ปหาตัพพเหตุกธรรม
โดย gboy  1 พ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21059

เรียนถามความหมายของปหาตัพพเหตุกธรรม หมายความว่า

ธรรมที่เป็นเหตุของธรรมที่ควรละ หรือหมายความว่าธรรมที่เป็นเหตุและควรละครับ

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 1 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจแต่ละคำ ในคำนี้ คือ ปหาตัพพเหตุกธรรม ครับ

ปหาตัพพะ คือ ธรรมที่ควรละ ควรประหารให้หมดสิ้นไป นั่นคือ อกุศลธรรมประการต่างๆ เหตุกธรรม คือ สภาพธรรมทีเป็นเหตุ และ ธรรมที่สัปยุต คือเกิดพร้อมกัน ร่วมกับเหตุ เหตุ คือ สภาพธรรม ที่เป็น เจตสิก ๖ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกเมื่อรวมคำทั้งหมด คือ ปหาตัพพเหตุกธรรม แปลจากหลังมาหน้า หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุและสภาพธรรมที่สัมปยุตหรือเกิดพร้อมเหตุ อันเป็นธรรมที่ควรละ

ทำความเข้าใจได้ดังนี้ครับ เหตุ มี ๖ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิก แต่ เหตุที่ดี มี ๓ อย่างคือ อโลภเจตสิก อโทสะ อโมหะ เหตุที่ดี เจตสิกที่ดี ไม่ใช่สภาพธรรมที่ควรละ ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็น ปหาตัพพธรรม แต่ เมื่อเป็นเหตุที่ดี เป็นสภาพธรรมที่ควรเจริญ ควรภาวนา แต่เหตุที่ไม่ดี มีอีก ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่ควรละ เป็น ปหาตัพพธรรม และเป็นเหตุที่ไม่ดีด้วย จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุที่ควรละ ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อเหตุเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย ที่เป็นปัจจยุบบัน เป็นผลของเหตุปัจจัย คือ จิตที่เกิดขึ้น ที่เป็นอกุศลจิต ที่เกิดพร้อมกับเจตสิกที่ไม่ดี ที่เป็นเหตุ ๓ อย่าง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ อีกที่เกิดพร้อมกัน มี เวทนาเจตสิก สัญญา ผัสสะ เป็นต้น ที่เกิดพร้อมกับเหตุที่ไม่ดี ธรรมที่เกิดพร้อมกับเหตุที่ไม่ดีเหล่านี้ จึงชื่อว่า เป็นธรรมที่ควรละ ที่เกิดพร้อมเหตุ ครับ

สรุปได้ว่า ปหาตัพพเหตุกธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นเหตุ และธรรมที่เกิดร่วมกับเหตุอันเป็นสภาพธรรมที่ควรละ นั่นก็คือ เหตุที่ไม่ดี ๓ มีโลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นพร้อมกับ จิต เจตสิกอื่นๆ สภาพธรรมเหล่านี้ เป็นธรรมที่ควรละ ครับ

ซึ่งจากที่กล่าวมา ก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน แม้จะฟังดูชื่อยาก แต่เมื่ออ่านแล้ว ก็ควรน้อมเข้ามาในตนและพิจารณาในขณะนี้ ว่า ขณะนี้ มีโลภะ โทสะ โมหะ และสภาพธรรมอื่นที่เกิดพร้อมกับกิเลสเหล่านี้ หรือไม่มีครับ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขณะที่อกุศล จิตเกิดขึ้น มี โทสะ เป็นต้น ขณะนั้น มีสภาพธรรมที่เป็นเหตุไม่ดีเกิดแล้ว คือ โทสะ เจตสิกและโมหเจตสิก พร้อมกับ เจตสิกอื่นๆ ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ที่เกิดพร้อมกับเหตุที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่ควรละ อกุศลจิตที่เกิดขึ้น ที่เกิดพร้อมกับเหตุ จึงเป็นปหาตัพพเหตุกธรรม คือ เป็นเหตุที่ไม่ดีเกิดขึ้น พร้อมกับสภาพธรรมอื่นๆ อันเป็นสภาพธรรมที่ควรละ อกุศลเจตสิก ไม่ดีครับ และ อกุศลธรรมประการต่างๆ ก็ไม่ดี ควรละ แต่จะละได้อย่างไร ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นปัญญา ที่เป็นเหตุที่ดี เป็นสภาพธรรมที่ควรเจริญ เพื่อ เป็นไปเพื่อละเหตุที่ไม่ดี มีโลภะ โทสะ โมหะ อันอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็เจริญขึ้น และละอกุศล ที่เป็นเหตุไม่ดีประการต่างๆ ได้ ตามลำดับ ครับ ดังนั้น

สิ่งที่สำคัญในการศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะฟังชื่ออะไร ในพระไตรปิฎก ไม่ได้หมายความว่า ให้ปฏิเสธทันที ที่จะไม่ศึกษา เพราะ พระธรรมทุก คำ ทุกบท มีประโยชน์ เพราะพระองค์จะไม่แสดงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลย แต่ ผู้ที่ศึกษาจะได้รับประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการศึกษานั้น ศึกษาถูกต้อง แยบคายในจุดประสงค์ของพระองค์หรือไม่ นั่นคือจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เมื่อได้ยินคำใด แม้จะเป็นคำที่ยาก ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อเข้าใจความหมาย คำแปลแล้ว ก็น้อมเข้ามาสู่ สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ว่ามีหรือไม่ ดังเช่นคำนี้ ก็คือ อกุศลเหตุที่เกิดในชีวิตประจำวัน อันเป็นธรรมที่ควรละ เมื่อรู้ความหมาย จึงรู้ว่า เป็นธรรมที่มีโทษ ควรละ จึงอบรมปัญญาเพิ่มขึ้น เจริญกุศล เห็นโทษของกุศล นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม เมื่อได้ยินคำใด คำหนึ่งแล้ว ก็น้อมเข้าในขณะนี้ และขัดเกลากิเลส เพิ่มพูนปัญญา เห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมเพิ่มขึ้น เพื่อละธรรมที่มีโทษ เหล่านี้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 2 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึง ธรรม แล้ว กว้างขวางมาก ครอบคลุมถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างประการ ซึ่งจะต้องมีความละเอียดว่า ในที่นั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงธรรมอะไร ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงเลย แม้แต่ธรรมที่เป็นเหตุที่ควรละ ก็จะต้องเป็นอกุศลเหตุ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุที่ไม่ดี เป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เป็นธรรมที่มีจริงๆ เวลาที่เหตุเหล่านี้เกิดขึ้นก็ทำให้จิตเป็นจิตที่ไม่ดีและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ก็ไม่ดี ไปด้วย เป็นธรรมที่จะพึงละได้ ด้วยปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งก็จะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ ส่วนเหตุที่ดี ซึ่งเป็นโสภณเหตุ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุที่ดีงามเป็นธรรมฝ่ายดีที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้น เจริญขึ้น เป็นเหตุที่ไม่ต้องละ มีแต่ควรจะเจริญให้มียิ่งขึ้นเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งก็คือเป็นการดับเหตุที่ไม่ดี นั่นเอง

พระธรรมที่พระผู้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เกื้อกูลแก่พุทธบริษัทผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ทุกกาล ทุกสมัยไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย และประการสำคัญไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ฟังเหมือนกันหมด ถ้าไม่ได้สั่งสมเหตุปัจจัยที่ดีมา ย่อมไม่มีโอกาสได้ฟัง ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้ฟังแล้ว ก็ควรที่จะได้ฟังต่อไป ไม่ควรปล่อยโอกาสของการฟังพระธรรมให้หลุดลอยไป เพราะพระธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ต้องอาศัยกาลเวลาในการอบรมเจริญไปเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ก็ต้องมีเหตุที่ไม่ดี อันได้แก่อกุศลเหตุ เกิดร่วมด้วยทุกครั้งตามควรแก่อกุศลจิตนั้นๆ เพราะได้สะสมอกุศลมาอย่างเหนียวแน่นและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่จะเห็นโทษของอกุศลได้ ในแต่ละวันมีแต่โอกาสของอกุศลเกิดพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และย่อมจะไม่มีปัญญาที่จะดับอกุศลเหล่านั้นได้ ดังนั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา อบรมไปเรื่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

หนทางที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลสอกุศล นั้น มีอยู่แล้ว คือ การอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่ดำเนินไปตามทางนั้น จะเป็นความผิดของใคร ถ้าไม่ใช่ความผิดของผู้นั้นเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณาทีเดียว ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 2 พ.ค. 2555

พระพุทธเจ้าสอนว่า ควรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้น ควรป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ควรเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ควรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญาที่มาจากการศึกษาพระธรรมและเข้าใจค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nong  วันที่ 2 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เซจาน้อย  วันที่ 2 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย gboy  วันที่ 2 พ.ค. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ