พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 324
ความหมายของคำว่าสุข สุขยตีติ สุขํ ธรรมที่ชื่อว่า สุข เพราะอรรถว่า สบาย อธิบายว่า ความ สุขย่อมเกิดแก่ผู้ใด ก็ทำบุคคลนั้นให้ถึงความสุข. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมเคี้ยวกินอย่างดี และย่อมขุด (ทำลาย) อาพาธทางกายทางใจ เพราะเหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสุข. สุขนี้เป็นชื่อของโสมนัสสเวทนา. บัณฑิตพึงทราบลักษณะเป็นต้นของสุขนั้นโดยนัยที่กล่าวแล้วในบทแห่งเวทนานั้นแหละ อีกนัยหนึ่ง สุขมีการยินดีเป็นลักษณะ (สาตลกฺขณํ) มีการยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เจริญเป็นรส (สปฺปยุตฺตานํ อุปพฺรูหนรสํ) มีการอนุเคราะห์เป็นปัจจุปัฏฐาน (อนุคฺคหณปจฺจุปฏฺฐานํ) อนึ่ง เมื่อปีติและสุขเหล่านั้นไม่แยกจากกันมีอยู่ในที่บางแห่ง ความยินดีในการได้อิฏฐารมณ์เป็นปีติ การเสวยรสอารมณ์ที่ได้แล้ว เป็นสุข ปีติมีในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น สุขมีในที่ใด ในที่นั้นไม่แน่ว่าเป็นปีติ ปีติท่านสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ สุขท่านสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์. ปีติย่อมมีในกรณีที่บุคคลเหน็ดเหนื่อยในทางกันดารได้เห็นหรือ ได้ยินน้ำในป่า. สุขย่อมมีในเวลาที่บุคคลนั้นเข้าไปสู่ร่มเงาในป่า และใช้สอยน้ำฉะนั้น.