คนโกหกที่ไม่ทำชั่วไม่มี ข้อความนี้เป็นพระพุทธพจน์หรือเปล่าครับ
โดย kik  24 เม.ย. 2553
หัวข้อหมายเลข 15951

ข้อความนี้เป็นพระพุทธพจน์หรือเปล่าครับ ถ้าเป็นพระพุทธพจน์ ทำไมพระองค์ทรงตรัสเช่นนั้นครับ
ขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 24 เม.ย. 2553
ขอเชิญคลิกอ่านคำถามตอบที่กระทู้ คนพูดเท็จ ไม่ทำชั่ว นั้นไม่มี

ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 24 เม.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า มุสาวาท (การกล่าวเท็จ) ได้ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมากมายทีเดียว ตามความเป็นจริงแล้ว คำจริง หรือ ความจริง น่าจะพูดได้ง่ายกว่าคำเท็จ แต่บุคคลผู้สะสมมาอย่างนี้กลับไม่พูดความจริง มักพูดแต่คำเท็จ คนพูดเท็จจึงน่ากลัวมาก เพราะเขาสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซึ่งตรงกับความจริงที่ว่า "บุคคลผู้มักพูดเท็จ ที่จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่น เป็นไม่มี" อย่างเห็นได้ชัด

การกล่าวเท็จ เป็นอกุศลธรรม เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลดังกล่าว จึงเป็นเครื่องเตือนสำหรับทุกคนเพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิตโดยประการทั้งปวง เพราะธรรมดาของปุถุชนมักไหลไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้จึงไม่ควรประมาทกำลังของกิเลส ดังนั้น พึงเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลแม้จะเล็กน้อยก็ตาม เนื่องจากว่า ขึ้นชื่อว่าอกุศลแล้วไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ควรที่จะมีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล แม้แต่การพูดเท็จ ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปเพื่อทำลายประโยชน์ของผู้อื่น ก็ไม่ควรทำ และถ้าถึงขั้นที่ทำลายหรือหักรานประโยชน์ของผู้อื่นแล้ว ยิ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย kik  วันที่ 25 เม.ย. 2553
ขอบพระคุณ และ อนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 4    โดย เมตตา  วันที่ 25 เม.ย. 2553

ผู้ที่พูดโกหกเพราะว่ายังมีอกุศลธรรมที่สะสมไว้เป็นปัจจัยให้พูดไม่จริง ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะท่านดับมุสาวาทเป็นสมุจเฉท ในชีวิตประจำวันต้องมีบ้างที่พูดในสิ่งที่ไม่จริง ก็ควรที่จะเห็นโทษแม้อกุศลเล็กๆ น้อยๆ เพราะอกุศลธรรมที่ได้สะสมไว้จะเป็นเหตุให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต และอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั้นย่อมให้ผลเป็นทุกข์แน่นอน ในชีวิตประจำวันจึงควรที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมกับการเพียรที่จะละเว้น ขัดเกลา รังเกียจอกุศลธรรมทั้งหลายเพราะผู้มีสติย่อมมีความละอายที่จะไม่พูดเท็จ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 25 เม.ย. 2553

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มได้ที่

ถ้าไม่เจตนาในการมุสาแต่จำเป็นต้องมุสาจะทำอย่างไรดี

กล่าวมุสา แล้วไม่ทำบาปแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี


ความคิดเห็น 6    โดย ผิน  วันที่ 26 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย kik  วันที่ 30 เม.ย. 2553

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 8    โดย mashi  วันที่ 1 พ.ค. 2553

ถ้าเราไม่อยากโกหกแต่ถูกบังคับให้โกหกโดยไม่เต็มใจคือถูกเจ้านายสั่งจะบาปมากไหมค่ะเพราะโกหกแล้วรู้สึกไม่สบายใจมากเพราะเรารู้ว่าไม่ถูกต้องค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย prachern.s  วันที่ 2 พ.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ ๘

ตามหลักพระธรรมแสดงว่า การพูดโกหกจะบาปมากหรือน้อย อยู่ที่สภาพจิตที่มีกำลัง มีความพยายามมาก และอยู่ที่ผู้เสียหายจากการพูดโกหกของเราว่า เสียหายมากน้อยแค่ไหนครับ


ความคิดเห็น 10    โดย choonj  วันที่ 2 พ.ค. 2553


ในชีวิตประจำวัน การพูดโกหกก็คงยังจะต้องมี แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมก็จะมีสติว่า พูดแล้วจะมีผู้เสียหายมากน้อยแค่ไหน ถ้าความเสียหายมีน้อย แล้วเลื่อกหาคำพูดที่ไม่โกหกไม่ทัน การพูดโกหกก็ยังจะต้องมี ถ้าความเสียหายมีมากก็จะไม่พูดแน่นอน เมื่อพูดไปแล้วก็ไม่ต้องไม่สบายใจเพราะเกิดแล้วดับแล้ว จนกว่าจะไม่พูดและหาคำพูดที่ไม่โกหกทัน เพราะโกหกเพียงเล็กน้อยก็ไม่ถูกไม่นำมาซื่งประโยชน์ไดๆ ครับ


ความคิดเห็น 11    โดย พุทธรักษา  วันที่ 2 พ.ค. 2553

โดยส่วนตัว...เข้าใจ (จากการฟังพระธรรม) ว่า "ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป" (หิริ-โอตตัปปะ) ต่อการกระทำที่ไม่ดีใดๆ นั้น ต้องเกิดจากการ "เห็นโทษ" ของการกระทำสิ่งที่ทำไม่ดีนั้นๆ และ ถ้าเชื่อเรื่อง "กรรมและผลของกรรม" จริงๆ ด้วยความเข้าใจจริงๆ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ค่อยๆ ละคลายการกระทำที่ไม่ดี ปุถุชน ย่อมทำบาปได้เมื่อมีเหตุ (แม้บางครั้งก็ทำบาป ทั้งๆ ที่รู้ว่าบาป) แต่ไม่ได้หมายความว่า งดเว้นการทำบาปไม่ได้เพียงแต่...เริ่มต้น ด้วยการเห็นโทษของการทำบาปสำหรับการทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น การโกหก (เป็นต้น) แม้ในเรื่องเล็กน้อย เสียหายน้อยแต่ถ้ากระทำบ่อยๆ จนเป็นอุปนิสัย ต่อไปก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาและเคยชิน และอาจจะกลายเป็น "คนโกหก ที่ไม่มีใครเชื่อถือ" อีกต่อไปและความเสียหายจากการพูดโกหกนั้น ก็อาจจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง และเป็นโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อย่างที่ไม่ควรจะเป็น และกว่าจะแก้ไขได้ ก็ยากมาก ถ้าเป็นปล่อยปละละเลย จนกระทั่งเป็นผู้มีปกติชอบโกหกจนเป็นนิสัย เปรียบเสมือนน้ำทีละหยด แม้จะหยดเล็กๆ ก็เต็มตุ่มได้ ฉันใดการโกหกเล็กน้อยๆ แล้วไม่เห็นโทษ ไม่แก้ไข ก็ฉันนั้น


ความคิดเห็น 12    โดย Komsan  วันที่ 14 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลจิต ของทุกๆ ท่านครับ