ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน จิตมีจริงเพียงชั่วคราว หมายถึง มีจริงทีละขณะ เกิดแล้วดับไป แล้วจิตดวงอื่นเกิดขึ้นสืบต่อเป็นขณะต่อไป พอจะถูกต้องหรือไม่คะ ขอความละเอียดด้วยค่ะ
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน
คำว่า "จิต" ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง สภาพรู้ อาการรู้ลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และคำว่า จิตนี้ยังมีชื่อที่ใช้แทนคำว่าจิตในบางแห่งอีกมาก เช่น ใจ มโน มานัส ปัณฑระ หทัย วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น
จิต ไม่มีที่อยู่ แต่อาศัยที่เกิด จึงเกิดขึ้น เช่น จิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ก็อาศัย รูปเป็นที่เกิดที่เป็น ปสาทรูป ๕ และ จิตอื่นๆ ก็อาศัยรูป คือ หทยรูปเป็นที่เกิด จึงเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ที่ไหน ดั่งเช่น เมื่อแสงเทียน เปลวเทียนดับไป ก็ไม่ได้ไปอยู่ในสถานที่ ที่อยู่ไหนเลย ครับ ดับไปไม่เหลือเลย
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ -หน้าที่ 682
ชื่อว่าการมา โดยรวมเป็นกอง โดยความสะสม ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่เกิดขึ้น, ชื่อว่า การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับ ชื่อว่าการตั้งลงโดยรวมเป็นกอง โดยสะสม โดยเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับแล้ว. เหมือนนักดีดพิณ เมื่อเขาดีดพิณอยู่เสียงพิณก็เกิด มิใช่มีการสะสมไว้ก่อนเกิด เมื่อเกิดก็ไม่มีการ สะสม การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ออกเสียงพิณที่ดับไปก็ไม่มี ดับแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สะสมตั้งไว้ ที่แท้แล้วพิณก็ดี นักดีดพิณก็ดีอาศัยความพยายามอันเกิดแต่ความพยายามของลูกผู้ชายไม่มีแล้วยังมีได้, ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ฉันใด, ธรรมมีรูปและไม่มีรูปแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้นไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ พระโยคาวจร ย่อมเห็นด้วยประการฉะนี้แล.
จิตมีจริงเพียงชั่วคราว หมายถึง มีจริงทีละขณะ เกิดแล้วดับไป แล้วจิตดวงอื่นเกิดขึ้นสืบต่อเป็นขณะต่อไป พอจะถูกต้องหรือไม่คะ
ถูกต้องครับ จิตเกิดขึ้นและดับไปทีละขณะ ดำรงเพียวชั่วขณะจิต และเมื่อยังมี ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ จุติจิตของพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุปัจจัย เช่น อนันตรปัจจัย สมนันตร ปัจจัย เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นเกิดสืบต่อ จากจิตดวงที่ดับไปแล้ว ครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 44
๓. อุปเนยยสูตร
[๗] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อน เข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไป แล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำ ความสุขมาให้.
[๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อน เข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไป แล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่ง สันติเถิด
บัณฑิต พึงทราบ ความที่ชีวิตคือ อายุนั้นเป็นของน้อย โดยอาการ ๒ อย่าง คือ ชื่อว่าน้อย เพราะความที่ชีวิตนั้นเป็นไปกับด้วยรส คือ ความเสื่อมสิ้นไป และเพราะความที่ชีวิตนั้นประกอบด้วยขณะ คือ ครู่เดียว ก็เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยมาก (เกินเปรียบ) คือสักว่าเป็นไปเพียงจิตดวงเดียวเท่านั้น (ว่าโดยปรมัตถ์ ขณะมี ๓ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ) จึงชื่อว่า น้อย เพราะความที่ชีวิตนามนั้นเป็นของเป็นไปกับด้วยขณะ อุปมาด้วยล้อแห่งรถ แม้เมื่อหมุนไป ย่อมหมุนไปโดยส่วนแห่งกงรถหนึ่งเท่านั้น แม้เมื่อหยุดอยู่ ก็ย่อมหยุดโดยส่วนแห่งกงรถหนึ่งนั่นแหละ ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในขณะแห่งจิตดวงหนึ่ง
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย นั้น ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้น จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้น มีอายุเพียงแค่ขณะทีเกิดขึ้นขณะที่ตั้งอยู่และขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอีกประเภทที่เกิดร่วมกับจิต นั้นด้วย เมื่อเกิดร่วมกับจิต ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย สภาพธรรมที่กล่าวนั้น คือ เจตสิก จิตและเจตสิก ไม่ได้สถิตย์อยู่ที่ไหน เพราะเกิดแล้วดับแล้ว และในขณะที่เกิดนั้นก็จะต้องมีที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ด้วย ที่เกิดของจิตและเจตสิก เรียกว่า วัตถุรูป ไม่ได้มีเฉพาะหทยวัตถุเท่านั้น ที่เป็นที่เกิดของจิต ยังมีอีก ๕ วัตถุรูปอันเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก ได้แก่ จักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) โสตวัตถุ เป็นทีเกิดของโสตวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ฆานวัตถุเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ กายวัตถุ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) จิตที่เหลือทั้งหมดนอกจากที่กล่าวมาแล้ว เกิดที่ทยวัตถุทั้งหมด จิตและเจตสิกจะเกิดที่อื่นไม่ได้ นอกจากเกิดที่วัตถุรูป ๖ รูป ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ [ถ้าเป็นในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูปธรรม มีเฉพาะนามธรรม จิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น]
จิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน จิตขณะหนึ่งเกิดแล้ว ดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นจริงอย่างนี้ และ มีจริงในชีวิต ประจำวันด้วย ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
จักขุวัตถุ
โสตวัตถุ
ฆานวัตถุ
ชิวหาวัตถุ
กายวัตถุ
วัตถุ ๖
หทยรูปเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จิตเป็นนามธรรม ที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เช่น เห็นเป็นจิต เป็นใหญ่ในการเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฎทางตา ค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ
กราบอนุโมทนาครับ
ประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ