นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
สคารวสูตร
(ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น)
จาก...พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ -หน้า ๓๗๕
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๓๗๕
สคารวสูตร
(ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น)
[๑๑๗] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึง
กันไปแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นฝั่งนี้ อะไรเป็นฝั่งโน้น พระผู้มีพระ
ภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิเป็นฝั่งโน้น
มิจฉาสังกัปปะเป็นฝั่งนี้ สัมมาสังกัปปะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาวาจาเป็นฝั่งนี้ สัมมา
วาจาเป็นฝั่งโน้น มิจฉากัมมันตะเป็นฝั่งนี้ สัมมากัมมันตะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาอาชีวะ
เป็นฝั่งนี้ สัมมาอาชีวะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาวายามะเป็นฝั่งนี้ สัมมาวายามะเป็นฝั่ง
โน้น มิจฉาสติเป็นฝั่งนี้ สัมมาสติเป็นฝั่งโน้น มิจฉาสมาธิเป็นฝั่งนี้ สัมมาสมาธิ
เป็นฝั่งโน้น มิจฉาญาณะเป็นฝั่งนี้ สัมมาญาณะเป็นฝั่งโน้น มิจฉาวิมุตติเป็นฝั่งนี้
สัมมาวิมุตติเป็นฝั่งโน้น ดูก่อนพราหมณ์นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้เป็นฝั่งโน้น.
พระคาถา
ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้นมีประมาณ
น้อย ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งทั้งนั้น ส่วน
ชนเหล่าใดประพฤติตามธรรมในธรรม อันพระตถา-
คตตรัสแล้วโดยชอบ ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามพ้นได้แสนยาก แล้วจักถึงฝั่ง
โน้น คือนิพพาน บัณฑิตละธรรมดำเสียแล้ว พึงยัง
ธรรมขาวให้เจริญ บัณฑิตละกามทั้งหลายแล้ว เป็น
ผู้ไม่มีกังวล ออกจากความอาลัย อาศัยธรรมที่ไม่มี
ความอาลัย พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก ที่
ยินดีได้แสนยาก บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหม่องจิตทั้งหลาย บัณฑิตเหล่าใด
อบรมโดยชอบในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่นแล้ว ยินดีในนิพพาน เป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรื่อง ดับสนิท
แล้วในโลก.
จบสคารวสูตรที่ ๕
อรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕
สคารวสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า โอริม ตีร ได้แก่ โลกิยะ ชื่อว่าฝั่งนี้. บทว่า ปาริม ตีร ได้แก่
โลกุตระ ชื่อว่าฝั่งโน้น.
บทว่า ปารคามิโน ได้แก่ ผู้ถึงพระนิพพาน. บทว่า ตีรเนวานุธารติ
ได้แก่ วิ่งแล่นไปสู่ฝั่ง คือ สักกายทิฏฐิ. บทว่า ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน ความว่า
ประพฤติธรรมตามสมควรในโลกุตรธรรม ๙ ที่ตรัสไว้แล้วโดยชอบ ได้แก่ประพฤติ
ตามข้อปฏิบัติเบื้องต้นพร้อมกับศีล ที่เหมาะสมแก่ธรรมนั้น. บทว่า มจฺจุตฺเธยฺย
สุทุตฺตร ได้แก่ ข้ามวัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุมาร ที่ข้ามได้
แสนยาก. บทว่า ปารเมสฺสนฺติ ได้แก่ จักบรรลุพระนิพพาน. บทว่า โอกา อโน-
กนาคมฺม ได้แก่ อาศัยวิวัฎฏะ จากวัฏฏะ. บทว่า วิเวเก ยตฺถ ทูรม แปลว่า
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก ซึ่งยินดียิ่งได้ยาก.
บทว่า หิตฺวา กาเม ได้แก่ ละกามแม้ทั้งสอง. บทว่า อกิญฺจโน แปลว่าไม่มี
กิเลสเครื่องกังวล. บทว่า อาทานปฏินิสฺสคฺเค ได้แก่ ในพระนิพพาน กล่าวคือการ
สละคืนความยึดมั่น. บทว่า อนุปาทาย เย รตา ความว่า ชนเหล่าใดไม่ยึด
ถือแม้สิ่งไรๆ ด้วยอุปาทาน ๔ ยินดียิ่งแล้ว. บทว่า ปรินิพฺพุตา ได้แก่ ชนเหล่า
นั้น พึงทราบว่า ชื่อว่า ปรินิพพานแล้วด้วยปรินิพพานที่หาปัจจัยมิได้.
จบอรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
สคารวสูตร
(ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น)
พราหมณ์ ชื่อสคารวะ ได้เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า อะไร
เป็นฝั่งนี้ และ อะไรเป็นฝั่งโน้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ฝั่งนี้ได้แก่ ความเห็นผิด ความดำริผิด เจรจาผิด
การงานผิด อาชีพผิด ความเพียรผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด รู้ผิด พ้นผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่
ผิดทั้งหมด เป็นฝั่งแห่งวัฏฏะ
ส่วน ฝั่งโน้น ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ
ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ รู้ชอบ และ พ้นชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกทั้งหมด
ทำให้ฝั่งคือการประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสได้
ต่อจากนั้นพระองค์ได้ตรัสพระคาถา ว่า ในบรรดาหมู่มนุษย์ นั้น ชนผู้ถึงฝั่งโน้น
[เป็นฝั่งที่เกษม เป็นฝั่งที่ปลอดภัยจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง เป็นฝั่งที่ตรงกัน
ข้ามกับสังสารวัฏฏ์] มีเป็นส่วนน้อย ส่วนชนนอกนี้ ก็วิ่งไปตามฝั่ง (คือสักกาย-
ทิฏฐิ) อย่างเดียว ชนเหล่าใด ประพฤติตามธรรมในธรรมอันพระตถาคตตรัสไว้ชอบ
แล้ว ชนเหล่านั้นก็จักข้ามพ้นวัฏฏะอันเป็นบ่วงของมารซึ่งข้ามพ้นไปแสนยาก แล้ว
ถึงฝั่งโน้น คือ นิพพาน ได้ เป็นต้น (ดังที่ปรากฏในพระสูตร) .
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
ชนผู้ถึงฝั่งมีประมาณน้อย [คาถาธรรมบท]
ศึกษาธรรมเพื่อละอาลัย
อาลัย
วิเวก ๓ [ปริสาสูตร]
มาร ๕ [มัจจุมาร...ตอนที่ ๕]
อาสวะกิเลสติดตามไปยังภพใหม่ด้วยรูปแบบใด
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อธิบาย สคารวสูตร
พระธรรมสำคัญ คือ น้อมเข้ามาในตน ในชีวิตประจำวัน กำลังอยู่ในฝั่งไหน ฝั่งของ
กิเลส ฝั่งของความไม่รู้ หรือ ฝังของความรู้ ฝั่งของปัญญา เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำ
วัน ก็ยังเป็นผู้ที่กำลังเลาะไปตามฝั่ง ไม่ได้ข้ามไปฝั่งที่ปลอดภัย คือ พระนิพพาน แต่
กำลังอยู่ในฝั่งที่เต็มไปด้วยศัตรู คือ กิเลส และยินดีในข้าศึกศัตรู เพราะ สำคัญว่า
กิเลส คือ ฝั่งนี้ เป็นที่น่ายินดี จึงไม่แสวงหาเรือ คือ หนทางการดับกิเลส ทีเป็นปัญญา
ที่จะข้ามหนีไปสู่ฝั่งที่ปลอดภัย จากกิเลส คือ พระนิพพาน
ดังนั้น ผู้ที่เริ่มอบรมปัญญา ก็ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าจะข้ามไปสู่ฝั่งโน้นที่เป็นผั่งของ
ปัญญา และ พระนิพพานได้เลย แต่ก็ยังอยู่ในฝั่งของกิเลส ยังมีกิเลสอยู่นั่นเองเป็น
ธรรมดา แต่ก็อาศัยการอยู่กับกิเลสด้วยความเข้าใจ คือ มีการอบรมปัญญา ฟังพระ
ธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้มีตัวตนที่จะพยายามหลีก
หนีกิเลส เพราะหลีกหนีไมได้ แต่ก็เป็นผู้ที่กำลังต่อแพ ต่อเรือในฝั่งของกิเลส ทีเป็น
ฝั่งนี้อยู่ แต่เพราะอาศัยการเจริญอบรมปัญญาไปเรื่อยๆ เรือ หรือ แพที่ต่อในฝั่งนี้ ที
เป็นฝั่งของกิเลส เรือ หรือ แพ ก็จะค่อยๆ แข็งแรง และวันหนึ่งก็พร้อมที่จะสามารถ
เดินทาง ข้ามห้วงน้ำอันลึก เต็มไปด้วยหมู่สัตว์ร้าย ทีเป็นห้วงน้ำ คือ โอฆะ คือ กิเลส
ประการต่างๆ ก้าวข้ามไปสู่ฝั่งโน้น คือ พระนิพพานได้ ก็ด้วยระยะเวลยาวนาน เพราะ
ห้วงน้ำ ทั้งกว้างใหญ่ และลึก และเต็มไปด้วยอันตราย ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดรู้
ความจริงของสภาพธรรมในแต่ละขณะ ก็กำลังค่อยๆ พาเรือไปข้ามฝั่งไปทีละน้อย
ทีละน้อย แต่เมื่ออาศัยการอบรมปัญญาไปเรื่อยๆ ก็สามารถดับกิเลส ถึงฝั่งโน้น ที่เป็น
พระนิพพานได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น แทนที่จะติดศัพท์ว่า ฝั่งนี้ ฝั่งโน้นคืออะไร ก็กลับ
มาพิจารณาตนเองว่า หนทางการถึงฝั่งโน้น คือ พระนิพพาน อบรมปัญญาอย่างไร
ให้ถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ที่สูงสุด เพราะ หากเข้าใจหนทางการอบรมปัญญาที่
ถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถถึงฝั่งที่ประเสริฐ คือ การดับกิเลสได้ ครับ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาสาธุในธรรมทานของคุณคำปั่น และคุณเผดิม ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนา คุณคำปั่นและคุณเผดิม ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม อ.คำปั่นและทุกท่านครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม ,อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านค่ะ