ความหมายของคำว่า - หลงลืมสติ
โดย พุทธรักษา  29 ธ.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 14923

ได้ฟังคำบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ ทางวิทยุ ว่า "ผู้ที่ไม่หลงลืมสติเลยสักขณะจิตเดียว คือ พระอรหันต์ เท่านั้น"

๑ ถ้าจะกล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะว่าพระอรหันต์ ดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุของโลภะ และ โมหะ.. ถูกต้องหรือไม่คะ

๒. ขณะที่ "โลภสัมปยุตต์" และ โมหมูลจิต เกิดขึ้นกับผู้ใด ขณะนั้น ชื่อว่า หลงลืมสติ ใช่ไหมคะ

๓. โลภวิปยุตต์ และ โมหมูลจิต นั้น ซึ่งพระอนาคามียังละไม่ได้ จึงเป็นปัจจัยให้พระอนาคามี ยังมีขณะที่หลงลืมสติ ใช่หรือไม่คะ

ขอบพระคุณค่ะ.



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 30 ธ.ค. 2552

๑. ถูกครับ เพราะท่านไม่มีอกุศลใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

๒. ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ชื่อว่า หลงลืมสติ

๓. พระอนาคามีบุคคลยังดับอกุศลไม่ได้ทั้งหมด ขณะที่ท่านมีอกุศลเกิดขณะนั้น ชื่อว่า หลงลืมสติ


ความคิดเห็น 2    โดย Sam  วันที่ 30 ธ.ค. 2552

"ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ชื่อว่าหลงลืมสติ"

ขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตร่วมสนทนาครับ การหลงลืมสติคือขณะที่อกุศลจิตเกิด พระอรหันต์เป็นผู้ดับกิเลสแล้ว จึงไม่เป็นผู้หลงลืมสติเลยครับ

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด เป็นไปในทาน ศีล หรือภาวนา ขณะนั้นไม่หลงลืมสติ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม แม้จะมีขณะที่ไม่ หลงลืมสติ แต่ก็ไม่มีความรู้ถูกเข้าใจถูก ไม่รู้ความแตกต่างระหว่างขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ และอาจทำให้เกิดความเข้าใจสับสนระหว่างกุศลจิตกับอกุศลจิตได้ ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย hadezz  วันที่ 30 ธ.ค. 2552

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย พุทธรักษา  วันที่ 30 ธ.ค. 2552

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม แม้จะมีขณะที่ไม่หลงลืมสติ แต่ก็ไม่มีความรู้ถูกเข้าใจถูก ไม่รู้ความแตกต่าง ระหว่างขณะที่สติเกิด กับ ขณะที่หลงลืมสติ และอาจทำให้เกิดความเข้าใจสับสนระหว่างกุศลจิตกับอกุศลจิตได้ ครับ

กรุณาขยายความข้อความที่ขีดเส้นใต้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 30 ธ.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สติเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลยครับ ดังนั้น ในขณะใดที่อกุศลจิตเกิดก็จะไม่มีสติเกิดร่วมด้วยเลย เราไม่ได้หมายความถึงสติที่เป็นสติปัฏฐานอย่างเดียว ขณะที่จิตเป็นกุศลไม่ว่าประการใดก็ชื่อว่ามีสติเกิดร่วมด้วยและไม่หลงลืม สติในขณะจิตนั้น แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะขณะนั้นไม่มี ปัญญา ไม่ว่าบุคคลใดถ้าจิตเป็นกุศลหรือเป็นจิตฝ่ายดี ก็มีสติเกิดร่วมด้วย ซึ่งกุศลทุกระดับมีสติเกิดร่วมด้วย แต่กุศลขั้นทาน ศีล สมถภวานาไมได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นมีสติและปัญญาด้วย เมื่อสติและปัญญาเกิดรู้ ความจริงในขณะนั้นก็ย่อมเห็นความแตกต่างระหว่างขณะที่ไม่มีสติและปัญญารู้ความจริงกับขณะที่สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ความจริงในขณะนั้น รู้ความแตกต่างเพราะสติปัฏฐานเกิดแล้ว มีปัญญาเกิดด้วยและเห็นถึงความแตกต่างในขณะที่ไม่เกิดนั่นเอง

ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังเป็นผู้หลงลืมสติในขณะที่อกุศลจิตเกิด ส่วนพระอรหันต์ไม่หลงลืมสติเพราะอกุศลจิตไม่เกิด ถึงแม้ในขณะเห็น ได้ยิน จะไม่มีสติเกิดร่วมด้วยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านหลงลืมสติเพราะหลังจากเห็นและได้ยินแล้ว ในวาระอื่นๆ ท่านจะไม่เป็นอกุศลจิตเลยจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่หลงลืมสติครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 31 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย วิริยะ  วันที่ 3 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย Sam  วันที่ 3 ม.ค. 2553

เรียน คุณพุทธรักษาในความคิดเห็นที่ 4 ครับ

คุณ paderm ความคิดเห็นที่ ๕ ได้ขยายความในส่วนที่คุณพุทธรักษาต้อง การให้อธิบายไว้แล้ว ซึ่งผมขออนุญาติสรุปตามความเข้าใจว่าขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น นั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ แต่ผู้ที่จะรู้เรื่องราวของสติ และรู้ลักษณะของสติ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้ศึกษา และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงไว้อย่างละเอียดครับ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษานั้น ก็อาจมีกุศลในทานบ้าง ศีลบ้าง แต่ก็ไม่มีความรู้แม้แต่ในเรื่องของสติ เพราะไม่มีปัญญาที่เกิดจากการศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมนั่นเอง และเมื่อไม่มีความรู้ถูกเข้าใจถูกถึงการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ของกุศลและอกุศล รวมทั้งความลึกซึ้งของการให้ผลของกรรม จึงทำให้บางคราวคิด ว่าอกุศลเป็นสิ่งที่น่ากระทำ และเข้าใจผิดว่ากุศลเป็นเหตุให้เดือดร้อนหรือเสียทรัพย์ ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย narong.p  วันที่ 4 ม.ค. 2553

ตามความเข้าใจของตนเองนะครับ เคยได้ยินท่านอ.สุจินต์กล่าวว่า เมื่อสติเกิดก็จะรู้ความต่างของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ดังนั้น ความหมายของคำว่า "สติ" ในที่นี้ ท่านน่าจะหมายถึง สติสัมปชัญญะ หมายถึง สติที่ประกอบด้วยปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ในขณะนี้เท่านั้น คงไม่ได้หมายความรวมถึงสติที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะสติที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยไม่สามารถรู้ความต่างได้ เช่น สติใน ขั้นทานขั้นศีลของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับผู้ที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด (ทั้งผู้ที่ศึกษาและไม่ได้ศึกษาธรรมะ) กุศลขั้นทานขั้นศีลที่เกิดขึ้นนั้น จะชื่อว่า ไม่หลงลืมสติ ได้หรือไม่ เพราะขณะนั้น ไม่รู้ความต่างของขณะสติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ กระผมคงต้องนำความเห็น ที่แตกต่างกันในกระทู้นี้ไปสนทนาธรรมกับท่านอ.สุจินต์ในโอกาสต่อไป ครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย พุทธรักษา  วันที่ 4 ม.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในคำตอบของทุกๆ ท่านค่ะ.

ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ไม่รู้ "ความแตกต่าง" ขณะที่หลงลืมสติ และ ขณะที่ไม่หลงลืมสติแม้แต่กุศลขั้นทาน หรือ ขั้นศีล เกิดบ้าง ลักษณะของสติ ยังไม่ปรากฏเลย


ความคิดเห็น 11    โดย orawan.c  วันที่ 4 ม.ค. 2553

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 12    โดย พุทธรักษา  วันที่ 4 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย hiriotappa  วันที่ 10 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนากับผู้ที่แสดงธรรมทุกท่านครับ วันนี้ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านโดยไม่ได้ตั้งใจ ยังได้ความรู้เพิ่มขึ้น สุขใจมากครับ เป็นกุศลอย่างยิ่งเลย ครับ


ความคิดเห็น 15    โดย chatchai.k  วันที่ 16 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ