โส ภควา อิติปิ สมฺมาสมฺพุทฺโธ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖
ฉอนุสสตินิเทศ
...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์
...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๕๗
[แก้อรรถบท สมฺมาสมฺพุทฺโธ]
ส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและโดยพระองค์เอง จริงอย่างนั้นพระองค์ทรงรู้ธรรมโดยชอบด้วย โดยพระองค์เองด้วย ซึ่งธรรมทั้งปวง คือทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นอภิญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงรู้ยิ่ง ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปริญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้ ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปหาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงละ ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นสัจฉิกาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงทำให้แจ้ง ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นภาเวตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงเจริญ ก็เพราะเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัส (แก่เสลพราหมณ์เป็นคาถา) ว่า
สิ่งที่เราควรรู้ยิ่งเราได้รู้ยิ่งแล้ว และสิ่งควรเจริญเราได้เจริญแล้ว สิ่งที่ควรละเราได้ละแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพุทธะ นะพราหมณ์
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ตรัสรู้โดยชอบ และโดยพระองค์เอง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยยกขึ้นเอาทีละบทดังนี้ก็ได้ว่า จักษุเป็นทุกขสัจ ตัณหาอันมีมาแต่ภพก่อน ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิด โดยความเป็นตัวเหตุที่เป็นมูลแห่งจักษุนั้น เป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งจักษุ และจักษุสมุทัยทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาที่เป็นเหตุรู้นิโรธเป็นมรรคสัจ ในโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมนะ ก็นัยนี้ อายตนะ ๖ มีรูป เป็นต้น หมวดวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ผัสสะ ๖ มีจักขุสัมผัส เป็นต้น เวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสสาเวทนา เป็นต้น สัญญา ๖ มีรูปสัญญา เป็นต้น เจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนา เป็นต้น หมวดตัณหา ๖ มีรูปตัณหา เป็นต้น วิตก ๖ มีรูปวิตก เป็นต้น วิจาร๖ มีรูปวิจาร เป็นต้น ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ เป็นต้น กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ สัญญา ๑๐ โดยมีอุทธุมาตกสัญญา เป็นต้น อาการ ๓๒ มีผม เป็นต้น อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ภพ ๙ มีกามภพ เป็นต้น ฌาน ๔ มีปฐมฌาน เป็นต้น อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนา เป็นต้น อรูปสมาบัติ ๔ และองค์แห่งปฏิจจสมุบาทโดยปฏิโลม มีชรามรณะ เป็นต้น โดยอนุโลม มีอวิชชา เป็นต้น (เหล่านี้) ก็พึงประกอบ (ความ) เข้าโดยนัยนั้นแล
นี่เป็นการประกอบ (ความ) บท ๑ ในธรรมเหล่านั้น (คือ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ คือ ทรงรู้โดยอนุโลม ทรงรู้โดยปฏิโลม โดยชอบ และโดยพระองค์เอง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยยกขึ้นเอาทีละบทอย่างนี้ว่า “ชรามรณะเป็นทุกขสัจ ชาติเป็นสมุทัยสัจ ความออกไปแห่งทุกข์และสมุทัยนั้นทั้งสองเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเหตุรู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ” (ดังนี้เป็นตัวอย่าง) เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบ และโดยพระองค์เอง” ดังนี้
[สรุปความ]
ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามนัย ดังนี้
[นัยแรก]
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและโดยพระองค์เอง ธรรมที่พระองค์รู้ ท่านกล่าวแสดงไว้ดังนี้
๑. อภิญไญยธรรม หมายถึงธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ได้แก่ อริยสัจทั้ง ๔
๒. ปริญไญยธรรม หมายถึงธรรมที่ควรกำหนดรู้ ได้แก่ ทุกขสัจจะ
๓. ปหาตัพพธรรม หมายถึงธรรมที่ควรปหาน ควรละ ได้แก่ สมุทยสัจจะ
๔. สัจฉิกาตัพพธรรม หมายถึงธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง ได้แก่ นิโรธสัจจะพระนิพพาน
๕. ภาเวตัพพธรรม หมายถึงธรรมที่ควรเจริญ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘
ผู้ที่เริ่มอบรมปัญญาอาศัยการฟังในเรื่องสติปัฏฐาน เมื่อปัญญาเจริญขึ้น สติปัฏฐานเกิดก็เป็น ภาเวตัพพธรรม ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็ต้องมีธรรมที่สติกำลังรู้คือสภาพธรรมที่มีจริง อันเป็นธรรมที่ควรรู้ ก็คือ ปริญไญยธรรม และเมื่อปัญญาเจริญจนสามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ก็เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม และท้ายสุดก็ถึงการดับกิเลสคือโลภะ (ปหาตัพพธรรม) อันเกิดจากการอบรมปัญญานั่นเอง
[อีกนัยหนึ่ง]
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและโดยพระองค์เอง ธรรมที่พระองค์รู้ ท่านกล่าวแสดงไว้โดยยกขึ้นทีละบท เป็นต้นว่า
จักษุเป็นทุกขสัจ ตัณหาในภพก่อนๆ เป็นเหตุให้จักษุเกิดขึ้นนั้น เป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งจักษุ และตัณหาที่ทำให้จักษุเกิดทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาที่เป็นเหตุรู้นิโรธเป็นมรรคสัจ เป็นต้น
แม้ธรรมอื่นๆ ได้แก่ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมนะ อายตนะภายนอก ๖ มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ มี กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ ฯลฯ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น รวมไปถึงองค์แห่งปฏิจจสมุบาทก็เป็นไปตามนัยดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้โดยอนุโลม โดยปฏิโลม โดยชอบ โดยพระองค์เอง โดยยกขึ้นทีละบทอย่างนี้ว่า
ชรามรณะเป็นทุกขสัจ ชาติเป็นสมุทัยสัจ ความออกไปแห่งทุกข์และสมุทัยนั้นทั้งสองเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเหตุรู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ เป็นต้น แม้ปฏิจจสมุบาทองค์อื่นๆ ก็เช่นเดียวกันบทก่อนหน้า