ถ้าเกิดฆ่าพ่อแม่โดยไม่ตั้งใจ เป็นอนันตริยกรรมหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
อนันตริยกรรม อนนฺตร (ไม่มีระหว่าง) + อิย ปัจจัย + กมฺม (การกระทำ)
การกระทำที่ให้ผลในภพไม่มีระหว่าง หมายถึง ครุกรรมในฝ่ายอกุศลซึ่งจะให้ผลเป็นชนกกรรม นำปฏิสนธิในอบายภูมิ หลังจากสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเจริญกุศลที่มีอานิสงส์มากอย่างไรก็ไม่สามารถล้างการให้ผลของอนันตริยกรรมได้
อนันตริยกรรม มี ๕ อย่าง คือ ...
๑. ฆ่ามารดา
๒. ฆ่าบิดา
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ
๕. ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
----------------------------------------------------------------------------
การจะเป็นปาณาติบาตหรือมีการทำอนันตริยกรรม ที่เป็นการฆ่า บิดาและมารดานั้น สำคัญที่เจตนา ถ้ามีเจตนาฆ่า และบุคคลผู้ที่เป็นบิดาและมารดาตายเพราะเจตนาฆ่านั้นก็เป็นอนันตริยกรรมครับ ดังนั้น สำคัญที่ว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่ ส่วนกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้น ลูกทิ่มกองฟางเล่น มีเจตนาทิ่มกองฟาง ไม่ได้มีเจตนาฆ่า เมื่อไม่มีเจตนาฆ่าก็ไม่เป็นอนันตริยกรรม แม้บิดามารดาจะตายด้วยการกระทำนั้นครับ แต่ถ้าลูกมีเจตนาฆ่า แม้จะไม่ได้คิดฆ่าพ่อแม่ เช่น จะยิงปืนใส่โจร เจตนาฆ่าโจร แต่ไปโดนบิดาและมารดา นี่ก็เท่ากับว่าเป็นอนันตริยกรรมแล้วครับ เพราะเราไม่ได้วัดว่าจะฆ่าใคร แต่เจตนาฆ่าปรากฏขึ้นและกรรมสำเร็จ คือบิดาและมารดาตายนั่นเองครับ
ซึ่งตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็มีในเรื่องเกี่ยวกับตัวอย่างที่เกิดขึ้น สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ เช่น บิดาขว้างกระสวยสำหรับทอผ้าไปโดนลูกสาว แต่บิดาไม่มีเจตนาที่จะขว้างให้ไปโดนลูกสาว แต่ลูกสาวก็ตายไป ก็เท่ากับว่าไม่มีเจตนาฆ่า ไม่บาปครับ ซึ่งตัวบิดาตอนหลังก็ได้บวชบรรลุเป็นพระอรหันต์ครับ
อีกเรื่องหนึ่ง อดีตชาติของพระนางสามาวดีและบริวาร ๕๐๐ ท่านไปเล่นน้ำ และก็ไปเผาหญ้าบริเวณนั้น ซึ่งตรงนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นไม่มีเจตนาเผา และไม่มีเจตนาฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้า การกระทำนั้นไม่เป็นบาปครับ และพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเข้านิโรธสมาบัติ จึงไม่ถูกเผา แต่เมื่อสาวใช้และนางสามาวดีเห็นว่ามีพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ตัวเองเผาหญ้า ท่านเหล่านั้นกลัวว่าจะผิดที่ไปเผา เลยคราวนี้มีเจตนาฆ่า ก็เลยเอาฟืนมาสุมเผาอีกครั้งเพื่อจะได้ปกปิดความผิด การกระทำครั้งที่สองนี้ มีเจตนาฆ่าครับ เป็นบาป ทำให้เมื่อชาติที่มาเกิดเป็นพระนางสามาวดีกับสาวใช้ในสมัยพระพุทธเจ้า ก็เลยถูกไฟเผาทั้งเป็นที่ปราสาทของตนครับ เพราะกรรมในอดีตในครั้งที่ ๒ ที่ทำไว้ครับ ดังนั้น สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญว่ามีเจตนาทุจริตและเจตนาฆ่าหรือไม่ แม้เรื่องอนันตริยกรรมก็เช่นกันครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ในครั้งพุทธกาล คนที่ทำอนันตริยกรรม ภายหลังกลับตัวเป็นคนดี และทำกุศลมากมายมหาศาล ได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน เพราะอนันตริยกรรมเป็นกรรมหนัก กั้นสวรรค์ กั้นมรรค ผล นิพพาน และถ้าตายจากชาตินั้นก็ต้องไปตกนรกค่ะ
เรียนความเห็นที่ 1
จากข้อความที่ท่านได้อธิบายมานั้น ถ้ามีเจตนาในการฆ่า ไม่ว่าจะฆ่าสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม และการฆ่านั้น เป็นเหตุให้บิดามารดาต้องเสียชีวิต ก็เรียกว่าเป็นอนันตริยกรรม ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
ถูกต้องครับ เพราะเจตนาฆ่ามีแล้ว แม้จะพยายามฆ่าสิ่งอื่น แต่กลายเป็นว่าไปโดน บิดามารดาเสียชีวิตก็เป็นอนันตริยกรรมครับ เพราะมีเจตนาฆ่าเกิดขึ้นแล้วครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง, ตามความเป็นจริงแล้ว เจตนาเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ไม่มียกเว้น ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตประเภทใด กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิตก็เป็นกุศล ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดร่วมกับวิบากจิตก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดร่วมกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยา ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่ในขณะที่เอาหอกมาทิ่มแทงฟางเล่น ในขณะนั้นก็มีเจตนาแต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าใครเลย ในพระวินัย ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ยกตัวอย่างพระภิกษุที่ดุนหลังบิดา ทำให้บิดาสิ้นชีวิต โดยมีเหตุการณ์เหมือนกัน แต่เจตนาต่างกัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไรหรือมีเจตนาอย่างไร ภิกษุที่กระทำก็จะกราบทูลตามความเป็นจริงว่า ตนเองมีเจตนาฆ่าหรือไม่มีเจตนาฆ่า กล่าวคือถ้ามีเจตนาฆ่าและมนุษย์นั้นตาย เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ยิ่งถ้าเป็นบิดาด้วยแล้ว ก็เป็นอนันตริยกรรมด้วย แต่ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า ก็ไม่ต้องอาบัติและไม่เป็นอนันตริยกรรม ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า องค์ของปาณาติบาตประการหนึ่ง คือมีเจตนาฆ่า หรือมีจิตคิดจะฆ่า (วธกจิตฺตํ = อกุศลจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับเจตนาที่เป็นไปในการฆ่า)
ถ้าจะพิจารณาให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เวลาเราเดินทางไปตามถนนหนทาง บางครั้งเหยียบมดบ้าง เหยียบแมลงบ้าง โดยที่เราไม่รู้เลย ไม่มีเจตนาฆ่าเลย หรือแม้กระทั่งปิดประตูหนีบจิ้งจกตายโดยไม่รู้ ไม่มีเจตนาฆ่าเลย ก็ไม่เป็นปาณาติบาต บาปย่อมไม่มี เพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่านั่นเอง [แต่เวลาจะทำอะไร ถ้าสามารถกระทำด้วยความระมัดระวังขึ้น ก็จะเป็นการดี] ครับ.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความที่อ้างถึงพระวินัยเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
เรื่องพระภิกษุดุนหลังบิดา ๓ เรื่อง [มหาวิภังค์]
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอบคุณมากสำหรับคำตอบครับ อีกประการหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น นกเอี้ยงเกาะหลังควาย เราจะยิงนกเอี้ยง แต่ยิงแล้วไปโดนควายตาย นกหนีไปได้ ถ้าพิจารณาดูตัวอย่างข้างบน ก็ลงใจว่า เป็นปาณาติบาต ซึ่งการเข้าใจอย่างนี้ จะถูกต้องหรือไม่ครับ เพราะมีเจตนาฆ่านก แต่ผลที่ตายเป็นควาย ไม่ได้เป็นนก (สิ่งมีชีวิตที่ตั้งใจจะฆ่าตั้งแต่แรก) จะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ครับ
เรียนความเห็นที่ 8
ถูกต้องครับ เป็นปาณาติบาต
เรียนถามความเห็นที่ 9
เพื่อการปกป้องชีวิตบิดา มารดา บางครั้งก็อาจจะต้องมีการทำปาณาติบาตต่อสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของบิดา มารดา อาทิ งูมีพิษ โจรผู้ร้าย กรณีนี้ จะพิจารณาอย่างไร เจตนาในการฆ่า อาจพลาดพลั้งทำให้บิดามารดา เสียชีวิตก็ได้
ขอบพระคุณอย่างสูง
เรียนความเห็นที่ 10
ธรรมเป็นเรื่องตรงครับ หากคิดฆ่าสัตว์อื่น มีเจตนาฆ่าแล้ว แต่พลั้งไปโดน บิดา มารดา ก็เป็นอนันตริยกรรมครับ นี่แหละครับ โทษของการเกิดในสังสารวัฏฏ์ครับ
เรียนถามความเห็นที่ 11
พระเทวทัต ท่านมีวันที่จะได้เกิดใหม่หรือไม่คะ
เรียนความเห็นที่ 12 ครับ
พระเทวทัต ทำอนันตริยกรรม กรรมคือสังฆเภทหนักที่สุด ให้ผลเกิดในอเวจีมหานรกตลอด ๑ กัป ดังนั้น ท่านก็ต้องเกิดใหม่แน่นอนครับ เพราะท่านยังมีกิเลส เมื่อพ้นจากกรรม คืออนันตริยกรรมแล้ว ก็แล้วแต่กรรมดีหรือไม่ดีให้ผล ซึ่งกรรมดีก็ให้ผลได้ สามารถเกิดเป็นมนุษย์ได้ครับ และในอนาคตนับจากนี้ไปอีกแสนกัปท่านจะบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าครับ
ขออนุโมทนา
ขอถามหน่อยครับ ถ้าเราปั๊มหัวใจให้พ่อ เพื่อช่วยชีวิต แล้วพ่อตาย เราจะบาป อนันตริยกรรมมั้ยครับ.......