เวลาไปทำบุญตามวัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาล จะเห็นว่า ดอกไม้ ชุดสังฆทานจะถูกนำมาถวายพระสงฆ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบเวียนเทียน และอุทิศให้ผู้ล่วงลับ จะได้รับกุศลหรือ และการนำของที่ไหว้เจ้าแล้วไปใส่บาตรโดยไม่ได้มีเจตนา อย่างนี้ก็เป็นบาป เช่นกันใช่ไหม
การทำบุญ แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว อธิบายว่า เพราะผู้ทำบุญให้ทานเกิดกุศลจิต จึงอุทิศส่วนแห่งบุญนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอนุโมทนาเมื่อญาติที่ล่วงลับไปแล้วรับรู้ในการทำความดีนั้น เกิดกุศลจิตอนุโมทนาในบุญนั้น จึงชื่อว่าสำเร็จแก่ญาติ (ได้รับ) คือ ทำให้ญาติที่อยู่ในภพภูมิที่ลำบาก อดอยาก หิวโหย พ้นจากภพภูมิที่ทุกข์ทรมาน สำหรับวัตถุไทยธรรมที่เหมาะสมที่ควรถวายแก่พระสงฆ์ คือ ของที่ดี ของประณีตของที่สะอาด แต่ถ้าหากเรามีสิ่งใดก็ถวายสิ่งนั้นตามสมควรแก่ฐานะของเรา แต่ถ้าไม่มีสิ่งของใดๆ จะนำเอาของที่ไหว้บรรพบุรุษนั้นมาถวายพระสงฆ์ก็ได้ ไม่เป็นบาปเลย แต่ต้องยอมรับว่า ทานที่มีความประณีตต่างกัน ผลย่อมต่างกันตามเหตุ
เวลาไปทำบุญตามวัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาล จะเห็นว่า ดอกไม้ ชุดสังฆทานจะถูกนำมาถวายพระสงฆ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบเวียนเทียน และอุทิศให้ผู้ล่วงลับจะได้รับกุศลหรือ?
บุญอยู่ที่จิต เป็นนามธรรมมิได้อยู่ที่สิ่งของ ขณะที่จิตคิดจะให้ ขณะนั้นเป็นกุศล สิ่งของไม่เป็นสำคัญ แม้ของนั้นจะไม่เวียนเทียน แต่จิตไม่น้อมถวายแก่สงฆ์เป็นบุญ แต่ไม่เป็นสังฆทาน แต่แม้ของนั้นจะเวียนเทียน จิตบุคคลนั้นน้อมถวายแด่สงฆ์ด้วยความนอบน้อมเป็นบุญและสังฆทาน การจะถึงญาติไหม ก็ขึ้นอยู่กับญาติเกิดเป็นอะไร ถ้าเป็นเปรตก็รับได้ครับ เปรตก็ต้องอนุโมทนา และญาติอุทิศให้ครับ
การนำของที่ไหว้เจ้าแล้วไปใส่บาตร โดยไม่ได้มีเจตนา อย่างนี้ก็เป็นบาป เช่นกันใช่ไหม?
บุญอยู่ที่จิต จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตนา ขณะที่จะให้ ไม่ว่าจะเอาของมาจากที่ไหนก็ตาม ขณะจิตที่คิดจะให้ ก็มีเจตนาด้วย เป็นเจตนาที่จะให้ เป็นบุญ ขณะที่เป็นบุญคือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น
"ทาน" แบ่งเป็น ๓ อย่าง
๑. ทาสทาน ให้ของที่เราใช้แล้ว ของที่เหลือ เช่น เสื้อผ้าที่เราใส่แล้วเราไม่ใส่ เพราะเก่า ก็เลยให้คนอื่น หรือให้ของที่เลว หรือที่ตนใช้
๒. สหายทาน เราใช้อะไร เราก็ให้ของแบบนั้น เสมอกับที่เราใช้ เช่น เราชอบอาหารอะไร เราก็ให้อาหารแบบนั้น
๓. สามีทาน ให้ของที่ดีประณีตกว่าที่ตนใช้ เช่น ถวายอาหารที่ดีกว่าที่เรากิน หรือเราใส่เสื้อผ้าราคาธรรมดา แต่เวลาเราให้คนอื่น เราซื้อเสื้อเนื้อผ้าดี ราคาสูง เป็นต้น
ถ้าเรามีเจตนาดีในการให้ทาน ไม่เป็นบาปหรอก แต่อยู่ที่วัตถุประณีตหรือไม่อานิสงส์ผลก็ต่างกัน ถ้าเราให้ของประณีต ผู้รับมีศีล ผู้ให้มีศีลด้วย และเจตนาดีทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ กำลังให้ หลังให้ อานิสงส์ก็มาก
การนำของที่ไหว้เจ้าแล้วไปใส่บาตร โดยไม่ได้มีเจตนา อย่างนี้ก็เป็นบาป เช่นกัน
ใช่ไหม
ของนั้นให้คนอื่น (ไหว้เจ้า) ไปแล้วไม่ใช่หรือค่ะ เมื่อให้ไปแล้วจะเอากลับคืนมาอีก ย่อมไม่สมควร โดยเฉพาะนำของนั้นไปใส่บาตรด้วย ภิกษุเป็นตัวแทนของสงฆ์ จึงเป็นผู้ควรแก่การเคารพ กระทำอัญชลี สามีจิกรรม เป็นเนื้อนาบุญของโลก เพราะฉะนั้น เมล็ดพืชที่ไม่ดี ถึงแม้ว่าจะหว่านลงในนาดี ย่อมไม่เจริญงอกงามให้ผลไพบูลย์ได้
แม้ของที่เหลือ แต่ให้ด้วยจิตศรัทธา ย่อมมีผลมากเพราะนาดีและจิตเลื่อมใส ดังพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงรับ แม้ของเหลือเดนจากพราหมณ์ผู้หนึ่งและเรื่องต่างที่ไทยธรรม (เศร้าหมอง) แต่จิตเลื่อมใสก็ป็นกุศลมากเพราะบุญอยู่ที่จิตครับ ลองอ่านดูนะ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ภิกษุผู้อาศัยอาหารที่บุคคลอื่นให้เลี้ยงชีพ1 [เรื่อง ปัญจัคคทายกพราหมณ์]
เรื่องสิ่งที่ให้แม้เศร้าหมองก็มีผลมากเพราะจิตเลื่อมใส บุญอยู่ที่จิต ในเมื่อเขาฐานะจนก็ต้องให้อย่างนั้น
เรื่องทานจะมีผลมากขึ้นอยู่กับจิตและผู้รับด้วยครับ ถึงแม้ของที่ให้จะเศร้าหมองแต่จิตเลื่อมใสก็มีผลมาก
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... บุญมากเพราะบูชาบุคคลที่เลิศ [ปิตวิมาน]
ทานจะมีผลมากเพราะอะไร [อรรถกถาปฐมปีฐวิมาน]
ขออนุโมทนา ทุกกระทู้ ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ก็ยอมรับว่า หลังจากศึกษาพระธรรม ก็พยายามทำกุศลในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่ทำไปโดยไม่ถูกต้องนัก จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ก็เกิดความไม่สบายใจเช่นกัน บ่อยครั้งตั้งใจจะทำบุญตามวัด แต่เห็นดอกไม้ ชุดสังฆทาน ที่ได้ถวายพระสงฆ์ไปแล้ว ก็กลับมาอีก โดยเพียงถวายปัจจัย (เงิน) ตามกำลัง ก็ได้แล้ว ขณะนั้น จิตจะเป็นกุศล ได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าปุถุชนอย่างเรา การทำบุญก็หวังกุศล คงต้องศึกษาและฟังธรรมอีกนานเลย ถึงจะเข้าใจพระธรรมเป็นไปในทางที่ถูกต้อง
ภิกษุอาศัยอาหารที่บุคคลอื่นให้เลี้ยงชีพ เป็นผู้สันโดษในบิณฑบาตร ตามมีตามได้ เพื่อการขัดเกลา เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ ท่านย่อมไม่ปฏิเสธทานที่ให้แม้เศร้าหมองเล็กน้อยเหลือเดน แต่สำหรับผู้ให้ (ทายก) นั้น การให้วัตถุไทยธรรมก็ขึ้นอยู่กับศรัทธา และฐานะของผู้ให้ ซึ่งการให้ในแต่ละครั้ง ย่อมส่องไปถึงสภาพจิตใจของท่านว่าเป็นเช่นไร เรื่องของพราหมณ์ในพระสูตรที่ยกมา ท่านก็ไม่ได้ถวายของที่ท่านทานเหลือ แต่ได้แบ่งส่วน คือ ครึ่งหนึ่งบริโภคครึ่งหนึ่งถวายทาน จึงไม่ใช่ของที่เหลือเดนจริงๆ นะคะ ส่วนเรื่องดอกบวบขมนั้น เป็นการถวายดอกไม้เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุค่ะ เป็นการให้รูปารมณ์นะคะ ไม่ใช่ให้รสารมณ์ (ถึงแม้บวบจะไม่มีรสอร่อยและไม่เป็นที่ต้องการก็ตาม)
ทานถึงแม้จะเป็นกุศลขั้นต่ำ เมื่อเปรียบกับศีลและภาวนา ก็ยังเป็นเรื่องที่ละเอียด ทานนั้นจะมีผลมากมีอานิสงฆ์มาก ต้องถึงพร้อมด้วย ทายก (ผู้ให้) ปฏิคาหก (ผู้รับ) วัตถุไทยธรรม และสภาพจิตที่เป็นไปทั้ง ๓ กาล คือก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ค่ะ
อนุโมทนาครับ เรื่องปัญจัคคทายกพราหมณ์ ขอบคุณมากครับ
ดังนั้น เมื่อจิตผ่องใส แม้ของจะไม่ประณีตย่อมมีผลมากเมื่อถวายกับพระพุทธเจ้า จะกล่าวไปใยถึงทานที่ถวาย น้อมถวายแด่สงฆ์ (สังฆทาน) (แม้ของไม่ประณีต) ย่อมมีผลมากกว่า ซึ่งมีผลมากกว่า ทานที่ถวายแม้เจาะจงพระพุทธเจ้า ดังข้อความในพระไตรปิฎกครับ เรื่องถวายแด่สงฆ์ (สังฆทาน) มีผลมากว่า ถวายเจาะจง ลองอ่านดูนะ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... บุญสำคัญที่จิต [เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี]
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 395
ข้อความบางตอนจาก ทักขิณาวิภังคสูตร
[๗๑๓] ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภูมีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (ทานที่ให้เจาะจงเฉพาะบุคคล แม้ถวายเจาะจงพระพุทธเจ้า) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ
ดังนั้นแม้ของจะเศร้าหมองหรือได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม (ให้ตามมีตามได้ ดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) อย่างไรก็ตามแต่จิตเลื่อมใส และมุ่งตรงต่อสงฆ์ ย่อมมีผลมากอานิสงส์มาก แต่ที่สำคัญจิตที่มุ่งตรงต่อสงฆ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะต้องมีปัญญาครับ พึงประพฤติตนดั่งผ้าเช็ดธุลี
ขอแสดงความเห็น โดยนำคำกล่าวของคุณ : yupa มาทบทวน ก็ต้อง
บอกว่า ปุถุชนอย่างเรา การทำบุญก็หวังกุศล คงต้องศึกษาและฟังธรรมอีกนานเลย ถึงจะเข้าใจพระธรรมเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ผมเห็นว่าน่าจะกลับประโยคใหม่เป็นว่า คงต้องศึกษาและฟังธรรมอีกนานเลย ถึงจะเข้าใจพระธรรมเป็นไปในทางที่ถูกต้องเพื่อให้การทำบุญโดยไม่หวังสิ่งใด ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธในบ้านเรา แทบจะร้อยละเก้าสิบ ที่ไปวัด ฟังธรรม หรือปฎิบัติอะไรต่ออะไรมากมาย เริ่มจากการต้องการบุญ หวังในผลบุญเป็นที่ตั้งแต่เริ่มต้นทำให้ห่างไปจากคำสอนของพระพุทธองค์โดยง่าย และถูกชักชวนไปในแนวทางที่ห่างออกไปทุกที แต่กลับเข้าใจว่านี้แหละคือ ศาสนาพุทธ จะมีสักกี่มากน้อย ต้องการฟังธรรมเพื่อให้ทราบว่า ธรรมะคือ อะไรให้แน่ชัดก่อน หลังจากนั้นจะทำอะไร อย่างไร ก็จะไม่ผิดพลาดไปจากหลักธรรมโดยง่าย ผมเชื่อว่าถ้าหากไม่มีคำว่าได้บุญ เป็นสิ่งชักชวนแล้ว หลายๆ ท่านจะไม่ไปวัดทำบุญหรือปฏิบัติอะไรๆ กันเลย การฟังธรรมแล้วเข้าใจธรรมต่างหากที่เป็นบุญที่ได้ในตัวเอง โดยไม่ต้องหวังผลบุญเพราะบุญอันนี้จะทำให้เราปฎิบัติได้ตรงและถูกต้อง และจะทำให้เราต้องการทำบุญซึ่งเป็นบุญจริงๆ
อนุโมทนาทุกท่านครับ
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ