ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๐๖๐
บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เลื่อมใสใคร - ไม่ลืมพิจารณา
การที่จะอนุโมทนาเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ควรจะเป็นเฉพาะในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่พิจารณาอะไรเลยว่า มีความเลื่อมใสในท่านผู้หนึ่งผู้ใดโดยทางหนึ่งทางใด แล้วจะเลื่อมใสไปตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ควรจะเลื่อมใสในอกุศลธรรมใดๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม ขณะใดที่กุศลธรรม กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้นก็ควรจะเป็นที่นับถือ นอบน้อม สักการะได้
ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาถึงสภาพ ตามความเป็นจริง พระธรรมวินัยเริ่มเสื่อม ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานได้ ๗ วัน นี่เป็นเหตุที่ท่านพระมหากัสสปะปรารภที่จะทำสังคายนา
ซึ่งข้อความในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกายปฐมมหาสังคีติกถา เรื่องสังคายนาใหญ่ครั้งแรก มีข้อความว่า
ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บัดนี้เราทั้งหลายจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ก่อนที่อธรรมจะรุ่งเรืองสุกใส ก่อนที่ธรรมจะถูกระงับยับยั้ง ก่อนที่สิ่งอันขัดต่อวินัยจะรุ่งเรืองสุกใส ก่อนที่วินัยจะถูกระงับยับยั้ง ก่อนที่อธรรมวาทีบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังแข็งแรง ก่อนที่ธรรมวาทีบุคคล จะเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ ก่อนที่อวินัยบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังแข็งแรงก่อนที่วินัยวาทีบุคคลจะเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ
นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เหตุที่ท่านพระมหากัสสปะจะทำสังคายนานั้น ก็เพราะเหตุว่า มีผู้ที่มีความประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปจาก ๗ วัน เป็น ๑๐๐ ปี เป็น ๑๐๐๐ ปี จนกระทั่งถึง ๒๐๐๐ กว่าปี ท่านผู้ฟังทุกท่านก็จะพิจารณาได้ตามสภาพเหตุการณ์ตามความเป็นจริงว่า ย่อมมีผู้ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัยมากหรือน้อย ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาโดยละเอียด จากจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล
เพราะฉะนั้น การที่กล่าวถึงข้อความในพระธรรมวินัยสำหรับผู้ที่บรรยายธรรมก็เป็นด้วยเมตตาจิตจริงๆ ไม่ได้มุ่งที่จะติเตียน แต่ว่าถ้าไม่กล่าวถึงเลย ก็ย่อมจะไม่มีผู้ซึ่งจะหยุดระงับอกุศล แล้วก็คิดที่จะประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยไม่ย่อหย่อน
ซึ่งข้อความในสุมังคลวิลาสินี ก็ได้กล่าวถึง"การติ" ซึ่งเป็นประโยชน์ในการที่จะระงับเหตุที่จะเกิดขึ้น ในเมื่อข้อที่ตินั้นเป็นเรื่องจริงตามเหตุและผล หรือการสรรเสริญตามความเป็นจริง ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อความมั่นใจ เพื่อความมั่นคงของผู้ที่จะเลื่อมใส ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไร้ประโยชน์ แต่ว่าต้องเป็นสิ่งที่จริงและเป็นไปตามเหตุและผลด้วย
เพราะฉะนั้น ก็ขอเรียนให้ทราบว่า ในการที่กล่าวถึงศีลต่างๆ ก็เพื่อท่านที่จะพิจารณาแล้ว ก็จะได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยไม่ย่อหย่อน แต่ที่จะให้มีความชื่นชมยินดีโดยผิวเผิน หรือว่าโดยไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้
และสำหรับเรื่องของการบวชเป็นพระภิกษุ ก็เช่นเดียวกัน ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่า ใจจริงของท่านมีความศรัทธา มีความเลื่อมใสเพียงใด ไม่ใช่ว่าจะชื่นชมอนุโมทนาในทุกท่านที่บวช โดยที่คิดว่าเมื่อบวชแล้วก็จะได้เป็นพระอรหันต์ หรือ พระอนาคามี หรือ เป็นพระสกทาคามี (หรือ) พระโสดาบัน แต่ต้องพิจารณาจริงๆ
สำหรับผู้ที่จะบวช พุทธบริษัท ย่อมมีจิตอนุโมทนาในศรัทธาที่บุคคลนั้นสามารถที่จะสละเพศฆราวาส เพื่อที่จะมีเวลาศึกษาพระธรรมวินัย และอบรมขัดเกลากายวาจา ใจ ของตนเองให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น และให้เข้าใจในพระธรรมวินัย สามารถที่จะละอกุศลให้เบาบาง เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะศรัทธาในเจตนาที่สามารถที่จะละเพศฆราวาส เพื่อที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้
แต่หลังจากนั้น ต้องพิจารณาอีกต่อไปว่า ชีวิตของภิกษุรูปนั้น ท่านกระทำกิจอย่างไร ท่านศึกษาพระธรรมวินัยหรือเปล่า ถ้าท่านขาดการศึกษาพระธรรมวินัย แต่ท่านก็มีศรัทธาที่จะอบรมชีวิตอีกเพศหนึ่ง คือจากชีวิตของฆราวาสเป็นเพศบรรพชิต ตามศีลที่ท่านจะต้องรักษา นั่นก็เป็นสิ่งที่อนุโมทนาได้เพียงขั้นนั้นจริงๆ แต่ไม่สามารถที่จะชื่นชม หรืออนุโมทนาได้ยิ่งกว่านั้น ถ้าท่านไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก หรือ พระธรรมวินัยโดยละเอียดยิ่งขึ้น
แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่สามารถ ที่จะศึกษาพระธรรมวินัยได้ละเอียดมากขึ้น ประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาได้มากขึ้น การชื่นชมอนุโมทนาก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าจะไม่พิจารณาเลยแล้วจะเลื่อมใสชื่นชมยินดี โดยที่ไม่ทราบว่า ข้อประพฤติปฏิบัติของท่านเป็นอย่างไร แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่พิจารณาธรรม หรือไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด แล้วมีความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัย มีการประพฤติปฏิบัติผิด ก็ย่อมไม่สามารถที่จะอนุโมทนาได้ เพราะการประพฤติปฏิบัติผิดนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในเรื่องที่ว่า ดิฉันเคารพนับถือพระภิกษุรูปใด ไม่จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลหนึ่ง บุคคลใด โดยเฉพาะเจาะจง ที่จะเป็นที่เคารพสักการะ แต่เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วก็อนุโมทนาได้ในกุศลจิตที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือว่าถ้าท่านมีความรู้ มีการศึกษาพระธรรม มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็อนุโมทนาชื่นชมยิ่งขึ้น ตามควรแก่เหตุ ตามความเป็นจริงแต่ไม่ควรที่จะผูกพันว่า จะต้องนอบน้อมสักการะเฉพาะภิกษุรูปนั้น หรือภิกษุรูปนี้ แต่ว่าควรจะคิดถึงข้อประพฤติปฏิบัติของท่านด้วย
เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยง่าย หรือคิดว่า เมื่อได้อ่านธรรมบ้าง ก็เข้าใจว่าตนเองมีความเห็นถูก หรือว่ามีการปฏิบัติถูก นั่นยังเป็นสิ่งที่ประมาทมากจริงๆ เพราะอาจจะทำให้เป็น "นักคิด" ซึ่งจะทำให้มีความเห็นผิด คือมิจฉาทิฏฐิต่างๆ ได้
ถ้าผู้ใดมีการศึกษาธรรม มีการเข้าใจธรรมถูกต้อง ก็ควรแก่การที่จะเคารพนับถือ
มีอุบาสกชาวต่างประเทศ ๒ ท่าน ท่านหนึ่งก็บวช ๗ ปีกว่า เป็นผู้ที่ศึกษาพระวินัยและพระธรรมมีความรู้ เป็นที่น่าเคารพท่านหนึ่ง ซึ่งชาวต่างประเทศซึ่งเป็นสหายของท่านผู้นั้น ก็มีความเลื่อมใส ศรัทธา ในความรู้ และในศรัทธาของท่านผู้นั้น ได้อุปัฏฐาก อุปถัมภ์ อุปการะ ในระหว่างที่ท่านผู้นั้นดำรงสมณเพศอยู่ และภายหลังเมื่อท่านผู้นั้นลาสิกขาแล้ว อุบาสกชาวต่างประเทศผู้นั้นก็ยังคงช่วยเหลือทุกอย่างที่จะช่วยได้ ทั้งๆ ที่ท่านผู้นั้นก็ดำรงเพศฆราวาสสามารถที่จะพึ่งตัวเองได้ เมื่อมีผู้ที่ถามว่า ทำไมจึงยังคงช่วยเหลือและอุปถัมภ์บุคคลนั้น อุบาสกท่านนั้นก็ตอบว่า " เพราะท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมมากท่านหนึ่ง "
แสดงให้เห็นถึง " การเป็นผู้รู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจธรรมได้ถูกต้องว่า ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความเข้าใจธรรมที่ถูกต้องแล้ว ก็สมควรที่จะช่วยเหลือค้ำจุน อุปถัมภ์ผู้นั้น โดยที่ว่า แม้จะไม่ใช่เพศบรรพชิต แต่ก็ยังเห็นประโยชน์ของการที่ควรจะช่วยเหลือบุคคลผู้ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
[๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกคือใคร คือ
รูปปฺปมาโณ รูปปฺปสนฺโน บุคคลถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป
โฆสปฺปมาโณ โฆสปฺปสนฺโน บุคคลถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียงกึกก้อง
ลูขปฺปมาโณ ลูขปฺปสนฺโน บุคคลถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง
ธมฺมปฺปมาโณ ธมฺมปฺปสนฺโน บุคคลถือธรรมเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลบุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก.
บุคคลเหล่าใดถือรูปเป็นประมาณก็ดี บุคคลเหล่าใดคล้อยไปตามเสียงกึกก้องก็ดี บุคคลเหล่านั้น อยู่ในอำนาจความพอใจ รักใคร่แล้ว ย่อมไม่รู้จักชนผู้นั้น.
คนโง่ย่อมไม่รู้ (คุณธรรม) ภายใน ทั้งไม่เห็น (ข้อปฏิบัติ) ภายนอก (ของชนผู้นั้น) ถูกรูปและเสียงปิดบัง (ปัญญา) เสียจนรอบ คนโง่นั้นจึงถูกเสียงกึกก้องพัดพาไปได้.
บุคคลใดไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก เห็นแต่ผล (คือลาภสักการที่ผู้นั้นได้) ในภายนอก แม้บุคคลนั้นก็ยังจะถูกเสียงกึกก้องพัดพาไปได้.
บุคคลใดทั้งรู้ภายในทั้งเห็นภายนอก เห็นแจ้งไม่มีอะไรเป็นเครื่องปิดบัง บุคคลนั้นย่อมไม่ถูกเสียงกึกก้องพัดพาไป.
๕. รูปสูตร ว่าด้วยบุคคลเลื่อมใส ๔ จำพวก
[เล่มที่ 35] อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๒๑๐
(ข้อความบางตอนในอรรถกถา)
.เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นสามส่วน สองส่วน ถือรูปเป็นประมาณ. ส่วนหนึ่ง ไม่ถือรูปเป็นประมาณ.
เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นห้าส่วน สี่ส่วน ถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ ส่วนหนึ่ง ไม่ถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ.
เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็น ๑๐ ส่วน เก้าส่วน ถือความปอนเป็นประมาณ ส่วนหนึ่ง ไม่ถือความปอนเป็นประมาณ.
แต่เมื่อแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้น ถือธรรมเป็นประมาณ
ที่เหลือพึงทราบว่า ไม่ถือธรรมเป็นประมาณ ดังนี้
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
อนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนา..สาธุคะ
ขออนุโมทนาด้วยค่ะ
เป็นเช่นนั้นจริง..ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ