ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๔
~ ทาน การให้ ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้รับปลาบปลื้มใจ และจิตของผู้ให้ก็อ่อนโยน อ่อนโยนพอที่จะเสียสละวัตถุของตนเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจิตก็มีความสบาย เพราะเหตุว่าไม่มีความตระหนี่ ได้ประโยชน์ทั้งจิตใจของตนเองก็อ่อนโยน และยังเบิกบานที่เห็นผู้รับมีความสุขได้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา เพราะฉะนั้นโลกย่อมร่มเย็นต่อไปได้ด้วยทาน การให้
~ กุศลควรจะพร้อมทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะพูดกับใคร ก็พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วพูดคำที่น่าฟัง มีการนึกถึงจิตใจของเขา และอนุเคราะห์เกื้อกูลเขาให้เขาเข้าใจในเหตุในผลได้ คือ ด้วยวาจาของเรา
~ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลของคนไทยจะต้องดีกว่ากุศลของคนชาติอื่น หรือไม่ใช่อกุศลของคนชาติอื่นจะต้องร้ายกว่าอกุศลของคนไทย
~ เรื่องของอกุศลที่จะเกิด มีปัจจัยจึงเกิด แต่ปัญญาที่เราสะสม โดยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามการสะสม ถึงจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ต้องมี ท่านวิสาขามิคารมารดามีเครื่องประดับที่เลิศกว่าหญิงอื่น และท่านก็มีความพอใจในเครื่องประดับนั้นด้วย แต่ท่านก็สะสมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามการสะสมของท่านว่าท่านไม่เหมือนคนอื่น แต่ท่านสามารถประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม
~ การฟังธรรมแต่ละชาติที่มีโอกาสได้ฟัง ก็คือเพื่อให้มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ
~ ความจริงใจ การเข้าใจให้ถูกต้อง จะกลัวอะไรถ้าสิ่งนั้นถูก ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวเลย ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผล
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนา ๔๕ พรรษาโดยละเอียด เรื่องของสภาพธรรมล้วนๆ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพิจารณาขั้นการฟังให้เห็นความเป็นอนัตตา ที่สภาพธรรมแต่ละอย่างจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ชั่วขณะเดียวที่เกิดทำกิจเฉพาะขณะนั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
~ คนที่มีเงินมีทอง มีสมบัติทุกอย่าง ก็มีทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญา แต่ถ้าคนมีปัญญา ถึงไม่มีอะไร ก็ไม่เป็นทุกข์
~ ชีวิตของเราจะดำเนินไปอย่างไร เราก็ไม่ทิ้งการสะสมอบรมเจริญปัญญา โดยทุกวิถีทาง
~ ปัญญาต้องรู้ตรงตั้งแต่ต้น หมายความว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไม่มีการรีบเร่ง หรือใจร้อน หรือจะทำ ถ้าเข้าใจอนัตตาจริงๆ แล้ว จะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็มีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น เห็น ขณะนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำ ขณะที่ได้ยิน ได้ยินก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ
~ ข้อสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา คือ ปัญญาเพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละกิเลสทั้งหมด ละความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ละความหลงผิดทุกประการ
~ ไม่ว่าเป็นขันธ์ (สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) ในชาติใดในแสนโกฏิกัปป์ หรือในปัจจุบันชาติ หรือในชาติต่อไปข้างหน้า ขันธ์ทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ จะไม่มีขันธ์ใดเกิดขึ้นมาแล้วจะพ้นจากลักษณะที่เป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล)
~ คนที่โกรธบ่อยๆ เวลาที่เกิดโกรธขึ้น ก็ให้ทราบว่าขณะนั้นไม่ใช่เป็นผลของกุศลกรรมที่โกรธ แต่เป็นผลของการสะสมความโกรธ
~ ขณะนี้ทุกคนมีร่างกายซึ่งเคยเป็นที่รัก หรือขณะนี้ก็ยังเป็นที่รัก ที่พอใจ ก็ให้ทราบว่า ร่างกายนี้ก็จะต้องเปื่อยเน่า ผุพัง แล้วชาติหน้ารูปร่างกายจะเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นอย่างนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าจิต เจตสิก การกระทำทางกาย ทางวาจาในชาตินี้ จะทำให้อกุศลจิตเกิดครอบงำที่จะทำให้ร่างกายในชาติต่อไปพิกลพิการ ตา หู จมูก ไม่น่าดู หรือจนกระทั่งทำให้ถึงสภาพของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก
~ แม้แต่เพียงการฟังพระธรรมก็ต้องมีศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธา ขณะไหน วันไหน วันนั้นไม่ฟัง หรือว่ามีธุระเสียแล้ว หรือว่ามีกิจการงานอื่นเสียแล้ว
~ เมื่อกิเลสยังไม่ดับ เวลาที่มีเหตุปัจจัยของกิเลสประเภทใด กิเลสประเภทนั้นๆ ก็เกิด โดยที่บุคคลนั้นไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า วันไหนกิเลสระดับใดจะเกิด เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีปัจจัย กิเลสนั้นก็ยังไม่เกิด
~ เมื่อพูดถึงเรื่องของความตาย ก็ควรที่จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ช้าหรือเร็ว ไม่มีเครื่องหมายไม่มีใครที่จะรู้ได้เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป จะไปสู่ทางไหน จะเป็นคนดี หรือ คนเลว ที่ไป ก็อยู่ที่ขณะนี้
~ สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตซึ่งจะติดตามไปได้ที่มีประโยชน์สูงสุดคือปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาอาจจะมีทรัพย์สมบัติ มีรูปสมบัติ มียศ มีบริวาร มีทุกอย่าง แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ทรัพย์สมบัติตามไปได้ไหม? รูปสมบัติก็ตามไปไม่ได้ บริวารสมบัติ ทุกอย่างอื่นก็ตามไปไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะสะสมสืบต่อในจิตที่จะทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟังและก็เกิดความเห็นถูกขึ้นได้
~ บุญคือขณะที่จิตใจปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นต้องมีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย มีทั้งหิริโอตตัปปะ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรมก็มีหิริโอตตัปปะแต่เรามองไม่เห็น มีศรัทธา มีสภาพธรรมเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน กุศลจิตจึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นบุญก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด
~ ถ้าทราบว่าเป็นผู้ที่ยังมีโมหะ (ความไม่รู้) มาก ที่จะต้องขัดเกลา ก็จะทำให้ไม่ละเลยการฟังพระธรรม แล้วก็ไม่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการด้วย
~ คนที่เราโกรธกำลังสบาย กำลังเป็นสุขสนุกสนาน เราคนเดียวกำลังเดือดร้อน กำลังไม่สบายเลยสักนิดเดียว จิตใจกำลังขุ่นมัวเต็มที่ แล้วใครทำให้ เราทำเอง ถ้ามีปัญญาจริงๆ เห็นโทษของอกุศลขณะนั้น เป็นสติ ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน
~ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ที่ตรัสรู้ เป็นศาสนาที่ทำให้คนฟังเกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง และเราก็พิจารณาได้ว่า เท่าที่ได้ฟังมา ความเห็นถูกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า มีความเข้าใจอะไรๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงไหมในขณะนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นหมายความว่า เราสามารถที่จะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มอีก เมื่อเราสนใจ ศรัทธาเห็นประโยชน์ แล้วก็ฟังต่อไป เพราะว่าต้องถึงที่สุดของปัญญาที่ได้อบรมแล้ว แต่ต้องอบรม
~ โลภะก็ต้องทำกิจของโลภะ มานะ (ความสำคัญตน) ก็ต้องทำกิจของมานะ โทสะก็ต้องทำหน้าที่ของโทสะ เพราะว่าปัญญาไม่เกิด ต่อเมื่อไรปัญญาเกิด เมื่อนั้นเหมือนแสงสว่างที่จะทำให้เราค่อยๆ เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
~ ถึงเป็นคนดีแล้วก็ประมาทไม่ได้เลย เกิดมาเป็นคน เป็นผลของกุศลกรรมแล้วก็สะสมความดีไว้พอสมควรแต่ก็ยังมีอกุศลที่ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นคนเลว ไม่ยากเลย เพราะอะไร? เพราะมีอวิชชา (ความไม่รู้) ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย
~ การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะออกจากบ้านไปสู่เพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่มี อัธยาศัยมุ่งตรงต่อพระวินัย เพราะเหตุว่าการเป็นบรรพชิตนั้นไม่ใช่เพียงการอุปสมบท (บวช) แต่ต้องเป็นผู้มีจิตมุ่งตรงที่จะรักษาพระวินัยบัญญัติ คือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต
~ ชีวิตของบรรพชิตกับคฤหัสถ์ต่างกันราวฟ้ากับดิน ไม่ใช่อยากบวช แต่ไม่รู้ว่า พระธรรมวินัยคืออะไร อันนั้นไม่ใช่พระภิกษุในพระธรรมวินัย เมื่อมีความประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลส ศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ต้องพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย
~ พระภิกษุมีหน้าที่ในการฟังธรรม ศึกษาธรรมแล้วก็ให้ธรรมคือให้คฤหัสถ์ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
~ คำอื่นไม่สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้เลย แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำทำให้ความไม่รู้ค่อยๆ ลดน้อยลงแล้วก็มีความเข้าใจความจริงเพิ่มขึ้น
~ พระภิกษุไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร จึงตามใจชาวบ้านที่ชาวบ้านอยากฟังเรื่องตลก ก็พูดตลกไป แต่ไม่รู้หรือว่านั่นคือไม่ใช่การกล่าวธรรมแล้วผู้พูดเป็นภิกษุหรือเปล่าที่พูดคำที่ไม่ใช่ธรรม ภิกษุพูดตลก เป็นภิกษุหรือเปล่า?
~ คิดถึงในอดีต ณ พระวิหารเชตวัน มีคนเข้าไปฟังธรรมแล้วหัวเราะ (ตลก) เหมือนอย่างนี้หรือ? เป็นไปไม่ได้เลย
~ การบวชเป็นภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่เพราะอยาก แต่เพราะรู้ว่าสามารถที่จะขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งกว่าคฤหัสถ์ในเพศของบรรพชิตได้
~ ภิกษุ คือ ใคร? ภิกษุ คือ ผู้มีความละอายต่ออกุศล, ภิกษุ มีความละอายในอกุศลยิ่งกว่าคฤหัสถ์จึงสามารถที่จะสละอาคารบ้านเรือน สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตซึ่งทำกิจใดๆ อย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ นี่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้น เราสับสน เราไปชื่นชมกับพระภิกษุที่รับเงินแล้วเอาไปทำคุณความดี, หน้าที่ของภิกษุคืออะไร ละอายต่ออะไร? ละอายที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นั่นจึงเป็นภิกษุ แต่ถ้าไม่ละอายต่อพระบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้แล้ว จะเป็นภิกษุได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ภิกษุที่แท้จริง ต้องเป็นภิกษุในธรรมวินัยมีความละอายยิ่งกว่าคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นำไปสู่การเห็นกิเลสที่ละเอียดซึ่งในเพศคฤหัสถ์ไม่เห็น
~ เอ็นดูที่เขาไม่เข้าใจธรรม เพราะเขาไม่เข้าใจธรรม ก็หวังดีที่จะให้เขาเข้าใจธรรม ใครจะหวังดีกับใคร รู้ได้เลย ถ้าหวังดีที่สุด ก็คือว่าให้เขาได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น หวังให้เขาฟังเรื่องตลก หวังดีหรือเปล่า? ถ้าพูดตลกหวังดีต่อคนฟังหรือเปล่า? ไม่ได้ให้เขาเข้าใจอะไรเลย ก็เท่ากับว่าหวังไม่ให้เขาเข้าใจธรรม สมควรไหม เป็นพระภิกษุแล้วพูดตลก?
~ ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้ว่าพระภิกษุเป็นใคร คฤหัสถ์จะเข้าใจธรรมไหม? ไม่เลย เพราะคฤหัสถ์เข้าใจธรรม จึงรู้ว่าภิกษุ ไม่ใช่คฤหัสถ์
~ เศร้าหมองคือจิตแปดเปื้อนด้วยอกุศล เศร้าหมองคือขณะที่ไม่บริสุทธิ์
~ ขณะที่ฟังเรื่องตลก ไม่ได้ฟังธรรม แปดเปื้อนด้วยความสนุก
~ ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่รู้จักธรรม ขณะไม่รู้นั่นแหละ แปดเปื้อนแล้ว
~ กิเลสมีมากมายหลายประการ ไม่ได้มีเฉพาะโลภะ ไม่ได้มีเฉพาะโทสะ ยังมีโมหะความไม่รู้ด้วย ซึ่งความไม่รู้ก็เป็นต้นตอของกิเลสทั้งหลายด้วย
ขอเชิญคลิกฟังบางช่วงบางตอนการสนทนาได้ที่นี่ ครับ
ในหัวข้อ ภิกษุคือผู้มีความละอาย
ภิกษุ คือ ผู้มีความละอาย
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๓
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนา เป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ