ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชื่อว่า "กาม" เพราะอรรถว่า อันสัตว์ใคร่ กามมี ๒ อย่าง คือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑
กิเลสกาม ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์
วัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา ฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม ตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ก็ยังมีวัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม
กามาวจรจิตซึ่งยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้น เหนียวแน่นมาก แม้ว่ารูปจะปรากฏเพียงชั่วขณะ ที่เล็กน้อยเหลือเกินคือชั่วขณะที่กระทบจักขุปสาท คือ ตา เสียงก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือชั่วขณะที่กระทบกับโสตปสาท กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนเป็นปริตตธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป แต่จิตก็ยินดีพอใจติดข้องในปริตตธรรมนั้นอยู่เสมอ เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของปริตตธรรมนั้นๆ จึงดูเสมือนไม่ดับไป
ความเพลิดเพลินยินดีพอใจในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่หมดสิ้น แม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นๆ จะดับไปแล้ว แต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะอื่นๆ ก็เกิดสืบต่อ ทำให้เกิดความหลงติดยินดีพอใจในรูป เสียง ฯลฯ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นรูปใดก็ตามซึ่งเป็นที่พอใจแล้ว ก็อยากจะเห็นอีกบ่อยๆ เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจแล้วก็อยากได้ยินเสียงนั้นอีก กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน เมื่อบริโภครสใดที่พอใจแล้วก็อยากบริโภครสนั้นซํ้าๆ อีก ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน ซํ้าแล้วซํ้าอีกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ