ทุกถาสูตร ... วันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗
โดย มศพ.  2 มี.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24539

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

ในวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗ คือ


ทุกถาสูตร

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ ๘๗

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ ๓๒๙

ทุกถาสูตร *

(ว่าด้วยพูดดีเป็นชั่วและพูดดีเป็นดี)

[๑๕๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก

ย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล บุคคล ๕ จำพวก เป็นไฉน?

คือ ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ถ้อยคำปรารภศีล

เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล ๑ ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ (ความเป็นผู้สดับมาก)

เป็นถ้อยคำชั่ว แก่ผู้ได้สดับน้อย ๑ ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำชั่วแก่

ผู้ตระหนี่ ๑ ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา ๑.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็น

ถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา? เพราะผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา

ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความ

ขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ไม่มีศรัทธานั้น ย่อมไม่เห็น

ศรัทธาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้น

เป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำชั่ว

แก่ผู้ทุศีล? เพราะผู้ทุศีล เมื่อพูดเรื่องศีล ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท

กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะผู้ทุศีลนั้นย่อมไม่เห็นศีลสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติและปราโมทย์

ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็น

ถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย? เพราะผู้ได้สดับน้อย เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ

ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจ

ให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ได้สดับน้อยนั้น ย่อมไม่เห็น

สุตสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทาเป็นเหตุ

ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อย

คำชั่วแก่ผู้ตระหนี่? เพราะผู้ตระหนี่ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมขัดข้อง โกรธ

พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้น

เพราะเหตุไร เพราะผู้ตระหนี่ นั้น ย่อมไม่เห็นจาคสัมปทาในตน และย่อม

ไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ

จึงเป็นถ้อยคำชั่วของผู้ตระหนี่.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็น

ถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา? เพราะผู้ทรามปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา

ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความ

ขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ทรามปัญญานั้นย่อมไม่เห็น

ปัญญาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ

ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกนี้แล ย่อมเป็น

ถ้อยคำชั่ว เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำดี

เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน? คือถ้อยคำปรารภ

ศรัทธา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา ๑ ถ้อยคำปรารภศีลเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล ๑

ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก ๑ ถ้อยคำปรารภจาคะ

เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ ๑ ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา ๑.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำดี

แก่ผู้มีศรัทธา? เพราะผู้มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธาย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ

ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศรัทธานั้นย่อมเห็นศรัทธาสัมปทาในตน และ

ย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธา

จึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำดี

แก่ผู้มีศีล? เพราะผู้มีศีล เมื่อพูดเรื่องศีล ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ

ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองเละความขัดใจให้ปรากฏ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีศีลนั้น ย่อมเห็นศีลสัมปทาในตน และย่อม

ได้ปีติปราโมทย์ทีมีศีลสัมปทานนั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีลจึง

เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็น

ถ้อยคำดี แก่ผู้ได้สดับมาก? เพราะผู้ได้สดับมาก เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ

ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธ

เคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ได้สดับมาก

ย่อมเห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทานั้นเป็นเหตุ

ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อยคำดี

แก่ผู้มีจาคะ? เพราะผู้มีจาคะ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ

ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีจาคะนั้นย่อมเห็นจาคสัมปทาในตน และย่อม

ได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ จึงเป็น

ถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำ

ดีแก่ผู้มีปัญญา? เพราะผู้มีปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ

ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้มีปัญญานั้น ย่อมเห็นปัญญาสัมปทาในตน และย่อม

ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญา

จึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกนี้แล ย่อมเป็น

ถ้อยคำดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล.

จบทุกถาสูตรที่ ๗.

อรรถกถาทุกถาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุกถาสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปุคฺคลํ อุปนิธาย ความว่า อ้างถึงบุคคลนั้นแล้วทำให้

เป็นพยาน. บทว่า กจฺฉมานาย แปลว่า กล่าว. คำที่เหลือในสูตรนี้มีเนื้อ

ความง่ายทั้งนั้น.

จบอรรถกถาทุกถาสูตรที่ ๗.

หมายเหตุ ทุกถา แปลว่า คำพูดชั่ว.



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 2 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ทุกถาสูตร

(ว่าด้วยพูดดีเป็นชั่วและพูดดีเป็นดี)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า คำพูดดี ที่ปรารภศรัทธา ศีล ความเป็น

ผู้สดับตรับฟังพระธรรมมาก จาคะ และ ปัญญา ก็เป็นคำพูดชั่วสำหรับคนไม่มีศรัทธา ทุศีล ไม่มีการฟังพระธรรม ตระหนี่ และ ไม่มีปัญญา เพราะเมื่อได้ฟังแล้ว เกิดความขัดเคืองใจ เนื่องจากว่าตนเองไม่มีคุณธรรม

ประการนั้นๆ ในทางตรงกันข้าม คำพูดดี ที่ปรารภศรัทธา ศีล ความเป็นผู้สดับตรับฟังพระธรรมมาก จาคะ และ ปัญญา ย่อมเป็นคำพูดที่ดี สำหรับคนที่มีศรัทธา มีศีล มีการสดับตรับฟังพระธรรม มีจาคะ และ มีปัญญา เพราะเมื่อได้ฟังแล้ว ไม่เกิดความขัดเคืองใจ มีแต่ได้ปีติปราโมทย์ เนื่องจากว่าตนเอง

มีคุณธรรมประการนั้นๆ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

คูถ ดอกไม้ น้ำผึ้ง ศีลการคุยธรรมะทุกกาลเวลา ถือว่าบ้า หรือเปล่าทำอย่างไรจึงจะเกิด ศรัทธาแบบถาวร ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธศาสนาครับ

ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา [วัฑฒิสูตร]...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย จิตและเจตสิก  วันที่ 3 มี.ค. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย เมตตา  วันที่ 8 มี.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย j.jim  วันที่ 8 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย montha  วันที่ 8 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย สิริพรรณ  วันที่ 8 มี.ค. 2557

ขออนุโมทนาและขอบพระคุณค่ะ