติมํ กลํ ความว่า แบ่งฝุ่นในแผ่นดินใหญ่เป็น ๑๐๐ ส่วน พึงถือเอาจาก ๑๐๐ ส่วนนั้นเพียง ๑ ส่วน. ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อภิสเมตาวิโน ได้แก่ ผู้ตรัสรู้อริยสัจด้วยปัญญา แม้ข้างหน้าตั้งอยู่.

บทว่า ปุริมํ ทุกฺขกฺขนฺธํ ปริกฺขีณํ ปริยาทินฺนํ อุปนิธาย ความว่า เทียบกองทุกข์ที่ตรัสไว้ทีแรกอย่างนี้ว่า ทุกข์นี้แหละ คือที่สิ้นไปแล้วมีมากกว่า อธิบายว่า อยู่ในสำนักของท่าน พิจารณาอยู่ด้วยญาณ โดยเว้นกองทุกข์ที่มากกว่านั้น ในสำนักของภิกษุนั้น.

ถามว่า ก็ในที่นี้ที่ชื่อว่าทุกข์มีในก่อนเป็นไฉน ทุกข์ที่สิ้นไปเป็นไฉน ทุกข์ที่พึงเกิดขึ้นเพราะไม่อบรมปฐมมรรคเป็นไฉน ทุกข์ที่พึงเกิดขึ้นในอัตตภาพทั้ง ๗ ใน


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 395

อบาย และในที่ใดที่หนึ่ง ตั้งต้นแต่ปฏิสนธิที่ ๘ ไป.

ทุกข์ทั้งหมดนั้น พึงทราบว่า ปริกขีณทุกข์ - ทุกข์ที่สิ้นไป.

บทว่า สตฺตกฺขตฺตุํ แปลว่า ๗ ครั้ง. อธิบายว่า ในอัตภาพทั้ง ๗.

ด้วยบทว่า ปรมตา ท่านแสดงว่า นี้เป็นประมาณยิ่งของทุกข์นั้น.

บทว่า มหตฺถิโย ได้แก่ ให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่.

จบอรรถกถานขสิขาสูตรที่ ๑