ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
บทความจากสนทนาธรรมพิเศษเรื่อง “การบวชในพระธรรมวินัย”
โดยคณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
อรรณพ กราบท่านอาจารย์ บุคคลที่มีคุณสมบัติสมควรจะบวชได้ คืออย่างไร?
สุจินต์ ต้องรู้จักว่าบวชคืออะไร เพราะว่าเป็นคฤหัสถ์อยู่ดีๆ แล้วก็จะบวช เพราะอะไร
อ. เป็นประเพณีนิยมกันไปแล้ว
สุ. เป็นประเพณีที่ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ถึงสัจจธรรม ทรงตรัสรู้ว่าการขัดเกลากิเลสดับกิเลสนี้เป็นเรื่องยากและลึกซึ้ง พระองค์ทรงแสดงความจริงของธรรมทั้งหลายให้ผู้ที่ได้ฟัง พิจารณาเข้าใจ ซึ่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นั้น จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ซึ่งเป็นมูลเหตุของกิเลสทั้งหลายได้หมดสิ้น
คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง คฤหัสถ์เห็นโทษของความสนุกสนานไหม
อ. ก็ไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่
สุ. ไม่ค่อยเห็น ทุกวันก็ยังมีเรื่องสนุก แล้วก็จากเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต เป็นพระภิกษุที่เว้น ไม่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์อีกต่อไป แม้เพียงพูดเพื่อหัวเราะกันเล่น สมควรแก่ภิกษุไหม
อ. ไม่สมควร
สุ. ไม่สมควร แต่ชีวิตคฤหัสถ์ก็หัวเราะกันเล่นได้ พวกเจ้าศากยะทั้งหลาย มีทรัพย์สมบัติมาก มีเครื่องบันเทิงมากมาย เพียบพร้อมด้วยความรื่นเริงบันเทิง แต่ก็สละได้ เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่ได้มีใครไปบังคับเลย ฉะนั้น จึงไม่มีการเกณฑ์บวช ไม่มีการชักชวนบวช เพราะบวชแล้วทำอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ ต้องศึกษาพระธรรมและประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ด้วยพระองค์เอง คนที่บวชแล้วไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ประพฤติตามพระวินัย ได้ไหม?
คำปั่น ไม่ได้
สุ. มิฉะนั้นจะบวชทำไม บวชแล้วไม่ศึกษาพระธรรมไม่ประพฤติตามพระวินัยแล้วบวชทำไม
อ. จริงๆ แล้ว ต้องศึกษาพระธรรมก่อนจะบวช
สุ. แน่นอน เพราะคนที่กล่าวคำว่า “ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง” นั้น ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพื่อเข้าใจพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ชัดเจน ละเอียดมั่นคงยิ่งขึ้น ฟังพระธรรมเพียงคำ หรือ สองคำ เท่านั้น ไม่พอ ถ้าเพียงแต่ได้ฟังว่า นี่คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น ไม่พอ เพราะยังไม่รู้พระคุณของพระองค์ว่ามากมายเพียงใด จากการฟังเข้าใจพระธรรมก็จะรู้ว่าสิ่งซึ่งปรากฏที่เหมือนรู้เหมือนเข้าใจทุกอย่าง นั้น กลับเป็นสิ่งซึ่งไม่ได้เข้าใจอะไรเลยและเข้าใจผิดด้วย นี่แสดงให้เห็นว่าธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ นอกจากผู้ที่ได้สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วมาก ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เข้าใจธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส แม้ไม่บวช ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
เพราะฉะนั้น คำถามที่น่าคิดทุกยุคทุกสมัย ก็คือ อย่าเพิ่งไปบวชเลย ตอบก่อนว่า จะบวชทำไม? จะตอบตรงไหม? เพราะถ้าไม่ใช่บวชเพื่อศึกษาพระธรรมและประพฤติตามพระวินัยแล้ว ควรบวชไหม
ลองคิดดู ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล พระนครสาวัตถีตอนเช้าตรู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต มีพระภิกษุเดินตาม ลองคิดภาพดู อากัปกิริยาอาการทั้งหมดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระภิกษุทั้งหลาย เป็นศากยบุตร เป็นผู้ขัดเกลากิเลส ด้วยเห็นคุณประโยชน์ในการประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการคึกคะนอง หรือทำกิริยาอาการผิดพระวินัย แม้สามเณรซึ่งยังไม่ได้เป็นภิกษุ ก็ยังต้องมีกิริยาอาการคล้อยตามภิกษุ เพราะเป็นเชื้อสายของพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ ผู้มีอายุมากแล้ว แต่เป็นผู้ตรง บางท่านก็ไม่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพราะรู้ตนเองว่า แม้จะขัดเกลากิเลสในเพศสามเณรก็แสนยาก เพราะกาย วาจา ต้องประพฤติตามพระภิกษุทุกอย่าง เพียงแต่เมื่อประพฤติผิดจากสิกขาบทซึ่งเป็นวินัยของสามเณรไม่เป็นอาบัติตามที่พระภิกษุต้องอาบัติทันทีที่ประพฤติผิดพระวินัย
สามเณรก็มีสิกขาบทที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามเป็นพระวินัยของสามเณร และต้องมีเสขิยวัตร คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจาในชีวิตประจำวัน เหมือนภิกษุทุกประการ ไม่ประพฤติได้ไหม
วิชัย ไม่ได้
สุ. ไม่ได้ ไม่ใช่เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว จะทำอะไรก็ได้ จะสนุกสนานอย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ สามเณรก็ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครชักชวน เชื้อเชิญให้บวช เพราะผู้ที่รู้ว่าพระศาสนานั้นบริสุทธิ์สูงยิ่ง ละเอียดยิ่ง ขัดเกลาอย่างยิ่ง ต้องรู้ประโยชน์ของพระธรรมวินัยจริงๆ จึงสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้
เมื่อรู้อย่างนี้ คนยุคนั้น ไม่กล้าที่จะชักชวนกันบวชอย่างคนยุคนี้ที่ชักชวนกันไปบวชเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เมืองไทยยุคนี้ชักชวนกันไปบวชเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนเพื่ออะไร เห็นไหมว่า ไม่มีความเคารพในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวเมืองสาวัตถี ชาวเมืองเวสาลี เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยพระภิกษุ มีความเคารพยิ่งในเพศบรรพชิตซึ่งต่างกับเพศคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะละอาคารบ้านเรือนอย่างบรรพชิตได้ จึงมีศรัทธาที่จะอนุเคราะห์บำรุงพระภิกษุ เพื่อให้ท่านได้ศึกษาธรรมขัดเกลากิเลสด้วยความเบาสบาย ไม่ต้องเดือดร้อนในการดำรงชีพด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น คฤหัสถ์อนุเคราะห์บรรพชิตให้มีที่อยู่ มีอาหาร มียารักษาโรค มีจีวรเครื่องนุ่งห่ม พอควร เพียงพอสำหรับบรรพชิต ภิกษุใดต้องการมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ภิกษุนั้นก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย
คฤหัสถ์เห็นบรรพชิตแล้วกราบไหว้ด้วยความเคารพในอัธยาศัยที่สามารถขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ ยิ่งเข้าใจพระธรรมวินัยมากเท่าไหร่ ความเคารพในเพศบรรพชิตก็ยิ่งมากเท่านั้น แต่ว่าถ้าไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา แต่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งธรรมและวินัยด้วย แล้วคฤหัสถ์จะเคารพในภิกษุอลัชชี ผู้ไม่ละอาย กระนั้นหรือ การบวช ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ใครก็บวชได้ อย่างที่บวชกันในยุคนี้สมัยนี้ ซึ่งไม่ใช่การบวชตามพระธรรมวินัย การบวชเป็นการสละ ละความติดข้อง ผู้บวชเป็นผู้สงบจากความติดข้อง แต่ตอนที่จะบวชเป็นอย่างไร? มีการฟ้อนรำรื่นเริงบันเทิงแห่แหนด้วยมหรสพดนตรีต่างๆ และพยายามเพิ่มความวิจิตรพิสดารให้มากขึ้น มีการบวชสามเณรขี่ช้าง ขี่ม้า หรือแม้การอุปสมบทที่ไม่มีในพระธรรมวินัย เช่น ออกจากอุโบสถที่บวชแล้วรับเงินทองจากผู้มาร่วมในการบวชทันที แล้วเราชาวพุทธกำลังทำอะไร? เราเป็นผู้ที่ชื่นชมในผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หรือว่า เป็นผู้ที่เห็นว่าสมควรที่จะให้บุคคลที่ชื่อว่าชาวพุทธได้ตื่นจากการหลับใหลไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม เพียงแค่เห็นผู้ที่ครองผ้า ซึ่งใช้คำว่า “กาสาวพัสตร์” ก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร?
ค. ผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าย้อมน้ำฝาด
สุ. เท่านั้นเอง ใช่ไหม ผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าย้อมน้ำฝาด แต่ว่าผ้าย้อมน้ำฝาดนี่ ถ้าผู้ที่ครองผ้านั้นไม่มีคุณความดี ก็เหมือนคนที่ใส่ผ้าย้อมน้ำฝาดอื่นๆ ไม่ได้มีความต่างกันเลย เพราะฉะนั้นภิกษุต่างกับคฤหัสถ์ที่คุณสมบัติและคุณธรรม ความรู้ความเข้าใจ เห็นประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสในเพศที่เหนือกว่าคฤหัสถ์
ด้วยเหตุนี้ ก่อนอื่น คฤหัสถ์ควรที่จะเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าพระภิกษุคือใคร มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่มีภิกษุในพระธรรมวินัย ผู้บวชไม่ได้บวชเพราะเข้าใจธรรม แต่มีการเล่นร้องรำทำเพลงให้ทุกคนร่วมกันรื่นเริง ดีใจ นั้น เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะไม่เข้าใจความจริงว่ากุศลธรรมจะเป็นอกุศลธรรมไม่ได้ ความดีใจด้วยความไม่รู้ ความดีใจด้วยความไม่รู้เป็นกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น คิดว่าจะไปทำกุศลกันหรือ ใครๆ ที่กำลังดีใจแล้วทำพิธีรื่นเริงมหรสพต่างๆ ขี่ช้างบ้าง ขี่ม้าบ้าง คนเห็นก็ดีใจๆ นั่นบุญหรือ? เพราะไม่รู้จักบุญ คิดว่าดีใจเป็นบุญ แต่ดีใจอย่างนั้นด้วยความไม่รู้ เป็นอกุศลแน่นอน
อ. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบวชแทนคุณพ่อแม่ หรือเป็นการบวชเพราะคิดว่าผู้ชายชาวพุทธควรบวช อันนี้เป็นเหตุหนึ่งที่มีการชักชวนกันบวชสักครั้งหนึ่งในชีวิต ท่านอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร?
สุ. ธรรมเนียมนี้มาแต่ไหน สมัยโน้นมีไหม?
ว. ไม่มี
สุ. ท่านอนาถบิณฑิกะท่านมีบุตรชายไหม?
ว. มี
สุ. ท่านให้บุตรท่านบวชหรือเปล่า แม้ตัวท่านเองเป็นพระโสดาบันแล้วก็ไม่บวช ท่านรู้ว่าการบวชเป็นเรื่องสูงยิ่ง ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม และเคารพระธรรมโดยการศึกษาธรรมขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นตามการสะสมที่จะเป็นเพศคฤหัสถ์หรือเพศบรรพชิต ทุกคนอนุโมทนาผู้ที่เห็นโทษของกิเลสและสะสมมาที่จะสามารถละอาคารบ้านเรือน บวชอุทิศชีวิตให้แก่การศึกษาและปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัย แต่ไม่ใช่เพราะมีผู้ให้เขาบวชหน้าไฟหรือด้วยเหตุอื่นๆ แล้วก็น่าแปลกที่ไปอยากให้คนอื่นบวชแต่ตัวเองบวชหรือเปล่า ถ้าตัวเองไม่บวช แล้วทำไมให้คนอื่นบวช
อ. เพราะตัวเองก็คงไม่อยากจะบวช
สุ. ก็ตัวเองไม่อยากจะบวช แต่ให้คนอื่นบวช แล้วคนอื่นก็ไม่อยากบวช ใช่ไหม แต่เมื่อเขาอยากให้บวชก็บวช นี่อะไรกัน เพราะฉะนั้นธรรมเนียมทั้งหมด ลองย้อนไปถึงในครั้งพุทธกาล ธรรมเนียมอย่างนี้มีไหม?
อ. ไม่มี
สุ. ไม่มี แล้วธรรมเนียมนี้มาจากไหน มาจากการไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ว่าผู้ที่บวชต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม ตรงและจริงใจ รู้อัธยาศัยของตนเองตามความเป็นจริงว่าสามารถสละชีวิตของคฤหัสถ์ได้หมดสิ้นและดำรงเพศบรรพชิตได้ จึงสมควรบวช
อ. เพราะฉะนั้น การบวชในยุคนี้ ส่วนใหญ่ที่เป็นไปตามประเพณี ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร?
สุ. บวช เพื่อหายโรค คิดดู ด้วยความต้องการหายโรคต่างหาก จึงบวช ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจพระธรรมแล้วทำไมบวช ไปหาหมอก็ได้เพื่อรักษาโรค รักษาสุขภาพให้ดีๆ แต่ทำไมจึงไปบวชเพื่อหายโรค ไปบวชแล้วไม่หายหรอก โรคกิเลสเพิ่มขึ้น
อ. บางคนบวชเพื่อสะเดาะเคราะห์ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ บวชเพื่อจะได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ควบคู่กันไป เพราะในปัจจุบันนี้ เมื่อบวชแล้วก็จะได้เรียนทั้งทางโลกทางธรรม ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร?
สุ. ทั้งหมดก็คือ บวชด้วยความต้องการ คนที่บวชเพื่อสะเดาะเคราะห์ นั้น ไม่รู้ว่าเคราะห์มาจากไหน ต้องมีเหตุให้เกิดเคราะห์ ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นก็ต้องมีเหตุหรือมีปัจจัยเกื้อกูลสนับสนุนให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำไมไม่เข้าใจในเหตุในผล เพียงแต่เดาเอาว่าเคราะห์ร้ายก็ต้องไปบวช เคราะห์ร้ายมาจากการกระทำที่ไม่ดีหรือเปล่า? ถ้าทำดีจะเคราะห์ร้ายหรือ เพราะฉะนั้น เมื่อเคราะห์ร้ายเกิดจากการทำไม่ดี ก็ทำดีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีเคราะห์ร้ายต่อไป ไม่ดีหรือ เห็นไหมถ้าเป็นเหตุเป็นผลก็ง่ายๆ ธรรมดา ตรงตัว เคราะห์ร้ายมาจากไหน เหตุให้เกิดเคราะห์ร้ายคืออะไร เหตุที่ทำให้เกิดเคราะห์ร้ายนั้น มาจากการกระทำที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ทำความดีจะได้ไม่มีเคราะห์ร้าย แต่สิ่งที่ได้ทำไปแล้วนั้นใครๆ ก็เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อมีเคราะห์ร้ายก็แสดงให้ชัดเจนว่าเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลของการทำไม่ดีที่ได้กระทำไปแล้วนั้น เคราะห์ร้ายเตือนใจให้รู้ว่า ผลของการกระทำที่ไม่ดีย่อมเป็นอย่างนั้น
สุ. เมื่อได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด จะเห็นความชัดเจนของพระมหากรุณาที่ทรงแสดงให้พ้นจากความเข้าใจผิด ความหลงผิด การประพฤติผิด แม้แต่การบวชกับการทำดีความประพฤติต่างๆ ที่ถูกต้องดีงาม ขัดเกลากิเลส เหมือนการบวชไหม? ปวชะ หรือ ปัพพัชชะ ก็คือการ สละ ละคลาย ขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ขัดเกลากิเลส เมื่อไหร่ก็เหมือนบวชเมื่อนั้น ทำไมไม่ทำความดีซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส แต่กลับจะไปบวช โดยไม่รู้ว่าบวชโดยไม่เข้าใจพระธรรมและไม่ประพฤติตามพระวินัยนั้นเป็นบาป เพราะการบวชนั้นต้องสำหรับผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้วต่างหาก ถ้ายังไม่เข้าใจพระธรรมเลย ถามว่าทำไมบวช บอกไม่รู้ คนที่ทำอะไรด้วยความไม่รู้ คิดดู เหมือนคนตาบอดไหม ถ้าใช้คำว่าไม่รู้ บวชเพราะอยากบวช แต่ก็ไม่รู้อีกว่าบวชคืออะไร แม้แต่บวชเพราะอยาก ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นบาป
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อไม่ให้ตาบอด ไม่ให้หลงผิด ไม่ให้เข้าใจผิด พระธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้วทุกประการนั้นมีความละเอียดอย่างยิ่งและตรงเหตุตรงผลอย่างยิ่ง
อ. ในมงคลสูตร กล่าวถึงความเป็นผู้มีสิปปะ คือ ศิลปะ ความรู้ความสามารถในวิชาการต่างๆ นั้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่บวชเข้าใจว่าต้องศึกษาวิชาทางโลกด้วย
สุ. มงคลสำหรับพระภิกษุหรือสำหรับทุกคน
อ. สำหรับทุกคน
สุ. เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ควรมีมงคลข้อไหน?
อ. ควรมีมงคลทุกข้อ
สุ. สำหรับบรรพชิตถ้าจะกล่าวถึงสิปปะ คือ ศิลปะความสามารถ ไม่ใช่หลังบวชแล้วไปเรียนวิชาการต่างๆ แต่ก่อนบวชเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาการอาชีพต่างๆ เมื่อสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต แต่ความสามารถนั้นยังเป็นประโยชน์ได้ตามพระธรรมวินัย แต่ต้องตามพระธรรมวินัย เพราะเป็นการขัดเกลากิเลส จะไปอาสาชาวบ้านสร้างบ้านสักหลังได้ไหม?
ว. ไม่ได้
สุ. มีศิลปะ สร้างเก่ง ได้ไหม ตั้งบริษัทก่อสร้างได้ไหม
อ. ไม่ได้
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเอียดครบถ้วน ตรง ลึกซึ้ง แม้แต่ข้อความใดที่แสดงไว้ในมงคล เป็นมงคลทั้งหมด ไม่เว้นกับใครเลย แต่ในเพศไหน?
อ. ข้อนี้สำคัญ ไม่อย่างนั้นก็ไปเอาพระธรรมมาล้มล้างพระวินัย เพราะว่าศึกษาไม่ดี ไม่เข้าใจ อย่างเช่นในเรื่องมงคลว่าด้วย สิปปะ ดังนั้นในบรรดาสิปปะทั้งหลาย ศิลปะทั้งหลาย ความรู้ทั้งหลาย ความเข้าใจพระธรรมวินัยก็เป็นความรู้ที่สูงสุดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การบวชเพื่อที่จะมีการศึกษาทางโลกควบคู่ไปด้วย ก็ไม่เป็นการบวชตามพระธรรมวินัยเช่นกัน
สุ. แล้วจะเอาเวลาที่ไหนศึกษาพระธรรมวินัย
อ. เพราะมัวแต่ศึกษาทางโลก
สุ. แล้วก็บวชมาเพื่ออะไร
อ. เพื่อให้สถาบันการศึกษารับรอง
สุ. ทำไมต้องการการรับรองจากสถาบันการศึกษา สละแล้วไม่ใช่หรือ
อ. สึกแล้วจะได้มาเทียบวุฒิ
สุ. เพราะฉะนั้น ก็บวชเพื่อสึก ไม่ใช่บวชเพื่อที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลส แต่บวชเพื่อประโยชน์ของตนเอง บาปไหม
อ. จึงไม่ใช่เป็นการบวชตามพระธรรมวินัย แล้วก็มีความเสียหาย มีโทษด้วย
สุ. เพราะฉะนั้น ก็อย่าชักชวนกันบวชเพราะเป็นบาป แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า บวชเพื่ออุทิศชีวิตศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติ
อ. อีกประเด็นหนึ่ง การบวชตามการโฆษณาชวนเชิญ ซึ่งก็จะเป็นตามวาระ หรือตามโอกาสของทางวัดบ้าง หรือตามหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือเพื่อที่จะไปปฏิบัติธรรมกัน หรือเพื่อที่จะอุทิศคุณความดีให้กับบุคคลต่างๆ เพราะคิดว่าการทำอย่างนั้นเป็นการสืบทอดพระศาสนา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าจะสนทนากันให้เข้าใจถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะชักชวนกันระดมกันมาบวชเป็นจำนวนมากๆ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน หรือบางแห่งเป้าหมายสูงสุดก็เป็นล้าน
สุ. เพียงข้อที่ว่ามาบวชเพื่อร่วมกันทำความดี นั้น ถามว่าสึกแล้วเข้าใจธรรมไหม? เมื่อไม่เข้าใจแล้วเป็นความดีได้หรือ? ความดีอะไร?
อ. วัตถุประสงค์ก็ไม่ใช่
สุ. ตั้งแต่คิดจะบวช บวชทำไม บวชเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ ไม่ใช่จุดประสงค์ ไม่ใช่การขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย
อ. กราบเรียนตรงๆ ว่า การเกณฑ์กันมาบวชเป็นการดูหมิ่นการบวช เป็นการไม่เคารพยำเกรงพระศาสดาอย่างไร?
สุ. เป็นบาป เพราะไม่เข้าใจว่าบวชคืออะไร บวชแล้วทำทุกอย่างด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรม บุญหรือบาป?
อ. แล้วก็ไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งบุคคล อย่างเกณฑ์กันมาเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นหมื่น เป็นแสน
สุ. เพราะฉะนั้น คนที่ไปบวชโดยไม่รู้ว่าเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัย ก็บาป คนที่ชักชวนคนอื่นไปบวชโดยที่เขาไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย ก็ต้องเป็นบาปด้วยทั้งหมด
อ. ก็ไม่เป็นการเคารพยำเกรงในพระศาสดาเลย เพราะเห็นการบวชเป็นเรื่องสบายๆ มาบวชกันแล้วก็ดูว่าดี
สุ. ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องตรงและจริงใจ ถามว่าบวชทำไม ตอบไม่ได้ ควรบวชไหม
ว. ไม่ควรบวช
สุ. ตอบว่าบวชเพื่อที่จะได้อุทิศส่วนกุศล ควรบวชไหม?
ว. ก็ไม่ควรบวช
สุ. ยังไม่ได้ทำความดีอะไรเลย แล้วจะอุทิศอะไรให้ใครได้อย่างไร และระหว่างบวช ก็ไม่ได้ทำความดีตามที่ภิกษุ หรือ สามเณรต้องทำตามพระธรรมวินัย
อ. เพราะฉะนั้น การที่จะอุทิศส่วนกุศล ซึ่งก็บอกอยู่แล้วว่าอุทิศส่วนที่เป็นกุศล จึงต้องเป็นกุศลเป็นคุณความดีจริงๆ จึงจะอุทิศให้คนอื่นได้
สุ. ตามความจริง ที่กระทำกันอยู่เวลาบวชต้องเสียเงินเสียทองไหม?
อ. เสีย
สุ. ผิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว และเมื่อบวชแล้วทำอะไร?
อ. ถ้าไม่ได้มีการศึกษาพระธรรมวินัย ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
สุ. ก็เปล่าประโยชน์ เหมือนละลายในแม่น้ำไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากบาป เพราะบวชแล้วก็ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร และยังไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยด้วย เป็นโทษอย่างยิ่งและเสียประโยชน์อย่างยิ่งด้วย เพราะเสียเงินเสียทองโดยไร้ประโยชน์
อ. อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบวช ก็คืออาจจะเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมวินัยบ้างแล้ว และดูเหมือนเป็นผู้มีศรัทธาที่อยากจะก้าวหน้าในทางธรรมยิ่งขึ้น เพราะเห็นว่าอยู่ในเพศคฤหัสถ์เป็นเพศคับแคบด้วยอกุศล เพราะฉะนั้นจึงบวชเป็นพระภิกษุ อย่างนี้ท่านอาจารย์จะมีความเห็นอย่างไร?
สุ. ยังไม่บวชได้ไหม เพื่อที่จะทดลองว่ามั่นคงจริงๆ หรือเปล่า ศรัทธาจริงๆ หรือเปล่า เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าไม่มีใครห้ามใครว่า ให้คนนั้นคนนี้รักษาศีลเพียงเท่านั้นข้อเท่านี้ข้อ แต่ละหนึ่งคนจะขัดเกลากิเลสด้วยการที่รักษาศีลได้ด้วยใจจริงตามความเป็นจริงจะเป็นกี่ข้อก็ได้ ๕ ข้อก็ได้ เมื่อศึกษาพระวินัยและเสขิยวัตร คือ ความประพฤติหรือกิริยามารยาทที่ดีงามที่จะต้องศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จะเห็นได้ว่าคฤหัสถ์ก็สามารถจะมีศีลได้เกิน ๕ ข้อ ฉะนั้น แทนที่ใครๆ ก็ได้จะไปบวช รู้ใจตัวเอง เข้าใจตัวเองให้ดีๆ ก่อน เพราะบวชแล้วต้องรักษาศีลตามที่ทรงบัญญัติไว้ ๒๒๗ ข้อ ลองดูซิว่าทำได้ไหม ถ้าไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ก็ทำไม่ได้ จึงไม่ควรที่จะบวช
อ. อันนี้ขอแย้งนิดหนึ่ง เพราะมีบางคนที่รู้จัก เขาไม่ทานอาหารหลังเที่ยงมาเป็นปกติหลายปี เขาก็เลยคิดว่าเขาสามารถและเหมาะสมที่จะไปบวช แล้วทุกวันนี้เขาก็ไปบวชแล้ว เพราะว่าเขาสามารถที่จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยง เป็นต้น
สุ. แล้วเข้าใจพระธรรมหรือเปล่า?
อ. เขาก็ว่าเขาสนใจแล้วจึงได้ไปบวช จะได้มีเวลาศึกษาธรรมให้มาก
สุ. แล้วบวชแล้วเข้าใจหรือเปล่า?
อ. อันนั้นก็เป็นส่วนบุคคล
สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าบวชแล้วไม่เข้าใจพระธรรม คิดแต่เพียงว่า ไม่รับประทานอาหารหลังเวลาเที่ยงแล้วก็บวชได้เท่านั้นเองหรือ บวชทำไม คนที่เขาเป็นอย่างนั้นตั้งเยอะแยะไปแต่เขาก็ไม่ได้ต้องการจะบวช เพราะบวชเพื่อศึกษาพระธรรมเป็นอันดับแรก เพราะว่าถ้าไม่ศึกษาพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสแล้วบวชทำไม จะรักษาพระวินัยเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพราะเข้าใจความละเอียดของพระธรรมซึ่งเป็นปัจจัยละคลายกิเลสให้น้อยลงได้
อ. เพราะฉะนั้น การบวชที่อยากบวช เพราะเข้าใจว่าเป็นศรัทธา ก็ยังไม่ใช่เป็นการบวชตามธรรมวินัย
สุ. ศรัทธาต้องเป็นกุศล ถ้าไม่รู้และอยาก เป็นศรัทธาได้ไหม
ว. ไม่ได้
สุ. ไม่รู้แล้วบวชแล้วบอกว่าเป็นศรัทธา เป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่รู้เป็นอกุศล และอยากบวชก็เป็นอกุศลทั้งสองอย่าง คือ เพราะไม่รู้แล้วก็อยากด้วย ฉะนั้น จึงไม่ใช่ศรัทธา
อ. กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า การบวชที่ไม่เป็นตามพระธรรมวินัยที่แพร่หลายกันมากในขณะนี้ตามที่เราได้สนทนากัน จะเสียหายต่อพระศาสนาและชาติบ้านเมืองอย่างไรบ้าง?
สุ. พระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ก็เมื่อมีผู้ที่เข้าใจพระธรรม ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุที่จะเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยนั้นจะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มิฉะนั้นแล้วก็ทำลายพระศาสนา ไม่ว่าจะโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจธรรม แล้วจะบวชทำไม เมื่อบวชโดยไม่เข้าใจธรรมจึงทำลายคำสอนของพระบรมศาสดา เมื่อไม่เข้าใจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กล่าวคำซึ่งไม่ใช่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พูดเอง สอนเองทุกอย่าง ตามความคิดของตัวเองที่ตรงกันข้ามกับพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นโทษอย่างยิ่ง เช่น สำนักปฏิบัติวิปัสสนา ทำลายพระศาสนาแน่นอน เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ศึกษาธรรม ไม่เข้าใจธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ด้วยความเห็นผิด คิดว่าพระพุทธศาสนาง่ายมาก ผู้นั้นไม่ใช่ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท เพราะเหตุว่าพุทธบริษัท นั้น แม้แต่ธรรมคำเดียวของพระองค์ ก็ต้องศึกษาให้สอดคล้องกันจึงจะสามารถเข้าใจได้ตามลำดับการเจริญขึ้นของปัญญา เช่น ขณะนี้พูดถึงเห็น ทุกคนคิดว่าเห็นเป็นธรรมดาๆ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า เห็นไม่ใช่เรา เห็นเป็นสิ่งที่มีจริง คือ เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพียงเท่านี้ ง่ายหรือที่จะรู้ และถ้าไม่ควรรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสไว้ทำไม เพราะเห็นทุกวัน ไม่รู้ทุกวัน แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่ามีผู้ที่ตรัสรู้ความจริงเพราะได้อบรมเจริญปัญญาถึงการที่จะรู้ความจริงที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้วได้ ผู้ที่เข้าใจความละเอียดลึกซึ้งของธรรมเท่านั้นจึงสมควรที่จะขัดเกลากิเลสได้ตามเพศซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต แต่ต้องเข้าใจพระธรรม เพราะพระธรรมเป็นวินัย นำกิเลสออก เพราะรู้ความจริงว่าธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เรา
ทั้งหมดเป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง พระศาสนาก็อันตรธาน ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจพระธรรม พระธรรมก็อันตรธานแล้วจากคนนั้น ไม่ต้องไปคอยถึงกี่พันปี อันตรธานเดี๋ยวนี้ที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น พระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง บวชแล้วไม่ศึกษาพระธรรมไม่รักษาพระวินัยแล้วจะบวชทำไม เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมและไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็บวชทำลายพระศาสนา ผู้ที่ไม่ศึกษาไม่เข้าใจพระธรรมแล้วบวช ผู้นั้นลักขโมยเพศบรรพชิต เป็นการปลอมบวช ไม่ใช่เป็นการบวชด้วยความเคารพในพระบรมศาสดา
ในครั้งโน้น พุทธบริษัทมี ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ในครั้งนี้ ด้วยพระพุทธประสงค์ที่ไม่ประสงค์ให้สตรีบวช เพราะจะทำให้พระศาสนาตั้งมั่นคงได้ไม่นาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุณีไว้มาก เพื่อที่จะให้ภิกษุณีค่อยๆ สูญไป ตามกาลเวลาที่ไม่ใช่กาลสมัยที่สตรีจะรู้แจ้งธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ด้วยเหตุนี้ ในสมัยนี้พุทธบริษัทจึงมีเพียง ๓ คือ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา คฤหัสถ์ใดที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่ใช่พุทธบริษัท ผู้ที่ไม่เข้าใจธรรมแต่หลงผิดสำคัญว่าตนเป็นพุทธบริษัท ก็ทำสิ่งที่เป็นการทำลายพระศาสนา เช่น เกณฑ์คนมาบวช ตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ปฏิบัติวิปัสสนา ฯลฯ ซึ่งเป็นโทษมากเพราะทำลายพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้ได้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ผู้ที่มีศรัทธาสะสมมาแล้วที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลมีมาก เป็นกาลสมบัติ เป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมแก่พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ผู้มีปัญญารอบรู้ในพระธรรมคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วพรั่งพร้อมด้วยผู้ประพฤติตามพระธรรมวินัย แต่เมื่อกาลสมัย ล่วงมา ซึ่งเราคงไม่ย้อนไปถึงสมัยพันปีแรก ใครอยู่ที่ไหนได้ฟังพระธรรมสะสมความเข้าใจมากน้อยเท่าไหร่ต่างๆ กันไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปจนถึง ณ บัดนี้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นความห่างไกลของพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาลมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ นานพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่พระพุทธศาสนาไม่ได้ดำรงอยู่ตามที่ควรจะรุ่งเรือง เหมือนสมัยก่อน เพราะเหตุว่าขาดการเข้าใจธรรม แม้แต่การบวช ก็บวชอย่างผิดๆ คือบวชเพื่ออย่างนั้น บวชเพื่ออย่างนี้ แต่ไม่ใช่บวชเพื่อที่จะศึกษาธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส ฉะนั้น การบวชที่ไม่ใช่ด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่ใช่การบวชเพื่อศึกษาพระธรรม และประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามธรรมวินัย การบวชเพื่อเหตุอื่นๆ ทั้งหมด เป็นการทำลายพระศาสนา
และอีกไม่นาน ถ้าเป็นอย่างนี้ทั้งเมือง ทั้งโลก พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้อย่างไร พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่พุทธบริษัทหนึ่งพุทธบริษัทใด แม้ไม่มีภิกษุ ก็ยังมีคฤหัสถ์ที่เข้าใจธรรมและรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้จนถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อใด จึงบวชเป็นภิกษุ ฉะนั้นเพศภิกษุจึงเป็นเพศของความเป็นพระอรหันต์ และอีกประการหนึ่ง พันปีที่ ๑ ยังมีพระอรหันต์ผู้ถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษ ปฏิสัมภิทา อภิญญาต่างๆ ด้วยพุทธบริษัทที่ถึงความเป็นพระอรหันต์ที่ทรงคุณพิเศษ
แต่ว่าพอถึงพันปีที่ ๒ ก็ยังมีพระอรหันต์ แต่เป็นผู้ไม่ทรงคุณวิเศษเช่นในพันปีแรก
พันปีที่ ๓ คือยุคนี้ เป็นนัยหรือเปล่าว่า ไม่มีพระอรหันต์ ความห่างไกลจากความเข้าใจพระธรรมตามกาลเวลาที่ล่วงไปนั้น ผู้ที่แจ้งอริยสัจธรรมได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งความเป็นพระอนาคามีนั้นเป็นได้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ถ้าไม่มีความเข้าใจพระธรรมวินัยเลย พระศาสนาก็ดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี ต่อเมื่อมีผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม ศึกษาพระธรรม ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ศาสนาจึงจะดำรงอยู่ต่อไปได้
อ. เพราะฉะนั้น ในประเด็นที่ว่า ถ้าเข้าใจแล้วพระธรรมแล้ว เป็นคฤหัสถ์ก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้สูงสุดถึงความเป็นถึงพระอนาคามี ไม่ต้องบวชเป็นเพศภิกษุก็ได้ เพราะเพศภิกษุเป็นเพศของพระอรหันต์
สุ. ก่อนอื่น ยังไม่ต้องบวชเป็นคนดีก่อนได้ไหม? ทั้งประเทศไม่ต้องบวช แต่ทั้งประเทศมีคนดีได้ไหม? การเป็นภิกษุยาก ไม่ใช่ง่ายเลย ต้องเป็นอยู่ตามพระธรรมวินัยอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น การละคลายขัดเกลากิเลสเป็นคนดีขึ้นได้นั้น ต้องมาจากการเข้าใจธรรม ถ้าขาดการเข้าใจธรรม ก็ยังเป็นคนดีได้ แต่ดีไม่มากพอที่จะถึงกับดับกิเลสได้ เพราะเป็นคนดีได้ตามที่สะสมมา
การบวชสมัยนี้ บวชโดยไม่รู้ไม่เข้าใจว่าการบวชเป็นการสละ ปวชะ หรือ ปัพพัชชะ นั้น เป็นการสละเพศคฤหัสถ์ทั่วทุกอย่าง จะมีกาย วาจาอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไปไม่ได้ ทุกคนมีกิเลสมาก แต่ก็ควรเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก่อน ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น ด้วยการศึกษาธรรม ขัดเกลากิเลส ไม่ทำลายพระศาสนาด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจธรรม พระศาสนาก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้
แต่ถ้าไม่มีการศึกษาธรรม ไม่เข้าใจธรรม ก็บวชโดยไม่รู้ว่าบวชทำไม จะบวชแบบนั้นบ้าง จะบวชแบบนี้บ้าง แต่ไม่ใช่บวชเพื่อที่จะศึกษาธรรมเลย อยากจะให้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้หรือ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด มีคนดี โดยไม่จำเป็นต้องมีพระภิกษุที่เลว ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม แล้วยังทำลายพระศาสนาโดยไม่ศึกษาพระธรรม และไม่รักษาพระวินัยด้วย
อ. ต้องเป็นเรื่องจริง เรื่องตรง
สุ. ต้องตรง
อ. จึงจะแก้ปัญหาได้
สุ. ไม่ใช่หลอกกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองกว่าประเทศอื่น ตรงไหนที่รุ่งเรือง พิธีกรรมต่างๆ ทำลายพระศาสนาทั้งนั้น เพราะนำมาซึ่งความติดข้องซึ่งเป็นต้นเหตุของทุจริตต่างๆ ทุกวงการ
อ. สิ่งที่ถูกต้องในการที่จะปลูกฝัง ความเข้าใจธรรมหรือใช้คำว่าจริยธรรมก็ตามแก่เยาวชน ควรจะออกมาในกิจกรรมหรือในรูปแบบใดที่จะเป็นประโยชน์ได้บ้าง ท่านอาจารย์จะมีคำแนะนำอะไรตรงนี้
สุ. อ้างว่าคิดถึงเด็ก พระนครสาวัตถีมีเด็กไหม?
อ. มี
สุ. ไปบวชกันหรือเปล่า?
อ. ก็ไม่ได้ถูกเกณฑ์ไปบวชเลย
สุ. ทั้งๆ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ก็ไม่มีใครเกณฑ์ลูก เกณฑ์หลาน ไปฝึกฝนไปอบรมขัดเกลากิเลสโดยการบวช ฝึกฝนอบรมได้โดยไม่ต้องบวชสิ ทำไมจะต้องไปบวช ไปบวชทำไมเมื่อยังไม่เข้าใจคุณค่าของพระธรรม
ด้วยเหตุนี้ถ้าใครคิดถึงเยาวชน ก็ให้เยาวชนมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาสิ่งที่ผิดๆ ไปให้ลูกหลาน เรามีโรงเรียนสอนหลักสูตรวิชาการต่างๆ พอโรงเรียนปิดแล้วลูกหลานจะทำอะไร พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็แล้วแต่ เขาอาจจะพอใจตามแบบของเขา ไปเล่นดนตรี ไปว่ายน้ำ ไปอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าห่วงถึงความเป็นคนดีข้างหน้าของเยาวชน แทนที่จะไปบวช ก็แนะนำให้ทำสิ่งที่ดีได้ไหม แทนการบวช
ในสมัยก่อนเรามีลูกเสือ ยุวนารี ทำอะไรกันบ้าง แต่ละยุคสมัยก็เปลี่ยนไป กาลสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ สมัยนี้มี “ค่ายใจดีทำดี” ดีไหม? เพราะว่าชัดเจนกว่า “ค่ายคุณธรรม” ซึ่งก็ต้องมานั่งอธิบายกันอีกว่า ธรรมคืออะไร คุณธรรมคืออะไร สำหรับคนไทยเข้าใจภาษาไทยชัดเจนกว่า ภาษาอื่น ถ้ามี “ค่ายใจดีทำดี” เด็กก็จะได้เรียนรู้ว่าใจดีเป็นอย่างไร ใจไม่ดี เป็นอย่างไร สอนให้เขาเข้าใจถูกต้องว่าอะไรดี อะไรไม่ดี และให้เขาทำดีทุกอย่าง ช่วยทำอะไรก็ได้ ช่วยชาวนาปลูกข้าว ช่วยขุดบ่อ ช่วยถมถนน เป็นการได้แรงงานที่ดี และเป็นการฝึกหัดที่ดีด้วย ทั้งความอดทน ทั้งความเสียสละ ทั้งการที่จะมีชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ค่อยๆ สอนให้เขาเป็นคนดีโดยไม่ต้องไปบวช ซึ่งไปบวชแล้วทำอะไร สามเณรที่บวชภาคฤดูร้อนทำอะไรกันบ้าง บุกป่าฝ่าดง ทำอะไร ไปหัดทุกข์ยากหรือ ทุกข์ยากจริงๆ ไม่ใช่ต้องไปอยู่ในป่าฝ่าดง ชีวิตจริงๆ นี่แหละทุกข์ยาก แต่ว่าสามารถที่จะเป็นคนดีฟันฝ่าความทุกข์ยากด้วยความประพฤติความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นคงในคุณความดี ดีกว่าไหม คือ สอนให้เขาเข้าใจดี ชั่วว่าเป็นอย่างไร เป็นทางให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตจริงซึ่งเป็นธรรม โดยไม่ต้องใช้หลักสูตรยากๆ เอาเขาไปสวดมนต์ เมื่อไม่เข้าใจพระธรรมคือคำสวดมนต์ก็เป็นการพูดคำที่ไม่รู้จัก ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ถามสิ สวดมนต์คืออะไร รู้ไหมว่าทุกคำนั้นหมายความว่าอะไร บางคนก็เอาคำบาลีมาหลอกให้สวดด้วยซ้ำไป ซึ่งคนสวดไม่รู้ ก็หลงสวดตาม มีใช่ไหมคุณคำปั่น?
ค. มี
สุ. แล้วนั่นหรือประโยชน์ การพูดคำที่ไม่รู้จักไม่ใช่ประโยชน์ ให้เขาสวดเสียเวลา ไม่ว่าจะสวดครึ่งวันหรือหนึ่งชั่วโมง หรือเท่าไหร่ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจธรรมอะไรเลย แต่ให้เขาเข้าใจถูกแต่ละคำ ก็จะทำให้รู้ค่าของคำที่ทำให้เข้าใจความเป็นความดี เมื่อเป็นจิตใจที่ดี ก็ย่อมจะคิดดีพูดดีและทำดีด้วย
อ. ท่านอาจารย์ มีความรู้สึกอย่างไรบ้างกับการที่กำลังจะแก้ปัญหาที่ยากที่สุด ก็คือการให้ความรู้ ความเข้าใจที่จะทำให้คน ให้สังคมชาวพุทธเข้าใจสิ่งที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้มุ่งมั่น กระทำประโยชน์นี้มามากกว่า ๖๐ กว่าปี ท่านอาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง กับการแก้ปัญหา ที่ยากยิ่งก็คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคมชาวพุทธ?
สุ. จะแก้ปัญหาไม่ได้เลย ถ้าไม่จริงใจและไม่ตรง เพราะฉะนั้น ใครก็ตามคิดจะแก้สิ่งที่ผิด ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจด้วย ไม่ใช่ว่า คิดว่าแก้ แต่ไม่มีความเข้าใจ แล้วจะแก้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจะแก้ความไม่รู้ และพฤติกรรมทั้งหลายซึ่งเกิดจากความไม่รู้ ก็ต้องมาจากการรู้จริงๆ ว่าพระธรรมคืออะไร พระวินัยคืออะไร ภิกษุคืออะไร สามเณรคือใคร คฤหัสถ์เป็นใคร พุทธบริษัทเป็นใคร ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นก็คิดว่าตัวเองได้บำรุงพระศาสนา ช่วยกันบำรุงพระศาสนา แต่เมื่อเป็นไปด้วยความไม่รู้และไม่ตรงตามพระธรรมวินัย ก็คือช่วยกันทำลายพระศาสนา
เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่พุทธบริษัทจะต้องเป็นผู้ที่มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ซึ่งต้องเข้าใจธรรมขัดเกลากิเลสจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะนี้จึงจะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่า กิเลสนั้นไม่ใช่ว่าขัดเกลากิเลสให้ละคลายหมดสิ้นไปได้ง่ายๆ เลย กิเลสจะพาไปสู่กิเลส แต่ปัญญาจะพาออกจากกิเลส เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาแล้ว อะไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะนำออกจากกิเลสได้ ด้วยเหตุนี้ “กิเลสจะแก้กิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” แต่ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี โดยเฉพาะ คือ ต้องเป็นความเข้าใจธรรมความจริงของทุกสิ่งจนถูกต้องจึงจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องขึ้นได้ เพราะฉะนั้นแก้ไขทุกปัญหานั้นต้องด้วยปัญญาความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่แก้โดยวิธีอื่นๆ ซึ่งเป็นกิเลส พยายามแก้ไปเถอะมากมายสักเท่าไหร่ก็แก้ปัญหาด้วยกิเลสไม่ได้
...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
สาธุ ขออนุโมทนาครับ
ผมมีลูกชาย อายุ 23 ปี มีญาติๆ ถามอยู่เสมอว่า ลูกจะบวชเมื่อไรล่ะ จะได้มาช่วยงานกันให้เต็มที่เลย ผมก็บอกไปว่า แล้วแต่ลูกว่าอยากจะบวชหรือเปล่า แต่ผมก็พูดกับลูกอธิบายให้ลูกฟังบ่อยๆ ว่า การบวชนั้นคืออะไร (อธิบายตาม มศพ.) และก็ย้ำไปว่า ถ้าจะบวชเป็นพระภิกษุ ก็ต้องเข้าใจเรื่องการบวช และต้องบวชตลอดชีวิตนะลูก ไม่ใช่บวชเพื่อสิ่งอื่นใด บวชเพื่อละกิเลส และเห็นว่าเพศฆราวาสนั้นเป็นเพศที่ยากต่อการละกิเลส แต่เราก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจถูก เห็นถูก โดยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เขาก็เข้าใจ ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ให้ความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมของศาสนาพุทธ ครับ
ขออนุโมทนาครับ