๗. เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก [๓๙]
โดย บ้านธัมมะ  25 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34821

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 66

๗. เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก [๓๙]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 66

๗. เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก [๓๙]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภฉัตตปาณิอุบาสก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถา รุจิรํ ปุปฺผํ" เป็นต้น.

ฉัตตปาณิเข้าเฝ้าพระศาสดา

ความพิสดารว่า ในกรุงสาวัตถี ยังมีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ฉัตตปาณิ เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก เป็นอนาคามี อุบาสกนั้น เป็นผู้รักษาอุโบสถแต่เช้าตรู่ ได้ไปยังที่บำรุงของพระศาสดา จริงอยู่ ชื่อว่า อุโบสถกรรม หามีแก่อริยสาวกผู้เป็นอนาคามีทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการสมาทานไม่ พรหมจรรย์และการบริโภคภัตครั้งเดียวของอริยสาวก ผู้เป็นอนาคามีเหล่านั้น มาแล้วโดยมรรคนั่นแหละ เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "มหาบพิตร (๑) นายช่างหม้อชื่อ ฆฏิการ แล เป็นผู้บริโภคภัตครั้งเดียว มีปกติประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม" โดยปกติทีเดียว ท่านอนาคามีทั้งหลายเป็นผู้บริโภคภัตครั้งเดียว และมีปกติประพฤติพรหมจรรย์อย่างนั้น อุบาสกแม้นั้น ก็เป็นผู้รักษาอุโบสถอย่างนั้นเหมือนกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม แล้วนั่งฟังธรรมกถา.

ฉัตตปาณิไม่ลุกรับเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล

ในสมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปสู่ที่บำรุงของพระศาสดา


(๑) ฆฏิการสูตร ม.ม. ๑๓/๓๗๕.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 67

อุบาสกเห็นพระองค์เสด็จมา จึงคิดว่า เราควรลุกขึ้นหรือไม่หนอ ดังนี้แล้ว ก็ไม่ลุกขึ้น ด้วยสำคัญว่า เรานั่งในสำนักของพระราชาผู้เลิศ การที่เรานั้นเห็นเจ้าประเทศราชแล้วลุกขึ้นต้อนรับ ไม่ควร ก็แล เมื่อเราไม่ลุกขึ้น พระราชาจักกริ้ว เมื่อพระราชานั้นแม้กริ้วอยู่ เราก็จักไม่ลุกขึ้นต้อนรับละ ด้วยว่าเราเห็นพระราชาแล้วลุกขึ้น ก็ชื่อว่า เป็นอันทำความเคารพพระราชา ไม่ทำความเคารพพระศาสดา เราจักไม่ลุกขึ้นละ.

ก็ธรรมดาบุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นคนที่นั่งในสำนักของท่านที่ควรเคารพกว่าตน ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ย่อมไม่โกรธ แต่พระราชาเห็นอุบาสกนั้น ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ มีพระมนัสขุ่นเคือง ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระศาสดาทรงทราบความที่พระราชากริ้ว จึงตรัสกถาพรรณนาคุณของอุบาสกว่า "มหาบพิตร ฉัตตปาณิอุบาสกนี้เป็นบัณฑิต มีธรรมเห็นแล้ว ทรงพระไตรปิฎก ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์" เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถาของอุบาสกอยู่นั้นแล พระหฤทัยก็อ่อน.

พระราชาตรัสถามเหตุที่ไม่ลุกรับกะฉัตตปาณิ

ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาประทับยืนบนปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรเห็นฉัตตปาณิอุบาสกผู้ทำภัตกิจเสร็จแล้ว กั้นร่ม สวมรองเท้า เดินไปทางพระลานหลวง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษเรียกมา อุบาสกนั้นหุบร่มและถอดรองเท้าออกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะอุบาสก


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 68

นั้นว่า "อุบาสกผู้เจริญ ทำไมท่านจึงหุบร่มและถอดรองเท้าออกเสียเล่า".

อุบาสก. ข้าพระองค์ได้ฟังว่า พระราชารับสั่งหา จึงมาแล้ว.

พระราชา. ความที่เราเป็นพระราชา ชะรอยท่านจักเพิ่งรู้ในวันนี้กระมัง.

อุบาสก. ข้าพระองค์ทราบความที่พระองค์เป็นพระราชา แม้ในกาลทุกเมื่อ.

พระราชา. เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไม ในวันก่อน ท่านนั่งในสำนักของพระศาสดา เห็นเราแล้ว จึงไม่ลุกขึ้นต้อนรับ.

อุบาสก. ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์นั่งในสำนักของพระราชาผู้เลิศ เมื่อเห็นพระราชาประเทศราชแล้วลุกขึ้นต้อนรับ พึงเป็นผู้ไม่เคารพในพระศาสดา เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ลุกขึ้นต้อนรับ.

พระราชา. ช่างเถอะ ผู้เจริญ ข้อนี้งดไว้ก่อน เขาเลื่องลือกันว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปในทิฎฐธรรมและสัมปรายภพ ทรงพระไตรปิฎก จงบอกธรรมแก่เราทั้งหลาย ในภายในวังเถิด.

อุบาสก. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่สามารถ.

พระราชา. เพราะเหตุไร.

อุบาสก. เพราะว่า ขึ้นชื่อว่า พระราชมนเทียรแล้ว ย่อมเป็นสถานที่มีโทษมาก ข้าแต่สมมติเทพ ในพระราชมนเฑียรนี้ กรรมที่บุคคลประกอบชั่วและดี ย่อมเป็นกรรมหนัก.

พระราชา. ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าทำความรังเกียจว่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 69

วันก่อนเห็นเราแล้วไม่ลุกขึ้นต้อนรับ.

อุบาสก. ข้าแต่สมมติเทพ ขึ้นชื่อว่า สถานเป็นที่เที่ยวของเหล่าคฤหัสถ์ เป็นสถานที่มีโทษ ขอพระองค์จงรับสั่งให้นิมนต์บรรพชิตรูปหนึ่งมาแล้ว จงให้บอกธรรมเถิด.

พระอานนท์สอนธรรมพระราชเทวีทั้งสอง

พระราชาทรงส่งฉัตตปาณิอุบาสกนั้นไปด้วยพระกระแสว่า "ดีละ ผู้เจริญ ขอท่านจงไปเถิด" ดังนี้แล้ว เสด็จไปสู่ที่เฝ้าพระศาสดา ทูลขอกะพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระนางมัลลิกาเทวีและพระนางวาสภขัตติยา พูดอยู่ว่า จักเรียนธรรม ขอพระองค์กับภิกษุ ๕๐๐ รูป จงเสด็จไปสู่เรือนของข้าพระองค์เนืองนิตย์ ทรงแสดงธรรมแก่หล่อนทั้งสอง".

พระศาสดา. ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไปในที่แห่งเดียวเนืองนิตย์ ไม่มี มหาบพิตร.

พระราชา. ถ้าอย่างนั้น ขอจงประทานภิกษุรูปอื่น พระเจ้าข้า.

พระศาสดา ได้ทรงมอบให้เป็นภาระแก่พระอานนท์เถระ พระเถระไปแสดงพระบาลีแก่พระนางเหล่านั้นเนืองนิตย์ ในพระนางเหล่านั้น พระนางมัลลิกาเทวีได้เรียน ได้ท่อง และให้พระเถระรับรองพระบาลีโดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยา ไม่เรียน ไม่ท่องโดยเคารพทีเดียว และไม่อาจให้พระเถระรับรองพระบาลีโดยเคารพได้ ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามพระเถระว่า "อานนท์ อุบาสิกาทั้งสอง ยังเรียนธรรมอยู่หรือ".


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 70

พระอานนท์. ยังเรียนธรรมอยู่ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. อุบาสิกาคนไหน เรียนโดยเคารพ.

พระอานนท์. พระนางมัลลิกาเทวี เรียนโดยเคารพ ท่องโดยเคารพ อาจให้ข้าพระองค์รับรองพระบาลีโดยเคารพ พระเจ้าข้า ส่วนธิดาซึ่งเป็นพระญาติของพระองค์ (๑) ไม่เรียนโดยเคารพ ไม่ท่องโดยเคารพ ไม่อาจให้ข้าพระองค์รับรองพระบาลีโดยเคารพได้เลยทีเดียว.

วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่ผู้ปฏิบัติ

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของพระเถระแล้ว ตรัสว่า "อานนท์ ธรรมดาธรรมที่เรา (ผู้ตถาคต) กล่าวแล้ว ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ฟัง ไม่เรียน ไม่ท่อง ไม่แสดงโดยเคารพ ดุจว่าดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสี แต่ไม่มีกลิ่นหอม ฉะนั้น แต่ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แก่ผู้ทำกิจทั้งหลายมีการฟังโดยเคารพเป็นต้น" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสสองพระคาถาเหล่านี้ว่า.

๗. ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ เอว ํ สุภาสิตา วาจา อผลา โหติ อกุพฺพโต. ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ เอวํ สุภาสิตา วาจา สผลา โหติ สุกุพฺพโต.

"ดอกไม้งามมีสี (แต่) ไม่มีกลิ่น (หอม) แม้ฉันใด วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผล แก่ผู้ไม่ทำอยู่. (ส่วน) ดอกไม้งาม มีสีพร้อมด้วยกลิ่น (หอม) แม้ฉันใด วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมมีผลแก่ผู้ทำดีอยู่".


(๑) พระนางวาสภขัตติยา เป็นธิดาของท้าวมหานามผู้อนุชาของพระศาสดา นับตามลำดับชั้น พระนางวาสภขัตติยาเป็นพระภาติยะ (พระภาติยะ คือลูกของพี่ชาย น้องชาย) ของพระศาสดา.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุจิรํ คือ งาม. บทว่า วณฺณวนฺตํ คือบริบูรณ์ด้วยสีและทรวดทรง. บทว่า อคนฺธกํ คือไร้จากกลิ่น มีดอกหงอนไก่ ดอกกรรณิการ์เขา และดอกชัยพฤกษ์เป็นต้นเป็นประเภท.

บาทพระคาถาว่า เอวํ สุภาสิตา วาจา ความว่า พระพุทธพจน์ คือปิฎก ๓ ชื่อว่าวาจาสุภาษิต. พระพุทธพจน์นั้น เหมือนดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสีและทรวดทรง (แต่) ไม่มีกลิ่น (หอม). เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ไม่มีกลิ่น (หอม) กลิ่น (หอม) ย่อมไม่แผ่ไป (คือไม่ฟุ้งไป) ในสรีระของผู้ทัดทรงดอกไม้อันไม่มีกลิ่นนั้น ฉันใด แม้พระพุทธพจน์นี้ ก็ฉันนั้น ย่อมไม่นำกลิ่น คือการฟัง กลิ่น คือการทรงจำ และกลิ่น คือการปฏิบัติมาให้ ชื่อว่า ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ (ซึ่ง) ไม่ตั้งใจประพฤติพระพุทธพจน์นั้นโดยเอื้อเฟื้อ ด้วยกิจทั้งหลายมีการฟังเป็นต้น ชื่อว่า ผู้ไม่ทำกิจที่ควรทำในพระพุทธพจน์นั้น เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงได้ตรัสว่า "วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำอยู่".

บทว่า สคนฺธกํ ได้แก่ ดอกจำปาและบัวเขียวเป็นต้นเป็นประเภท. บทว่า เอวํ เป็นต้น ความว่า กลิ่น (หอม) ย่อมแผ่ไป (คือฟุ้งไป) ในสรีระของผู้ทัดทรงดอกไม้นั้น ฉันใด แม้วาจาสุภาษิต กล่าวคือพระพุทธพจน์ปิฎก ๓ ก็ฉันนั้น ย่อมมีผล คือชื่อว่า ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะนำกลิ่น คือการฟัง กลิ่น คือการทรงจำ กลิ่น คือการปฏิบัติมาให้


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 72

แก่บุคคลผู้ทำดีอยู่ คือบุคคลที่ตั้งใจทำกิจที่ควรทำในพระพุทธพจน์นั้น ด้วยกิจทั้งหลาย มีการฟังเป็นต้น.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาได้เกิดเป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก จบ.