เจตสิกทั้งเจ็ดที่เกิดกับจิตทุกดวง กับจิตทั้งเจ็ดที่เกิดหลังภวังคจิต มีกระบวนการเกิดและเกี่ยวข้อง ต่อเนื่องกันอย่างไร ช่วยยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนด้วยครับ และหากสะสมการฟังจนมากพอที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ปัญญาจะสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะจิตใดครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น จะไม่ปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ (สัพพจิตตสาธารณเจตสิก) ดังนั้น จิตทุกประเภทจะต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (ความจงใจขวนขวาย) เอกัคคตา (ความตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพธรรมที่เป็นในการอนุบาลรักษาสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) มนสิการ (สภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์) เฉพาะจิต ๑๐ ประเภท ได้แก่ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย กุศลวิบากและอกุศลวิบาก เท่านั้น ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่สุด คือ มีเพียงเจตสิก ๗ ประเภทนี้เท่านั้นเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นจิตประเภทอื่นๆ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่านี้ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จะไม่ปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทนี้เลย
วิถีจิต มีจิตเกิดหลายประเภทในวิถีจิตนั้น เช่น วิถีจิตทางปัญจทวาร ก็มีจิตหลายประเภท เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตทางตาเกิดขึ้น
วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ จักขุทวารวัชชนจิต เกิดขึ้นทำกิจรำพึง คือรู้ว่ามีอารมณ์กระทบกับจักขุปสาทะ
วิถีจิตที่ ๒ คือ จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นทำกิจเห็นซึ่งอารมณ์คือสี
วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นทำกิจรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ
วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์
วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจตัดสินอารมณ์ หมายความว่า เป็นจิตที่กระทำทางให้กุศลจิต หรือ อกุศลจิต หรือ กิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ
วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่างเร็วในอารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์)
วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือ ตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้นกระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อจิตเกิดขึ้น สภาพธรรมที่จะต้องเกิดประกอบพร้อมกับจิต ก็คือ เจตสิก ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ ซึ่งเจตสิก ๗ ประเภท ที่เป็นสัพพจิตตธารณเจตสิก มี ผัสสะ เป็นต้น จะไม่ขาดเลย จะเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงของจิต ทุกขณะ โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกล่าวถึงจิตและเจตสิกแล้ว ก็แสดงถึงความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม แต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่เรา ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...